In Focusปฏิบัติการปลิดชีพผู้นำ IS จากความช่วยเหลือของพันธมิตรที่สหรัฐทอดทิ้ง

ข่าวต่างประเทศ Thursday October 31, 2019 10:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ในช่วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมา กลุ่มรัฐอิสลาม (IS) ภายใต้การนำของนายอาบู บัคร์ อัล-บักดาดี ได้ตกเป็นที่หวาดกลัวทั่วโลก จากปฏิบัติการที่โหดร้าย รุนแรง และมีการลงมือก่อเหตุไปทั่วโลก จนทำให้กองกำลังนานาชาติร่วมมือกันส่งกองกำลังเข้าบุกถล่มฐานที่มั่นและดินแดนที่กลุ่ม IS ยึดครอง และเข้ายึดพื้นที่ดังกล่าวคืนจน IS แทบไม่เหลือพื้นที่ในครอบครอง

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทั่วโลกพยายามทำ คือ การสังหารนายอัล-บักดาดี ผู้นำกลุ่ม IS และได้มีปฏิบัติการ "พยายาม" เด็ดชีพนายอัล-บักดาดีหลายครั้ง รวมถึงรายงานที่ว่านายอัล-บักดาดี เสียชีวิตจากปฏิบัติการแล้วอีกหลายหน อย่างไรก็ตาม สุดท้ายแล้วปฏิบัติการทั้งหมดล้วนจบลงด้วยความล้มเหลว จนกระทั่งปฏิบัติการล่าสุดของสหรัฐในวันที่ 26-27 ต.ค. ตามเวลาสหรัฐ ซึ่งประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐ ได้ออกมาประกาศยืนยันว่าได้สังหารผู้นำกลุ่ม IS เรียบร้อยแล้วในปฏิบัติการเคย์ลา มูลเลอร์ (Operation Kayla Mueller)

นายอาบู บัคร์ อัล-บักดาดีคือใคร ปฏิบัติการเป็นอย่างไร แน่ใจได้อย่างไรว่าผู้นำ IS เสียชีวิตจริงหลังปฏิบัติการจากชาติต่าง ๆ ล้มเหลวมาแล้วหลายครั้ง และจะเกิดผลอะไรตามมาหลังผู้นำ IS เสียชีวิตลง In Focus สัปดาห์นี้จะพาผู้อ่านไปหาคำตอบและทำความรู้จักกับประวัตินายอัล-บักดาดี

จุดเริ่มต้นของนายอาบู บัคร์ อัล-บักดาดี หัวหน้ากลุ่มรัฐอิสลาม (IS) ผู้มีค่าหัว 25 ล้านดอลลาร์

นายอาบู บัคร์ อัล-บักดาดี หัวหน้ากลุ่ม IS มีชื่อเดิมว่า อิบราฮิม อาวัด อัล-บาดรี เสียชีวิตขณะมีอายุ 48 ปี เกิดที่เมืองซามาร์ราในอิรัก จบปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยอิสลามแห่งกรุงแบกแดด ในสมัยวัยรุ่นมีชื่อเล่นจากญาติพี่น้องว่าเป็น "ผู้ศรัทธา" เนื่องจากใช้เวลาไปกับการศึกษาคัมภีร์กุรอ่าน และมักจะตำหนิผู้ที่ไม่ทำตามกฎหมายอิสลามหรือชารีอะฮ์ อุปนิสัยเป็นคนเงียบและเก็บตัว ต่อมาในช่วงที่สหรัฐบุกอิรักในปี 2546 นายอัล-บักดาดีได้ร่วมก่อตั้งกลุ่มติดอาวุธ Jamaat Jaysh Ahl al-Sunnah wa-l-Jamaah ที่เข้าโจมตีกองทัพสหรัฐกับพันธมิตร ก่อนจะถูกคุมตัวไว้ในค่ายบุกกาซึ่งอยู่ในความดูแลของสหรัฐเป็นเวลา 10 เดือน โดยเจ้าหน้าที่สหรัฐรายงานว่า นายอัล-บักดาดีทำหน้าที่เป็นผู้นำสวด และสอนศาสนาในค่าย รวมถึงช่วยระงับข้อพิพาทต่าง ๆ ในนั้น และด้วยจุดนี้เองที่ทำให้นายอัล-บักดาดีได้เครือข่ายการติดต่อในเรื่องต่าง ๆ

