Media Talk: 6 นักคิดแวดวงครีเอทีฟ ร่วมเสิร์ฟไอเดียแก้ปัญหา พร้อมเปิดโซลูชั่นเปลี่ยนแปลงโลก ฉลองครบ 50 ปี ลีโอ เบอร์เนทท์

ข่าวทั่วไป Monday June 13, 2016 13:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ปัญหาเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกับทุกคน แต่ปัญหาจะกลายเป็นโอกาสหรืออุปสรรคนั้นขึ้นอยู่กับมุมมองและวิธีการจัดการของแต่ละคน โอกาสนั้นเป็นเรื่องดี แต่จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อบุคคลผู้นั้นเปิดสมองรับแนวคิดใหม่ๆ กล้าเปลี่ยนมุมมองเดิมๆ และหมั่นแสวงหาแรงบันดาลใจปรับปรุงตัวเอง

ลีโอ เบอร์เนทท์ ประเทศไทย เอเยนซี่โฆษณาที่เรียกตนเองว่าเป็น “นักแก้ปัญหาทางธุรกิจ" จึงได้เปิดเวทีเสิร์ฟมุมมองใหม่ๆแห่งโลกไอเดีย ในโอกาสครบรอบ 50 ปี โดยมีแขกรับเชิญคนสำคัญให้เกียรติขึ้นกล่าวสร้างแรงบันดาลใจถึง 6 คน ได้แก่ คุณบา ภาณุ อิงคะวัต เจ้าของแบรนด์ “เกรย์ฮาวด์" และอดีตประธานของลีโอ เบอร์เน็ทท์ ประเทศไทย, คุณตือ สมบัษร ถิระสาโรช เจ้าแม่ออร์กาไนเซอร์เมืองไทย, คุณต้อม เป็นเอก รัตนเรือง ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดัง, คุณเอ๋ สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ (นิ้วกลม) นักเขียนสุดฮิพขวัญใจวัยรุ่น, คุณเข้ สมพัฒน์ ทฤษฎิคุณ ผู้อำนวยการบริหารฝ่ายสร้างสรรค์ ลีโอ เบอร์เนทท์ ประเทศไทย และตบท้ายด้วยแง่คิดดีๆจากผู้ปลุกปั้นวงการสตาร์ทอัพอย่างคุณกระทิง เรืองโรจน์ พูนผล

  • ภาณุ อิงคะวัต "ชีวิตคือการแก้ปัญหา"

“ผมเชื่อว่า ชีวิตของเราถูกคนข้างบนกำหนดมาไว้แล้วว่า เราเกิดมาเพื่อแก้ปัญหา" คุณบา ภาณุ อิงคะวัต อดีตครีเอทีฟไดเรคเตอร์ และประธานกรรมการบริหารของบริษัทลีโอ เบอร์เนทท์ (ประเทศไทย) และเจ้าของแบรนด์เสื้อผ้าชื่อดัง เกรย์ฮาวด์ กล่าวเป็นประโยคแรกขณะขึ้นเวที Thep Talk คุณภาณุเล่าให้ฟังถึงประสบการณ์ทำงานต่างๆที่เขาได้ประสบขณะทำงานอยู่ในแวดวงโฆษณา ทั้งปัญหาลูกค้าไม่ชอบงาน ไม่ซื้องาน ถึงขั้นขยำสตอรี่บอร์ดทิ้งไปต่อหน้าต่อตา แต่ด้วยความไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค คุณภาณุและทีมงาน ได้ระดมสมองเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆให้ตอบโจทย์กับความต้องการของลูกค้า จนขายงานได้ในที่สุด สิ่งเหล่านี้เอง จึงสอนให้คุณภาณุได้รู้ว่า ปัญหาหรือความกดดันย่อมนำเราไปสู่ทางออกใหม่ๆ ขอเพียงเราทำในสิ่งที่เชื่อ และเชื่อในสิ่งที่ทำ งานจะไม่ใช่เรื่องน่าเบื่อ แต่จะกลายเป็นความสุข ความภาคภูมิใจเมื่อเราได้เห็นผลลัพธ์ในที่สุด

