In Focusจับตา ChatGPT แชตบอตป่วนโลกการศึกษา ทางลัดสู่กลโกงและการต่อยอดความรู้

ข่าวต่างประเทศ Wednesday January 18, 2023 12:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

2-3 ปีก่อนหน้านี้ เราได้เผชิญกับโรคอุบัติใหม่อย่างโควิด-19 และในปีนี้เราจะได้พบกับความท้าทายจากเทคโนโลยีน้องใหม่อย่าง ChatGPT หรือแชตบอตที่กำลังมาแรง ด้วยหนึ่งในความสามารถของ ChatGPT หรือแชตบอตปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่สามารถเขียนงานในรูปแบบต่าง ๆ และปัจจุบันก็ยังไม่สามารถตรวจจับงานเขียนที่มาจาก ChatGPT ได้แบบ 100% ว่า งานเขียนดังกล่าวเป็นผลงานของ "มนุษย์" หรือของ "AI" ทำให้นักศึกษาและผู้ใช้งานบางส่วนทดลองใช้ ChatGPT สร้างผลงานในรูปแบบที่ "เหมาะสม" และ "ไม่เหมาะสม"

มหาวิทยาลัยหลายแห่งจึงรีบหาทางรับมือกับแชตบอตที่อาจจะเข้ามาป่วนวงการศึกษาอย่าง ChatGPT หากจะเปรียบเทียบให้เห็นภาพเกี่ยวกับตัวช่วยในอดีตอย่างเครื่องคิดเลขที่ในมุมหนึ่งมีประโยชน์มากมาย แต่หากมองในมุมกลับแล้ว เครื่องคิดเลขอาจจะเป็นตัวช่วยที่ทำลายความสามารถในการคำนวณหรือไม่ เช่นกัน นักศึกษารุ่นใหม่อาจจะใช้ประโยชน์จาก ChatGPT หรือซอฟต์แวร์เกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ (AI) อื่น ๆ เพื่อเป็นตัวช่วยในการเขียนบทความ รายงาน เขียนโค้ดคอมพิวเตอร์ และอธิบายคอนเซปต์ยาก ๆ ให้เข้าใจได้ง่ายสำหรับผู้อ่านในหลายระดับ แต่เมื่อใดก็ตามที่การใช้งานบิดเบี้ยวไปสู่การใช้ AI เพื่อเขียนบทความหรือสร้างผลงานแทนตัวเองแล้ว แทนที่นักศึกษาหรือนักเขียนจะได้ฝึกฝนและพัฒนาทักษะความรู้และความสามารถ กลับกลายเป็นว่า จะตั้งหน้าตั้งตาใช้ทางลัดจากเทคโนโลยีเพื่อกลโกง

เมื่อเร็ว ๆ นี้ มหาวิทยาลัยในออสเตรเลียหลายแห่งได้ออกมาเคลื่อนไหว เพื่อเตรียมรับมือกับเอไอบอตและ ChatGPT กันแล้ว วิธีการป้องกันกลโกง และส่งเสริมให้บุคลากรในแวดวงการศึกษาได้ใช้ประโยชน์จาก AI ในอีกฟากฝั่งนั้นจะเป็นอย่างไร เรามาหาคำตอบกัน

*ChatGPT คืออะไร ทำไมถึงจะมาป่วนโลก

ChatGPT (Generative Pre-training Transformer) คือ แชตบอตที่พัฒนาขึ้นโดยบริษัท OpenAI ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำด้านการวิจัยเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์หรือ AI บริษัท OpenAI ได้เปิดตัว ChatGPT เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 โดยแชตบอตสุดฮอตนี้พัฒนาขึ้นมาจากโมเดลเทคโนโลยี GPT-3.5 และถูกออกแบบมาให้สามารถให้ข้อมูล โต้ตอบ เขียนงาน อธิบาย หรือตอบคำถามที่ผู้ใช้งานขอมาได้โดยอัตโนมัติ

ยกตัวอย่างเช่น ผู้ใช้งานอาจจะบอกให้ ChatGPT ช่วยอธิบายเรื่องหนัก ๆ หรือเรื่องเฉพาะทางให้เป็นเรื่องที่สามารถเข้าใจได้ง่าย เช่นบอกให้ ChatGPT ช่วยอธิบายเกี่ยวกับควอนตัมคอมพิวติงให้อยู่ในรูปแบบของข้อมูลที่สามารถเข้าใจได้ง่าย หรือบอกให้ ChatGPT เขียนบทความ 4 ย่อหน้าเกี่ยวกับนายกรัฐมนตรีหรือประธานาธิบดีประเทศใดประเทศหนึ่ง หรือแม้แต่เรื่องเบา ๆ อย่าง ขอไอเดียเกี่ยวกับของขวัญหรืองานเลี้ยงวันเกิดเด็กอายุ 10 ขวบ

