In Focusฟีฟ่า เวิลด์คัพ 2022 กับเรื่องนอกสนามที่น่าสนใจไม่แพ้ในสนาม

ข่าวต่างประเทศ Wednesday December 7, 2022 13:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

การแข่งขันฟุตบอลโลกฟีฟ่า เวิลด์คัพ 2022 ที่ประเทศกาตาร์ ซึ่งเป็นการแข่งฟุตบอลโลกบนแผ่นดินอาหรับเป็นครั้งแรก นับเป็นการแข่งขันฟุตบอลโลกที่มีเรื่องนอกสนามให้ติดตามมากมายไม่แพ้ในสนามเลย ไล่มาตั้งแต่กาตาร์จะเป็นประเทศเจ้าภาพรายแรกที่ยังไม่เคยผ่านเข้ารอบสุดท้ายของฟุตบอลโลกเลยสักครั้ง วันเวลาแข่งที่ต่างไปจากทุกที ไปจนถึงข่าวการเสียชีวิตของแรงงานก่อสร้าง และกฎข้อห้ามต่าง ๆ ที่ผุดขึ้นเรื่อย ๆ แม้ในระหว่างที่การแข่งขันเริ่มขึ้นแล้ว

In Focus สัปดาห์นี้จะพาท่านผู้อ่านไปติดตามเรื่องนอกสนามต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจนถึงวันนี้ (7 ธ.ค.) โดยสังเขป

? เจ้าภาพฟุตบอลโลกที่มาพร้อมข้อครหา

นับตั้งแต่ที่กาตาร์ได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2553 ก็เกิดคำถามตามมามายมาก ไม่ว่าจะเป็นความพร้อมของสถานที่ รวมไปถึงช่วงเวลาจัดการแข่งขัน เนื่องจากกาตาร์แทบจะต้องสร้างทุกอย่างขึ้นมาใหม่เพื่อเตรียมพร้อมรับการแข่งขันครั้งนี้ รวมถึงต้องเปลี่ยนเวลาแข่งขันจากเดิมช่วงที่จบฤดูกาลของลีกยุโรปในช่วงเดือนมิ.ย.-ก.ค. มาเป็นกลางฤดูกาลของลีกยุโรปในช่วงปลายพ.ย.-ธ.ค. อันเนื่องมาจากสภาพอากาศ นำมาซึ่งคำถามว่า กาตาร์ทำการติดสินบนเพื่อให้ได้เป็นเจ้าภาพหรือไม่ แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่พบหลักฐานการติดสินบนแต่อย่างใด

อีกเรื่องที่กาตาร์ถูกประณามอย่างรุนแรงก็คือ การเสียชีวิตของแรงงานก่อสร้าง เนื่องจากกาตาร์ต้องทำการสร้างสนามแข่งรวมถึงโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ขึ้นใหม่เป็นจำนวนมาก จึงได้มีการจ้างแรงงานต่างชาติเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก

ในปี 2564 หนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียนได้เผยแพร่งานวิจัยระบุว่า มีแรงงานต่างชาติกว่า 6,500 คนจากอินเดีย ปากีสถาน เนปาล บังกลาเทศ และศรีลังกา เสียชีวิตในกาตาร์ตั้งแต่ต้นปี 2554 ซึ่งเป็นปีหลังจากที่กาตาร์ได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพการแข่งขันฟุตบอลโลกแล้วจนถึงปี 2563 แม้ว่าตัวเลขดังกล่าวจะนับผู้เสียชีวิตทั้งหมดจากทุกสาเหตุและทุกสถานที่ แต่กลุ่มนักเคลื่อนไหวมักจะออกมาโต้แย้งว่า การแข่งฟุตบอลโลกเพิ่มจำนวนแรงงานต่างชาติขึ้นอย่างมาก

นิโคลัส แมคกีฮานจากกลุ่มแฟร์ สแควร์กล่าวถึงงานวิจัยดังกล่าวว่า "มีสัดส่วนแรงงานต่างชาติที่เสียชีวิตตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมาอย่างมากเฉพาะในกาตาร์ เพราะกาตาร์ได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพการแข่งขันฟุตบอลโลก"

อย่างไรก็ตาม ฮัสซัน อัล-ทาวาดี เลขาธิการใหญ่ของคณะกรรมการสูงสุดเพื่อการส่งมอบและมรดกของกาตาร์ได้ให้สัมภาษณ์กับเพียร์ส มอร์แกน นักข่าวอังกฤษทางทอล์ค ทีวีเมื่อวันที่ 29 พ.ย.ว่า มีแรงงานต่างชาติประมาณ 400-500 คนเสียชีวิตในช่วงที่กาตาร์เตรียมการแข่งขันฟีฟ่า เวิลด์คัพ 2022 แต่ยังไม่ทราบตัวเลขที่แน่นอน

