In Focusตามติด "ลิซ ทรัสส์" นายกฯอังกฤษมือใหม่ เจอศึกใกล้-ไกลไล่ข่มเหง

ข่าวต่างประเทศ Wednesday September 7, 2022 13:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (6 ก.ย.) นางลิซ ทรัสส์ เดินทางเข้าเฝ้าสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ที่ปราสาทบาลมารัลในสกอตแลนด์ เพื่อรับการแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอังกฤษอย่างเป็นทางการ

นางทรัสส์คว้าชัยชนะตามคาดในการแข่งขันชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยมของอังกฤษเมื่อวันที่ 5 ก.ย. ขึ้นเป็นนายกฯ คนที่ 4 ของอังกฤษในรอบ 6 ปี แทนที่นายบอริส จอห์นสัน ที่ถูกบีบให้ลาออกจากตำแหน่งเมื่อช่วงต้นเดือนก.ค.ที่ผ่านมาหลังก่อเรื่องอื้อฉาวโดยแอบจัดปาร์ตี้ในช่วงล็อกดาวน์สกัดโควิด-19

อย่างไรก็ดี นายกฯ หญิงคนที่ 3 ของอังกฤษรายนี้จะต้องเผชิญกับปัญหานานัปการที่รออยู่เบื้องหน้า ทั้งวิกฤตเศรษฐกิจและพลังงานในอังกฤษ ทั้งเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับยูเครน, รัสเซีย และจีนที่ร้อนระอุ

In Focus สัปดาห์นี้จึงขอพาผู้อ่านไปสัมผัสกับอดีตการพลิกขั้วย้ายข้างของนางทรัสส์ สารพัดปัญหาในประเทศที่รออยู่ นโยบายที่สัญญาว่าจะทำ ตลอดจนกระแสไม่ค่อยปลื้มจากชาวอังกฤษ เสียงสรรเสริญและคำสบประมาทจากชาติอื่น ๆ

*อดีตของลิซ ทรัสส์ - จากนักศึกษาหนุนล้มเจ้า สู่พรรคอนุรักษ์นิยม

สำนักข่าวบีบีซีเปิดข้อมูลประวัติไว้ว่า นางทรัสส์ วัย 47 ปี มีชื่อจริงว่า แมรี เอลิซาเบธ ทรัสส์ เกิดเมื่อปี 1975 ในเมืองออกซฟอร์ด โดยคุณพ่อของเธอเป็นนักคณิตศาสตร์ ส่วนคุณแม่เป็นนางพยาบาล ซึ่งนางทรัสส์บรรยายว่าพ่อแม่ของเธอมีความคิดการเมืองไปทางฝ่ายซ้าย

สมัยเด็ก แม่เคยพาเธอไปร่วมเดินขบวนกับกลุ่มรณรงค์ปลดอาวุธนิวเคลียร์ เพื่อคัดค้านการตัดสินใจของรัฐบาลของนางมาร์กาเร็ต แทชเชอร์ นายกฯ หญิงคนแรกของอังกฤษ ที่จะให้สหรัฐมาติดตั้งหัวรบนิวเคลียร์ที่กรีนแฮม คอมมอนทางตะวันตกของกรุงลอนดอนให้กับกองทัพอากาศสหราชอาณาจักร (RAF)

นางทรัสส์จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดด้านปรัชญา การเมือง และเศรษฐกิจ โดยมีความสนใจในด้านการเมืองมาตั้งแต่สมัยที่ยังเรียนอยู่ และผ่านการเข้าร่วมเป็นสมาชิกพรรคลิเบอรัล เดโมแครต ซึ่งมีแนวคิดเสรีนิยม

ในการประชุมพรรคฯ ณ เมืองไบรตันเมื่อปี 2537 นางทรัสส์กล่าวสนับสนุนให้มีการล้มล้างสถาบันกษัตริย์ โดยระบุว่า "พวกเราชาวลิเบอรัล เดโมแครตเชื่อว่า ทุกคนสมควรได้รับโอกาส เราไม่เชื่อในคนที่เกิดมาเพื่อปกครอง"

นอกจากนี้ ในสมัยที่ยังอยู่ออกซฟอร์ด นางทรัสส์ยังเคยสนับสนุนการปลดล็อกกัญชาให้ถูกกฎหมายอีกด้วย ก่อนจะออกจากพรรคลิเบอรัล เดโมแครต ไปเข้าร่วมกับพรรคอนุรักษ์นิยมแทน เนื่องจากเธอสนับสนุนแนวคิดตลาดเสรีที่มีจุดยืนว่า รัฐบาลควรเข้ามาแทรกแซงเอกชนให้น้อยที่สุด