นอกจากนี้ ChatGPT ยังสามารถช่วยคาดเดาในเรื่องการวินิจฉัยทางการแพทย์ การสร้างเกมที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของข้อความ ด้วยความสามารถเหล่านี้ทำให้เราสามารถร่นระยะเวลาในการเรียบเรียงหรือค้นหาข้อมูลเพื่อต่อยอดงานเขียนได้อย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ดี แชตบอตชื่อดังนี้ก็มีข้อจำกัดและข้อควรระวัง เพราะ ChatGPT อาจจะนำเสนอข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง รวมทั้งอาจจะให้คำแนะนำที่อันตรายหรือข้อมูลที่ไม่เป็นกลางแก่ผู้ใช้งาน นอกจากนี้ ChatGPT อาจจะมีข้อมูลเกี่ยวกับอีเวนต์ต่าง ๆ และเรื่องราวเกี่ยวกับทั่วโลกตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นไปในปริมาณที่จำกัด

หากย้อนมาดูไอเดียของ OpenAI ซึ่งเป็นบริษัทที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2558 โดยอีลอน มัสก์, แซม อัลท์แมน และกูรูในวงการเทคโนโลยีและ AI แล้ว บริษัท OpenAI มีเป้าหมายที่จะยกระดับและส่งเสริมการวิจัย AI เพื่อที่จะสร้างประโยชน์หรือผลลัพธ์ที่เป็นบวกให้กับผู้คนในสังคม

แต่ในความเป็นจริง การใช้งานแชตบอตหรือเอไอบอตอาจจะทำให้เกิดผลกระทบที่สวนทางกับเป้าหมายที่ OpenAI ต้องการอย่างมาก โดยเฉพาะในวงการศึกษา เมื่อมหาวิทยาลัยบางแห่งในออสเตรเลียตรวจพบกันบ้างแล้วว่า มีการใช้แชตบอตในการเขียนงานส่งอาจารย์ ขณะที่คณะบางคณะของมหาวิทยาลัยในสหรัฐได้สร้างเว็บไซต์ขึ้นมาเพื่อให้ข้อมูลและคำแนะนำเกี่ยวกับการรับมือกับ ChatGPT แก่บุคลากรในมหาวิทยาลัย

นอกจากนี้ ในแวดวงงานเขียนก็อาจจะได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน หากนักเขียนยอมรับคำแนะนำจากเอไอบอตหรือ ChatGPT ในทันทีโดยไม่ตรวจสอบ งานเขียนของเราก็อาจจะมีข้อมูลที่ผิดพลาด เพราะที่ผ่านมามีแนวโน้มว่า เรามักจะเชื่อในสิ่งที่ระบบอัตโนมัติหรือเอไอแนะนำ

*มหาวิทยาลัยในออสเตรเลียเล็งเปลี่ยนให้นักศึกษาทำข้อสอบด้วยปากกาและกระดาษ

มหาวิทยาลัยบางแห่งในออสเตรเลียได้เพิ่มกฎเกณฑ์ใหม่ ๆ ขึ้นมาเพื่อรับมือกับการใช้ AI ในทางที่ไม่ถูกต้องที่อาจจะเกิดขึ้น โดยระบุว่า การใช้ AI ในการสอบหรือส่งงานถือว่าเป็นการทุจริต ในขณะที่กลุ่มมหาวิทยาลัยชั้นนำ 8 แห่งของออสเตรเลียระบุว่า มหาวิทยาลัยได้ทบทวนวิธีการประเมินงานในปีนี้ หลังจากที่เทคโนโลยีน้องใหม่กำลังจะเข้ามามีบทบาท

ดร.แมทธิว บราวด์ รองประธานบริหารของกลุ่มมหาวิทยาลัยกล่าวว่า ทางมหาวิทยาลัยได้รับมือในเรื่องนี้อย่างเต็มที่ ทั้งให้ความรู้กับนักศึกษา เทรนทีมงาน ออกแบบรูปแบบการประเมินงานขึ้นมาใหม่ และใช้กลยุทธ์ในการตรวจจับผลงานต่าง ๆ ด้วยการใช้เทคโนโลยี

"การประเมินหรือการสอบในอนาคตอาจจะครอบคลุมไปถึงเรื่องการใช้ปากกาและกระดาษในการสอบหรือทดสอบ" ดร.แมทธิวกล่าว

ทางด้านโฆษกของกลุ่มมหาวิทยาลัยทั้ง 8 แห่งของออสเตรเลียกล่าวว่า เรารู้ว่า AI สามารถช่วยให้นักศึกษาเรียนรู้ได้ และยังสามารถใช้ AI สร้างเครื่องมือที่ใช้สำหรับการทำงานในอนาคตได้ ดังนั้น เราจึงต้องสอนให้นักศึกษาใช้ AI ในแบบที่ถูกต้องตามกฎหมาย

