In Focusตลาดแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนเนื้อหอมจ่อทะลุ 1.87 แสนล้านดอลลาร์ภายในปี 2575

ข่าวต่างประเทศ Wednesday January 24, 2024 12:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

แบตเตอรี่ลิเทียมไอออนใช้ขับเคลื่อนเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ มากมาย รวมถึง รถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) และสมาร์ตโฟน เนื่องจากมีน้ำหนักเบา อายุการใช้งานนาน ให้พลังงานสูง คงที่ และชาร์จได้เร็ว

ปัจจุบันแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนกำลังเป็นที่ต้องการอย่างสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่โลกกำลังให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนผ่านจากรถที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปไปสู่รถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) และการพัฒนาอิเล็กทรอนิกส์เพื่อผู้บริโภค โดยปัจจุบันอุปสงค์แบตเตอรี่ลิเทียมไอออนจากกลุ่มผู้ผลิตอิเล็กทรอนิกส์เพื่อผู้บริโภคแถวหน้าเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

*ตลาดแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนโตแกร่ง

เพอร์ซิสเทนซ์ มาร์เก็ต รีเสิร์ช (Persistence Market Research) ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยตลาดจากอินเดียเปิดเผยรายงานระบุว่า ขนาดตลาดแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนโลกมีแนวโน้มจะขยายตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่ง โดยเพิ่มขึ้นจาก 5.68 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2566 สู่ 1.871 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2575 ซึ่งสะท้อนถึงอัตราการเติบโตต่อปีแบบทบต้น (CAGR) ที่ 14.2% ในช่วงปี 2566-2575

สาเหตุหลัก ๆ ที่หนุนให้อุปสงค์แบตเตอรี่ลิเทียมไอออนพุ่งทะยานขึ้นทั่วโลกคือความต้องการรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) ทั้งประเภทไฮบริดและปลั๊กอินไฮบริด, ข้อกำหนดด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดที่บังคับใช้โดยรัฐบาลประเทศต่าง ๆ, ตลาดอิเล็กทรอนิกส์เพื่อผู้บริโภคเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ รวมถึง ความพยายามในการวิจัยและพัฒนาแบบต่อเนื่องเพื่อยกระดับศักยภาพของแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน

ยิ่งไปกว่านั้น ราคาที่ลดลงของแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนก็เป็นอีกปัจจัยหนุนสำคัญ เนื่องจากช่วยให้อุตสาหกรรมต่าง ๆ หันมาใช้งานแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนกันอย่างแพร่หลาย โดยแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนอุปกรณ์ต่าง ๆ หลากหลายประเภท เช่น สมาร์ตโฟน, เครื่องมือที่ใช้พลังงาน, ยานพาหนะพลังงานไฟฟ้า และชิ้นส่วนการบิน

ปัจจุบัน เทคโนโลยีแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนนั้นมีข้อได้เปรียบเหนือเทคโนโลยีอื่น ๆ ทั้งในคุณสมบัติด้านความหนาแน่นพลังงานสูงและอัตราการคายประจุต่ำ (Low Self Discharge) โดยปัจจัยเหล่านี้หนุนให้มีการยอมรับแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนกันอย่างแพร่หลายและนำแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนมาใช้ประโยชน์ในภาคส่วนต่าง ๆ มากมาย

*8 กระแสหลักในตลาดแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน

ความนิยมต่อรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) ? การที่ผู้คนหันมาใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) กันมากขึ้นถือเป็นปัจจัยหลักที่ส่งเสริมตลาดแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน

อุปสงค์ในการใช้แบตเตอรี่ลิเทียมไอออนเพื่อขับเคลื่อนยานพาหนะพลังงานไฟฟ้าและไฮบริดเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากอุตสาหกรรมยานยนต์หันมาโอบรับหลักการด้านความยั่งยืน

ระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) ? แบตเตอรี่ลิเทียมไอออนกำลังได้รับความนิยมในการนำไปใช้ในเครื่องมือกักเก็บพลังงาน โดยการพัฒนาระบบกักเก็บพลังงานที่มีประสิทธิเพื่อสร้างเสถียรภาพทางไฟฟ้า, การลดความผันผวนของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และพลังงานสำรองถือเป็นกระแสสำคัญในตลาดแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน

อิเล็กทรอนิกส์เพื่อผู้บริโภค ? อุปสงค์ที่เพิ่มสูงขึ้นสำหรับสมาร์ตโฟน, แล็ปท็อป, แท็บเล็ต และอุปกรณ์สวมใส่เป็นปัจจัยขับเคลื่อนตลาดแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนเช่นกัน โดยความก้าวล้ำทางเทคโนโลยีและความต้องการแบตเตอรี่ที่มีประสิทธิภาพสูงและคงทนช่วยหนุนให้กระแสนี้ดำรงอยู่ต่อไป

ลดต้นทุนและเพิ่มความคุ้มค่า ? ต้นทุนของแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนเริ่มลดลง เนื่องจากเทคโนโลยีเติบโตอย่างเต็มที่และกระบวนการการผลิตมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยต้นทุนที่ลดลงนี้ช่วยหนุนให้มีการใช้แบตเตอรี่ลิเทียมไอออนในอุตสาหกรรมต่าง ๆ อย่างแพร่หลาย เช่น ยานยนต์, อิเล็กทรอนิกส์เพื่อผู้บริโภค และการกักเก็บพลังงาน

การวิจัยและพัฒนา (R&D) ? มีความพยายามในด้านการวิจัยอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเป้าไปยังการปรับปรุงประสิทธิภาพ ความปลอดภัย และความยั่งยืนของแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน

กฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน ? กฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดและการให้ความสำคัญด้านความยั่งยืนเพิ่มมากขึ้นในปัจจุบันหนุนให้ตลาดแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนมีอิทธิพลมากขึ้น โดยบรรดาผู้ผลิตให้ความสนใจต่อเทคโนโลยีแบตเตอรี่ที่สามารถรีไซเคิลได้และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน

เคมีขั้นสูง ? การพัฒนาเคมีแบตเตอรี่ใหม่ เช่น แบตเตอรี่โซลิตสเตต (solid-state) กำลังเป็นกระแสสำคัญ โดยนวัตกรรมเหล่านี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเอาชนะขีดจำกัดในปัจจุบัน เช่น ความหนาแน่นด้านพลังงาน, ข้อกังวลด้านความปลอดภัย และความยั่งยืนทางทรัพยากร ซึ่งขยายศักยภาพการใช้งานของแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนเพิ่มเติม

การผงาดขึ้นของโรงงานกิกะแฟกทอรี ? การสร้างโรงงานผลิตขนาดใหญ่ยักษ์ ซึ่งมักถูกขนานนามว่ากิกะแฟกทอรี กลายมาเป็นกระแสในอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน โดยโรงงานเหล่านี้ผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนคราวละมาก ๆ ซึ่งช่วยลดต้นทุนการผลิตและเพียงพอที่จะรองรับอุปสงค์แบตเตอรี่ที่เพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก

*แบตเตอรี่ลิเทียมไอออนเฟื่องฟูส่อแววหนุนการควบรวมกิจการ

การควบรวมกิจการแนวดิ่ง (Vertical Integration) ? บริษัทต่าง ๆ ในห่วงโซ่อุปทานแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนอาจแสวงหาการบูรณาการการดำเนินงานแบบแนวดิ่งผ่านการเข้าซื้อกิจการ ยกตัวอย่างเช่น ผู้ผลิตแบตเตอรี่รายหนึ่งอาจเข้าซื้อกิจการบริษัทที่เกี่ยวข้องในด้านการผลิตวัตถุดิบ เช่น เหมืองลิเทียมหรือการสกัดโคบอลต์ เพื่อรักษาเสถียรภาพด้านห่วงโซ่อุปทาน

การยกระดับด้านเทคโนโลยี ? บริษัทต่าง ๆ ที่มีเทคโนโลยีหรือทรัพย์สินทางปัญญาแบตเตอรี่ขั้นสูงอาจเคลื่อนไหวเชิงกลยุทธ์เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับสถานะของบริษัทในตลาดแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน เช่น การเข้าซื้อบริษัทสตาร์ตอัปหรือบริษัทขนาดเล็กที่มีงานออกแบบ, วัตถุดิบ หรือกระบวนการการผลิตด้านแบตเตอรี่

การบูรณาการภาคยานยนต์ ? เมื่อพิจารณาถึงอุปสงค์รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ บรรดาผู้ผลิตยานยนต์หน้าเก่าอาจพิจารณาซื้อกิจการหรือจัดตั้งพันธมิตรกับผู้ผลิตแบตเตอรี่เพื่อสร้างอุปทานแบตเตอรี่ที่มั่นคงสำหรับการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ของพวกเขา