เชื่อกันว่า หลังออกจากค่ายกักกันของสหรัฐ นายอัล-บักดาดีได้เข้าร่วมกับกลุ่มอัลกออิดะห์ในอิรักภายใต้การนำของนายอาบู มูซาฟ อัล-ซาร์คาวี และมีชื่อเสียงจากการใช้กลยุทธ์ที่โหดร้าย รวมถึงการตัดหัวเชลย ต่อมากลุ่มอัลกออิดะห์ได้ตั้งกลุ่มแยกชื่อสภาชูรอ มูญาฮิดีน (Mujahideen Shura Council) ขึ้นในปี 2549 และกลุ่มของนายอัล-บักดาดีได้เข้าร่วมและปฏิญาณจะภักดีกับกลุ่มนี้ ต่อมานายอัล-ซาร์คาวี เสียชีวิตจากการโจมตีทางอากาศของสหรัฐในปีเดียวกัน และทางกลุ่มได้เปลี่ยนชื่อเป็นรัฐอิสลามแห่งอิรัก (ISI) ต่อมาในปี 2553 นายอาบู อูมร์ อัล-บักดาดี ผู้นำกลุ่ม ISI และนายอาบู อัยยูบ อัล-มัสรี รองผู้นำกลุ่ม ได้เสียชีวิตจากการโจมตีทางอากาศของสหรัฐ และนายอัล-บักดาดีได้รับเลือกให้ขึ้นเป็นผู้นำกลุ่มแทน และด้วยความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ข่าวกรองและกองทัพที่ภักดีต่อนายซัดดัม ฮุสเซน รวมถึงความช่วยเหลือจากพรรคพวกที่รู้จักกันในค่ายบุกกา ทำให้นายอัล-บักดาดีค่อย ๆ ฟื้นฟูกลุ่ม ISI ขึ้นมาได้

ต่อมาในปี 2556 กลุ่ม ISI ได้ร่วมมือกับกลุ่มอัล-นุสราในฐานะกลุ่มย่อยของอัลกออิดะห์ ต่อมาในเดือนเม.ย.ปีเดียวกันนี้เอง นายอัล-บักดาดีได้ประกาศรวมกองกำลังในอิรักและซีเรียเข้าด้วยกันเป็นรัฐอิสลามในอิรักและลีแวนต์ (ISIS/ISIL) อย่างไรก็ตาม ผู้นำอัลกออิดะห์และผู้นำกลุ่มอัล-นุสราได้ต่อต้านเรื่องดังกล่าว ต่อมาในเดือนมิ.ย. 2557 นายอัล-บักดาดีได้นำกองกำลังเข้ายึดเมืองโมซูลทางตอนเหนือของอิรัก รวมถึงเมืองในอิรักอีกหลายแห่ง จากนั้นได้เปลี่ยนชื่อกลุ่มเป็นรัฐอิสลาม (IS) และแต่งตั้งตัวเองเป็น "คอลีฟะห์อิบราฮิม" พร้อมเรียกร้องให้ชาวมุสลิมย้ายเข้ามาอยู่ เพื่อร่วมทำสงครามกับผู้ไม่ศรัทธา

ทั้งนี้ ในปี 2554 นายอัล-บักดาดีถูกตั้งค่าหัวอยู่ที่ 10 ล้านดอลลาร์ สำหรับผู้ที่ให้ข้อมูลซึ่งนำไปสู่การจับกุมหรือสังหารได้ ก่อนที่จะเพิ่มขึ้นเป็น 25 ล้านดอลลาร์ในปี 2560

