In Focusเกาะติดไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ นานาชาติเริ่มพัฒนายารักษา จุดประกายความหวังสู่การยุติการแพร่ระบาด

ข่าวต่างประเทศ Wednesday January 29, 2020 14:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือไวรัสโรคปอดอักเสบที่มีชื่อว่า 2019-nCoV ยังคงเป็นประเด็นที่ทุกคนกังวล หลังจากที่ไวรัสดังกล่าวเริ่มแพร่ระบาดเมื่อช่วงกลางเดือนธันวาคมปีที่แล้ว โดยมีจุดเริ่มต้นจากเมืองอู่ฮั่นของจีน และทุกวันนี้ก็ได้แพร่ระบาดต่อเนื่องไปทั่วโลก ทั้งในประเทศแถบเอเชีย และไกลถึงฝั่งทวีปอเมริกา

แม้ปัจจุบันตัวเลขผู้เสียชีวิตและผู้ติดเชื้อไวรัสดังกล่าวจะยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่ก็เริ่มมีข่าวดีปรากฏให้เห็นบ้างแล้ว หลังมีรายงานข่าวเกี่ยวกับความสำเร็จในการรักษาผู้ที่ติดเชื้อไวรัสนี้ ทั้ง ๆ ที่ไวรัสตัวนี้ยังไม่มียาต้านไวรัสใช้รักษาและวัคซีนป้องกัน โดยการรักษาดังกล่าวเป็นผลงานจากความพยายามทั้งของจีนและทั่วโลก และหวังว่าความสำเร็จนี้จะก่อให้เกิดวิธีรักษาการติดเชื้อดังกล่าว อย่างที่เคยเกิดขึ้นกับการแพร่ระบาดของโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรงหรือ SARS เมื่อปี 2546

*อัปเดตยอดผู้ป่วยล่าสุด สะท้อนความคืบหน้าในการรักษา

วันนี้ คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติของจีน (NHC) แถลงยืนยันว่า ณ วันอังคารที่ 28 ม.ค. หริอเมื่อวานนี้ จำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคปอดอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในจีน เพิ่มขึ้นเป็น 132 ราย ขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสดังกล่าวอยู่ที่ 5,974 ราย

แถลงการณ์ของ NHC ระบุว่า มีผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนาที่อยู่ในขั้นวิกฤตจำนวน 1,239 ราย และผู้ที่อยู่ในข่ายต้องสงสัยว่าติดเชื้อไวรัสดังกล่าว อยู่ที่ 9,239 ราย

ก่อนหน้านั้นเพียงหนึ่งวัน จำนวนผู้เสียชีวิตจากไวรัสสายพันธุ์นี้อยู่ที่ 106 ราย และมีจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสดังกล่าว 4,515 ราย

ยอดผู้เสียชีวิตและผู้ติดเชื้อยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้น และคาดว่า จะยังคงเพิ่มขึ้นอีกจนอาจจะมีผู้ติดเชื้อแตะหลักหมื่นในไม่ช้า เพราะผู้ติดเชื้อไวรัสดังกล่าวแสดงอาการช้า กว่าผู้ติดเชื้อจะรู้ตัวก็อาจแพร่โรคไปให้ผู้อื่นไปแล้ว แม้สถานการณ์ยังคงน่าเป็นห่วง แต่ก็เริ่มมีข่าวดีให้เห็นบ้างแล้ว เนื่องมีรายงานข่าวว่ามีผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ออกจากโรงพยาบาลหลังจากอาการดีขึ้น ซึ่งอยู่ที่ 103 รายในจีน ขณะที่ไทยและญี่ปุ่นก็มีผู้ติดเชื้อที่ได้รับการรักษาจนดีขึ้นแล้วเช่นกัน โดยไทยได้รักษาผู้ป่วยไปแล้ว 5 ราย จากทั้งหมด 14 ราย ส่วนญี่ปุ่นรักษาแล้ว 1 ราย จากทั้งหมด 7 ราย

*ปรับสูตรยาที่มีอยู่เดิม หวังปราบไวรัสโคโรนาสายพันธฺ์ใหม่

ปัจจุบัน ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019-nCoV ยังไม่มียารักษาเฉพาะเจาะจง โดยการรักษาจะเน้นไปที่การบรรเทาอาการของผู้ป่วย ทางศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติจีน (CCDC) กำลังอยู่ระหว่างการทดสอบเทคนิคการรักษาโรคปอดบวม เพื่อประเมินประสิทธิภาพในการรักษาโรคปอดบวมอันเป็นผลจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่นี้