ก่อนจะเข้าสู่เส้นทางการเมือง นางทรัสส์ทำงานเป็นนักบัญชีและได้รับเลือกให้รับตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของเขตตะวันตกเฉียงใต้ของนอร์ฟอล์กในปี 2553 และได้รับตำแหน่งในกระทรวงศึกษาธิการในปี 2555

ในสมัยของอดีตนายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ นางทรัสส์ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม และประธานศาลสูง ซึ่งนับเป็นผู้หญิงคนแรกที่ดำรงตำแหน่งนี้ ก่อนจะย้ายไปรับตำแหน่งเลขาธิการกระทรวงการคลังในภายหลัง

ต่อมาในสมัยของนายจอห์นสัน นางทรัสส์ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีการค้าระหว่างประเทศ และย้ายมารับตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศในปัจจุบัน ซึ่งนับเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศหญิงคนที่ 2 ในประวัติศาสตร์ของอังกฤษ

ในตอนแรกนางทรัสส์คัดค้านการทำเบร็กซิต (Brexit) แต่หลายปีมานี้ นางทรัสส์มีท่าทีที่แข็งกร้าวมากขึ้นต่อความสัมพันธ์ระหว่างอังกฤษกับสหภาพยุโรป (EU) และขู่จะละเมิดข้อตกลงการค้าในปัจจุบันระหว่างอังกฤษกับ EU อยู่บ่อยครั้ง

*ศึกใกล้ ? ปัญหาในประเทศ นโยบายของทรัสส์ และกระแสตอบรับที่ไม่ค่อยปลื้ม

หลังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอังกฤษอย่างเป็นทางการ นางทรัสส์จะต้องเร่งแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของอังกฤษ ท่ามกลางเงินเฟ้อที่พุ่งสูงสุดในรอบ 40 ปี

ซิตี้กรุ๊ปออกรายงานเตือนว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของอังกฤษจะพุ่งทะลุ 18% ในเดือนม.ค. 2566 โดยได้รับผลกระทบจากราคาพลังงานที่พุ่งขึ้น

ด้านธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ก็ออกมาเตือนว่า เศรษฐกิจจะเผชิญภาวะถดถอยยาวนานกว่า 1 ปี โดยจะเข้าสู่ภาวะถดถอยตั้งแต่ไตรมาส 4 ของปี 2565 จนถึงสิ้นปี 2566

BoE คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจอังกฤษจะเผชิญภาวะถดถอยนานถึง 5 ไตรมาส ซึ่งเป็นช่วงเวลายาวนานที่สุดนับตั้งแต่ที่เศรษฐกิจโลกเผชิญวิกฤตการเงิน โดยรายได้ในภาคครัวเรือนของอังกฤษจะทรุดตัวลงอย่างหนักในปี 2565-2566 ขณะที่การบริโภคเริ่มหดตัว

จากปัญหาที่รออยู่นี้ นางทรัสส์ให้คำมั่นว่าจะดำเนินการแก้ไขปัญหาราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นและจัดหาพลังงานเข้าประเทศมากขึ้นทันทีที่เป็นนายกฯ โดยยืนยันว่า เธอเข้าใจดีว่า วิกฤตค่าครองชีพส่งผลกระทบต่อทุกคนอย่างไร พร้อมระบุว่าจะดำเนินการอย่างเด็ดขาดเพื่อรับประกันว่า ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจจะสามารถผ่านพ้นฤดูหนาวในปีนี้และปีหน้าไปได้

ในด้านนโยบายที่หาเสียงไว้ นางทรัสส์ให้สัญญาว่าจะใช้งบประมาณฉุกเฉินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและตรึงอัตราภาษีให้อยู่ในระดับต่ำเพื่อรับมือกับภาวะเศรษฐกิจซบเซา โดยจะระงับการเพิ่มภาษีประกันแห่งรัฐที่ประกาศในเดือนเม.ย., ยกเลิกแผนการขึ้นภาษีเงินได้นิติบุคคลที่มีกำหนดจะเพิ่มจาก 19% เป็น 25% ในเดือนเม.ย. 2566 รวมถึงยกเลิกโครงการภาษีพลังงานสะอาด โดยนางทรัสส์ยังโจมตีด้วยว่า ภายใต้แผนปัจจุบันนั้น ภาระด้านภาษีพุ่งสู่ระดับสูงสุดในรอบ 70 ปี

