In Focusเปิดปมประท้วงฝรั่งเศส ชนวนระเบิดความอัดอั้นของการกดขี่ทางเชื้อชาติ

ข่าวต่างประเทศ Wednesday July 5, 2023 13:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีการประท้วงเกิดขึ้นที่ฝรั่งเศสหลายต่อหลายครั้งด้วหลายสาเหตุต่างกันไป แต่มีบางสิ่งที่คล้ายคลึงกันก็คือความไม่พอใจต่อรัฐ หรือกฎหมายของรัฐ เช่น กฎหมายปฏิรูปอายุเกษียณ ไปจนถึงการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งทำให้หวนนึกถึงสโลแกนอันโด่งดังที่ว่า Vive La Revolution (การปฏิวัติจงเจริญ) ที่บ่งบอกถึงความแน่วแน่ของชาวฝรั่งเศสที่ไม่มีวันยอมแพ้ต่อการถูกกดขี่ข่มเหง และการประท้วงครั้งล่าสุดที่เกิดขึ้นก็เป็นเช่นนั้น

การประท้วงครั้งนี้นับเป็นหนึ่งในการประท้วงครั้งรุนแรงที่สุดในรอบหลายปีของฝรั่งเศสที่เกิดขึ้น หลังจากเด็กหนุ่มเชื้อสายแอลจีเรียเสียชีวิตด้วยน้ำมือของตำรวจ แต่ความจริงแล้ว นั่นเป็นเพียงการจุดชนวนของความอัดอั้นให้ระเบิดขึ้นมา และความเป็นมาเป็นไปของเรื่องนี้เป็นอย่างไร เรามาร่วมเปิดปมไปพร้อม ๆ กัน

*การกดขี่จากตำรวจที่ฝังรากลึกและประเด็นด้านเชื้อชาติ

การใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ตำรวจในฝรั่งเศสได้กลายเป็นประเด็นร้อนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยในปี 2560 ฝรั่งเศสผ่านกฎหมายที่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถยิงใส่รถที่ขัดขืนหรือหลบหนีการเรียกให้หยุดตรวจหรือฝ่าด่านตรวจ และหากพิจารณาแล้วว่าคนขับอาจก่ออันตรายแก่ผู้โดยสารในรถหรือผู้ใช้รถใช้ถนนอื่น ๆ ซึ่งนับแต่นั้นเป็นต้นมา มีเหตุตำรวจยิงประชาชนเสียชีวิตจากการเรียกหยุดตรวจรถไปแล้วหลายราย ซึ่งเหยื่อส่วนใหญ่เป็นคนผิวดำหรือคนที่มีเชื้อสายแอฟริกาเหนือ นอกจากนี้ ผลการสำรวจวิจัยโดยกลุ่มสิทธิมนุษยชน ไรท์ส ดีเฟนเดอร์ส (Rights Defenders) ยังพบว่า ชายหนุ่มที่เป็นคนผิวดำหรือคนเชื้อสายอาหรับ ถูกตำรวจเรียกให้หยุดรถ 80% ซึ่งมากกว่าคนผิวขาวที่โดนเรียกเพียง 16% เท่านั้น

ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีต่อคนผิวดำและคนเชื้อสายแอฟริกาเหนือทำให้ตำรวจฝรั่งเศสตกเป็นที่กล่าวหาว่าเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ โดยกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนต่าง ๆ รวมถึงกลุ่มแอมเนสตี้ (Amnesty) ได้ออกมากล่าวว่าตำรวจฝรั่งเศสเหยียดเชื้อชาติ และในเดือนพ.ค. 2566 คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNHRC) วิพากษ์วิจารณ์ตำรวจฝรั่งเศสว่าใช้ความรุนแรงมากเกินไป และเรียกร้องให้ดำเนินมาตรการสำคัญเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ตาม รัฐบาลฝรั่งเศสมักมองข้ามการใช้ความรุนแรงของตำรวจหรือหลีกเลี่ยงการกล่าวถึงโดยตรง ขณะที่สหภาพตำรวจก็คัดค้านการแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายเมื่อปี 2560 ด้วย

