In Focusเวทีประชุม COP27 ร้อนกว่าที่เคย เพราะโลกร้อนที่สุด 8 ปีแล้ว!

ข่าวต่างประเทศ Wednesday November 9, 2022 12:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

การประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศขององค์การสหประชาชาติ (UN) หรือการประชุม COP27 ได้เปิดฉากขึ้นที่เมืองชาร์มเอล-ชีค ประเทศอียิปต์ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 6 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยมีตัวแทนจากประเทศต่าง ๆ ถึงเกือบ 200 ประเทศเข้าร่วมการประชุม หนึ่งในไฮไลต์ของการประชุมในวันแรก ๆ คือ การเรียกร้องให้ประเทศร่ำรวยสนับสนุนงบประมาณ 1 แสนล้านดอลลาร์ตามที่เคยได้ให้คำมั่นไว้เมื่อปี 2552 เพื่อช่วยเหลือประเทศที่มีรายได้ต่ำในการรับมือและแก้ปัญหาด้านสภาพภูมิอากาศ ภายหลังจากที่ทั่วโลกต้องเผชิญกับสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนอย่างรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นเหตุน้ำท่วมอย่างหนักในประเทศปากีสถานและไนจีเรีย รวมทั้งยุโรปและจีนที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์คลื่นความร้อนที่หนักหนาสาหัสเป็นประวัติการณ์

ประโยคที่ว่า "We are on highway to climate hell." ของนายอันโตนิโอ กูเตอเรส เลขาธิการองค์การสหประชาชาติที่ชี้ให้เห็นว่า เรากำลังอยู่บนเส้นทางสู่นรกโลกันตร์แห่งสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเขาได้กล่าวในระหว่างการประชุม COP27 นั้น สะท้อนให้เห็นถึงภาพของความเลวร้ายของสภาพภูมิอากาศที่เราและโลกกำลังเผชิญอยู่ เรียกได้ว่า ประโยคดังกล่าวนี้แทบจะไม่ห่างจากความเป็นจริงเท่าใดนัก

*ทำไมสภาพภูมิอากาศโลกจึงอยู่ในภาวะที่เลวร้าย

รายงานจาก UN และองค์การอุตุนิยมวิทยาโลกบ่งชี้ว่า โลกเผชิญกับภาวะอากาศร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ได้เปิดเผยเมื่อเดือนต.ค.ที่ผ่านมาว่า การสกัดกั้นอุณหภูมิโลกไม่ให้ปรับตัวสูงขึ้น 1.5 องศาเซลเซียสนั้นไม่มีทางที่จะเป็นไปได้เลย ขณะที่รายงานอีกฉบับของ UN ระบุว่า โลกเราไม่ได้เข้าใกล้เป้าหมายในการควบคุมปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแม้แต่น้อยนิด ขณะที่มีการประเมินว่า อุณหภูมิโลกจะสูงขึ้นอีก 2.5 องศาเซลเซียส

ขณะเดียวกันองค์การอุตุนิยมวิทยาโลกระบุด้วยว่า ปริมาณของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซมีเทน และก๊าซไนตรัสออกไซด์ที่อยู่ในสภาพบรรยากาศของโลกนั้น แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อปีที่แล้ว ก๊าซเรือนกระจกทั้ง 3 ชนิดนี้เป็นตัวการที่กักเก็บความร้อนในบรรยากาศและทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น

นายอล็อก ชาร์มา นักกฎหมายชาวอังกฤษและประธานการประชุม COP26 เมื่อปี 2564 กล่าวว่า เราไม่ได้อยู่บนเส้นทางที่จะสกัดกั้นอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงเกินไปกว่า 1.5 องศาแล้ว ขณะที่ปีนี้ผู้นำของประเทศทั่วโลกต่างก็เผชิญกับสถานการณ์ที่สำคัญในด้านต่าง ๆ แต่เราก็ต้องมีความชัดเจน เนื่องจากการที่เราไม่ลงทำอะไรในขณะนี้ก็เปรียบเสมือนกับการที่เราไม่ยอมมองอะไรที่ไกลออกไป และยินยอมให้เกิดหายนะทางด้านสภาพภูมิอากาศ

*ผลกระทบต่อสุขภาพจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

รายงานของผู้เชี่ยวชาญ 99 รายจากองค์การต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงองค์การอนามัยโลก ภายใต้การนำของมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน ได้ชี้ให้เห็นถึงผลกระทบที่ร้ายแรงต่อสุขภาพและระบบสาธารณสุขที่ก่อนหน้านี้ต้องรับมือกับการระบาดของโควิด-19 ไว้ว่า การเสียชีวิตอันเนื่องมาจากความร้อนนั้น เพิ่มขึ้นถึง 2 ใน 3 ในช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมา

อุณหภูมิโลกที่สูงเป็นประวัติการณ์ในปี 2565 เช่น อุณหภูมิในสหราชอาณาจักรที่แตะระดับ 40 องศาเซลเซียสเมื่อเดือนก.ค.ที่ผ่านมา รวมทั้งหลาย ๆ พื้นที่ในยุโรป ปากีสถาน และจีน โดยผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสุขภาพอันเนื่องมาจากความร้อนที่รุนแรงนั้น จะยิ่งเร่งอาการของผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคทางเดินหายใจ อีกทั้งยังให้เกิดโรคลมร้อน (Heat Stroke) และปัญหาสุขภาพจิต

อย่างไรก็ดี ปัญหาเหล่านี้ยังมีทางแก้ การลงมือทำในทันทีจะสามารถช่วยชีวิตของผู้คนได้หลายล้านคน ด้วยการเปลี่ยนแปลงไปสู่การใช้พลังงานสะอาดและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ

*จุดยืนและท่าทีผู้นำที่เข้าร่วมการประชุม COP27

เมื่อสถานการณ์ดำเนินมาอยู่ในจุดที่เวทีการประชุม COP27 ได้มีการนำประเด็นเรื่องการสูญเสียและความเสียหายจากการที่ไม่มีงบประมาณมาสนับสนุนมาเป็นวาระในการประชุมด้วยนั้น ผู้นำจากประเทศต่าง ๆ ที่ได้ขึ้นเวทีกล่าวปราศรัยในการประชุมแล้ว มีตั้งแต่ นายริชี ซูนัค นายกรัฐมนตรีอังกฤษคนล่าสุดที่ระบุว่า สภาพภูมิอากาศและความมั่นคงด้านพลังงานเป็นเรื่องที่ต้องไปด้วยกัน การทำสงครามที่น่าชิงชังในยูเครนของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินแห่งรัสเซีย และราคาพลังงานที่สูงขึ้นทั่วโลก ไม่ใช่เหตุผลที่จะต้องชะลอการดำเนินการใด ๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เรามีเหตุผลที่จะต้องลงมือทำอย่างรวดเร็วกว่านี้

"เราสามารถส่งมอบโลกที่มีสิ่งแวดล้อมที่ดีกว่าเดิมและมีอนาคตที่สดใสกว่าให้แก่เด็ก ๆ ได้ จริง ๆ แล้วยังมีความหวังอยู่" นายซูนัคกล่าว

ทางด้านประธานาธิบดีเอ็มมานูแอล มาครงแห่งฝรั่งเศสกล่าวว่า โลกจะต้องให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และอย่าเพิกเฉยต่อคำมั่นที่จะลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพียงเพราะการที่รัสเซียบุกยูเครน พร้อมกับเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบของสถาบันการเงินนานาชาติ เช่น กองทุนการเงินระหว่างประเทศและธนาคารโลก เพื่อที่จะจัดสรรงบประมาณให้กับประเทศที่มีความเสี่ยงและอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

นายซาเมห์ ชูครี ประธานการประชุม COP27 กล่าวว่า เพดานการจำกัดอุณหภูมิโลกที่ 1.5 องศาเซลเซียสนั้นถือเป็นจุดเริ่มต้นของการกำหนดอุณหภูมิซึ่งเป็นที่ปรารถนาตามที่ได้มีการระบุไว้ในข้อตกลงปารีส 2015 ซึ่งถือเป็นเป้าหมายที่สำคัญสำหรับประเทศทั่วโลก เพราะหากเราสามารถทำได้ตามเป้า จุดเปลี่ยนในเรื่องสภาพภูมิอากาศก็มีความเป็นไปได้มากยิ่งขึ้น นี่ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่สามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในระบบองคาพยพที่จะช่วยเกื้อหนุนชีวิตทั้งหลายทั้งปวงบนโลกใบนี้

นายชูครีกล่าวต่อไปว่า คำมั่นที่ว่าจะมีการสนับสนุนด้านการเงินปีละ 1 แสนล้านดอลลาร์นั้น ยังไม่ได้มีการลงมือทำแต่อย่างใด แม้ว่าจะมีการจัดสรรเงินที่พุ่งเป้าไปยังการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่ก็ไม่ได้มีความพยายามที่จะประยุกต์ใช้ในประเด็นนี้เท่าใดนัก กลุ่มประเทศรายได้ต่ำที่ต้องแบกรับภาระหนี้สินอยู่แล้วได้ออกมาเรียกร้องซ้ำแล้วซ้ำเล่าให้มีการเคลื่อนไหวเพื่อที่กลุ่มประเทศร่ำรวยจะให้เงินอุดหนุนมากกว่าที่จะปล่อยเงินกู้เพิ่มขึ้น