นอกจากนี้ ยังมีการวิจัยยาต้านไวรัสเดิมที่มีอยู่ในท้องตลาดด้วย เช่น ตัวยับตั้งโปรตีเอสอย่าง indinavir, saquinavir, remdesivir, lopinavir/ritonavir และ interferon beta

หากอ่านมาถึงตรงนี้อาจเกิดคำถามในใจว่า แล้วจีนรักษาผู้ติดเชื้อจนหายดีได้อย่างไรหากไม่มียาต้านไวรัสใช้รักษา คำตอบของเรื่องนี้คือการประยุกต์ใช้ยาที่วางจำหน่ายอยู่แล้วในท้องตลาด มาปรับใช้กับการรักษาผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่

การคิดค้นยาต้านไวรัสไม่ได้หมายความว่าจะต้องเริ่มต้นจากศูนย์เสมอไป และในกรณีนี้ ทางการจีนได้ออกประกาศที่สร้างความประหลาดใจให้กับแวดวงการแพทย์ โดยแนะนำให้ใช้ยาที่ไม่ได้มีข้อบ่งใช้ในการปราบไวรัสโคโรนามาใช้รักษาผู้ติดเชื้อ

เมื่อไม่นานมานี้ คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติของจีน (NHC) ได้แนะนำให้ใช้ยาต้านเชื้อเอชไอวีชื่อ Kaletra หรือที่มีอีกชื่อว่า Aluvia ของบริษัทยาสัญชาติสหรัฐอย่าง AbbVie ในการนำไปรักษาโรคปอดบวมอันเป็นผลจากการติดเชื้อไวรัส 2019-nCoV หลังผลการทดลองใช้กับผู้ติดเชื้อพบว่า ยาดังกล่าวหยุดการแพร่กระจายของไวรัสไปยังเซลล์อื่น ๆ

Kaletra ประกอบด้วยสารต้านไวรัส 2 รายการ ได้แก่ lopinavir และ ritonavir ซึ่งเป็นตัวยับตั้งโปรตีเอสที่คิดค้นขึ้นเพื่อสกัดกั้นการเพิ่มจำนวนของไวรัสเอชไอวี โดยมีการตั้งข้อสันนิษฐานไว้ว่า ตัวยานี้จะเข้ามาป้องกันการเพิ่มจำนวนของไวรัส 2019-nCoV ด้วยเช่นกัน

แม้ยาดังกล่าวยังไม่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการให้ใช้รักษาการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ แต่ถึงอย่างนั้นก็มีกรณีที่มีการใช้ยาตัวนี้นำไปรักษาผู้ติดเชื้อจนหายดีมาแล้ว โดยรายงานข่าวระบุว่า ทีมแพทย์จีนได้ใช้ยา Kaletra ทดลองรักษาผู้ติดเชื้อรายหนึ่งในเมืองอู่ฮั่น และประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีหลังผู้ป่วยมีอาการฟื้นตัวจนหายดีและส่งกลับบ้านได้

นอกจากนี้ ยา Kaletra ยังเคยมีประวัติถูกนำไปใช้รักษาการติดเชื้อไวรัสโคโรนามาแล้ว โดยเป็นไวรัสโคโรนาที่เคยแพร่ระบาดอย่างรุนแรงทั่วโลกเมื่อ 17 ปีที่แล้วอย่าง SARS-CoV ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ 2019-nCoV โดยผลการวิจัยเมื่อปี 2547 พบว่า การใช้สารต้านไวรัส lopinavir และ ritonavir ที่มีอยู่ในยา Kaletra นั้น ช่วยลดอาการไม่พึงประสงค์ในการรักษาผู้ติดเชื้อไวรัส SARS-CoV

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวส่งผลให้ AbbVie บริจาคยา Kaletra เป็นมูลค่า 10 ล้านหยวนไปยังจีนเพื่อช่วยควบคุมการแพร่ระบาด นอกจากนี้ ยังมีบริษัทยารายใหญ่ของโลกอีกมากมายที่ประกาศให้ความช่วยเหลือรัฐบาลจีน โดยที่เด่นที่สุดคือ Bayer ซึ่งได้ประกาศแผนบริจาคยาคิดเป็นมูลค่า 6.5 ล้านหยวน และเงินสดอีก 4.5 ล้านหยวน เพื่อเป็นงบซื้อผลิตภัณฑ์ป้องกันโรค