*ความตายของเด็กหนุ่ม : จุดเปลี่ยนที่ผู้คนไม่ทนอีกต่อไป

ในวันที่ 27 มิ.ย. นาเฮล เมอร์ซูก (Nahel Merzouk) หรือนาเฮล เอ็ม เด็กหนุ่มเชื้อสายแอลจีเรียวัย 17 ปี ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ 2 นาย เรียกให้จอดรถในนองแตร์ ชานเมืองทางตะวันตกเฉียงเหนือของกรุงปารีส หลังขับรถฝ่าด่านตรวจ โดยคลิปวิดีโอที่ถ่ายโดยผู้พบเห็นเหตุการณ์เผยให้เห็นว่า เจ้าหน้าที่ 2 นาย ถือปืนยืนอยู่ฝั่งคนขับของรถ เจ้าหน้าที่นายหนึ่งยึดปืนของนาเฮล แม้ว่าเขาจะไม่ได้แสดงท่าทีที่เป็นภัยหรือก่อเหตุร้าย ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะยิงเขาจนเสียชีวิต

นายปาสกาล พราช อัยการท้องถิ่นกล่าวว่า เจ้าหน้าที่ผู้ก่อเหตุให้การว่า ตัดสินใจยิงนาเฮลเพราะกลัวว่าเด็กหนุ่มจะขับรถไปชนคน ซึ่งนายพราชชี้ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้อาวุธปืนอย่างมิชอบด้วยกฎหมาย และตำรวจนายนี้ถูกแจ้งข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา (voluntary homicide) และกำลังถูกควบคุมตัวเพื่อรอการดำเนินคดี และหลังจากนั้น สถานการณ์ในฝรั่งเศสก็ลุกเป็นไฟ

*การประท้วงนำไปสู่การก่อจลาจลที่บานปลาย

คีเลียน เอ็มบับเป้ (Kylian Mbappe) นักฟุตบอลซูเปอร์สตาร์ชาวฝรั่งเศสเชื้อสายแคเมอรูนและแอลจีเรียได้โพสต์ข้อความว่า เหตุการณ์ดังกล่าวนั้น "ไม่สามารถยอมรับได้" ทั้งเขาและโอมาร์ ซี (Omar Sy) นักแสดงชื่อดังชาวฝรั่งเศสเชื้อสายเซเนกัลและมอริเตเนีย ต่างแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อครอบครัวของนาเฮล

แม่และยายของนาเฮลกล่าวว่า พวกเธอสูญเสียคนสำคัญของครอบครัวไป โดยยายของนาเฮลกล่าวผ่านโซเชียลมีเดียว่า "พวกเขาฆ่าหลานของฉัน ตอนนี้ฉันไม่สนใจอีกต่อไปแล้ว พวกเขาพรากหลานฉันไป ฉันจะไม่มีวันให้อภัยเป็นอันขาด ไม่มีทางให้อภัย"

การเสียชีวิตของนาเฮลได้สร้างกระแสความโกรธแค้นอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มประชาชนที่ไม่พอใจต่อการใช้ความรุนแรงของตำรวจและการเหยียดเชื้อชาติที่มีอยู่แล้วเป็นทุนเดิม มีการเดินขบวนประท้วงพร้อมชูป้ายที่เขียนว่า "ตำรวจฆ่าคนตาย" ไปทั่วประเทศและดินแดนโพ้นทะเลของฝรั่งเศส ซึ่งกลายเป็นการก่อจลาจล สถานการณ์บานปลายไปมาก มีการทุบทำลายและจุดไฟเผาอาคาร ร้านค้า และรถยนต์ ลามไปทั่วทุกหนทุกแห่ง โดยมีอาคารได้รับความเสียหายกว่า 1,000 แห่ง รถถูกเผามากกว่า 5,000 คัน และสถานีตำรวจ 250 แห่งถูกบุกทำลาย

นอกจากนี้ยังมีการฉวยโอกาสปล้นสะดมตามร้านค้าต่าง ๆ ท่ามกลางความวุ่นวายที่เกิดขึ้น ทั้งภาพข่าวและภาพที่แชร์บนสื่อสังคมออนไลน์เผยให้เห็นผู้คนจำนวนมากกรูเข้าไปยังร้านค้าแบรนด์เนมชื่อดังต่าง ๆ ในกรุงปารีส และหอบหิ้วเสื้อผ้า กระเป๋าและรองเท้าออกมา ซึ่งผู้หญิงบางคนยิ้มหน้าระรื่น ราวกับว่าไม่ได้ทำในสิ่งที่ผิด

กลุ่มผู้ก่อจลาจลยังได้บุกทำลายอาคารราชการต่าง ๆ ทั่วฝรั่งเศส รวมถึงศาลากลางเมืองเลย์ เลอ โรส ทางตอนใต้ของกรุงปารีส และมีการพยายามบุกรุกบ้านของนายแวงซองต์ ฌ็องบรูน นายกเทศมนตรีของเมือง ในขณะที่เขาไม่อยู่บ้าน มีเพียงภรรยาและลูกเล็ก 2 คน ซึ่งกลุ่มผู้บุกรุกได้จุดไฟเผารถ และยิงจรวดพลุไฟใส่ภรรยาของนายฌ็องบรูนที่พยายามเอาตัวปกป้องลูกจนได้รับบาดเจ็บขาหัก ยิ่งเป็นการทำให้ทางการเร่งยกระดับการตรึงกำลังเพื่อควบคุมการจลาจลครั้งนี้