คุณภาณุบอกอีกว่า ถ้าเมื่อใดที่เราเจอปัญหา ขอให้เราเอาตัวเข้าไปอยู่ในปัญหา เรียนรู้มัน สนุกไปกันมัน สุดท้ายแล้วปัญหาเหล่านี้ จะพาเราเดินไปสู่ทางออกที่เราฝันไว้ สิ่งที่สำคัญมากที่สุด คือความมุ่งมั่นในสิ่งที่เราทำ เราต้องถามตัวเองอยู่เสมอว่า เราทุ่มเทกับมันมากพอหรือยัง เป้าหมายชัดเจนหรือยัง เพราะจริงๆแล้วโลกนี้ไม่มีใครเกิดมาแล้วเป็นอัจฉริยะเลย “แต่อัจฉริยะคือคนที่รักในสิ่งที่ทำตัวเองทำ แล้วทำสิ่งนั้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนประสบความสำเร็จ จนคนอื่นยกย่องให้เขาเป็นอัจฉริยะ" เพราะฉะนั้นแล้ว ขอเพียงมุ่งมั่น ตั้งใจทำในสิ่งที่เรารัก ไม่ว่าจะปัญหาใดเราก็จะผ่านมันไปได้ และปัญหาเหล่านั้นจะนำพาเราไปสู่สิ่งที่ดีกว่าเดิมอย่างแน่นอน

  • “ตือ" สมบัษร ถิระสาโรช "อย่าเริ่มต้นวันใหม่ด้วยคำว่าปัญหา"

ถ้าพูดถึงตัวแม่ของวงการโฆษณา คงไม่มีใครไม่รู้จัก “ป้าตือ" สมบัษร ถิระสาโรช อดีตโปรดิวเซอร์มือหนึ่งของลีโอเบอร์เนทท์ ผู้บุกเบิกวงการสไตล์ลิสต์ และเป็นเจ้าของบริษัทตือไม่จำกัด บริษัทโปรดักชั่นดีไซน์เลื่องชื่อของประเทศไทย คุณ ตือบอกกับเราว่า อย่าเริ่มต้นชีวิตด้วยปัญหา แต่ให้เริ่มต้นด้วย “ความอยาก" สร้างความกระหายให้จิตใจให้ได้เจอกับสิ่งดีๆ พร้อมเผชิญหน้ากับทุกสิ่งที่เข้ามา เพราะในพจนานุกรมของคุณตือไม่มีคำว่า “เป็นไปไม่ได้" ไม่ว่าจะพบปัญหาแบบใด ต้องรับมือให้ได้หมด

แต่ไม่ใช่ว่าชีวิตของออร์แกไนเซอร์มือทองคนนี้จะราบรื่นไปเสียทุกอย่าง กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้คุณตือก็เจอกับเหตุการณ์และปัญหาหลายอย่างที่ทำให้ต้องคิด ต้องแก้อยู่ตลอดเวลา แต่สุดท้ายแล้ว ปัญหาเหล่านั้นกลับกลายป็นบทเรียนที่หล่อหลอมคุณตือให้กลายเป็นคนที่แข็งแกร่ง และประสบความสำเร็จมาจนทุกวันนี้

ปัญหาที่คุณตือเล่าให้เราฟังนั้นมีอยู่ 4 อย่างด้วยกัน คือ ปัญหาของการเห็นแก่ตัว ปัญหาของการคิดแทนคนอื่น ปัญหาของการคิดทางเดียว ปัญหาของการรอเวลา แต่สุดท้ายแล้ว คุณตือกลับต้องขอบคุณปัญหาทั้งหมดที่เข้ามา เพราะปัญหาทำให้เกิด “สติ" และนำพาเราไปสู่รูปแบบการใช้ชีวิตที่ถูกต้องในท้ายที่สุด

แต่หากปัญหาเข้ามาเยอะมาก เราจะต้องทำยังไงกัน? คุณตือบอกกับเราว่า “โลกนี้ไม่มีคำว่าหนีปัญหา"เพราะฉะนั้น หากมีปัญหารุมเร้า ให้ทำตามขั้นตอนต่อไปนี้

