In Focusโค้งสุดท้าย Brexit กับอนาคตที่ยังไร้ทางออกของอังกฤษ

ข่าวต่างประเทศ Thursday October 24, 2019 16:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ความวุ่นวายทางการเมืองในอังกฤษยังคงยืดเยื้อมานานกว่า 3 ปี ตั้งแต่การทำประชามติแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (EU) ในช่วงกลางปี 2559 ส่งผลให้อังกฤษต้องเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีมาแล้วถึง 3 คน ท่ามกลางความพยายามในการหาหนทางแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ให้กระทบทุกฝ่ายน้อยที่สุด อย่างไรก็ตาม จนถึงตอนนี้ กระบวนการ Brexit ยังคงไม่สามารถเริ่มขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งยังสร้างปัญหามากมายให้กับอังกฤษ ไม่ว่าจะเป็น ความแตกแยกในหมู่นักการเมืองไปจนถึงประชาชนทั่วไป ภาวะชะงักงันทางเศรษฐกิจ ความไม่แน่นอนของการลงทุน ค่าเงินปอนด์ที่ร่วงลงอย่างหนัก ในขณะที่ท่าที่อันแข็งกร้าวของนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันอย่างนายบอริส จอห์นสัน ที่พยายามดื้อดึงผลักดันกระบวนการแยกตัวให้เกิดขึ้นภายในกำหนดเส้นตายในวันที่ 31 ต.ค.นี้ ก็ยิ่งทำให้บรรยากาศการเมืองเลวร้ายลงไปทุกที เกิดอะไรขึ้นในสภาสามัญชน แล้วอนาคตของอังกฤษจะเป็นอย่างไรต่อไป In Focus สัปดาห์นี้ได้สรุปสถานการณ์ล่าสุดมาไว้ที่นี่แล้ว

  • แรงบีบคั้นในสภา ขณะเส้นตายใกล้เข้ามาทุกขณะ

ความปั่นป่วนในสภาสามัญชนปรากฏขึ้นอีกครั้ง หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีข่าวออกมาให้ชื่นใจว่า นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ สามารถบรรลุข้อตกลง Brexit กับสหภาพยุโรปได้แล้ว แต่ข้อตกลงดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ก็ต่อเมื่อได้รับอนุมัติจากรัฐสภาอังกฤษ ทำให้สภาสามัญชนต้องรีบจัดประชุมนัดพิเศษเพื่อพิจารณาข้อตกลงฉบับนี้โดยเร็ว เพื่อให้กระบวนการ Brexit ดำเนินต่อให้เสร็จก่อนกำหนดเส้นตายการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปในวันที่ 31 ต.ค.นี้

การประชุมดังกล่าวถูกจัดขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา โดยมีกำหนดการให้นายกรัฐมนตรีแถลงรายละเอียดของข้อตกลงฉบับใหม่ ก่อนที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะร่วมกันอภิปรายว่าจะรับรองข้อตกลง Brexit ที่นายจอห์นสันและสหภาพยุโรปได้ตกลงกันมาแล้วหรือไม่ หรือจะออกจาก EU แบบไม่มีข้อตกลง ขณะที่นายจอห์นสันยืนยันว่ายังไงอังกฤษก็จะต้องออกจาก EU ตามกำหนดในวันที่ 31 ต.ค.นี้ แม้ข้อตกลงของเขาจะไม่ผ่านการอนุมัติของรัฐสภาก็ตาม

ผลการประชุมเมื่อวันเสาร์ ปรากฏว่า สภาผู้แทนราษฎรอังกฤษมีมติให้เลื่อนการตัดสินใจรับรองข้อตกลงการถอนตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ฉบับของนายบอริส จอห์นสัน ออกไปจนกว่าจะมีการผ่านร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมดก่อน เท่ากับว่ามีโอกาสที่อังกฤษจะไม่สามารถแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปได้ทันตามกำหนดเส้นตายเดิม ส่งผลให้นายจอห์นสันต้องยื่นหนังสือขอขยายเส้นตาย Brexit ไปยังสหภาพยุโรปอย่างไม่เต็มใจ โดยเขาได้แนบจดหมายแสดงความไม่เห็นด้วยกับการที่ Brexit จะต้องล่าช้าออกไป

  • ความพยายามครั้งที่ 2 ของจอห์นสันยังคงล้มเหลว

หลังจากสภาสามัญชนมีมติเห็นชอบให้เลื่อนการพิจารณาข้อตกลง Brexit ในวันเสาร์มาแล้ว นายจอห์นสันก็พยายามที่จะเสนอร่างกฎหมายว่าด้วยการถอนตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป หรือ Withdrawal Agreement Bill ให้สภาพิจารณาอีกครั้ง โดยเขาได้ส่งร่างกฎหมายดังกล่าวซึ่งมีจำนวน 110 หน้า พร้อมเอกสารชี้แจงหลักการและเหตุผลอีก 124 หน้าต่อสภาก่อนที่การปภิปรายจะเริ่มขึ้นเป็นเวลา 1 วัน

วันต่อมาสภาสามัญชนก็ได้เปิดอภิปราย Withdrawal Agreement Bill ขึ้น โดยเริ่มจากการลงมติต่อร่างกฎหมายการถอนตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป ตามด้วยการลงมติต่อตารางเวลาในการผ่านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ Brexit โดยผลปรากฏว่า สมาชิกสภาสามัญชนลงมติเห็นชอบต่อร่างกฎหมายการถอนตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป หรือ Withdrawal Agreement Bill ของนายจอห์นสัน ด้วยคะแนนเสียง 329 ต่อ 299 เสียง

