Media Talk: เคล็ดลับในการเขียนข่าวพีอาร์โดยไม่ละเมิดกฎหมายลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศ

ข่าวต่างประเทศ Thursday October 3, 2019 09:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

หากถามว่า ข่าวประชาสัมพันธ์จะกลายเป็นอาชญากรรมได้หรือไม่ คำตอบคือ ถ้าเราละเมิดกฎหมายลิขสิทธิ์แล้วละก็ ใช่ ข่าวประชาสัมพันธ์ของเราจะกลายเป็นอาชญากรรมขึ้นมาได้ เนื่องจากกฎหมายลิขสิทธิ์มีอำนาจครอบคลุมพรมแดนระหว่างประเทศ คำแนะนำเกี่ยวกับผลกระทบที่กฎหมายดังกล่าวมีต่อข่าวประชาสัมพันธ์และงานพีอาร์ที่จะเล่าสู่กันฟังนี้ จะช่วยให้เราไม่พลาดท่าถูกตราหน้าว่าเป็นขโมย ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ แล้วเพียงแค่อยากหยิบยืมมาใช้เฉย ๆ

"ลิขสิทธิ์" คือการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา หากบุคคลหรือบริษัทใดครอบครองสิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญานั้นแล้ว ผู้ใดก็ตามที่จะใช้ทรัพย์สินทางปัญญาดังกล่าวด้วยจุดประสงค์บางอย่าง จะต้องขออนุญาตจากเจ้าของเสียก่อน โดยกฎหมายลิขสิทธิ์ในบางประเทศค่อนข้างเข้มงวด ขณะที่บางประเทศก็ไม่เข้มงวดเท่า แต่ถึงอย่างนั้นเราก็ควรศึกษาว่าประเทศต่าง ๆ ให้ความสำคัญในเรื่องใดบ้าง

สิ่งที่วงการพีอาร์ควรให้ความสำคัญที่สุดคือ

  • สิทธิ์ในการแปล
  • สิทธิ์ในการแจ้งผลลัพธ์การทำงานให้เป็นที่รับรู้อย่างทั่วถึง
  • สิทธิ์ในการกระจายข่าวสาร
  • สิทธิ์ในการทำซ้ำ
  • สิทธิ์ในการใช้ผลงานเพื่อต่อยอดเป็นงานภาพและเสียง

ถ้าข่าวประชาสัมพันธ์ของเราเมินเฉยต่อสิทธิ์ใด ๆ ที่ได้มีการระบุไว้ข้างต้น ข่าวประชาสัมพันธ์ของเราอาจจะต้องรับผิดชอบต่อการละเมิดลิขสิทธิ์ก็เป็นได้ ดังนั้น สิ่งที่เราและทีมประชาสัมพันธ์สามารถทำได้เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาต่าง ๆ มีดังนี้

  • ขออนุญาตให้ถูกต้อง ถ้าข้อมูลในข่าวประชาสัมพันธ์ของเรานั้นนำมาจากแหล่งอื่น เราต้องได้รับอนุญาตจากผู้เขียนก่อน ข้อมูลสำคัญบางประเภทที่ต้องขออนุญาต ได้แก่
  • ข้อมูลจากสื่ออื่นที่เราใช้ในข่าวประชาสัมพันธ์
  • การแปลข้อมูลจากบริษัทหรือแหล่งข้อมูลอื่น
  • ข้อมูลจากการวิจัยของผู้อื่น
  • คำพูดของบุคคลอื่นที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัทของเรา
  • รายละเอียดอื่น ๆ ที่บริษัทของเราไม่ได้รับมาโดยตรง

การได้รับอนุญาตคือมาตรการป้องกันการถูกฟ้องร้องละเมิดลิขสิทธิ์ ดังนั้นควรจะสร้างความมั่นใจว่า เราได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องแล้ว

  • สร้างองค์ประกอบภาพและเสียงของตัวเอง วิธีที่ง่ายที่สุดที่จะหลีกเลี่ยงปัญหาการถูกฟ้องร้องด้านลิขสิทธิ์ในส่วนของภาพและเสียงในข่าวประชาสัมพันธ์ คือ การสร้างคอนเทนต์ขึ้นมาเอง ด้วยวิธีนั้น เราสามารถรับรองได้ว่าเรามีลิขสิทธิ์ อย่างไรก็ตาม หากเราใช้รูปภาพบุคคลอื่น รวมถึงวิดีโอ แผนภูมิ ภาพถ่ายหน้าจอ หรือภาพอื่น ๆ ที่เราไม่ได้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ เราต้องได้รับอนุญาตที่จะใช้สิ่งเหล่านั้นในข่าวประชาสัมพันธ์ของเราเช่นเดียวกับรายละเอียดอื่น ๆ ที่หยิบยืมมา

หลีกเลี่ยงความสุ่มเสี่ยงที่อาจเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ดังนี้:

  • อ้างถึงบุคคลอื่นจากข่าวประชาสัมพันธ์หรือสื่อจากแหล่งอื่น
  • รวบรวมข้อมูล ข้อเท็จจริง หรือข่าวสารจากแหล่งอื่นโดยไม่มีการอ้างอิงแหล่งที่มาอย่างถูกต้อง
  • ใช้รูปภาพที่เจอบนอินเทอร์เน็ต
  • ภาพหน้าจอจากเว็บไซต์หรือรายการโทรทัศน์
  • ใช้แผนภูมิจากการจัดอันดับ การสำรวจ หรืองานวิจัยของบุคคลอื่น

การกระทำเหล่านี้อาจทำให้เราตกอยู่ในฐานะของการโจรกรรมทางทรัพย์สินทางปัญญา

สรุปได้ว่า การปฏิบัติตามข้อบังคับด้านลิขสิทธิ์ในประเทศต่าง ๆ อาจเป็นเรื่องง่ายหากเรามีความเข้าใจในตัวบทกฎหมายอย่างดีพอ การที่จะหยิบยืมผลงานของผู้อื่นมาใช้โดยไม่ได้ขโมยมานั้น อันดับแรก เราควรขออนุญาตจากผู้สร้างสรรค์ผลงานนั้น ๆ ก่อน และต้องให้เครดิตเจ้าของผลงานเหล่านั้นทุกครั้งที่นำงานออกมาเผยแพร่ต่อ นี่เป็นวิธีการง่าย ๆ แต่มีประสิทธิภาพอย่างมากในการรักษาชื่อเสียงของบริษัทเอาไว้ หากลืมหรือเลือกที่จะเพิกเฉยต่อการคุ้มครองลิขสิทธิ์ หรือตั้งใจขโมยหรือโจรกรรมงานของผู้อื่นเพื่อนำมาหาประโยชน์ให้ตัวเอง การกระทำเช่นนี้จะนำไปสู่ผลกระทบทั้งในด้านกฎหมายและการเงินเป็นมูลค่ามหาศาลอย่างเลี่ยงไม่ได้ และอาจสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อชื่อเสียงของบริษัทที่ได้สั่งสมมา ดังนั้น อย่าลืมที่จะตระหนักถึงสิ่งที่เราสามารถทำได้และไม่ควรทำ รวมถึงหาความรู้เกี่ยวกับวิธีการและเหตุผลว่าทำไมต้องให้เครดิตกับผลงานของผู้อื่นทุกครั้งที่เราหยิบยกเข้ามาใส่ในงานพีอาร์ของเรา เพียงเท่านี้งานของเราก็จะปลอดภัยจากกฎหมายคุ้มครองลิขสิทธิ์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