ทั้งนี้ นางทรัสส์ยืนยันความมุ่งมั่นที่จะทำให้ได้ตามเป้าหมายที่จะลดการปลดปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ภายในปี 2593 แต่เสริมด้วยว่าจำเป็นต้อง "หาวิธีที่ดีกว่านี้เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายนั้นโดยไม่เป็นอันตรายต่อผู้คนและธุรกิจต่าง ๆ"

นอกจากนี้ นางทรัสส์เตรียมวางแผนเพื่อสร้างเขตการลงทุนที่มีข้อบังคับต่ำและเมืองท่าปลอดภาษีมากขึ้น โดยได้สัญญาไว้ในตอนหาเสียงว่า หากเธอได้รับเลือกเป็นนายกฯ อังกฤษคนใหม่ เธอจะทำงานร่วมกับชุมชนท้องถิ่นเพื่อสร้างสถานที่พัฒนาใหม่สำหรับเขตการลงทุน หรือสิ่งที่ทีมงานของเธอระบุว่าเป็น "ท่าเรือปลอดภาษีเต็มรูปแบบ"

เขตการลงทุนดังกล่าวจะมีภาระทางภาษีต่ำเพื่อขับเคลื่อนการลงทุนและการก่อสร้าง ลดข้อกำหนดด้านการวางแผนและมีกฎระเบียบที่ออกแบบมาเป็นพิเศษสำหรับเขตดังกล่าวเพื่อส่งเสริม "อุตสาหกรรมมูลค่าสูง" เช่น ปัญญาประดิษฐ์

นอกจากนี้ นางทรัสส์ยังเตรียมยกเลิกแผนห้ามจัดโปรโมชันประเภทซื้อหนึ่งแถมหนึ่งในกลุ่มสินค้าอาหารและเครื่องดื่มที่มีไขมัน เกลือ และน้ำตาลในปริมาณสูง (HFSS) รวมถึงจะไม่ขึ้นภาษีอาหารขยะเพื่อแก้ปัญหาค่าครองชีพ โดยระบุว่า ชาวอังกฤษต้องการให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับประเด็นอย่างเช่น การเชื่อมโยงการเดินทางและระบบโครงสร้างการสื่อสารที่ดี รวมถึงการลดระยะเวลาการรอรับบริการในระบบบริการสุขภาพแห่งชาติ (NHS)

อนึ่ง นางทรัสส์มีแนวคิดว่า รัฐบาลควรจะมีบทบาทควบคุมการดำเนินงานของ BoE มากยิ่งขึ้น ซึ่งได้รับเสียงคัดค้านจากนายแอนดรูว์ เบลีย์ ผู้ว่าการ BoE ที่มองว่า แนวทางของนางทรัสส์จะทำให้ธนาคารกลางไม่เป็นอิสระและเสียอำนาจเอกสิทธิ์ในการกำหนดอัตราดอกเบี้ย ด้านนายกอร์ดอน บราวน์ อดีตนายกฯ อังกฤษจากพรรคแรงงานเองก็วิพากษ์วิจารณ์ว่า แนวคิดของนางทรัสส์เป็นความผิดพลาดร้ายแรง

อย่างไรก็ตาม หลังได้เป็นนายกฯ แล้ว นางทรัสส์กลับได้เสียงตอบรับจากประชาชนไม่ดีนัก โดยผลสำรวจจากเว็บไซต์ YouGov เปิดเผยว่า คนอังกฤษ 50% ผิดหวังที่เธอได้เป็นนายกฯ โดยมีถึง 33% ที่ระบุว่า "ผิดหวังอย่างยิ่ง" แต่มีเพียง 22% ที่ระบุว่าพอใจอย่างยิ่ง หรือค่อนข้างพอใจ

นอกจากนี้ ผลโพลล์ดังกล่าวยังระบุว่า คนอังกฤษถึง 2 ใน 3 (67%) ไม่มีความเชื่อมั่นว่า รัฐบาลของนางทรัสส์จะแก้ปัญหาค่าครองชีพได้อีกด้วย

*ศึกไกล ? รัสเซียและจีนตั้งแง่ แต่ยูเครนเป็นมิตร

การขึ้นเป็นนายกฯ คนใหม่ของนางทรัสส์ได้รับคำดูถูกจากรัสเซียและคำวิพากษ์วิจารณ์จากจีน แต่เรียกเสียงสรรเสริญจากยูเครน