นายอัล-ทาวาดีกล่าวว่า "แต่ผู้เสียชีวิตแม้เพียงรายเดียวก็นับว่ามากเกินไปแล้ว" พร้อมชี้ให้เห็นว่า มีการปรับปรุงด้านสุขภาพและความปลอดภัยรวมถึงการปฏิรูปสังคมต่าง ๆ ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา และมีการยกเลิกระบบคาฟาลา (kafala system) ซึ่งกำหนดให้แรงงานต่างชาติต้องส่งหนังสือเดินทางของตัวเองให้นายจ้าง อย่างน้อยก็ในสถานที่ก่อสร้างที่เกี่ยวกับฟุตบอลโลกที่ทางคณะกรรมการฯ ดูแลอยู่

แต่ให้หลังการสัมภาษณ์ดังกล่าว คณะกรรมการสูงสุดฯ ได้ออกแถลงการณ์ระบุว่า ตัวเลขดังกล่าวนั้นหมายถึงจำนวนการเสียชีวิต 414 รายทั่วประเทศในระหว่างปี 2557-2563 ซึ่งไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับการแข่งขันฟุตบอลโลก

อนึ่ง ทางคณะกรรมการสูงสุดฯ มักจะยืนยันว่า การก่อสร้างสนามแข่งขัน 8 แห่ง สถานที่อื่น ๆ ที่ไม่ใช่สนามแข่ง 17 แห่ง และสถานที่อื่น ๆ ภายใต้การดูแลของคณะกรรมการสูงสุดฯ นั้น มีผู้เสียชีวิตจากการทำงานเพียง 3 คน และอีก 37 คนเสียชีวิตโดยไม่เกี่ยวข้องกับการทำงาน

หลังบทสัมภาษณ์และแถลงการณ์ดังกล่าวออกมา แมคกีฮานก็ได้ออกมากล่าวว่า "นี่เป็นตัวอย่างล่าสุดของการขาดความโปร่งใสที่ไม่อาจยอมรับได้เกี่ยวกับการเสียชีวิตของแรงงาน เราต้องการข้อมูลที่เหมาะสมและการสืบสวนอย่างละเอียด ไม่ใช่ตัวเลขคลุมเครือที่ได้จากการให้สัมภาษณ์ ฟีฟ่าและกาตาร์มีคำถามอีกมากที่จะต้องตอบ อย่างน้อยก็ต้องตอบให้ได้ว่าแรงงานเหล่านี้เสียชีวิตที่ไหน เมื่อไหร่ และอย่างไร รวมถึงครอบครัวของแรงงานเหล่านั้นจะได้รับเงินชดเชยหรือไม่"

? กาตาร์เปิดบ้านต้อนรับทั่วโลก แต่พร้อมรับความแตกต่างหรือไม่

ด้วยความที่กาตาร์เป็นประเทศที่มีกฎข้อห้ามที่เข้มงวดต่าง ๆ มากมาย ซึ่งขัดกับบรรยากาศการเชียร์ฟุตบอลอย่างมาก ทำให้กาตาร์ต้องออกกฎข้อห้ามต่าง ๆ ในการเชียร์ฟุตบอลตามมา นอกจากนี้ กาตาร์ยังมีนโยบายต่อต้านกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) อีกด้วย จนถึงกับเคยมีคำเตือนออกมาให้กลุ่ม LGBTQ+ อย่าแสดงออกในที่สาธารณะ เนื่องจากอาจไม่ปลอดภัยได้

กฎที่ทางกาตาร์กำหนดขึ้นมา เช่น

  • ห้ามใส่ชุดบิกินี่ สายเดี่ยว เอวลอย (ห้ามเปิดไหล่หรือเข่า) ห้ามถอดเสื้อ ห้ามเปลือยกาย รวมถึงห้ามแต่งชุดแฟนซีบางอย่างเข้าเชียร์กีฬา โดยมีแฟนบอลอังกฤษแต่งชุดอัศวินครูเสดและถูกสั่งห้ามเข้าสนาม โดยได้รับเหตุผลว่าเป็นเพราะทำให้นึกถึงเหตุการณ์ในสงครามครูเสด
  • ห้ามนำอาหารจากภายนอกเข้าไปในสนามด้วยเหตุผลด้านความสะอาดและสุขอนามัย โดยจะอนุญาตเฉพาะอาหารสำหรับทารกและอาหารที่จำเป็นทางการแพทย์เท่านั้น
  • ห้ามเครื่องดนตรีที่ส่งเสียงดัง เช่น วูวูเซล่า ทรัมเป็ต ลำโพง นกหวีด รวมถึงเครื่องดนตรีที่ไม่สามารถเข้าเครื่องสแกนสัมภาระได้
  • ห้ามนำลูกโป่งหรือลูกบอลเป่าลมเข้าไปในสนาม