1. เมื่อสมองแบกรับปัญหาเยอะเสียจนเราไม่สามารถควบคุมได้ ให้จดปัญหาเหล่านั้นใส่กระดาษ ค่อยๆแก้ปัญหาทีละอย่าง จากเล็กไปใหญ่ สุดท้ายแล้วปัญหาจะค่อยๆหมดลงไปเอง

2. เงียบและฟังว่าปัญหาคืออะไร ความเงียบจะทำให้เราเห็นปัญหาชัดขึ้น มีสติมากขึ้น รับมือกับปัญหาได้ดียิ่งขึ้น

3. ลดเสียงลง 1 สเต็ปเวลาเจอปัญหา เพราะหากเรายิ่งโวยวายอารมณ์ร้อน ปัญหาจะไม่มีทางจบลงได้ ให้พูดให้เบาลง และใช้ความเงียบสงบสยบทุกความเคลื่อนไหว

4. จำไว้ว่า “ความสะใจคือรางวัลของคนโง่" หากเราแก้ปัญหาด้วยความสะใจเพื่อให้ตัวเองชนะ แต่ผลลัพธ์ที่ออกมากลับไม่มีสิ่งใดให้ประโยชน์กับตัวเองเลย จะมีความหมายใด หากชัยชนะเป็นเพียงความสะใจชั่ววูบ แต่เราต้องสูญเสียสิ่งดีๆไปตลอดกาล

สุดท้าย คุณตือทิ้งท้ายไว้ว่า หากปัญหามาพร้อมกันเยอะมาก คุณทำทุกอย่างแล้วก็ยังรับมือกับมันไม่ได้ ก็ #เอาที่สบายใจ ปล่อยวางมันไปเถอะ!

  • “ต้อม" เป็นเอก รัตนเรือง "บางทีปัญหาพาเราไปเจอกับไอเดียที่คาดไม่ถึง"

คุณต้อม อดีตครีเอทีฟของลีโอ เบอร์เนทท์ และผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดัง เล่าให้เราฟังถึงปัญหาที่เขาได้พบขณะกำกับภาพยนตร์ ปัญหาของคุณต้อมเริ่มต้นจากการตัดสินใจผิดพลาด จนทำให้เกิดปัญหาน่าปวดหัวตามมา แต่คุณต้อมกลับมีวิธีการแก้ปัญหาที่ไม่เหมือนใครตามสไตล์ครีเอทีฟหัวก้าวหน้า เพราะเขาเลือกใช้ “ปัญหา" แก้ไข “ปัญหา" นั่นเอง

คุณต้อมเล่าให้เราฟังถึงเคสตัวอย่างอันหนึ่ง โดยเมื่อย้อนกลับไปในปี 2555 คุณต้อมตกปากรับคำทำหนังทำหนังสั้นต่อต้านการคอร์รัปชั่น แต่กลับไม่มีไอเดีย แถมงบประมาณที่ได้รับมาไม่เพียงพอต่อการสร้างหนัง (100,000 บาท) วิธีที่คุณต้อมทำกลับไม่ใช่การค้นหาไอเดีย แต่กลับเป็นการจ้างรุ่นน้องทำหนังแทนด้วยราคา 70,000 บาท พร้อมขอให้พร้อมใส่เครดิตว่าตัวเขาเองเป็นผู้กำกับ จนสุดท้ายเมื่อหนังเสร็จ รุ่นน้องของคุณต้อมสารภาพว่า ไปจ้างเด็กมหาวิทยาลัยทำอีกทีในราคา 50,000 บาท!