*การรับมือกับฝูงชนและความท้าทายอำนาจของผู้นำประเทศ

นายเอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากการไปชมคอนเสิร์ตของเซอร์เอลตัน จอห์นในคืนวันพุธที่ 28 มิ.ย. ในขณะที่การจลาจลกำลังก่อตัวรุนแรง แม้ว่าเขาจะพยายามหาทางรับมือกับความวุ่นวายที่เกิดขึ้น โดยนายมาครงได้ออกจากการประชุมสุดยอดผู้นำสหภาพยุโรป (EU) ก่อนเวลาในวันศุกร์ที่ 30 มิ.ย.และตัดสินใจเลื่อนภารกิจเดินทางเยือนเยอรมนี หลังการจลาจลดำเนินติดต่อกันเป็นคืนที่ 5 ในวันเสาร์ที่ 1 ก.ค.

ในช่วงค่ำวันอาทิตย์ที่ 2 ก.ค. นายมาครงเข้าประชุมกับคณะรัฐมนตรีระดับสูงเพื่อทดสอบอำนาจและความสามารถในการปฏิรูปของเขา โดยนายมาครงมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจราว 45,000 นาย รวมทั้งกองกำลังพิเศษ และรถหุ้มเกราะ ไปประจำการยังจุดต่าง ๆ ในหลายเมืองทั่วฝรั่งเศส และได้เรียกประชุมนายกเทศมนตรี 220 คน จากเขตต่าง ๆ ทั่วฝรั่งเศสในวันอังคารที่ 4 ก.ค. เพื่อหารือถึงวิธีการรับมือกับความวุ่นวาย รวมถึงประกาศว่าจะใช้เวลา 100 วันในการรักษาความเรียบร้อยและฟื้นฟูประเทศ

นายมาครงยังได้เรียกร้องให้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ช่วยลดความตึงเครียดของการประท้วง โดยขอให้ติ๊กต๊อก (TikTok) และสแนปแชท (snapchat) ลบ "เนื้อหาที่ละเอียดอ่อนที่สุด" และระบุตัวตนผู้ใช้ที่ใช้ช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ในการปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวายหรือกระตุ้นให้เกิดความรุนแรง

ด้านนายเชราร์ด ดาร์มาน็อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยของฝรั่งเศสกล่าวว่า เฉพาะกรุงปารีสเพียงแห่งเดียว มีการส่งกองกำลังรักษาความมั่นคง 5,000 นาย เพื่อปราบปรามการก่อจลาจล จับกุม และ "ฟื้นฟูความสงบ"

เบื้องต้นมีผู้ถูกจับกุมแล้วมากกว่า 2,000 คน มีผู้ได้รับบาดเจ็บมากกว่า 250 คน และมีผู้เสียชีวิตจากเหตุจลาจลอย่างน้อย 1 ราย

*การต่อต้านจากฝ่ายขวาจัดเริ่มก่อตัวขึ้น : โยงถึงการเมือง

การจลาจลได้เผยให้เห็นความโกรธแค้นของประชาชนที่ลุกฮือขึ้นมา แต่ในขณะเดียวกัน เหตุการณ์นี้ก็ได้สร้างความไม่พอใจให้แก่ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการจลาจลที่สร้างความบอบช้ำให้กับประเทศชาติ โดยนายกเทศมนตรีจากเขตต่าง ๆ ได้ออกมาเรียกร้องให้มีการประท้วงที่ศาลากลางของแต่ละเขตเพื่อต่อต้านการจลาจลซึ่งมีผู้คนเข้าร่วมในแต่ละเขตหลายร้อยคน

ด้านยายของนาเฮล ที่ตอนแรกประกาศว่าเธอจะไม่ให้อภัยกับการเสียชีวิตของหลานชายผู้เสียชีวิต ก็ออกมาเรียกร้องให้ยุติการก่อความรุนแรง เธอกล่าวกับสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นว่า "พวกเขาไม่ควรทำลายโรงเรียน และทุบทำลายรถเมล์ ซึ่งบนรถมีแต่พวกผู้หญิงที่เป็นแม่คนทั้งนั้น ฉันเหนื่อยมากจริง ๆ"