ปฏิบัติการเคย์ลา มูลเลอร์

ปฏิบัติการสังหารนายอาบู บัคร์ อัล-บักดาดี เริ่มขึ้นในคืนวันที่ 26 ต.ค. ตามเวลาสหรัฐ หลังเจ้าหน้าที่ CIA ซึ่งทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ข่าวกรองของอิรักและชาวเคิร์ดมาเป็นเวลานานเพื่อหาแหล่งกบดานของนายอัล-บักดาดี สามารถระบุได้ว่า นายอัล-บักดาดี กบดานอยู่ในหมู่บ้านบาริชา ในจังหวัดอิดลิบ ซึ่งเป็นฐานที่มั่นของกลุ่มที่เป็นศัตรูกับกลุ่ม IS โดยสหรัฐอ้างว่าได้เฝ้าจับตาการเคลื่อนไหวของนายอัล-บักดาดีมาเป็นเวลาหลายสัปดาห์แล้ว และได้มีการสั่งยุติปฏิบัติการไป 2-3 ครั้ง เนื่องจากเป้าหมายมีการเคลื่อนไหว

สหรัฐได้แจ้งให้กับพันธมิตรและชาติมหาอำนาจในบริเวณดังกล่าวอย่างตุรกี อิรัก กองกำลังชาวเคิร์ด และรัสเซียทราบล่วงหน้าก่อนจะบุกโจมตี ปฏิบัติการนี้ สหรัฐอ้างว่าเป็นปฏิบัติการของสหรัฐเพียงชาติเดียว โดยมีการใช้กองกำลังพิเศษ Delta Force ประมาณ 100 นาย พร้อมเฮลิคอปเตอร์ 8 ลำ และสุนัขทหาร ในปฏิบัติการนี้ โดยขึ้นบินจากฐานทัพใกล้กับอิรัก

เมื่อถึงแหล่งกบดาน ได้มีการยิงต่อสู้จากลูกน้องของนายอัล-บักดาดี ขณะที่เฮลิคอปเตอร์สหรัฐได้ยิงตอบโต้ มีพยานรายงานว่าเฮลิคอปเตอร์สหรัฐได้เปิดฉากยิงถล่มบ้านพักซึ่งเชื่อว่าเป็นที่กบดานของนายอัล-บักดาดีอยู่นาน 30 นาที มีการยิงมิสไซล์เข้าใส่บ้าน 2 หลังทำให้บ้านหลังหนึ่งราบเป็นหน้ากลอง ก่อนที่จะส่งกำลังทหารราบเข้าบุก โดยได้มีการเรียกให้นายอัล-บักดาดี ยอมจำนน ซึ่งไม่เป็นผล ก่อนที่ทหารจะบุกเข้าไปโดยการเจาะรูที่กำแพงเพื่อหลีกเลี่ยงกับดักบริเวณประตูและหน้าต่าง ขณะที่นายอัล-บักดาดีได้หลบหนีไปทางอุโมงค์พร้อมกับลูกอีก 3 คน ทหารสหรัฐได้ตามล่าพร้อมส่งสุนัขทหารตามเข้าไป โดยทรัมป์ กล่าวว่า นายอัล-บักดาดีวิ่งเข้าไปยังอุโมงค์ซึ่งเป็นทางตัน พร้อมกับร้องไห้และกรีดร้องไปตลอดทาง ก่อนที่จะจุดชนวนระเบิดที่เสื้อซึ่งติดระเบิดเพื่อฆ่าตัวตาย แรงระเบิดส่งผลให้ลูกทั้ง 3 รวมถึงนายอัล-บักดาดีเสียชีวิต และสุนัขทหารที่ติดตามเข้าไปได้รับบาดเจ็บ

สำหรับการยืนยันว่าผู้เสียชีวิตคือนายอัล-บักดาดี จริงหรือไม่นั้น ทางเจ้าหน้าที่สหรัฐได้ตรวจดีเอ็นเอ ณ จุดเกิดเหตุ โดยใช้ดีเอ็นเอซึ่งเตรียมไว้เทียบกับชิ้นส่วนของศพที่พบในที่เกิดเหตุ ก่อนจะระบุได้ว่าเป็นนายอัล-บักดาดี จริง โดยทางกลุ่มกองกำลังประชาธิปไตยซีเรีย (SDF) ได้ออกมาอ้างว่า ดีเอ็นเอของนายอัล-บักดาดีที่สหรัฐมี ได้จากการที่สายลับของ SDF ขโมยกางเกงในของนายอัล-บักดาดีซึ่งมีดีเอ็นเอของนายอัล-บักดาดีอยู่มาได้