สุดท้ายแล้ว ทุกการสนทนาของคุณต้อมและรุ่นน้องคนดังกล่าวถูกถ่ายทอดออกมาเป็นภาพยนตร์เรื่อง “สิบหมื่น" ภาพยนตร์ต่อต้านการคอร์รัปชั่นเสียดสีสังคม ชี้ให้เห็นว่าการโกงมีได้ทุกระดับชั้น ตั้งแต่นักการเมืองไปจนชาวบ้านธรรมดา แม้แต่ภาพยนตร์ต่อต้านการทุจริตยังสร้างมาจากการโกง เป็นภาพยนตร์ที่สื่อถึงการโกงในรูปแบบใหม่ ทำให้ผู้ชมตระหนักถึงภัยร้ายของการคอร์รัปชั่นที่แทรกซึมอยู่ในทุกวงการ และหันกลับมาตั้งคำถามกับตัวเอง แล้วเราควรเลิกพฤติกรรมแบบนี้ได้หรือยัง

  • “เอ๋ นิ้วกลม" สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ "เปลี่ยนปัญหาให้เป็นเรื่องสนุก"

หากพูดชื่อ “เอ๋ สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์" หลายคนคงทำหน้างงว่าบุคคลท่านนี้คือใคร แต่ถ้าพูดชื่อ “นิ้วกลม" คงไม่มีใครไม่รู้จักครีเอทีฟโฆษณา และนักเขียนผู้สร้างแรงบันดาลใจที่กำลังฮอตสุดๆในขณะนี้ เป็นที่น่าเสียดายว่าบนเวที Thep Talk ครั้งนี้ คุณเอ่ไม่สามารถมาร่วมงานได้เนื่องจากติดภารกิจที่นิวยอร์ก แต่คุณเอ๋ก็ไม่ทำให้เราผิดหวัง เพราะเขาได้ฝากข้อความดีๆผ่านตัวอักษรมาให้เราได้อ่าน สร้างข้อคิดให้กับตัวเอง

คุณเอ๋บอกว่า การที่เขาไม่ได้ขึ้นมายืนบนเวทีนี้ และต้องคิดหาวิธีรับผิดชอบต่องานของลีโอ เบอร์เนทท์ที่เขาได้รับปากไว้ ทำให้เขาได้เรียนรู้ว่า ปัญหาคือโจทย์ที่น่าสนุก และมีคำตอบล้านแปดรูปแบบ โจทย์เหล่านี้เปิดโอกาสให้เราใช้สมองอย่างเต็มที่ และค้นพบความเป็นไปได้ใหม่ๆ ขอเพียงคิดให้สนุก เปลี่ยนจาก “ปัญหา" เป็น “โจทย์" ทีนี้ไม่ว่าโจทย์จะยากแค่ไหน เราก็จะไม่ย่อท้อกับมัน

  • “เข้" สมพัฒน์ ทฤษฎิคุณ "ทุกปัญหาแก้ได้ด้วย Solution thinking"

คุณเข้ สมพัฒน์ ทฤษฎิคุณ ในฐานะที่เป็นผู้อำนวยการบริหารฝ่ายสร้างสรรค์ของลีโอ เบอร์เนทท์ (ประเทศไทย) เขาต้องพบกับปัญหาจากการทำงานในแวดวงโฆษณาต่างๆมากมาย ทั้งทะเลาะกับเพื่อนร่วมงาน จมกับการหาไอเดีย หรือแม้กระทั่งเถียงกันว่าดาราคนไหนดังกว่ากัน ฉะนั้น เพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ ลีโอเบอร์เนทท์จึงทำการรื้อระบบความคิดแบบเดิมๆ และสร้างวิธีแก้ไขทุกปัญหาด้วยแนวคิดที่เรียกว่า "Solution Thinking" ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากการแก้ไขปัญหาตามหลักอริยสัจ 4 ของพระพุทธเจ้า ประกอบด้วย:

ทุกข์ (real problem) - ปัญหาที่แท้จริงคืออะไร

สมุทัย (root cause) - สาเหตุที่ของปัญหามาจากไหน

นิโรธ (right solution) - ทางออกของปัญหาคืออะไร

มรรค (rich execution) - วิธีปฏิบัติในการแก้ปัญหา ต้องทำอย่างไร

ตัวอย่างหนึ่งของลีโอเบอร์เนทท์ที่ใช้ Solution thinking มาแก้ปัญหา และประสบความสำเร็จอย่างงดงามคือโครงการ “tattoo flyer" ที่ทำให้กับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย โดยลีโอ เบอร์เนทท์เลือกโฆษณาการท่องเที่ยวผ่าน tattoo หรือสติ๊กเกอร์รอยสักที่ออกแบบตามวิถีไทยร่วมสมัย อาทิ รูปมวยไทย รูปรถตุ๊กตุ๊ก รูปส้มตำ ทำให้บรรดานักท่องเที่ยวต่างกรูกันเข้ามาที่บูธของททท. เพื่อเข้าคิวติดแทททูสุดเท่เหล่านี้ แต่ลีโอเบอร์เนทท์ไม่หยุดอยู่แค่นั้น เพราะความพิเศษที่แท้จริงของเจ้าแทททูที่ว่านี้อยู่ตรงเทคโนโลยี QR Code โดยนักท่องเที่ยวสามารถแสกนรอยสักเพื่อดูข้อมูลและเรื่องราวของรอยสักนั้นๆในรูปแบบวีดิโอ นอกจากจะช่วยลดปัญหาใบปลิวที่มักถูกทิ้งอยู่เกลื่อนกลาดแล้ว แคมเปญนี้ยังส่งผลให้การท่องเที่ยวของไทยปรับตัวดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาถึง 42% เลยทีเดียว!

หลักการของ "Solution Thinking" หรืออริยสัจ 4 นั้น ได้รับการพิสูจน์มากว่า 2,500 ปีแล้วว่าสามารถแก้ปัญหาได้จริง เพราะเมื่อใดที่เรารู้ถึงแก่นของปัญหา เข้าใจมันอย่างถ่องแท้ และคิดหาวิธีแก้อย่างเป็นระบบแล้ว ไม่ว่าจะปัญหาใดๆ เราก็จะแก้ไขและผ่านมันไปได้อย่างมีประสิทธิภาพแน่นอน

*กูรูวงการสตาร์ทอัพไทย กับแนวคิดแบบ Design Thinking

คุณกระทิง เรืองโรจน์ พูนผล เจ้าพ่อสตาร์ทอัพเมืองไทย ศิษย์เก่ารั้วจามจุรีผู้เคยร่ำเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ได้กล่าวบนเวที “Super Talk" ว่า ปัญหาคือสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่เสมอเหมือนกับชีวิตประจำวัน พร้อมนำเสนอหลักวิธีการคิดแบบ “Design Thinking" เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาและหา Solution

“Design Thinking" เป็นวิธีการคิดที่เริ่มต้นจากมนุษย์ ซึ่งผสานรูปแบบทางเทคโนโลยีและแนวคิดทางธุรกิจเข้าไว้ด้วยกัน โดย Solution ที่เกิดขึ้นนั้นต้องเป็นที่ต้องการของผู้คน เป็นไปได้ในทางเทคโนโลยี และปฏิบัติเป็นผลสำเร็จได้จริงในเชิงธุรกิจ หลักการคิดที่ว่านี้ประกอบไปด้วย 5 ขั้นตอนด้วยกัน ได้แก่ Empathize, Define, Ideate, Prototype และ Test โดยเน้นเป็นพิเศษอยู่ที่ขั้น Empathize หรือที่คุณกระทิงได้เรียกเป็นภาษาไทยว่าความ "เห็นอกเห็นใจ" หรือความ "ใส่ใจ"

หากอธิบายเพียงเท่านี้คงไม่เห็นภาพ คุณกระทิงจึงได้ยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงเพื่ออธิบายหลักการนี้ โดยคุณกระทิงได้กล่าวถึงเพื่อนร่วมรุ่นจากสแตนฟอร์ดรายหนึ่งชื่อ “แซม โกลด์แมน" ปัจจุบันเป็นซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทดีไลท์ (d.light) บริษัทนี้ถือกำเนิดขึ้นด้วยวิธีการคิดแบบ Design Thinking อย่างแท้จริง หลังจากคุณแซมได้ตระหนักว่า ในโลกนี้มีประชาชนถึง 1-2 พันล้านคนที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ ซึ่งตัวเขาเองนั้นอยากจะเข้ามาเปลี่ยนชีวิตของผู้คนเหล่านี้ให้ดียิ่งขึ้น

