Media Talk: กูรูแนะกลยุทธ์ครีเอเตอร์ไทย ยุคอินฟลูฯ ล้นตลาด AI เขย่าคอนเทนต์

ข่าวต่างประเทศ Monday July 7, 2025 11:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

Media Talk: กูรูแนะกลยุทธ์ครีเอเตอร์ไทย ยุคอินฟลูฯ ล้นตลาด AI เขย่าคอนเทนต์

สมรภูมิครีเอเตอร์ไทยในปัจจุบันดุเดือดยิ่งกว่าที่เคย ด้วยจำนวนครีเอเตอร์ที่เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดจนเกิดภาวะ "อินฟลูเอนเซอร์ล้นตลาด" ประกอบกับการเข้ามาของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่พลิกโฉมการสร้างคอนเทนต์ในหลากหลายมิติ

เพื่อรับมือกับสถานการณ์นี้ สองผู้เชี่ยวชาญจากวงการครีเอเตอร์ไทยได้ร่วมวิเคราะห์ทิศทางตลาดพร้อมแนะนำกลยุทธ์ บนเวทีเสวนาหัวข้อ "อินฟลูฯ เฟ้อ ครีเอเตอร์เอาไงต่อ: Creator Trends 2026" ในงาน Creative Talk Conference 2025 (CTC 2025) ภายใต้ธีม "The Future is Worth a Thousand Words" โดยงานนี้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 4-5 กรกฎาคม 2568 ณ Bhiraj Hall, BITEC Bangna

Media Talk: กูรูแนะกลยุทธ์ครีเอเตอร์ไทย ยุคอินฟลูฯ ล้นตลาด AI เขย่าคอนเทนต์
ส่องภูมิทัศน์ตลาดครีเอเตอร์ไทย คอนเทนต์หลากหลาย วิดีโอสั้นยังครองเกม

คุณขจร เจียรนัยพานิชย์ บรรณาธิการบริหาร RAiNMaker และผู้จัดงาน iCreator Conference เปิดเผยว่า ภูมิทัศน์ครีเอเตอร์ไทยในปัจจุบันมีความหลากหลายและกระจายตัว ไม่มีแพลตฟอร์มใดครองตลาดแบบเบ็ดเสร็จ

แม้ว่าเฟซบุ๊ก (Facebook) จะยังครองอันดับหนึ่งด้านจำนวนผู้ใช้งาน แต่สัดส่วนก็ไม่ได้ทิ้งห่างติ๊กต๊อก (TikTok) ที่ตามมาเป็นอันดับสอง รวมถึงอินสตาแกรม (Instagram) และยูทูบ (YouTube) ที่ตามติดมาในอันดับสามและสี่ ซึ่งสะท้อนว่าครีเอเตอร์ยังมีโอกาสเติบโตได้ในทุกช่องทาง

Media Talk: กูรูแนะกลยุทธ์ครีเอเตอร์ไทย ยุคอินฟลูฯ ล้นตลาด AI เขย่าคอนเทนต์

สิ่งสำคัญคือต้องเลือกแพลตฟอร์มให้เหมาะสมกับประเภทของคอนเทนต์ คุณขจรยกตัวอย่างว่า คอนเทนต์สายความงามที่เคยโดดเด่นบนอินสตาแกรม ปัจจุบันกลับมียอดเอ็นเกจเมนต์ (Engagement) บนติ๊กต๊อกสูงกว่า ขณะที่คอนเทนต์สายบันเทิงยังเหมาะกับยูทูบเป็นหลัก ส่วนกลุ่มยานยนต์ยังเหมาะทำคอนเทนต์บนเฟซบุ๊กและยูทูบ

สำหรับหมวดหมู่คอนเทนต์ที่ยังได้รับความนิยม ได้แก่ ไลฟ์สไตล์ ความงาม และความบันเทิง ขณะหมวดดาวรุ่งมาแรง ได้แก่ แม่และเด็ก สัตว์เลี้ยง นักข่าว รวมถึงกลุ่มผู้สูงอายุและครอบครัว ซึ่งสะท้อนพฤติกรรมผู้บริโภคที่หลากหลายและเฉพาะทางมากขึ้น