ขณะที่ โทบี วอลช์ ศาสตราจารย์ด้าน AI แห่งมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลียเปิดเผยว่า บรรดาอาจารย์จากที่ต่าง ๆ ได้ประชุมร่วมกัน เพื่อหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นว่า จะมีการให้คะแนนการสอบอย่างไรในปีนี้ และจะมีการใช้เกณฑ์ใดรับมือกับการคัดลอกผลงานของผู้อื่นมาใส่ไว้ในผลงานของตนเอง เพราะมีผู้ใช้ AI เพื่อเขียนงานส่งแล้ว และการที่จะแบนการใช้แพลตฟอร์มเหล่านี้ก็ดูเหมือนว่า จะไม่ใช่เรื่องง่ายและเหมาะสม เพราะเทคโนโลยี AI นั้นมีประโยชน์ในด้านนวัตกรรมและเพิ่มประสิทธิภาพให้กับวงการศึกษาด้วยเช่นกัน

*มหาวิทยาลัยในสหรัฐโชว์ตัวอย่างคอนเทนต์ผลงาน ChatGPT ให้บุคลากรได้เรียนรู้แต่เนิ่น ๆ

สำนักงานแห่งความเป็นเลิศของมหาวิทยาลัยมอนท์แคลร์ สเตท ยูนิเวอร์ซิตีได้นำตัวอย่างคอนเทนต์ผลงานที่เขียนขึ้นมาโดย ChatGPT ไม่ว่าจะเป็นงานเขียนแบบตลก ๆ โค้ดคอมพิวเตอร์ บทความ และงานเขียนเกี่ยวกับการอธิบายคอนเซปต์มาให้บุคลากรได้เรียนรู้ว่า งานจาก ChatGPT จะมีกลิ่นอายออกมาอย่างไร รวมทั้งให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการพูดคุยกับนักศึกษาเกี่ยวกับการใช้ ChatGPT หรือเอไอบอตอื่น ๆ เพื่อประโยชน์ทางวิชาการอย่างซื่อตรง และวิธีการแจกจ่ายงานในรูปแบบที่สามารถป้องกันการใช้ ChatGPT

นอกจากนี้ ยังได้มีการหารือกันเกี่ยวกับการใช้แชตบอตเพื่อป้องกันการคัดลอกผลงานผู้อื่นมาเป็นผลงานของตนเอง เพื่อใช้ตรวจสอบว่ามีการใช้ ChatGPT ในผลงานหรือไม่ เช่น แอปพลิเคชัน Huggingface ซึ่งพัฒนาขึ้นโดยนักศึกษาของมหาวิทยาลัยพรินซ์ตันภายหลังจากที่ได้มีการเปิดตัว ChatGPT ได้ไม่นาน

*กูเกิลสั่งทีมงานเดินหน้าพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับ AI หลัง ChatGPT เปิดตัว

นอกจาก ChatGPT จะเข้ามามีบทบาทในแวดวงการศึกษาแล้ว วงการเทคโนโลยีก็ตื่นตัวกับการแจ้งเกิดของ ChatGPT เช่นกัน เมื่อปลายปี 2565 ผู้บริหารของกูเกิลได้ออกประกาศสำคัญ ในช่วงที่ได้มีการเปิดตัว ChatGPT เนื่องจากแชตบอตเอไอของ OpenAI ที่กำลังมาแรงนี้ได้ปลุกกระแสความกังวลเกี่ยวกับธุรกิจเสิร์ชเอนจินของกูเกิล

ซันดาร์ พิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทกูเกิล อิงค์ และบริษัทแม่อย่างอัลฟาเบทได้ประชุมกันหลายครั้ง เพื่อพูดคุยกันเกี่ยวกับกลยุทธ์ด้าน AI ของกูเกิล และสั่งการให้ทีมงานฝ่ายวิจัยและความปลอดภัยกลับมาโฟกัสที่การรับมือกับภัยคุกคามจาก ChatGPT ที่อาจจะเกิดขึ้นกับธุรกิจเสิร์ชเอนจินของบริษัท ด้วยการสนับสนุนในเรื่องการพัฒนาและเปิดตัวต้นแบบและผลิตภัณฑ์ AI บางทีมก็ได้รับการมอบหมายให้พัฒนาผลิตภัณฑ์ AI ที่สามารถครีเอตงานศิลปะ รูปภาพ และกราฟิกที่มีรูปแบบที่ใกล้เคียงกับ DALL-E ซอฟต์แวร์ AI ของบริษัท OpenAI ซึ่งมีผู้ใช้งานหลายล้านคน

แชตบอตเอไอจะก้าวหน้าไปอีกมากน้อยเพียงใดยังคงเป็นเรื่องที่น่าติดตาม และถึงแม้ว่าเอไอบอต หรือ ChatGPT อาจจะเป็นทางลัดไปสู่การโกง แต่หากเรารู้เท่าทันและสามารถหาทางป้องกันปัญหาเหล่านี้ เราก็คงจะไม่ปิดกั้นเทคโนโลยีที่สามารถช่วยในการทำงานของเราได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