นอกจากนี้ ทางกาตาร์ยังห้ามใส่ปลอกแขน OneLove (ปลอกแขนสีรุ้ง) ลงสนามโดยเด็ดขาด โดยปลอกแขนนี้จะสวมใส่โดยกัปตันทีมชาติต่าง ๆ เช่น อังกฤษ เวลส์ เบลเยียม เดนมาร์ก เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ และเนเธอร์แลนด์ เพื่อเป็นการแสดงออกถึงการสนับสนุนกลุ่ม LGBTQ+ หากใส่ลงสนามจะได้รับใบเหลืองและต้องถอดออกในทันที โดยผู้สื่อข่าวจากเดนมาร์กได้สวมปลอกแขน OneLove ในการรายงานข่าว ก่อนจะถูกแจ้งให้ถอดออก อย่างไรก็ตาม คำสั่งห้ามดังกล่าวอาจไม่รวมไปถึงนอกสนาม เนื่องจากมีการจับภาพอดีตนายกรัฐมนตรีเดนมาร์ก รัฐมนตรีเยอรมนี และอดีตผู้เล่นหญิงทีมชาติอังกฤษสวมใส่ปลอกแขน OneLove

ขณะที่ก่อนหน้านี้ ทางด้านทีมชาติเดนมาร์กร่วมกับฮัมเมล (Hummel) ผู้ผลิตเสื้อแข่งทีมชาติ ได้แสดงการต่อต้านเจ้าภาพการแข่งขันอย่างชัดเจนด้วยการออกแบบเสื้อแข่งในฟุตบอลโลกให้ลายต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นธงชาติ โลโก้ผู้สนับสนุน หรือแบรนด์เสื้อแข่ง กลืนไปกับสีเสื้อ เพื่อแสดงออกว่าไม่ต้องการให้แบรนด์/ประเทศมีส่วนเกี่ยวข้องในการแข่งขันที่เป็นเหตุให้ต้องมีแรงงานเสียชีวิต รวมถึงใส่เสื้อซ้อมที่สกรีนคำว่า "Human Rights for All" บริเวณด้านหน้าตัวเสื้อ ซึ่งก็ได้ถูกปฏิเสธจากฟีฟ่าโดยอ้างว่าเป็นการเอาการเมืองมาเกี่ยวข้องกับกีฬา

ข้อห้ามต่าง ๆ ทำให้นักเตะทีมชาติเยอรมนีเอามือปิดปากขณะถ่ายรูปก่อนลงสนามเพื่อสื่อถึงการถูกสั่งห้ามแสดงออกต่าง ๆ รวมถึงห้ามแสดงการสนับสนุน LGBTQ+ หรือเรียกร้องสิทธิมนุษยชน ก่อนจะถูกตอบโต้โดยกูรูลูกหนังชาวกาตาร์ที่เอามือปิดปากและโบกมือลา หลังเยอรมนีตกรอบแบ่งกลุ่ม

? ดื่มเบียร์เชียร์บอล แทบเป็นไปไม่ได้ในกาตาร์

ด้วยความที่กาตาร์เป็นประเทศที่นับถือศาสนาอิสลามเป็นหลัก และการเชียร์ฟุตบอลนั้นย่อมคู่กับแอลกอฮอล์ แค่เริ่มก็ไม่น่าจะไปด้วยกันได้แล้ว แต่ในตอนแรก กาตาร์ก็อนุโลมให้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ในพื้นที่ที่จัดไว้ รวมถึงรอบสนามในบริเวณที่กำหนด อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 18 พ.ย. หรือก่อนเริ่มการแข่งอย่างเป็นทางการเพียง 2 วัน ก็ได้มีแถลงการณ์จากฟีฟ่าออกมาว่า "ห้าม" การจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บริเวณรอบสนามและตามสถานที่อีกหลายแห่ง โดยจะอนุญาตให้จำหน่ายได้ในที่พัก โรงแรม และร้านที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น หรือไม่ก็ในเขตแฟนโซน โดยจะไม่สามารถตั้งขายตามข้างทางได้

อย่างไรก็ตาม ทางฟีฟ่ายังอนุญาตให้ขายเบียร์ไร้แอลกอฮอล์บริเวณสนามแข่งได้ตามเดิม

หลังจากแถลงการณ์ดังกล่าวออกมา ก็นำมาซึ่งความงุนงงและความโมโหให้กับแฟนบอลอย่างมาก เพราะเป็นการกลับลำ 180 องศาก่อนถึงวันแข่งเพียง 2 วัน

