In Focusไฟป่าอเมซอน ผลกระทบที่ต้องเผชิญ เมื่อปอดของโลกกำลังถูกเผาทำลาย

ข่าวต่างประเทศ Wednesday September 4, 2019 14:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เหตุการณ์ไฟไหม้ป่าอเมซอนได้กลายเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลกในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่สังคมออนไลน์ได้พากันติดแฮชแท็ก #PrayforAmazonas และ #PrayforAmazonia จนกลายเป็นแฮชแท็กฮิตติดเทรนด์ในโซเชียลมีเดีย

ทั้งนี้ สถานการณ์ไฟป่าอเมซอนกำลังอยู่ในขั้นวิกฤต เพราะเป็นไฟป่าครั้งรุนแรงที่สุดในรอบ 5 ปี โดยลุกลามต่อเนื่องมานานร่วมเดือน และในขณะนี้ ก็ยังไม่สามารถบอกได้ว่า ไฟป่าอเมซอนจะดับลงเมื่อใด ขณะที่ในเบื้องต้นทางการบราซิลได้ประกาศภาวะฉุกเฉินในพื้นที่ดังกล่าวแล้ว

อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีชาอีร์ โบลโซนาโร ของบราซิล จะไม่เข้าร่วมการประชุมสุดยอดของภูมิภาคเรื่องไฟป่าอเมซอนที่ประเทศโคลอมเบียในวันศุกร์นี้ เนื่องจากต้องเตรียมตัวเพื่อเข้ารับการผ่าตัดในวันอาทิตย์ที่ 8 ก.ย. ขณะที่นายโบลโซนาโรยังมีกำหนดจะต้องแถลงต่อที่ประชุมใหญ่สหประชาชาติในวันที่ 24 ก.ย.นี้ เพื่อปกป้องนโยบายของเขาเกี่ยวกับป่าอเมซอนด้วย

In Focus สัปดาห์นี้ เราจะพาไปรู้จักกับผืนป่าอเมซอน พร้อมทั้งวิเคราะห์สาเหตุของไฟป่า และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผู้คนทั่วโลก หากป่าอเมซอนยังคงถูกเผาทำลายต่อไป

อเมซอน ดินแดนแห่งความลี้ลับ และอันตราย

ป่าอเมซอนกินพื้นที่กว้างถึง 2 ใน 5 ของทวีปอเมริกาใต้ ครอบคลุมกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศบราซิล และส่วนที่เหลือนั้นอยู่ในอีก 8 ประเทศใกล้เคียง โดยคิดเป็นเนื้อที่ป่าราว 5.5 ล้านตารางกิโลเมตร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่ม ขนานกับเส้นศูนย์สูตร และสิ่งที่แบ่งป่าออกเป็นตอนเหนือกับตอนใต้ ได้แก่ แม่น้ำอเมซอน ซึ่งเป็นแม่น้ำใหญ่ที่สุดของโลก และยังมีปลาที่ดุร้ายที่สุดในโลกที่เรารู้จักกันก็คือ ปลาปิรันยา อีกทั้งยังมีสัตว์ที่น่าเกรงขามอีกอย่างหนึ่งก็คือ งูยักษ์อนาคอนดา โดยมีผู้เคยพบอนาคอนดาที่ยาวถึง 13 เมตรในป่าอเมซอนแห่งนี้

ป่าอเมซอนเป็นพื้นที่ซึ่งมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงที่สุดในโลก เป็นบ้านของพืชและสัตว์จำนวนถึง 1 ใน 10 ของทุกสายพันธุ์บนโลก โดยมีพืชหลากหลายสายพันธุ์ที่สามารถพบได้เฉพาะในป่าแห่งนี้เท่านั้น และยังมีอีกมากมายที่ยังรอการค้นพบอยู่ รวมไปถึงชนเผ่าพื้นเมืองอีกกว่า 1 ล้านคนที่อาศัยอยู่ในป่าแห่งนี้ โดยดำรงชีพด้วยการล่าสัตว์และเก็บของป่า ซึ่งแบ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ราว 350 กลุ่ม และ บางกลุ่มนั้น ก็ยังคงอนุรักษ์ความเป็นตัวตนของชนเผ่าโดยไม่ติดต่อกับโลกภายนอก และใช้ชีวิตอยู่ตามแบบที่เป็น

