Media Talk: ส่องแนวโน้มสื่อปี 2561 ผ่านมุมมอง บรรณาธิการ Positioning

ข่าวทั่วไป Monday March 12, 2018 11:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ปี 2560 และ 2561 เป็นอีกปีที่การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างหนักหน่วงในวงการสื่อ ไม่ว่าจะเป็นการปิดตัวกันเป็นจำนวนมากของนิตยสารหัวต่างๆ หรือการหันมาทำออนไลน์ของช่องรายการโทรทัศน์หลายๆช่อง ในขณะเดียวกันเทคโนโลยี ซึ่งไม่อาจเถียงได้ว่าเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวก็พัฒนาต่อไปอย่างหยุดหย่อน แล้วสถานการณ์จะเป็นอย่างไรต่อไป หรือจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้นอีกบ้าง วันนี้ Media Talk จะพาไปพูดคุยกับ คุณนก-ไพเราะ เลิศวิราม บรรณาธิการนิตยสาร Positioning ถึงแนวโน้มสถานการณ์สื่อในปีนี้ และคนทำสื่อจะต้องปรับตัวกันอย่างไรกันบ้าง

*แนวโน้มของสื่อต่อจากนี้จะไปในทิศทางใด

ถ้ามองจากภาพรวมปีที่แล้วก็อย่างที่เราเห็นๆกันนะ คือเทคโนโลยีหรือสื่อออนไลน์มีความหวือหวาขึ้นมาชัดเจน พฤติกรรมคนอ่านก็เลยเปลี่ยนไปจากเดิม ทีนี้พอคนหันไปอ่าน ไปเสพสื่อออนไลน์กันหมด ก็กระทบสื่อกระแสหลัก อย่างสิ่งพิมพ์เนี่ยก็ปิดตัวกันไปเยอะมาก แต่ถ้าถามว่าสิ่งพิมพ์ยังอยู่ได้ไหม พี่คิดว่าก็ยังมีเล็กๆที่อยู่ได้นะ เพราะคนอ่านนิตยสารก็ไม่ได้หายไปทั้งหมดทีเดียว ยังพอมีอยู่บ้างพอประมาณ เพียงแต่ว่ากลุ่มคนอ่านอาจจะน้อยลงกว่าเดิมเยอะ อย่างนิตยสารที่เป็นเรื่องเฉพาะด้าน เช่นเรื่องรถยนต์ หรือนาฬิกา ก็ยังพอมีคนอ่านอยู่ เพียงแต่คนทำนิตยสารต้องหาอะไรที่เป็นจุดเด่นถึงจะอยู่ได้ เพราะเดี๋ยวนี้คนเค้าไปอ่านทางออนไลน์ได้แล้ว ถ้าเราสร้างความแตกต่างไม่ได้ คนอ่านก็ไม่จำเป็นต้องมาอ่านจากเรา

*ทีวี - วิทยุ เจอศึกหนัก

ในส่วนของทีวีที่สังเกตได้ก็คือเรทติ้งของช่องที่เน้นเฉพาะรายการข่าวจะตกลงไปอยู่อันดับท้ายๆ คือจะไปสู้รายการข่าวในช่องวาไรตี้ไม่ได้ ยิ่งเดี๋ยวนี้มีทีวีดิจิทัล คู่แข่งก็ยิ่งเยอะขึ้น เรื่องเทคโนโลยีก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง เพราะตอนนี้คนมักจะหันไปอ่านข่าวจากทางออนไลน์ซึ่งเร็วกว่า ขณะที่ทีวีก็ไปหยิบคอนเทนต์จากสื่อออนไลน์มานำเสนออีกที คือทีวีเองก็จำเป็นต้องเกาะกระแส เลยต้องไปดึงเรื่องที่คนสนใจเยอะๆในออนไลน์มานำเสนอ แต่พอเป็นเรื่องที่เขาเคยอ่านกันมาแล้ว กลายเป็นว่าไม่มีอะไรที่แปลกใหม่ เมื่อทีวีไม่สามารถนำเสนอเรื่องใหม่ๆได้ คนดูก็ลดลงไปด้วย ข่าวเดี๋ยวนี้เป็นกระแสที่มาไวไปไว คนก็กลัวที่จะตกข่าวกัน เลยอยากรู้อะไรที่มันเร็วๆ บางช่องถึงต้องหันมาทำออนไลน์ด้วย เพราะตอบโจทย์พฤติกรรมผู้อ่านตรงนี้ได้