ประธานการประชุม COP27 กล่าวว่า เรารู้ว่าเราได้เดินมาถึงจุดที่การดำเนินการด้านการเงินมีความสำคัญ ผมจึงอยากจะชี้ให้เห็นถึงเรื่องความก้าวหน้าของการสนับสนุนด้านการเงินมูลค่า 1 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งผมเองก็ได้ยินเกี่ยวกับเรื่องการวิพากษ์วิจารณ์ต่าง ๆ นานา และเห็นด้วยว่า รัฐบาลและธนาคารเพื่อการพัฒนาในระดับพหุภาคีจะต้องดำเนินการมากกว่านี้

ขณะที่นายไซมอน สตีล เลขาธิการของโครงการการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ ได้ผลักดันให้ตัวแทนด้านสภาพอากาศจากทั่วโลกในการประชุม COP27 ให้ความสำคัญกับปัจจัยที่สำคัญ 3 ประการสำหรับการลงมือทำ และตอกย้ำถึงความจำเป็นที่ประเทศที่มีรายได้สูงจะต้องให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ประเทศที่กำลังเผชิญกับวิกฤตด้านสภาพภูมิอากาศ

"อันดับแรก เราต้องแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่การลงมือปฏิบัติ กิจกรรมทั้งหลายทั้งปวงของมนุษย์จะต้องสอดคล้องกับข้อตกลงปารีส เพื่อที่จะสกัดกั้นอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้น 1.5 องศา" นายสตีลกล่าว

อันดับต่อมาได้แก่ การลงมือทำ เลขาฯ โครงการการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของ UN กล่าวต่อไปว่า เราจะต้องผลักดันให้เกิดความก้าวหน้าในแนวทางการดำเนินการ ซึ่งประกอบด้วย การลดจำนวน การประยุกต์ การเงิน และที่สำคัญคือ เรื่องการสูญเสียและความเสียหาย ท้ายที่สุดก็คือ การยกระดับในเรื่องหลักการของความโปร่งใสและความรับผิดชอบทั่วทั้งกระบวนการ

*จากใจผู้นำประเทศเหยื่อโลกร้อนล่าสุด

นายมูฮัมหมัด เชห์บาซ ชารีฟ นายกรัฐมนตรีปากีสถานซึ่งเป็นหนึ่งในเหยื่อของวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงหลังจากที่เหตุน้ำท่วมครั้งใหญ่ได้คร่าชีวิตประชาชนไปกว่า 1,700 ราย กล่าวเรียกร้องให้ประเทศที่ร่ำรวยช่วยเหลือประเทศที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ไม่มีโลกใบที่ 2 สำหรับเรา การประชุมครั้งนี้ได้ส่งสัญญาณเตือนไปยังมวลมนุษย์ว่า เรายังมีโอกาสรอดหากมีการทำตามคำมั่นสัญญาและเป้าหมายที่ได้ให้ไว้

"การประชุมครั้งนี้ถือเป็นเวทีที่ประเทศที่มีความอ่อนไหวอย่างเราได้มีโอกาสบอกกล่าวกับประเทศที่พัฒนาแล้ว รวมทั้งการดำเนินการเพื่อจัดทำโรดแมปที่จะนำไปสู่การกำหนดนโยบายที่มีความสำคัญขึ้นมาใหม่อีกครั้ง เพื่อโลกที่กำลังถูกเผาไหม้ในอัตราที่รวดเร็วกว่าความสามารถในการฟื้นฟู" นายกฯปากีสถานกล่าว

ปากีสถานเป็นประเทศที่ได้รับความเสียหายจากเหตุน้ำท่วมในหลายพื้นที่ของประเทศ โดยส่งผลกระทบต่อประชาชนถึง 33 ล้านคน และความเสียหายที่เกิดขึ้นคิดเป็นมูลค่าประมาณ 4 หมื่นล้านดอลลาร์

"วิกฤตแห่งความเชื่อใจและไว้วางใจ" เป็นสิ่งที่ จัสติน โรว์แลต บรรณาธิการด้านสภาพภูมิอากาศของสำนักข่าวบีบีซีได้ระบุไว้ในรายงานข่าวว่า เจ้าภาพการประชุม COP27 ได้เตือนไปก่อนหน้านี้แล้วถึงเรื่องวิกฤตแห่งความเชื่อใจและไว้วางใจ ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วต้องรับมือกับวิกฤตค่าครองชีพ เนื่องจากราคาเชื้อเพลิงและอาหารที่พุ่งสูงขึ้น และประเทศพัฒนาแล้วอีกหลายประเทศก็ได้ทุ่มงบประมาณหลายพันล้านดอลลาร์ไปกับการสนับสนุนด้านการทหารในยูเครน

การประชุมที่จัดขึ้นทุกปีอย่าง COP จะเป็นความหวังให้กับเหล่ามวลมนุษยชาติบนโลกสีครามใบนี้ได้หรือไม่ คงต้องติดตามและช่วยกันเซฟโลกของเราต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