ป่าอเมซอน กับ ฉายา "ปอดของโลก"

ด้วยความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายทางชีวภาพที่กล่าวมาแล้ว ต้นไม้หลายพันล้านต้นในป่าอเมซอน จึงทำหน้าที่หลักเสมือนปอดของโลกที่ช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปริมาณมหาศาลเอาไว้ ไม่ให้หลุดออกไปสู่ชั้นบรรยากาศโลก ขณะเดียวกัน ผืนป่าแห่งนี้ยังเป็นพื้นที่ผลิตออกซิเจนถึงราว 22% ให้แก่ชาวโลกด้วย

ผืนป่าแห่งนี้ได้ช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศโลก โดยในปัจจุบัน โลกของเราปล่อยก๊าซดังกล่าวปริมาณ 4 หมื่นล้านตันต่อปี และป่าอเมซอนก็ได้ช่วยดูดซับก๊าซพิษนั้นไว้ราว 5% หรือ 2 พันล้านตัน

ดังนั้น หากป่าอเมซอนยังคงถูกเผาทำลายต่อไป ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปริมาณมากที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก ก็จะหลงเหลืออยู่ในชั้นบรรยากาศโลก จนทำให้อุณหภูมิสูงขึ้น ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และสภาวะโลกร้อนที่เรากำลังเผชิญอยู่นี้ ก็จะทวีความรุนแรงขึ้นแบบไม่มีจุดสิ้นสุด

ต้นตอของไฟป่าอเมซอน ฝีมือมนุษย์ที่เข้ามากอบโกยผลประโยชน์

วิกฤตไฟป่าอเมซอนครั้งล่าสุดนี้ มีสาเหตุหลักมาจากการเผาป่าโดยฝีมือมนุษย์เพื่อสร้างพื้นที่ทำกิน และทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีชาอีร์ โบลโซนาโร ของบราซิลได้ลงนามในกฤษฎีกาสิ่งแวดล้อม ประกาศห้ามบุคคลใดๆ แผ้วถางป่า เผาป่า หรือสร้างความเสียหายให้กับผืนป่าอเมซอนเป็นเวลา 60 วัน โดยมีผลบังคับใช้ในทันที หากฝ่าฝืน ก็จะถูกลงโทษสถานหนัก ซึ่งก็ทำให้หลายฝ่ายมองว่า ผู้นำบราซิลกำลังยอมรับทางอ้อมว่า นโยบายของเขาในการเปิดป่าอเมซอนเพื่อกลุ่มนายทุนนั้น มีส่วนทำให้สถานการณ์ไฟป่าครั้งนี้เข้าสู่ภาวะวิกฤต

อย่างไรก็ตาม ในช่วง 48 ชั่วโมงแรกนับตั้งแต่มีการประกาศคำสั่งห้ามดังกล่าว ภาพถ่ายดาวเทียมจากสถาบันวิจัยอวกาศแห่งชาติของบราซิล (INPE) บ่งชี้ว่า เกิดไฟป่าปะทุขึ้นครั้งใหม่อีกเกือบ 4,000 จุด ซึ่งราว 2,000 จุดเกิดขึ้นในบริเวณป่าอเมซอน

INPE รายงานว่า นับตั้งแต่เดือนม.ค.-ส.ค. 2562 เหตุไฟป่า 51.9% ของการเกิดไฟป่าที่สูงเป็นประวัติการณ์ของบราซิลจำนวนถึง 88,816 ครั้งนั้น เกิดขึ้นในป่าอเมซอน

นายโบลโซนาโร จึงถูกกดดันอย่างหนักจากทั้งในและต่างประเทศให้เร่งควบคุมไฟป่า เนื่องจากบราซิลเป็นประเทศที่มีพื้นที่ตั้งอยู่ในอาณาเขตของป่าอเมซอนมากที่สุด

นายเกอร์ฮาร์ด ดีเตอร์เล คณะกรรมการบริหารองค์กรไม้เขตร้อนระหว่างประเทศเปิดเผยว่า ไฟป่าที่เกิดขึ้นกว่าครึ่งอยู่บริเวณลุ่มน้ำอเมซอน บางจุดมีสาเหตุมาจากธรรมชาติก็จริง แต่ส่วนใหญ่เกิดจากเกษตรกรจงใจเผาป่า เพื่อใช้ที่ดินทำการเกษตร