วิทยุก็เหมือนจะเน้นกลุ่มคนฟังที่มีอายุมากหน่อย จะเห็นว่าบางช่องหันไปเน้นเปิดเพลงยุคเก่าๆ หรืออาจจะมีรายการสุขภาพแทรกเข้ามา ส่วนกลุ่มคนฟังที่เป็นวัยรุ่น พี่คิดว่าเขาน่าจะไปฟังจากอะไรที่เลือกเองได้ คือไปฟังผ่านแอปพลิเคชั่นอะไรแบบนี้มากกว่า แล้วกลุ่มคนฟังวิทยุส่วนใหญ่ก็คือคนที่ขับรถ เพราะคนจะฟังวิทยุกันมากที่สุดตอนกำลังขับรถ ส่วนรายการข่าวในวิทยุก็ยังพอมีอยู่ คือจะเป็นการทวนข่าวคล้ายๆแบบเดิม ช่องทีวีหลายๆช่องที่มีรายการวิทยุเป็นของตัวเอง อย่างสปริงนิวส์, เนชั่น, ช่อง 9 ก็จะเอาข่าวจากทีวีมารายงานบนวิทยุอีกที

*สถานการณ์จะเป็นแบบนี้ต่อไป

ใช่ พี่มองว่าจะเป็นแบบนี้แหละ แล้วก็จะยิ่งหนักขึ้น คือพอออนไลน์เข้ามาเนี่ย นอกจากสิ่งพิมพ์ที่เปลี่ยนมาทำออนไลน์กันแล้ว นักข่าวเองก็มีออกไปทำของตัวเองด้วยเหมือนกัน เพราะการเปิดเพจ เปิดเว็บไซต์เดี๋ยวนี้ไม่ได้ยุ่งยากเหมือนเมื่อก่อนที่กว่าจะเปิดหัวหนังสือเล่มนึงต้องมีขั้นตอนเยอะมาก แต่เดี๋ยวนี้ใครๆก็เป็นนักข่าวได้ ใครจะเปิดเพจ เปิดเว็บไซต์ แป๊ปเดียวก็ทำได้แล้ว แต่ว่าจะอยู่ได้ไหมตรงนี้เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

การแข่งขันสูงมากเลยนะตอนนี้ จะพูดว่าเป็นเร้ด โอเชียน (Red ocean) เลยก็ได้ คือทุกคนพยายามที่จะนำเสนอข่าวอะไรที่แบบต้องแข่งขันกันดุเดือดมาก คู่แข่งก็เยอะ อีกอย่างใครก็เข้ามาได้ อย่างที่เราเห็นบางเพจเนี่ยไม่ได้เป็นนักข่าวเลย แต่ก็สามารถที่จะหาจุดบางจุดที่ตอบโจทย์คนอ่านได้ก็มี

ทุกวันนี้ใครๆก็เป็นนักข่าวได้ ใครจะเข้ามาเขียนข่าวก็ได้ ไม่ใช่แค่จะต้องเป็นคนที่มีอาชีพนักข่าวอย่างเดียวแล้ว ยิ่งบางคนที่เขามีความรู้เฉพาะด้านอยู่แล้ว ทีนี้พอมาทำคอนเทนต์มันก็โอเคเลย ดังนั้นก็ยิ่งเป็นเรื่องยาก คือโซเซียลมีเดียมันเปิดโลกไปเยอะ ถ้านักข่าวไม่ยอมปรับตัวก็ลำบาก

*ปรับตัวที่ว่านี้ คืออย่างไรบ้าง?

ถ้าในแง่ของนักข่าว ก็ต้องปรับตัวกันหนักเพื่อหาจุดแข็งมาสู้ให้ได้ จะไปเขียนข่าวแบบเดิมๆ เสนอข่าวรายวันเหมือนเมื่อก่อน คนก็ไม่อยากอ่านแล้ว คนอ่านตอนนี้ต้องการความลึกและเร็ว โจทย์ใหญ่ของคนทำข่าวก็คือจะทำยังไงให้ตอบโจทย์คนอ่าน ซึ่งวัดได้จากยอดคนแชร์คนกดไลค์ เราจะไปนำเสนอในรูปแบบเดิม รายงานข่าวธรรมดาว่าเกิดอะไรขึ้น ที่ไหน อย่างไร แค่นี้คนอ่านไม่อยากรู้อีกแล้ว ที่เขาต้องการคืออะไรที่แบบวิเคราะห์ให้ บอกให้รู้ว่ามันคืออะไร หรือให้มุมมองอะไรใหม่ๆกับเขา

คนที่อยู่ในวงการสิ่งพิมพ์แบบเดิมๆ ที่ยังคงมีกรอบความคิดเดิมๆอยู่ก็ต้องปรับองคาพยพกัน แต่การปรับตัวมาเป็นออนไลน์นี่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ คือจะไปสู้กับเพจใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นมากมายตอนนี้และสามารถตอบโจทย์คนอ่านได้ด้วยเนี่ยยาก อย่าลืมว่าคนของเขามีไม่เยอะ เขาเลยอยู่รอดกันได้ แต่สิ่งพิมพ์นี่ถึงจะปรับมาเป็นออนไลน์แล้ว ก็ยังจำเป็นต้องมีทีมงานเยอะอยู่ เพราะส่วนใหญ่แล้วยังไม่ได้ทิ้งฉบับกันไปเลยซะทีเดียว

*หมายความว่าพอมาเป็นออนไลน์แล้ว วิธีการทำงานก็เปลี่ยนไป?