ในส่วนของรูปแบบคอนเทนต์ วิดีโอสั้นยังคงครองความนิยมสูงสุด เพราะเผยแพร่ได้ครอบคลุมทุกแพลตฟอร์ม รองลงมาคือภาพนิ่ง ทั้งแบบเดี่ยวและชุด ส่วนไลฟ์สตรีมมิ่ง (Live Streaming) กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากเปิดโอกาสให้ครีเอเตอร์สร้างรายได้โดยตรงจากผู้ติดตาม โดยไม่ต้องพึ่งพาแบรนด์หรือสปอนเซอร์

5 เทรนด์คอนเทนต์ สะท้อนความจริง เติมความหวัง

คุณสุวิตา จรัญวงศ์ ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของเทลสกอร์ (Tellscore) บริษัทพัฒนาเทคโนโลยีและแพลตฟอร์มบริหารจัดการอินฟลูเอนเซอร์ วิเคราะห์ว่า ทิศทางคอนเทนต์ปี 2569 จะสะท้อนทั้งความเป็นจริงที่ผู้คนเผชิญ และความหวังที่พวกเขาแสวงหา โดยแบ่งเป็น 5 หมวดหลัก

1. Scam Alert คอนเทนต์เตือนภัยและเปิดโปงพฤติกรรมมิจฉาชีพในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ช่อง DOM หรือรายการของหนุ่ม กรรชัย ที่ตอบสนองความต้องการของสังคมที่โหยหาความจริง ความยุติธรรม และข้อมูลที่โปร่งใส

2. Joy Feed คอนเทนต์ที่เน้นความสนุกสนานและความบันเทิง โดยเฉพาะคลิปสัตว์เลี้ยง เช่น ช่อง forgiforfun ซึ่งช่วยเยียวยาจิตใจในช่วงเวลาที่ผู้คนเผชิญความเครียดสะสมและต้องการพื้นที่ผ่อนคลาย

3. In Search for Equality คอนเทนต์ที่ถ่ายทอดภาพความเหลื่อมล้ำในสังคม และกระตุ้นให้เกิดการตั้งคำถามต่อโอกาสที่ไม่เท่าเทียม เช่น คลิปของครูสุรเบล ที่แม้ภายนอกจะดูเหมือนเป็นการสอนวิทยาศาสตร์สนุก ๆ แต่แฝงภาพชีวิตของเด็กบนดอยที่ขาดทั้งทรัพยากรและโอกาส

4. In Search for Income คอนเทนต์แนะแนวทางหารายได้เสริม สะท้อนสภาพเศรษฐกิจที่รายได้ทางเดียวไม่พอเลี้ยงชีพ สอดคล้องกับข้อมูลของดีลอยต์ (Deloitte) ที่ระบุว่า 67% ของประชากรไทยมีรายได้เดือนชนเดือน

5. Entrepreneur Life คอนเทนต์ที่เปิดเผยเบื้องหลังการเริ่มต้นของผู้ประกอบการ ตั้งแต่ช่วงล้มลุกคลุกคลานไปจนถึงความสำเร็จ ผู้ชมไม่ได้อยากเห็นแค่ปลายทาง แต่ต้องการเห็นภาพเบื้องหลังความสำเร็จนั้น

ครีเอเตอร์ยุค AI โอกาสที่มาพร้อมกับความเสี่ยง

ปัญญาประดิษฐ์ (AI) กำลังกลายเป็นตัวแปรสำคัญในวงการครีเอเตอร์ คุณขจรชี้ว่า ในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา ผู้ชมเริ่มเปิดใจรับคอนเทนต์ที่ผลิตด้วย AI มากขึ้น ต่างจากช่วงแรกที่มีกระแสต่อต้าน เช่น ช่อง SuperCatPapa บนยูทูบ ที่ใช้ AI สร้างคอนเทนต์ 100% และกลายเป็นช่องที่มียอดผู้ติดตามเพิ่มสูงสุด 30 อันดับแรกของโลกในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงกรณีผู้ประกาศข่าวจำลอง (Virtual Reporter)