แม้ว่าไฟป่าอเมซอนมักจะเกิดขึ้นเป็นประจำอยู่แล้วในช่วงฤดูแล้ง แต่ข้อมูลทางดาวเทียมที่ INPE นำมาเปิดเผยนั้น กลับให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า นับตั้งแต่นายโบลโซนาโร สาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีบราซิลเมื่อต้นปีนี้เป็นต้นมา ก็ปรากฏว่า ได้เกิดไฟป่าอเมซอนปะทุเพิ่มขึ้นราว 83% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

ประชาคมโลกตั้งคำถาม เหตุใดการดับไฟป่าอเมซอนจึงยังไม่สัมฤทธิ์ผล มีอะไรเบื้องหน้าเบื้องหลัง

ปธน.โบลโซนาโร หรือ "ทรัมป์แห่งบราซิล" ได้ออกมาแถลงเกี่ยวกับเหตุการณ์ไฟป่าอเมซอนในครั้งแรกว่า สถานการณ์ไฟป่ากำลังจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว แต่ในความเป็นจริงกลับตรงกันข้าม เพราะสถานการณ์ไฟป่ายิ่งลุกลามรุนแรงขึ้น และไม่มีทีท่าว่าจะดับลงได้โดยง่าย

นายโบลโซนาโรก็ยังคงโทษสภาพอากาศที่ร้อนและแห้งแล้งจัดว่าเป็นสาเหตุของไฟป่า แต่นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้ย้อนแย้งว่า นโยบายขยายพื้นที่การเกษตรและเหมืองแร่ของนายโบลโซนาโรต่างหาก ที่มีส่วนเร่งให้เกิดการบุกรุกพื้นที่ป่า และโหมกระพือไฟป่ามากขึ้น นายโบลโซนาโรก็ได้โต้กลับทันควันว่า รัฐบาลบราซิลจำเป็นต้องผลักดันโครงการพัฒนาเศรษฐกิจบริเวณป่าอเมซอน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนราว 20 ล้านคนที่มีรกรากในพื้นที่แถบนั้น

นอกจากนี้ นายโบลโซนาโรยังเลี่ยงที่จะตอบคำถามที่ว่า เขามีความจริงใจมากน้อยเพียงใดที่จะดับวิกฤตไฟป่าครั้งนี้ ในเมื่อก็เป็นที่รู้ๆ กันอยู่ว่า เขามีนโยบายส่งเสริมการบุกรุกผืนป่าแห่งนี้มานานแล้ว

สุดท้าย บรรดาผู้นำกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม 7 ประเทศหรือ G7 ก็ทนไม่ได้ ต้องยื่นมือเข้ามาช่วย ด้วยการประกาศให้เงินสมทบ 22 ล้านดอลลาร์ หรือราว 665 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการดับไฟป่าครั้งนี้

ด้านรัฐบาลโบลิเวียได้ลงทุนเช่าเครื่องบินดับเพลิงของสหรัฐเพื่อไปดับไฟป่าอเมซอนในเขตพื้นที่ของตนเอง โดยประธานาธิบดีอีโว โมราเลส ผู้นำโบลิเวียทวีตข้อความว่า เขาได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่เช่าเครื่องบินดับเพลิงจากสหรัฐเพื่อนำไปช่วยดับไฟป่าอเมซอนในเขตชิกีตาเนีย ทางภาคตะวันออกที่ติดกับพรมแดนของบราซิล

ส่วนกองทุนมูลนิธิเพื่อสิ่งแวดล้อม Earth Alliance ที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อไม่นานมานี้โดยกลุ่มคนดังในหลากหลายวงการของสหรัฐ ซึ่งรวมถึง ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ ดาราดังจากภาพยนตร์เรื่องไททานิค และนางลอรีน พาวเวลล์ จ็อบส์ เศรษฐีนีนักธุรกิจ ภริยาของสตีฟ จ็อบส์ ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทแอปเปิลที่ล่วงลับนั้น ก็ได้ประกาศมอบเงินบริจาคสมทบทุนช่วยดับไฟป่าอเมซอนจำนวน 5 ล้านดอลลาร์ หรือราว 152.5 ล้านบาท โดยผ่าน 5 องค์กรสิ่งแวดล้อมในอเมริกาใต้ที่กำลังช่วยเหลือภาครัฐในการดับไฟป่า