การขยายธุรกิจสู่ระบบกักเก็บพลังงาน ? ในขณะที่ระบบกักเก็บพลังงานได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในการนำไปใช้ในเครื่องมือทางไฟฟ้าและการลดความผันผวนของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน บริษัทต่าง ๆ ในตลาดแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนจึงอาจแสวงหาการเข้าซื้อกิจการเพื่อขยายธุรกิจในภาคกักเก็บพลังงาน

*ตลาดแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนโตแกร่งในเอเชียแปซิฟิก

เพอร์ซิสเทนซ์ มาร์เก็ต รีเสิร์ชระบุว่า ตลาดแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีแนวโน้มเติบโตสูงสุดระหว่างปี 2566-2575 โดยตลาดภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกแบ่งแยกกันอย่างชัดเจน เช่น จีน, ญี่ปุ่น, อินเดีย, ออสเตรเลีย, อินโดนีเซีย, ไทย และพื้นที่ที่เหลือของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกถือเป็นศูนย์กลางหลักสำหรับทั้งการผลิตและบริโภคแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน โดยอุปสงค์สำหรับแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอยู่ในระดับสูงอย่างชัดเจน โดยได้แรงหนุนจากกลุ่มผู้ผลิตอิเล็กทรอนิกส์เพื่อผู้บริโภคแถวหน้าในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก นอกจากนี้ ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกยังใช้แบตเตอรี่ลิเทียมไอออนเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในด้านอุปกรณ์สวมใส่และอิเล็กทรอนิกส์เพื่อผู้บริโภค

จีนเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนรายใหญ่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและครองส่วนแบ่งมากที่สุดในตลาดแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าจีนนั้นเป็นผู้เล่นรายสำคัญในด้านการผลิตและนวัตกรรมของเทคโนโลยีแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน

ขณะเดียวกัน การเติบโตของตลาดแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกยังได้แรงหนุนเพิ่มเติมจากความพยายามในการวิจัยและพัฒนาที่เพิ่มสูงขึ้น โดยการวิจัยและพัฒนาเหล่านี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดตัวเทคโนโลยีแบตเตอรี่ใหม่และพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่ที่มีอยู่แล้วในประเทศต่าง ๆ ทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

ส่วนบริษัทสำคัญในตลาดแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนมีหลายบริษัทด้วยกัน เช่น ซัมซุง เอสดีไอ โค จำกัด, พานาโซนิค คอร์ปอเรชัน, บีวายดี คอมปะนี จำกัด, แอลจี เคม และซีเอทีแอล (CATL)

*ออสเตรเลียยืนหนึ่งผู้ผลิตลิเทียมรายใหญ่สุดของโลก

ข้อมูลที่รวบรวมและจัดหาโดยกรมสำรวจธรณีวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา (USGS) แสดงให้เห็นว่าการผลิตลิเทียมทั่วโลกพุ่งทะยานขึ้นอย่างมากในปี 2565 โดยแตะที่ 130,000 ตัน (แต่ไม่นับรวมตัวเลขการผลิตจากสหรัฐ) ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่า 20,000 ตัน จาก 107,000 ตันในปี 2564

ปัจจุบัน ออสเตรเลีย, ชิลี และจีนรวมกันแล้วคิดเป็นสัดส่วนกว่า 90% ของตลาดการผลิตลิเทียมโลก โดยในปี 2565 ออสเตรเลียผลิตลิเทียมได้ 61,000 ตัน, ชิลีผลิตได้ 39,000 ตัน และจีนผลิตได้ 19,000 ตัน ส่วนอาร์เจนตินาผลิตได้ 6,200 ตันและบราซิลผลิตได้ 2,200 ตัน

*ผลกระทบจากการทำเหมืองลิเทียม

การทำเหมืองลิเทียมนั้นต้องใช้น้ำมหาศาล โดยการผลิตลิเทียม 1 ตันต้องใช้น้ำประมาณ 2.2 ล้านลิตร นอกจากนี้ การใช้เทคนิคสกัดลิเทียมยังทำให้มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากขึ้น รวมถึงสร้างขยะจากการทำเหมืองเพิ่มขึ้น และก่อให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจต่อชุมชนโดยรอบมากขึ้น

แม้ลิเทียมจะสร้างคุณอนันต์ แต่ก็ไม่แตกต่างไปจากสิ่งอื่น ๆ บนโลกที่มีทั้งคุณและโทษ ดังนั้น การนำลิเทียมมาใช้ควรต้องคำนึงถึงทั้งประโยชน์ทางธุรกิจและความปลอดภัยของผู้คนควบคู่กันไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