สถานีโทรทัศน์เอบีซี นิวส์เปิดเผยว่า ศพของนายอาบู บัคร์ อัล-บักดาดี ได้ถูกฝังไว้ในทะเล โดยระบุว่า ขั้นตอนดังกล่าวคล้ายกับวิธีที่เคยใช้กับศพของนายโอซามา บินลาเดน ผู้ก่อตั้งกลุ่มอัล-กออิดะห์

เกร็ดเล็กน้อยของชื่อปฏิบัติการ

ปฏิบัติการครั้งนี้มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า ปฏิบัติการเคย์ลา มูลเลอร์ ซึ่งตั้งชื่อตามนางสาวเคย์ลา จีน มูลเลอร์ อาสาสมัครด้านสิทธิมนุษยชนที่ถูกกลุ่ม IS จับกุมตัวไปเมื่องเดือนส.ค. 2556 และมีรายงานว่าถูกนายอัล-บักดาดีทำร้ายร่างกายและข่มขืนหลายครั้ง ก่อนที่จะเสียชีวิตในเดือนก.พ. โดยทาง IS อ้างว่าเกิดจากเหตุโจมตีแหล่งกบดานของ IS จากกองทัพอากาศจอร์แดนเพื่อแก้แค้นให้กับนักบินจอร์แดนที่ถูกเผาทั้งเป็น อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีหลักฐานการเสียชีวิตที่แท้จริง

ชาวเคิร์ด พันธมิตรที่สหรัฐทอดทิ้งผู้ให้ความช่วยเหลือในปฏิบัติการสังหารนายอัล-บักดาดี

หลังปฏิบัติการเสร็จสิ้น ปธน.ทรัมป์ได้กล่าวชื่นชมทุกฝ่ายที่ให้ความร่วมมือ ทั้งรัสเซียที่เปิดน่านฟ้าให้สหรัฐเข้าปฏิบัติการ ตุรกีและซีเรียที่ให้การสนับสนุนปฏิบัติการ รวมถึงกองกำลัง SDF ที่ให้การช่วยเหลือ

อย่างไรก็ตาม ได้มีเจ้าหน้าที่ข่าวกรองสหรัฐออกมาเปิดเผยว่า ชาวเคิร์ดนั้นให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับปฏิบัติการปลิดชีพนายอัล-บักดาดีมากกว่าทุกประเทศ และยังได้ส่งข้อมูลที่เป็นประโยชน์ให้กับสหรัฐมาโดยตลอด แม้หลังจากที่ปธน.ทรัมป์ประกาศถอนกำลังทหารออกจากซีเรีย ซึ่งทำให้ชาวเคิร์ดถูกถล่มจากกองทัพตุรกีอย่างหนัก

นอกจากนี้ นายมัสลุม อับดี ผู้บัญชาการของ SDF ได้ออกมากล่าวด้วยว่า ความสำเร็จของปฏิบัติการดังกล่าวเป็นผลมาจากความร่วมมือด้านข้อมูลข่าวสาร

การเปิดเผยดังกล่าว ทำให้ตัวปธน.ทรัมป์ถูกวิพากษ์วิจารณ์อีกครั้ง โดยนายเบอร์นี แซนเดอร์ส ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐกล่าวว่า ตามที่ตนเข้าใจนั้น ปฏิบัติการนี้สำเร็จได้ด้วยข้อมูลที่ได้จากชาวเคิร์ด แต่เราได้เห็นแล้วว่าปธน.ทรัมป์กลับทอดทิ้งชาวเคิร์ดให้เผชิญกับกองทัพตุรกีเพียงลำพัง

ทั้งนี้ ชาวเคิร์ด คือ ชนกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่ในบริเวณตะวันออกกลางที่ไม่มีประเทศเป็นของตัวเอง ปัจจุบันมีกองกำลังอยู่ในพื้นที่บริเวณทางเหนือของซีเรียติดกับพรมแดนตุรกี กองกำลังชาวเคิร์ดนั้นเป็นพันธมิตรรายสำคัญของสหรัฐในการสู้รบกับกลุ่ม IS มาโดยตลอด ก่อนที่ปธน.ทรัมป์จะประกาศถอนกำลังทหารออกจากซีเรีย โดยให้เหตุผลว่าสหรัฐมีค่าใช้จ่ายมากเกินไปในการสนับสนุนกองกำลังชาวเคิร์ดในปฏิบัติการต่อสู้กับกลุ่ม IS ซึ่งเป็นการเปิดทางให้ตุรกีส่งกำลังทหารเข้าถล่มพื้นที่ดังกล่าว โดยทางตุรกีมองว่ากลุ่มนักรบชาวเคิร์ด (YPG) ซึ่งควบคุมพื้นที่แถบตะวันออกของแม่น้ำยูเฟรติส เป็นกลุ่มก่อการร้ายของพรรคแรงงานเคอร์ดิสถาน (PKK) ซึ่งเป็นกลุ่มนอกกฎหมายในซีเรีย