แซมจึงได้เริ่มขั้นตอน Empathize ด้วยการลงทุนเข้าไปใช้ชีวิตแบบไม่มีไฟฟ้าใช้จริงๆที่ทวีปแอฟริกา เพื่ออยู่กับปัญหาและให้เข้าใจปัญหาเหล่านี้อย่างถ่องแท้ ระหว่างที่คุณแซมอยู่ที่แอฟริกานั้น เรียกได้ว่า เขาอยู่ในขั้นตอนของการ Define ปัญหา เมื่อเห็นว่าผู้คนที่นี่ใช้ตะเกียงน้ำมันก๊าดเป็นแหล่งไฟใช้อ่านหนังสือตอนกลางคืน ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดโรคทางสายตา และยังจะทำให้ตาบอดด้วย จากนั้นก็เป็นขั้นตอนของการ Ideate ค้นหาสิ่งที่สามารถช่วยให้ชีวิตของผู้คนที่นี่ดีขึ้น จนกลายเป็น Prototype ผลิตภัณฑ์ต้นแบบ ซึ่งได้แก่ตะเกียงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ที่สามารถนำไปชาร์จไฟได้ในตอนกลางวันและนำมาใช้ส่องสว่างในตอนกลางคืน หน้าตาคล้ายๆไฟสปอร์ตไลท์บนมือถือบ้านเรา แต่น้ำหนักเบากว่า สุดท้ายก็ได้นำไป Test จนกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่วางจำหน่ายอยู่จนถึงทุกวันนี้ นอกจากจะไม่ทำให้เสี่ยงตาบอดแล้ว ราคายังถูกกว่าตะเกียงน้ำมันก๊าดด้วย

สรุปได้ว่า ซีอีโอ d.light ผู้นี้ได้มองปัญหาจากมุมมองของผู้บริโภคอย่างแท้จริง ซึ่งนอกเหนือจากในเรื่องของผลิตภัณฑ์แล้ว ยังมองในเรื่องของการกระจายสินค้า การเงิน และการซ่อมบำรุงด้วย นับได้ว่าเป็นการมองปัญหาในภาพรวมทั้งหมด สำหรับ Solution ที่เกิดขึ้นนี้ สามารถช่วยชีวิตผู้คนได้กว่าหลายล้านชีวิต และยังเปลี่ยนชีวิตให้อีกหลายสิบล้านครัวเรือน ในส่วนของตัวซีอีโอเองก็ได้รับการยกย่องจนติดอันดับ Forbes Impact 30 สามารถระดมทุนจากบริษัทรายใหญ่ได้เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ แซมยังทำธุรกิจโดยมีการกำหนด KPI วัดผลงานอยู่ที่จำนวนชีวิตที่บริษัทได้มีส่วนเปลี่ยนแปลง เมื่อเทียบกับบริษัททั่วไปที่วัดผลจากยอดขาย

ทั้งนี้ ลีโอ เบอร์เนทท์ กรุ๊ป ประเทศไทย (Leo Burnett Thailand) ได้จัดเฟสติวัลใหญ่ Idea Feast ฉลองครบรอบ 50 ปี เมื่อวันศุกร์ที่ 10 มิ.ย. ที่ผ่านมา ณ โรงละครเคแบงก์สยามพิฆเนศ ชั้น 7 ศูนย์การค้าสยามสแควร์วัน เพื่อเสิร์ฟมุมมองแห่งโลกไอเดีย เปิดสมอง เปลี่ยนมุมมอง ลองหาแรงบันดาลใจที่เวที "Thep Talk" กับแขกรับเชิญคนสำคัญ ซึ่งล้วนเป็นศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันของลีโอ เบอร์เนทท์ ในหัวข้อ "ปัญหาจะพาคุณไปพบ Solution อะไร" และสุดยอด “Super Talk" ค้นหา solution เพื่อขับเคลื่อนโลกใบนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