คุณขจรเผยว่า ทีมงานของเขาได้เริ่มนำ AI มาใช้ในการผลิตคอนเทนต์ เช่น การตัดคลิปชุดวิดีโอสั้น จากเดิมที่ใช้เวลากว่า 2 วัน ปัจจุบันสามารถทำคลิปสั้นได้ถึง 30 คลิปในเวลาไม่ถึง 5 นาที และ AI ยังช่วยวิเคราะห์จุดที่ควรตัดคลิปได้อย่างแม่นยำ

ด้านคุณสุวิตามองว่า AI ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตคอนเทนต์ ทำให้ครีเอเตอร์ผลิตงานได้มากขึ้น ใช้เวลาน้อยลง แต่ก็เตือนให้ใช้อย่างระมัดระวัง เพราะการกำกับดูแลและกฎระเบียบยังตามไม่ทัน AI ทำให้คอนเทนต์หลอกลวงหรือขัดจริยธรรมแพร่กระจายบนแพลตฟอร์ม ทั้งยังส่งผลให้ครีเอเตอร์ที่ตั้งใจสร้างเนื้อหาคุณภาพต้องเผชิญความยากลำบากในการแข่งขันและสร้างรายได้

ทางรอดบนสมรภูมิอินฟลูเอนเซอร์ล้นตลาด

คุณขจรกล่าวว่า ในอดีตครีเอเตอร์ที่มีชื่อเสียงมักพึ่งพารายได้จากแบรนด์เป็นหลัก แต่ปัจจุบันมีรายได้จากหลากหลายช่องทางมากขึ้น ทั้งรายได้จากแพลตฟอร์มโดยตรง การโดเนต ค่าสมาชิก โปรแกรม Affiliate การขายสินค้า (Merchandise) หรือการจัดกิจกรรมของตัวเอง เช่น ช่อง Rubsarb ที่รายได้เกินครึ่งมาจากการขายสินค้า หรือช่อง Peanut Butter ที่สร้างคอนเทนต์เอ็กซ์คลูซีฟสำหรับสมาชิกแบบรายเดือน

สำหรับครีเอเตอร์ที่ยังอยู่ระหว่างการสร้างฐานผู้ติดตาม คุณขจรชี้ว่ายังมีโอกาสเติบโตอีกมาก โดยปัจจุบัน อัตราการเติบโตของอุตสาหกรรมครีเอเตอร์ไทยยังคงอยู่ในระดับเลขสองหลักทุกปี ซึ่งสูงกว่าอุตสาหกรรมอื่น ๆ แต่สิ่งสำคัญคือการสร้างตัวตนที่ชัดเจนและมีเสน่ห์ ท่ามกลางตลาดที่มีการแข่งขันสูง พร้อมทั้งโฟกัสการทำคอนเทนต์ที่ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะในตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niche Market)

คุณสุวิตาสรุปปิดท้ายว่า ครีเอเตอร์ควรมุ่งมั่นทำคอนเทนต์ที่ดี เป็นตัวของตัวเอง ไม่โลภและไม่ใช้วิธีลัด คอนเทนต์ควรโปร่งใสและไม่ขัดต่อกฎหมายหรือจรรยาบรรณการทำสื่อ เพื่อให้อยู่รอดและเติบโตอย่างยั่งยืน

แม้จะเกิดสภาวะ "อินฟลูฯ เฟ้อ" แต่โอกาสในวงการครีเอเตอร์ยังคงเปิดกว้างสำหรับผู้ที่สามารถปรับตัว สร้างความเป็นตัวเองที่แตกต่าง และใช้เทคโนโลยีอย่างชาญฉลาด การเตรียมพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงนี้จะเป็นกุญแจสำคัญในการอยู่รอดอย่างยั่งยืนในโลกยุคใหม่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