นอกจากนี้ อีกฝ่ายที่โกรธแค้นต่อการจลาจลคือฝ่ายขวาจัดหนึ่งในนั้นคือนายฌ็อง เมสสินา คนดังในวงการสื่อและอดีตนักการเมืองฝ่ายขวาจัดที่เคยลงสมัครชิงตัวแทนผู้สมัครประธานาธิบดีของพรรคแนวร่วมแห่งชาติ (National Rally) ของนางมารีน เลอ แปน คู่แข่งทางการเมืองคนสำคัญของนายมาครง

นายเมสสินาได้เป็นผู้นำจัดตั้งแคมเปญระดมทุนหาเงินช่วยเหลือครอบครัวของเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ก่อเหตุยิงนาเฮล โดยระบุว่า "มาช่วยกันสนับสนุนครอบครัวของตำรวจนองแตร์ ผู้ปฏิบัติไปตามหน้าที่ แต่กลับต้องถูกลงโทษ เราต้องช่วยสนับสนุนเขาอย่างเต็มที่ และสนับสนุนตำรวจของเรา" ซึ่งการระดมทุนนี้ได้รับเงินบริจาคมากถึง 1.5 ล้านยูโร (1.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) จากผู้บริจาคมากกว่า 7,800 คน

ด้านนายฟิลิปป์ มาร์เลียร์ ศาสตราจารย์ประจำสาขาวิชาการเมืองฝรั่งเศส มหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอนกล่าวว่า การจลาจลได้กระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยา "ตามแบบฉบับของฝ่ายขวาจัด" โดยพวกขวาจัดหลายคนระบุว่า การประท้วงดังกล่าวเป็นข้อพิสูจน์ให้เห็นว่าเหล่าผู้ก่อการจลาจล "ดูหมิ่นเหยียดหยามฝรั่งเศส เกลียดชังประเทศชาติ ไม่ต้องการร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชาติ และเป็นพวกหัวรุนแรง" ซึ่งนายมาเลียร์ชี้ว่า นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าระบบสังคมแห่งความหลากหลายทางวัฒนธรรมของฝรั่งเศสนั้นล่มสลายไปแล้ว

นายมาเลียร์ยังได้หยิบยกประเด็นการชวนคนบริจาคของนายเมสสินาว่า เป็นการใช้ถ้อยคำที่ตั้งใจหวังดึงดูดใจผู้คนในวงกว้างของสังคม ไม่ใช่แค่เฉพาะฝ่ายขวาจัดเท่านั้น ซึ่งคำพูดลักษณะนี้อาจทำให้ชาวฝรั่งเศสส่วนใหญ่ที่ไม่เคยลงคะแนนเสียงให้พรรคแนวร่วมแห่งชาติโอนอ่อนไปด้วย ด้วยเหตุนี้การระดมทุนจึงเป็นการเล่นการเมืองรูปแบบหนึ่งที่หวังเผยแพร่แนวคิดการเมืองฝ่ายขวาจัดสู่ผู้คนส่วนใหญ่

แม้แต่นางเลอ แปนเอง ก็นำเรื่องนี้มาเป็นเรื่องการเมืองแบบมีนัย โดยเธอไม่ได้วิจารณ์การประท้วงโดยตรงด้วยการใช้โวหารขวาจัด เช่น "การจลาจล กลุ่มชายขอบ การก่อกบฏต่อรัฐ หรือการเผาอาคารของรัฐ" โดยนายมาเลียร์ชี้ว่า การที่นางเลอ แปน แสดงจุดยืนเช่นนี้ เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ระยะยาวในฐานะของผู้เหมาะสมที่สุดที่อาจจะมาแทนที่นายมาครง

*บทสรุป

การจลาจลครั้งนี้ แน่นอนว่านอกจากจะเป็นการสั่นคลอนอำนาจของนายมาครงในฐานะประธานาธิบดีฝรั่งเศสแล้ว ยังเป็นการแสดงถึงปัญหาเชิงโครงสร้างที่แฝงอยู่ด้วย ทั้งการแบ่งขั้วในสังคมที่ฝังรากลึกมานาน และแสดงถึงความโกรธแค้นของสองกลุ่มซึ่งก็คือกลุ่มผู้ลุกขึ้นมาประท้วงความไม่เท่าเทียมทางเชื้อชาติ และกลุ่มขวาจัดที่ต่อต้านการประท้วง แม้ว่าการจลาจลเริ่มซาลงแล้ว แต่มันก็ยังไม่จบสิ้นลง บาดแผลและผลกระทบรุนแรงจะยังคงอยู่ต่อไปอีกยาวนาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