การบุกโจมตีของกองทัพตุรกีส่งผลให้นักรบและประชาชนชาวเคิร์ดเสียชีวิตมากมาย ขณะที่กองกำลังชาวเคิร์ดได้กล่าวประณามสหรัฐว่า การที่สหรัฐถอนตัวจากตอนเหนือของซีเรีย เหมือนกับ "การแทงข้างหลัง" ต่อชาวเคิร์ด

ความเห็นจากทั่วโลกหลังปธน.ทรัมป์แถลงข่าวใหญ่

ภายหลังการประกาศความสำเร็จของปฏิบัติการปลิดชีพผู้นำ IS ทั่วโลกได้ออกมาร่วมแสดงความยินดี แต่ยังคงกังวลถึงอันตรายจากกลุ่มก่อการร้ายหัวรุนแรงและการแก้แค้นของกลุ่ม IS

นายเรเซป ตอยยิบ เออร์โดกัน ประธานาธิบดีตุรกี กล่าวว่า การสังหารนายอัล-บักดาดีได้นั้นเป็นจุดเปลี่ยนในการสู้รบกับการก่อการร้าย และตุรกีจะเดินหน้าสนับสนุนความพยายามในการต่อต้านการก่อการร้ายดังเช่นที่ผ่านมา

ขณะที่ นายเอมมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับความเสียหายจากการก่อการร้ายของกลุ่ม IS อย่างมากได้โพสต์ข้อความลงในทวิตเตอร์ว่า ปฏิบัติการของสหรัฐครั้งนี้นับเป็นการกวาดล้างกลุ่ม IS ครั้งใหญ่ อย่างไรก็ตาม การเสียชีวิตของผู้นำ IS "เป็นเพียงก้าวแรก" เท่านั้น

ทางด้านนายฟาร์ฮาน แฮค รองโฆษกของนายแอนโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ (UN) กล่าวว่า กลุ่ม IS ได้ก่ออาชญากรรม สร้างความหวาดกลัวและสังหารประชาชนไปหลายพันคน และเราจะถือโอกาสนี้ระลึกถึงผู้ตกเป็นเหยื่อและครอบครัวของผู้ตกเป็นเหยื่อของกลุ่ม IS

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกฝ่ายจะแสดงความยินดีอย่างชัดเจนต่อข่าวดังกล่าว โดยแม้นายอาลี ไรบี โฆษกรัฐบาลอิหร่านจะระบุว่า การเสียชีวิตของนายอัล-บักดาดี เป็นสัญลักษณ์ของการทำลายลัทธิการก่อการร้าย แต่ก็ไม่ใช่จุดจบของกลุ่มหัวรุนแรง นอกจากนี้ ยังหวังว่าการสังหารผู้นำ IS จะเป็นจุดสิ้นสุดของการแทรกแซงของสหรัฐในตะวันออกกลาง เพราะนโยบายของสหรัฐคือสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดการก่อการร้ายขึ้นในภูมิภาค

ขณะเดียวกัน นายอิกอร์ โคนาเชนคอฟ โฆษกกระทรวงกลาโหมรัสเซีย ถึงขั้นแสดงความเห็นว่า ทางกระทรวงกลาโหมของรัสเซียไม่มีข้อมูลที่เชื่อถือได้เกี่ยวกับปฏิบัติการของสหรัฐ ซึ่งเป็นอีกครั้งที่อ้างว่านายอัล-บักดาดี "ถูกสังหารแล้ว"

