In Focusทำไมการเดินทางกลับจีนของ "แจ็ก หม่า" จุดประกายความหวังให้กับภาคธุรกิจ

ข่าวต่างประเทศ Wednesday March 29, 2023 12:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

แจ็ก หม่า ผู้ก่อตั้งอาลีบาบา ตกเป็นข่าวอีกครั้งเมื่อนักธุรกิจชื่อดังของจีนรายนี้ได้เดินทางกลับไปยังประเทศจีนเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา และปรากฏตัวที่โรงเรียนหยุงซูที่เขาก่อตั้งขึ้นที่เมืองหางโจว ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงานอาลีบาบาและแอนท์ กรุ๊ป การเดินทางกลับแดนมังกรของแจ็ก หม่า สะท้อนให้เห็นว่า จีนต้องการรื้อฟื้นความเชื่อมั่นในภาคธุรกิจหลังจากที่ทางการจีนได้ใช้มาตรการกำราบภาคธุรกิจเทคโนโลยีมาเป็นเวลานานถึงกว่า 1 ปี การเปิดทางให้หม่ากลับเข้าประเทศถือเป็นการจุดประกายความหวังให้กับภาคธุรกิจในแดนมังกร

จะเห็นได้ว่า จีนต้องการให้ภาคธุรกิจกลับมาฟื้นตัวอย่างจริงจัง เพื่อที่จะได้สนับสนุนและผลักดันเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งต้องเผชิญกับปัจจัยผันผวนทั้งจากสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนในต่างประเทศ รวมทั้งความตึงเครียดทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลายลง ขณะที่จีนเองได้กำหนดเป้าหมายการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศปี 2566 ไว้เพียง 5% หลังจากที่จีนได้ใช้มาตรการล็อกดาวน์อย่างเข้มงวดเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

การปรากฏตัวของแจ็ก หม่า เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ไล่เลี่ยกันกับการเดินทางเยือนจีนของทิม คุก ซีอีโอบริษัท แอปเปิ้ล รวมทั้งคริสเตียโน เมอน ผู้บริหารบริษัทควอลคอม อัลเบิร์ต เบอร์ลา ผู้บริหารของไฟเซอร์ ที่มาเข้าร่วมการประชุม China Development Forum ทางด้านนายหลี่ เฉียง นายกรัฐมนตรีของจีนก็ได้ขึ้นเวทีการประชุมครั้งนี้และตอกย้ำถึงจุดยืนของจีนว่า จีนจะยังคงเปิดประเทศ และจะสร้างโอกาสให้กับบริษัทต่างชาติในการทำธุรกิจในจีนมากยิ่งขึ้น

*ต่างมุมมองวิเคราะห์ท่าทีจีน

หากจะมองในมุมของผู้เชี่ยวชาญและสื่อต่างประเทศแล้ว การปิดประเทศและมาตรการที่เข้มงวดในช่วงโควิด-19 ของจีนได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีน ส่วนนโยบายในการจัดการกับบริษัทที่ทำธุรกิจด้านเทคโนโลยีที่แตกแถวในสายตาของทางการก็ยิ่งทำให้บรรยากาศการลงทุนและการทำธุรกิจไม่ค่อยจะดีเท่าใดนัก

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ทางการจีนได้ร้องขอให้หม่าเดินทางกลับประเทศและยังขอให้พูดถึงนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาล จากข้อมูลของหอการค้าอเมริกันชี้ว่า นับเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 25 ปีที่จีนหลุดโผประเทศน่าลงทุนสำหรับบริษัทสหรัฐ ขณะที่ตัวเลขกำไรภาคโรงงานก็ปรับตัวลงถึง 23% เมื่อเทียบเป็นรายปีในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ ด้วยเหตุนี้ทางการจีนจึงลุกลี้ลุกลนในการดึงเหล่านักธุรกิจที่สามารถสร้างธุรกิจใหญ่โตให้กลับมาสนใจจีนอีกครั้ง

ไม่น่าแปลกใจที่หุ้นอาลีบาบาพุ่ง 4% ในทันทีที่แจ็ก หม่า เดินทางกลับจีนหลังจากแวะที่ฮ่องกงเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นักวิเคราะห์รายหนึ่งกล่าวว่า การเดินทางกลับจีนครั้งนี้จะช่วยกระตุ้นความเชื่อมั่นที่มีต่อธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอินเทอร์เน็ต ทางด้านสื่อต่างประเทศบางแห่งมองว่า เมื่อเศรษฐกิจจีนเผชิญกับปัญหาใหญ่ การครองอำนาจในมือผู้นำจีนก็มีความเสี่ยงที่จะถูกลดทอนลง

ศาสตราจารย์สตีฟ ซัง ผู้อำนวยการของสถาบัน Soas China Institute มองว่า ความเคลื่อนไหวเชิงกลยุทธ์ของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 นั้น มีเป้าหมายที่จะผ่อนคลายแรงกดดันที่มีต่อเศรษฐกิจ เนื่องจากสถานการณ์ในด้านต่าง ๆ อยู่ในสภาพที่เลวร้ายมาก

"สิ่งที่เราต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับสี จิ้นผิง ก็คือ สี จิ้นผิง เป็นบุคคลที่มีอุดมการณ์เมื่อเขาสามารถทำในสิ่งที่ต้องการได้ แต่เมื่อเขารู้สึกได้ถึงซึ่งความเสี่ยง สี จิ้นผิง จะกลายเป็นผู้ที่ลงมือทำและเน้นการดำเนินการที่ให้ได้มาซึ่งผลลัพธ์" ศาสตราจารย์สตีฟกล่าว