ในส่วนของรัสเซีย พิธีกรรายหนึ่งจากสถานีโทรทัศน์ของรัฐบาลรัสเซียประกาศกร้าวว่า "ความโง่เขลาได้รับชัยชนะเมื่อลิซ ทรัสส์ ได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่... ในเมื่อบอริส จอห์นสัน บรรลุเป้าหมายด้านเบร็กซิตได้ เธอเองก็ต้องการบรรลุเป้าหมายที่ต่างออกไป ซึ่งนั่นก็คือจุดจบของโลกใบนี้"

สำนักข่าวเดอะการ์เดียนรายงานว่า นับตั้งแต่ที่เธอเดินทางเยือนมอสโกในเดือนก.พ.เพื่อพูดคุยกับนายเซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย ทำเนียบเครมลินก็ดูแคลนและด้อยค่านางทรัสส์อย่างเปิดเผย โดยในการพบปะครั้งนั้นช่วงคืนก่อนรัสเซียบุกยูเครน นางทรัสส์ไม่เชื่อที่ลาฟรอฟกล่าวว่า รัสเซียไม่ได้เตรียมโจมตียูเครน แม้จะสั่งสมกำลังทหารนับแสนรายประชิดชายแดนยูเครนไว้ก็ตาม ซึ่งลาฟรอฟแสดงความไม่พอใจว่า การที่เธอเข้ามาแทรกแซงเรื่องนี้เป็นเพียง "การตะโกนคำขวัญผ่านเวทีปราศรัย"

ในทำนองเดียวกัน หนังสือพิมพ์โกลบอล ไทมส์ ซึ่งเป็นสื่อของพรรคคอมมิวนิสต์จีนออกบทบรรณาธิการวิจารณ์นางทรัสส์ว่า แสดงวาทกรรมก้าวร้าวรุนแรงต่อจีนและรัสเซียในช่วงหาเสียง โดยนางทรัสส์ชูว่าจะเพิ่มงบประมาณด้านการทหารเป็น 3% ของ GDP ภายในปี 2573 และถึงขั้นกล้าอวดอ้างว่า การกดปุ่มนิวเคลียร์นั้น "เป็นหน้าที่สำคัญของนายกรัฐมนตรี"

นอกจากนี้บทวิจารณ์ดังกล่าวยังระบุว่า นางทรัสส์อยากจะเป็นนายกฯ "หญิงเหล็ก" คนใหม่ โดยพยายาม "ก๊อบปี้" การแต่งกายและอากัปกิริยาแบบเดียวกับนางมาร์กาเร็ต แทชเชอร์ นายกฯ หญิงคนแรกของอังกฤษ แต่นางทรัสส์ยังมีแนวคิดแบบเจ้าอาณานิคมหลงยุค โดยแทนที่จะพยายามแก้ปัญหาเศรษฐกิจในประเทศ กลับเบี่ยงเบนประเด็นไปโทษจีนว่าเป็น "ภัยคุกคามความมั่นคงระดับชาติ" และทำตัวแข็งกร้าวกับจีนเป็นกิจวัตร ซึ่งเป็นเพียงมุกฝืดเดิม ๆ ที่สะท้อนถึงความไร้น้ำยาในการบริหารประเทศ

แต่สำหรับยูเครนแล้ว นางทรัสส์กลับได้รับเสียงชื่นชมยินดี โดยประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครนเปิดเผยเมื่อคืนวันจันทร์ (5 ก.ย.) ว่า นางลิซ ทรัสส์ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอังกฤษ "อยู่ฝ่ายผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองของยุโรปเสมอมา" และยูเครนตั้งตารอที่จะได้ร่วมงานกับนางทรัสส์ต่อไป

"ในยูเครน เรารู้จักลิซ ทรัสส์เป็นอย่างดี เธออยู่ฝ่ายผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองยุโรปเสมอมา ผมเชื่อว่าเมื่อเราร่วมมือกัน เราจะสามารถป้องกันประเทศของเราได้มากกว่าเดิม และเอาชนะความพยายามในการทำลายล้างทั้งหมดของรัสเซียได้" ผู้นำยูเครนกล่าว

ทั้งนี้ ไม่ว่าจะศึกใกล้หรือศึกไกล ผลการแก้ปัญหาเศรษฐกิจในประเทศและจุดยืนในเวทีการเมืองโลก จะเป็นตัวชี้ชะตาว่า นางลิซ ทรัสส์ จะได้ครองเก้าอี้นายกฯ อังกฤษไปจนกว่าจะมีการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนม.ค. 2568 หรือไม่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