อนาคตของ IS หลังจากสิ้นผู้นำคนสำคัญจะเป็นอย่างไรต่อไป

ที่ผ่านมา กลุ่มก่อการร้ายต่าง ๆ ทั่วโลกได้เผชิญภาวะเปลี่ยนผ่านผู้นำมาหลายต่อหลายครั้ง และสิ่งที่เกิดขึ้นมาโดยตลอดก็คือ ไม่ว่าจะสังหารผู้นำกลุ่มไปกี่ครั้ง กลุ่มก่อการร้ายต่าง ๆ ก็พร้อมจะแต่งตั้งผู้นำคนใหม่ขึ้นมาแทนที่อยู่เสมอ แต่สถานการณ์ของกลุ่ม IS อาจจะซับซ้อนกว่าเล็กน้อย เนื่องจากบุคคลที่คาดว่าจะได้ขึ้นมาเป็นผู้นำแทนนายอัล-บักดาดีอย่างนายอาบู ฮัสซัน อัล-มูฮาจีร์ โฆษกของนายอัล-บักดาดี ซึ่งเป็นมือขวาที่จะเข้ามาสืบทอดตำแหน่งผู้นำต่อจากนายบักดาดีได้เสียชีวิตจากการโจมตีทางอากาศของสหรัฐในพื้นที่ทางตอนเหนือของซีเรีย ไม่กี่ชั่วโมงหลังจากการบุกจู่โจมนายอัล-บักดาดี

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทั่วโลกเชื่อกันว่าจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน คือ การแก้แค้นหลังผู้นำของตนเองถูกสังหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่ม IS ซึ่งเริ่มจากการเป็นกลุ่มติดอาวุธหัวรุนแรงจนไปถึงขั้นตั้งรัฐของตนเอง แม้ว่าอาณาเขตของกลุ่ม IS จะถูกชาติพันธมิตรทั่วโลกถล่มจนไม่เหลือแล้ว แต่เครือข่ายของกลุ่ม IS ที่ยึดถือแนวคิดของกลุ่มยังคงมีอยู่ทั่วโลก และได้ก่อเหตุระเบิดพลีชีพหลายต่อหลายครั้ง ซึ่งนั่นเป็นเรื่องที่ป้องกันยากกว่าการสู้รบครั้งใหญ่ที่มีการวางแผนอย่างดีมากนัก

ทั้งนี้ เมื่อเดือนส.ค.ที่ผ่านมา เคยมีแถลงการณ์ออกมาว่า นายอัล-บักดาดี ได้แต่งตั้งให้นายอับดุลเลาะห์ กาดีช หรือที่รู้จักกันในชื่อฮัจจิ อัลดุลเลาะห์ อัล-อฟารี เป็นผู้สืบทอดตำแหน่งผู้นำ IS คนต่อไป อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญต่างลงความเห็นว่าเป็นแถลงการณ์ปลอม เนื่องจากใช้ฟอนท์ข้อความต่างจากแถลงการณ์อื่น ๆ และไม่เคยมีการเผยแพร่แถลงการณ์ดังกล่าวบนช่องทางการสื่อสารทางการของกลุ่ม IS

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าอนาคตของกลุ่ม IS จะเป็นอย่างไร ใครจะขึ้นมาเป็นผู้นำกลุ่มคนต่อไป ประชาคมโลกจะยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือชาวเคิร์ดหรือไม่ นั่นเป็นเรื่องของอนาคต แต่ปัจจุบันนั้นภัยจากการก่อการร้ายก็ยังคงมีอยู่ โลกยังคงไม่สงบสุข และทั่วโลกก็คงจะ ต้องร่วมมือกันต่อไปเพื่อป้องกันไม่ให้การสังหารผู้นำ IS ครั้งนี้เป็นเหมือนการตัดหัวไฮดร้า ที่ยิ่งตัดยิ่งงอกมากยิ่งขึ้น

และสุดท้ายนี้ อยากให้ประชาคมโลกทำตามอย่างที่นายฟาร์ฮาน แฮค กล่าว คือถือโอกาสนี้ระลึกถึงผู้ตกเป็นเหยื่อและครอบครัวของผู้ตกเป็นเหยื่อของกลุ่ม IS เพราะอย่างน้อยชายผู้มีส่วนในการสั่งการก่อเหตุต่าง ๆ ก็ได้รับผลตอบแทนเรียบร้อยแล้ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