*ที่มาของการระหกระเหินในต่างแดนของบุคคลผู้เคยร่ำรวยที่สุดของจีน

การที่แจ็ก หม่า ได้วิพากษ์วิจารณ์ภาคการธนาคารของจีนแบบตรงไปตรงมาในการประชุมด้านการเงินเมื่อเดือนตุลาคม 2563 และตามมาด้วยการออกมาสกัดแผนการเสนอขายหุ้นแก่ประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ของบริษัท แอนท์ กรุ๊ป ที่ก่อตั้งโดยแจ็ก หม่า รวมทั้งการสอบสวนบริษัท อาลีบาบาด้วยข้อกล่าวหาว่ามีการผูกขาดตลาดนั้น เป็นบทสะท้อนที่ชัดเจนถึงที่มาที่ไปของการระหกระเหินไปยังประเทศต่าง ๆ ของแจ็ก หม่า

โดยอาลีบาบา อดีตอาณาจักรของหม่าต้องจ่ายค่าปรับเป็นเงิน 2.8 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์สำหรับกรณีผูกขาดตลาด และบริษัทยังต้องให้สัญญาว่าจะปฏิรูปแนวทางการดำเนินงานขององค์กร นอกจากนี้ รัฐบาลจีนยังได้ใช้มาตรการในลักษณะเดียวกันกับบริษัทอื่น ๆ รวมถึงบริษัทเหม่ยถวน ซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ในวงการดิลิเวอรี และบริษัทโรงเรียนกวดวิชาต่าง ๆ ความเคลื่อนไหวเหล่านี้ แน่นอนว่า ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของทางการจีนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ช่วงกว่า 1 ปีที่ผ่านมา แจ็ก หม่าได้เดินทางไปยังประเทศต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสเปน เนเธอร์แลนด์ ไทย ออสเตรเลีย โดยมีรายงานว่า หม่าได้ใช้เวลาอยู่ที่โตเกียวนานถึง 6 เดือน

*เศรษฐกิจจีนปีนี้เผชิญหลายปัจจัยฉุดรั้งการเติบโต

มูดี้ส์ อินเวสเตอร์สเซอร์วิสรายงานว่า เป้าการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนที่ 5% ในปีนี้ ชี้ให้เห็นว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนยังคงเผชิญกับอุปสรรค ซึ่งรวมถึงผลกระทบจากการขยายตัวที่ชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลต่อการส่งออกของจีน และความเสี่ยงของภาคอสังหาริมทรัพย์และหนี้สินของหน่วยงานรัฐบาลท้องถิ่น

ข้อมูลจากรายงานของคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีนระบุว่า การฟื้นตัวและการขยายตัวของการบริโภคนั้นมีปัจจัยที่ฉุดรั้งอยู่ ส่วนการลงทุนในภาคอสังหาฯก็ยังไม่มีแนวโน้มว่า จะกลับมาคึกคักได้ง่ายอีกครั้ง หน่วยงานรัฐในท้องถิ่นของจีนเองยังไม่สามารถฟื้นเศรษฐกิจในพื้นที่ได้ อีกทั้งยังต้องรับมือกับภาวะไร้สมดุลภาคการคลัง ความเสี่ยงด้านหนี้สินของแพลตฟอร์มการเงินของหน่วยงานรัฐในท้องถิ่นเป็นสิ่งที่ต้องแก้ไขอย่างทันท่วงที

หลี่ ชุนหลิน รองผู้อำนวยการของคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีนกล่าวว่า การบริโภคจะเป็นปัจจัยผลักดันที่สำคัญของการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้ ทางคณะกรรมการฯ เองมีเครื่องมือมากมายที่จะกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภค หลังจากที่จีดีพีจีนขยายตัวเพียง 3% ในปีที่แล้ว เนื่องจากมาตรการควบคุมโควิดและภาคอสังหาฯที่ร่วงลงฉุดรั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจ ทางด้านซ่ง เหลียง หัวหน้านักวิจัยของแบงก์ ออฟ ไชน่า กล่าวว่า ผลกระทบจากโรคโควิด-19 ได้บรรเทาเบาลงแล้ว และการฟื้นตัวของธุรกิจค้าปลีกจะสามารถผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจได้

ทั้งนี้ ยอดค้าปลีกของจีนดีดตัวขึ้นถึง 12.5% ในปี 2564 หลังจากที่ลดลงในปี 2563 ส่วนจีดีพีในปี 2564 พุ่งขึ้นได้ถึง 8.1% โดยนักเศรษฐศาสตร์หลายรายคาดว่า การส่งออกของจีนในปีนี้ คงจะโตไม่มากนัก เนื่องจากดีมานด์สินค้าจีนอ่อนแอลงเพราะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวทั้งในสหรัฐและยุโรป

การที่จีนรีบเปลี่ยนท่าทีและนโยบายเพื่อเรียกความเชื่อมั่นและจุดประกายความหวังให้กับภาคธุรกิจอีกครั้งนั้น น่าจะทำให้เศรษฐกิจกลับมาดีขึ้น แต่ในอนาคตจะเป็นเช่นใดนั้นคงต้องติดตามกันต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