อย่างไรก็ตาม ในการลงมติต่อตารางเวลาในการผ่านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ Brexit ซึ่งรัฐบาลให้เวลาเพียง 3 วันนั้น สภามีมติไม่เห็นชอบด้วยคะแนนเสียง 322 ต่อ 308 เสียง เท่ากับว่าอังกฤษมีแนวโน้มที่จะไม่สามารถแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (EU) ตามกำหนดเดิมภายในวันที่ 31 ต.ค. และต้องให้ EU อนุมัติขยายเส้นตาย Brexit ออกไป เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดการแยกตัวโดยไร้ข้อตกลง (no-deal Brexit)

  • ฝ่ายค้านป่วนสภา ลั่นยังไงก็ไม่รับข้อตกลง Brexit ฉบับจอห์นสัน

อย่างไรก็ตาม ผลการลงมติดังกล่าวไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจนัก เพราะก่อนหน้านี้ นายเจเรมี คอร์บิน หัวหน้าพรรคแรงงาน ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านของอังกฤษ ได้ออกมาประกาศไว้แล้วว่า พรรคแรงงานจะไม่สนับสนุนข้อตกลง Brexit ของนายจอห์นสัน รวมทั้งตารางเวลาในการผ่านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ Brexit โดยเขาได้กล่าวต่อรัฐสภาก่อนเปิดการอภิปรายว่า "มุมมองของผมก็คือเราจะโหวตคว่ำร่างกฎหมายนี้ในวันนี้ รวมทั้งตารางเวลาในการผ่านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ Brexit"

ทันทีที่ร่างกฎหมายดังกล่าวถูกสภาคว่ำ พรรครัฐบาลที่นำโดยพรรคอนุรักษ์นิยมจึงถือโอกาสออกมาโจมตีพรรคฝ่ายค้านว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้กระบวนการ Brexit ต้องยืดเยื้อยาวนานออกไปอีก ในขณะที่นายคอร์บิน ซึ่งเป็นผู้นำฝ่ายค้านเองก็ได้แสดงจุดยืนมาตั้งแต่ต้นว่า เขาไม่ต้องการให้สหราชอาณาจักรออกจากอียูโดยไร้ข้อตกลง และจะไม่สนับสนุนข้อตกลงใดๆ ที่มาจากพรรคอนุรักษ์นิยมในลักษณะที่จะก่อให้เกิดผลเสียต่อประเทศ อีกทั้งยังเคยท้าทายพรรครัฐบาลให้จัดทำประชามติอีกครั้งด้วย

  • แผนเปลี่ยน! นายกฯ เตรียมผลักดันการเลือกตั้งทั่วไปให้เร็วที่สุด

หลังจากที่แน่ชัดแล้วว่าอังกฤษจะไม่สามารถแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปได้ทันเวลาในวันที่ 31 ต.ค.นี้ จนอาจทำให้สหภาพยุโรปต้องยอมขยายกำหนดเส้นตายให้อังกฤษไปอีก 3 เดือน ซึ่งจะไปสิ้นสุดลงในเดือนม.ค. 2563 ทุกสายตาก็ได้หันมาจับจ้องที่นายบอริส จอห์นสัน อีกครั้ง เนื่องจากจอห์นสันเคยออกมาประกาศก่อนหน้าการอภิปรายเพื่อลงมติร่างกฎหมาย Withdrawal Agreement Bill ว่า เขาจะล้มเลิกความพยายามในการขอการอนุมัติจากรัฐสภาต่อร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ Brexit โดยรัฐบาลจะประกาศยุบสภา และมุ่งหน้าไปสู่การจัดการเลือกตั้งครั้งใหม่ หากรัฐสภาไม่ให้การอนุมัติต่อตารางเวลาในการผ่านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ Brexit

ความเคลื่อนไหวดังกล่าว เป็นไปตามที่หลายฝ่ายได้วิเคราะห์ไว้ว่า การยุบสภาเพื่อจัดการเลือกตั้งใหม่นี้อาจเป็นทางออกที่ดีที่สุดในการผลักดันข้อตกลงของจอห์นสัน เพราะจอห์นสันเองก็รู้ดีว่า เขาต้องการเสียงข้างมากในสภามาสนับสนุนแผนการ Brexit ของเขา เพื่อความชอบธรรมในการทำให้ร่างกฎหมายฉบับนี้ได้รับความเห็นชอบ การเลือกตั้งเพื่อรวบรวมจำนวนส.ส.พวกเดียวกันเข้าสภาให้มากที่สุด จึงเป็นวิธีการเดียวที่จะทำให้การผลักดัน Brexit ของเขาประสบความสำเร็จ

อย่างไรก็ตาม แผนการยุบสภาและจัดเลือกตั้งใหม่ของนายจอห์นสันก็มีแนวโน้มว่าจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ง่ายอย่างที่เขาคาดหวัง เพราะต้องอาศัยเสียงสนับสนุนจากสภาชิกสภาสามัญถึง 2 ใน 3 หรือ 434 เสียงจากจำนวนสมาชิกในสภาสามัญชนทั้งหมด 650 เสียง และจอห์นสันเองก็เคยประสบกับความพ่ายแพ้ในการผลักดันการเลือกตั้งมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อเดือนก.ย.ที่ผ่านมา ขณะมีส.ส.เพียง 298 เสียงเห็นชอบต่อญัตติในการประกาศยุบสภาของเขา อนาคตของสหราชอาณาจักรหลังจากนี้เรียกได้ว่าขึ้นอยู่กับสภาสามัญชนอย่างแท้จริง ผลจะเป็นอย่างไรต่อไป คงเป็นเรื่องที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