*ทดสอบยาสมุนไพร หวังงัดสรรพคุณปราบไวรัสโคโรนาสายพันธฺ์ใหม่

นอกเหนือจากยา Kaletra ที่ถูกมองว่าเป็นยาตัวหลักในการใช้รักษาโรคแล้ว จีนก็ไม่ได้หยุดอยู่กับยาตัวเดียว โดยเมื่อวานนี้ สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (CAS) เปิดเผยว่า คณะนักวิจัยชาวจีนได้คัดเลือกยา ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติที่มีฤทธิ์ทางชีวภาพ และยาสมุนไพรแบบดั้งเดิมของจีน จำนวน 30 รายการที่อาจจะมีผลในเชิงการรักษาไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ เพื่อนำมาทดสอบเพิ่มเติม

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ทีมงานนักวิจัยที่ประกอบด้วยนักวิทยาศาสตร์จากสถาบัน Shanghai Institute of Materia Medica ภายใต้สังกัด CAS และมหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้เทค อยู่ในระหว่างการค้นคว้าเพื่อพัฒนายาที่จะนำมาใช้ต้านไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ โดยได้ออกมาเปิดเผยโครงสร้างผลึกของโปรตีน Mpro ของไวรัสโคโรนาสายพันธฺ์ใหม่ ซึ่งเป็นโปรตีนที่ควบคุมกิจกรรมต่าง ๆ ที่มีความซับซ้อนของการแบ่งตัวของไวรัสโคโรนา

จากผลการศึกษา 2019-nCoV Mpro นั้น ทางทีมนักวิจัยได้กลั่นกรองข้อมูลยาต่าง ๆ ในตลาด และฐานข้อมูลขององค์ประกอบต่าง ๆ ที่มีศักยภาพสูงจากโรงงานผลิตยา รวมทั้งคัดเลือกตัวอย่างยา 30 รายจากการคัดกรองและทดสอบทางเอนไซม์วิทยา

ตัวอย่างยาดังกล่าวยังครอบคลุมถึงยาต้านเชื้อเอชไอวี 12 รายการ อาทิ Indinavir, Saquinavir, Lopinavir, Carfilzomib และ ritonavir และยาต้านเชื้อไวรัสระบบทางเดินหายใจอีก 2 รายการ ยารักษาอาการจิตเสื่อม และยากดภูมิคุ้มกัน ในขณะที่ยาดั้งเดิมของจีนที่มีองค์ประกอบที่อาจควบคุมไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ 2019-nCoV ได้ เช่น รากผักไผ่น้ำญี่ปุ่น หรือ Polygonum cuspidatum นั้น ก็อยู่ในรายการตัวอย่างดังกล่าวด้วย

*นักวิทยาศาสตร์เร่งพัฒนาวัคซีนป้องกันไวรัส หวังสกัดการแพร่ระบาดให้ทันเวลา

ในภาพยนตร์ที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับโรคระบาด เรามักจะเห็นนักวิทยาศาสตร์รีบพัฒนาวัคซีนเพื่อหยุดการแพร่ระบาดของไวรัส และกู้โลกของเราจากโรคร้ายได้ในที่สุด แต่ในความเป็นจริงแล้ว เมื่อประเมินจากการแพร่ระบาดของไวรัสต่าง ๆ ตลอดหลายปีที่ผ่านมา เช่น ไวรัสซิกาและไวรัสอีโบลา จะเห็นได้ว่ากว่านักวิทยาศาสตร์จะคิดค้นวัคซีนได้ก็แทบจะสายเกินไปแล้ว

แต่ในกรณีของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ 2019-nCoV บรรดานักวิทยาศาสตร์ต่างเชื่อกันว่า พวกเขาจะพัฒนาวัคซีนป้องกันไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้ได้ทันเวลา เนื่องด้วยความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีการแพทย์ และเงินสนับสนุนจากพันธมิตรด้านนวัตกรรมเพื่อความพร้อมในการรับมือกับโรคระบาด (CEPI) ซึ่งเป็นองค์กรระดับสากลที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2559 โดยมีจุดประสงค์หนึ่งเดียวในการเร่งพัฒนาวัคซีนใหม่ ๆ เพื่อป้องกันโรคติดเชื้อให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