ทางด้าน แอนไฮเซอร์-บุช อินเบฟ (เอบีอินเบฟ) ผู้จัดจำหน่ายเบียร์บัดไวเซอร์ พันธมิตรอย่างเป็นทางการของฟีฟ่า ได้ออกแถลงการณ์แสดงความผิดหวังว่า "ในฐานะพันธมิตรกับฟีฟ่ามานานกว่า 30 ปี เราตั้งตารอที่จะจัดกิจกรรมฟีฟ่า เวิลด์คัพทั่วโลกเพื่อเฉลิมฉลองการแข่งฟุตบอลโลกกับกลุ่มลูกค้าของเรา กิจกรรมบางอย่างที่เราวางแผนไว้ไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ด้วยเหตุผลบางอย่างที่นอกเหนือการควบคุมของเรา"

ขณะเดียวกัน ทวิตเตอร์ทางการของบัดไวเซอร์ได้ตัดสินใจทวีตประกาศยกเบียร์ที่ขายไม่หมดให้กับทีมที่คว้าแชมป์ฟุตบอลโลกไปเลย

? นอกสนามน่าติดตาม ในสนามก็มีสตอรี่

แม้ครั้งนี้จะเป็นหนึ่งในการแข่งฟุตบอลโลกที่มีเรื่องนอกสนามให้ติดตามมากมาย แต่เรื่องในสนามก็มีสตอรี่ไม่แพ้กันทั้งดีและร้าย ไม่ว่าจะเป็นกาตาร์ ซึ่งเป็นเจ้าภาพชาติแรกที่แพ้ในนัดเปิดสนามและตกรอบแบบไม่มีแต้ม หรือการที่ซาอุดีอาระเบียชนะนัดเปิดสนามได้เป็นครั้งแรก แถมยังเป็นการพลิกล็อกด้วยการคว่ำทีมเต็ง 2 อย่างอาร์เจนตินา หยุดสถิติไม่เคยแพ้ใครติดต่อกันของทีมฟ้าขาวไว้ที่เพียง 36 นัด นอกจากนี้ หน่วยงานเก็บสถิติอย่างเกรซโน้ต (Gracenote) ได้ออกมาเปิดเผยว่า เกมที่ซาอุดีอาระเบียชนะอาร์เจนตินานับเป็นการพลิกล็อกครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ฟุตบอลโลก โดยก่อนการแข่งขันนั้นซาอุดีอาระเบียมีโอกาสชนะเพียง 8.7%

การแข่งครั้งนี้ยังมีการนำเทคโนโลยีมาใช้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการจับล้ำหน้าด้วยระบบคอมพิวเตอร์ หรือใช้เทคโนโลยีวัดว่าลูกฟุตบอลออกนอกสนามเต็มใบหรือยังจนนำมาซึ่งประตูชัยสุดดราม่าของทีมชาติญี่ปุ่นในนัดที่เจอกับสเปน ส่งให้ญี่ปุ่นเข้ารอบในฐานะแชมป์ของกลุ่มที่มีทั้งสเปนและเยอรมนี

นอกจากนี้ ยังเป็นครั้งแรกที่มีผู้ตัดสินหญิงลงทำหน้าที่ในฟุตบอลโลกชายรอบสุดท้าย โดยสเตฟานี ฟราบพารต์ ผู้ตัดสินจากฝรั่งเศส พร้อมผู้ช่วยผู้ตัดสินหญิงอีก 2 คน จะได้ลงทำหน้าที่ในคู่ระหว่างเยอรมนีและคอสตาริกา รวมถึงเป็นครั้งแรกที่ประเทศตัวแทนจากทวีปเอเชียถึง 3 ทีมผ่านรอบแบ่งกลุ่มเข้าสู่รอบ 16 ทีมสุดท้ายได้ โดยประกอบด้วยออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ส่วนที่อีกฟากของโลก โมร็อกโกก็สร้างสถิติผ่านเข้ารอบ 8 ทีมสุดท้ายในฟุตบอลโลกได้เป็นครั้งแรกของประเทศ และนับเป็นประเทศที่ 4 ของทวีปแอฟริกาที่ทำได้

เราก็หวังว่าเรื่องราวดราม่านอกสนามจะหมดลงแล้ว และขอเชิญแฟนบอลทั่วโลกร่วมติดตามสถิติ-ประวัติศาสตร์ใหม่ ๆ รวมถึงส่งแรงใจเชียร์ทีมโปรดของตัวเองให้คว้าแชมป์ฟุตบอลโลกให้ได้ในปีนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