นอกจากนี้ เว็บไซต์ของ Earth Alliance ยังเปิดรับเงินบริจาคจากประชาชนทั่วโลก เพื่อตั้งเป็นกองทุนฟื้นฟูป่าอเมซอน หลังผ่านพ้นวิกฤติไฟป่าครั้งนี้

ด้านนายทิม คุก ซีอีโอของบริษัทแอปเปิลก็ได้ยืนยันที่จะให้เงินช่วยเหลือจากแอปเปิลในการดับไฟป่าอเมซอนด้วย แต่ไม่ได้ระบุจำนวนเงินช่วยเหลือดังกล่าว

ทั้งนี้ มีผู้ชุมนุมจำนวนมากไปรวมตัวกันบริเวณหน้าสถานทูตบราซิลในประเทศต่างๆ เพื่อแสดงความไม่พอใจรัฐบาลบราซิลในการรับมือกับไฟป่าอเมซอน โดยเฉพาะตามเมืองหลวงสำคัญๆ อย่าง กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ กรุงมาดริด ประเทศสเปน และ กรุงโบโกตา ประเทศโคลอมเบีย ได้มีผู้มาชุมนุมปักหลักประท้วงบริเวณหน้าสถานทูตบราซิล เพื่อเรียกร้องให้ปธน.โบลโซนาโร ดำเนินการแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง

ความเสียหายที่ไม่ใช่แค่กับต้นไม้ คน และ สัตว์ป่าที่ไม่สามารถหนีเอาตัวรอดได้

ไฟป่าอเมซอนยังส่งผลกระทบอันใหญ่หลวงต่อระบบนิเวศ ทั้งทางด้านความหลากหลายทางชีวภาพ และสภาพภูมิอากาศของโลกด้วย ซึ่งก็จะส่งผลลบทั้งในระยะสั้น และระยะยาวต่อมวลมนุษยชาติ และโลกของเรา

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า หากสถานการณ์ไฟป่ายังคงไม่คลี่คลายโดยเร็ว ผืนป่าอเมซอนก็อาจจะกลายสภาพเป็นทุ่งหญ้าสะวันนา และแหล่งผลิตออกซิเจนที่เปรียบเสมือนปอดของโลกที่ช่วยผลิตออกซิเจนกว่า 20% ก็จะสูญหายไป ขณะที่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เฉลี่ยในอากาศจะสูงขึ้น จนนำไปสู่ภาวะเรือนกระจกที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนมากขึ้น

สำนักงานวิจัยอวกาศบราซิลเผยว่า สถานการณ์ไฟป่าอเมซอนปีนี้เพิ่มขึ้นกว่า 80% จากปีก่อน เพราะนอกจากจะเกิดขึ้นในบราซิลแล้ว ยังเกิดขึ้นในโบลิเวียใกล้พรมแดนด้านที่ติดกับบราซิล และ ปารากวัยด้วย

แม้ทางการบราซิลจะส่งทหารและเครื่องบินไปช่วยดับไฟ แต่บรรดาผู้เชี่ยวชาญมองว่า สามารถดับได้เพียงไฟป่าขนาดเล็ก และป้องกันไม่ให้เกิดไฟป่าจุดใหม่เท่านั้น ขณะที่ไฟป่าขนาดใหญ่จะสามารถดับได้ด้วยฝนที่ตกลงมาเท่านั้น แต่ฤดูฝนของป่าอเมซอนมักจะเริ่มขึ้นในช่วงปลายเดือนก.ย.ของทุกปี และก็คงต้องใช้เวลาอีกหลายสัปดาห์กว่าจะเกิดฝนกระจายในวงกว้าง จึงจะดับไฟได้

ฝนจากธรรมชาติจะช่วยดับไฟป่าอเมซอนที่ส่วนใหญ่เกิดจากฝีมือมนุษย์ลงได้หรือไม่ และป่าอเมซอนจะได้รับการฟื้นฟูจนกลับคืนมาเป็นปอดเพื่อฟอกอากาศให้กับโลกได้อย่างเต็มที่อีกเหมือนเดิมหรือไม่ เราชาวโลกก็คงต้องช่วยกันสวดภาวนา และ เฝ้ารอดูกันต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