CEPI ได้ประกาศให้เงินอุดหนุนแก่สถาบัน 3 แห่งในสหรัฐและออสเตรเลีย เป็นมูลค่ารวมกันถึง 12.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อให้สถาบันเหล่านี้นำไปพัฒนาวัคซีนป้องกันไวรัส 2019-nCoV ซึ่งเป็นการดำเนินการที่จริงจังอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และความพยายามดังกล่าวก็ดูเหมือนจะได้ผล เพราะไม่กี่ชั่วโมงหลังจากที่นักวิจัยชาวจีนได้แบ่งปันข้อมูลและลำดับพันธุกรรมของเชื้อไวรัสชนิดนี้ ก็มีสถาบันวิจัยและบริษัทยาต่าง ๆ เริ่มคิดค้นวัคซีนกันแล้ว ทั้งด้วยการแปลงลำดับไวรัสเป็น messenger RNA (mRNA) ซึ่งเมื่อฉีดเข้าร่างกายแล้วจะทำให้เกิดการผลิต viral protein (VP) เพื่อกระตุ้นการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันต่อโรคที่ต้องการ ไปจนถึงการผลิตวัคซีนจาก DNA และการผลิตวัคซีนที่ประกอบด้วย viral protein ที่ผลิตขึ้นจากการเพาะเซลล์อีกที

นอกจากนี้ ทางจีนเองก็ได้พยายามเร่งพัฒนาวัคซีนสกัดไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ด้วยเช่นกัน โดยคาดว่า การผลิตตัวอย่างวัคซีนจะใช้เวลาไม่เกิน 40 วัน ด้วยการใช้เทคโนโลยี mRNA รุ่นใหม่ และขั้นตอนเบื้องต้นอื่น ๆ ซึ่งโดยปกติแล้ว วงจรการผลิตวัคซีนทั่วไปจะใช้เวลานานถึง 5-6 เดือน ในขณะที่วัคซีน mRNA จะมีข้อได้เปรียบจากการพัฒนาและการผลิตที่ใช้เวลาน้อยกว่า

*ขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะทำนายอนาคต แต่คาดว่า สถานการณ์จะรุนแรงน้อยกว่าอดีตที่ผ่านมา

การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ 2019-nCoV ยังอยู่ในเดือนที่ 2 เท่านั้น ซึ่งยังถือว่าเป็นเพียงจุดเริ่มต้น โดยนักวิทยาศาสตร์มองว่า ขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะประเมินว่าการแพร่ระบาดนี้จะใช้เวลาอีกนานเท่าใดกว่าจะสิ้นสุดลง แต่เชื่อกันว่าจะรุนแรงน้อยกว่าการแพร่ระบาดครั้งที่ผ่าน ๆ มาในแง่ของอัตราการเสียชีวิต โดยโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรงหรือ SARS เมื่อปี 2546 นั้น มีอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 10% ส่วนโรคทางเดินหายใจสายพันธุ์ตะวันออกกลาง หรือเมอร์ส (MERS) เมื่อปี 2555 มีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 37%

นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่มองว่า ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ 2019-nCoV มีลักษณะที่คล้ายคลึงกับไวรัส SARS-CoV โดยเมื่อมองย้อนกลับไปยังสมัยที่ไวรัส SARS แพร่ระบาดเมื่อ 17 ปีที่แล้ว เหตุการณ์ดังกล่าวใช้เวลาถึงประมาณ 9 เดือนกว่าที่จะไม่มีรายงานพบผู้ติดเชื้อรายใหม่อีก ซึ่งก็เป็นไปได้ว่าการแพร่ระบาดนี้อาจใช้เวลาพอ ๆ กัน หรือไม่ก็น้อยกว่าเพราะเทคโนโลยีการแพทย์ได้ก้าวหน้าไปไกล ขณะที่รัฐบาลหลาย ๆ ประเทศก็มีการประกาศมาตรการรับมืออย่างจริงจัง

ความหวังเดียวในการหยุดการแพร่ระบาดนี้คงอยู่ที่การเร่งคิดค้นยาต้านไวรัสเพื่อใช้รักษาผู้ที่ติดเชื้อไปแล้ว และพัฒนาวัคซีนป้องกัน เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่เกิดการแพร่ระบาดขึ้นอีก โดยหวังว่าความสำเร็จนี้จะเกิดขึ้นโดยเร็ว เพื่อให้ผู้ติดเชื้อที่ปัจจุบันมีหลายพันคนและอาจแตะหลักหมื่นในไม่ช้านี้ได้รับการรักษาจนหายดี และกลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้ในที่สุด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