วิธีการหรือรูปแบบการนำเสนอมันเปลี่ยนไปแล้ว จะไปใช้ภาษาเหมือนตอนทำสิ่งพิมพ์เดิมๆ ก็ไม่ได้แล้ว เลยต้องปรับรูปแบบให้เข้ากับโจทย์ใหม่ คนอ่านออนไลน์จะเป็นแบบอีกสไตล์นึง ดูเป็นกันเองมากขึ้น แต่ก็ไม่ใช่ถึงกับเป็นคำแบบที่เห็นๆกันในโลกออนไลน์นะ คือต้องปลี่ยนวิธีนำเสนอ ให้คนเข้าใจได้ง่ายๆ จะไปใช้ภาษาแข็งๆแบบเดิมไม่ได้ เพราะข้อมูลมีอยู่เต็มไปหมด แล้วคนก็ไม่ได้มีเวลามาอ่านมากมาย เขาเลยต้องการอะไรที่สั้นๆ กระชับ อ่านง่าย หรือสรุปให้รู้เรื่องได้ในเวลาสั้นๆ ในขณะเดียวกันก็ต้องรักษาความน่าเชื่อถือเอาไว้ด้วย

เดี๋ยวนี้เว็บไซต์ต่างๆเน้นการนำเสนอข่าวที่หลากหลาย ต่างคนต่างเลยกลัวว่าตัวเองจะตกข่าว ตกกระแส กลัวจะไม่มีตัวตนในเสิร์ชเอนจิ้น เลยมีการลอกข่าวกันเกิดขึ้น ข่าวไหนที่อยู่ในกระแสก็จะถูกลอกกันไปมา โดยเฉพาะเมื่อเกิดเหตุการณ์ใหญ่ๆ ทุกคนก็ต้องรายงาน ต้องเกาะกระแสไว้ ไม่งั้นคนจะหนีไปอ่านที่อื่นหมด คือทุกคนก็มีฐานแฟนของตัวเองใช่ไหม ฉะนั้นเลยต้องหาข้อมูลมาซัพพอร์ตฐานแฟนตัวเอง โดยอาจจะไปดึงข่าวจากที่อื่นมา หรืออะไรแบบนี้ หรือบางทีอาจจะแค่จั่วหัวข่าวไปก่อน เสร็จแล้วค่อยหาข้อมูลมาใส่ตามไปทีหลัง ทีนี้ก็จะทำให้เกิดปัญหาเรื่องความน่าเชื่อถือ การทำข่าวเลยต้องระวังตรงนี้กันมากขึ้น

แต่มาทำออนไลน์นี่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆนะ การแข่งขันสูงมาก ก็ต้องปรับตัวกันหนักเลย อย่างบางคนก็ไม่ได้หารายได้จากออนไลน์อย่างเดียว ก็มีไปทำอีเวนท์ จัดงานสัมมนา หรือแมกกาซีนก็ยังมีเล่มอยู่แล้วออนไลน์คู่กันไป เพื่อมาชัพพอร์ตรายได้และขยายกลุ่มคนอ่านออกไป อันนี้ก็แล้วแต่สูตรการหารายได้ของแต่ละคน

*นอกจากเรื่องของเทคโนโลยีและการพฤติกรรมคนอ่านที่เปลี่ยนไป ยังมีความท้าทายอื่นๆ อีกไหม?

จะทำยังไงให้โดนใจคนอ่านที่สุดนี่แหละ พี่ว่าเป็นความท้าทายที่สุด อย่าง Positioning เนี่ย เมื่อสามปีที่แล้วเรานำเสนอในอีกมุมนึง คือไม่ต้องทำอะไรที่หนักขนาดนี้ สมมุติอาจจะมีแค่มีเรื่องของอินโฟกราฟิก ส่วนแบ่งตลาด หรือตัวเลขมูลค่าตลาด ก็โดนใจคนอ่านแล้ว แต่พอผ่านมา 2-3 ปี คนอ่านเขาก็มีทางเลือกมากขึ้น เรื่องที่เรานำเสนอไปก็กลับไม่น่าสนใจสำหรับเขาอีกแล้ว เลยมีโจทย์ใหม่ขึ้นมาตลอดเวลา เพราะคนอ่านเขารู้สึกว่า เขาไปอ่านจากแหล่งอื่นได้ ไม่จำเป็นจะต้องมาอ่านจากเรา ฉะนั้นเราเลยต้องหาอะไรที่เป็นจุดเด่นที่เขาไปหาจากที่อื่นไม่ได้ แล้วก็เรื่องของความไวกับความลึก อันนี้พี่ว่ายังเป็นโจทย์สำคัญของคนทำคอนเทนต์อยู่นะ อีกอย่างก็คือต้องนำเสนอในสิ่งที่ตอบโจทย์คนอ่านมากที่สุดตามที่เขาต้องการ

เม็ดเงินโฆษณาก็ยังเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับคนทำสื่อ เพราะทุกคนต้องอาศัยรายได้จากโฆษณาใช่ไหม แต่ความสำคัญอยู่ตรงที่จะบาลานซ์กันยังไง คือในมุมของสื่อออนไลน์เนี่ย โอเคแบนเนอร์มันก็ส่วนนึง แต่ก็จะมีที่เรียกกันว่าการทำ Branded Content หรือทำโฆษณาในรูปแบบของการทำคอนเทนต์ ไม่ใช่เป็นแบนเนอร์อย่างที่เราเห็นๆกันเมื่อก่อนแล้ว โดยโฆษณาพวกนี้จะถูกฝังเข้าไปอยู่ในเนื้อหาคอนเทนต์ หรือเบลนด์เข้าไปกับเนื้อข่าวแทน ซึ่งการทำแบบนี้จะช่วยให้คนอ่านรู้สึกว่าได้ประโยชน์จากคอนเทนต์นั้นๆ

*กระแส Branded Content กำลังมาแรง?

ใช่ เพราะคอนเทนต์เดี๋ยวนี้กลายเป็นเรื่องของการโฆษณา ทีนี้ก็เลยเป็นโจทย์ของคนทำสื่ออีกว่าจะทำยังไงให้คอนเทนต์ที่สร้างขึ้นมามีประโยชน์ทั้งกับคนอ่าน และในขณะเดียวกันก็สามารถขายของได้ด้วย คือแบรนด์เองในตอนนี้เนี่ย เขาก็เรียนรู้กันมาว่า จะไปโฆษณาตรงๆ เหมือนเมื่อก่อนก็ไม่มีคนอ่าน แต่ถ้าให้ข้อมูล ให้ความรู้ ให้มุมมองบางอย่าง คนอ่านเขาก็จะตอบรับ เขาก็โอเคและพร้อมที่จะอ่าน คือได้ประโยชน์กันทั้ง 2 ฝ่าย ฝั่งของแบรนด์ก็ได้สร้างการรับรู้ ส่วนในมุมคนอ่านก็จะรู้สึกดีกับแบรนด์ เพราะคุณให้คอนเทนต์ที่เป็นประโยชน์กับเขา แทนที่จะไปยัดเยียดในเรื่องของโฆษณาอย่างเดียว

คอนเทนต์ประเภทนี้จะบอกเลยนะว่า นี่เป็นการโฆษณา เพราะเราก็ต้องบอกความจริงกับคนอ่าน ไม่ใช่ไปหลอกเขา อย่างตอนนี้ก็อาจจะมีแปะว่า Branded Content หรือ สปอนเซอร์ อะไรแบบนี้ คือต่อให้คอนเทนต์โฆษณาแต่ถ้าดีจริง คนอ่านเขาก็ไม่ปฏิเสธ ถ้าลองสังเกตกันดู ก็จะเห็นเลยว่าบางคอนเทนต์เราอ่านมาจนจบแล้วถึงจะรู้ว่า อ๋อ นี่เป็นโฆษณานะ อาจมีการขายของอยู่ตอนท้าย อะไรทำนองนี้ แล้วแต่เทคนิคของแต่ละคน แต่ที่สำคัญคือต้องไม่ดูถูกคนอ่าน เพราะคนอ่านสมัยนี้มีข้อมูลตลอดเวลา แล้วก็รู้เยอะขึ้น ฉะนั้นคนทำงานอย่างเราก็ต้องทำการบ้านกันมากขึ้น ทั้งในเรื่องข้อมูลที่จะมานำเสนอและการเรียบเรียง

*นอกจากสื่อแล้ว แวดวงการตลาด การโฆษณา ก็กระทบด้วยเหมือนกัน?

คนทำโฆษณาเดี๋ยวนี้ก็ต้องปรับตัวกันหนัก คือจะไปมองแบบเดิมไม่ได้ ต้องรู้ว่าคนอ่านออนไลน์เขาต้องการอะไร แล้วก็รีบปรับตัวให้ทันกับสิ่งที่คนอ่านต้องการ แต่จะให้บอกว่าแบบไหนถูก แบบไหนผิดก็คงไม่ได้ ต้องลองกันไป อันไหนทำแล้วโอเคเราก็ต้องทำ คือต้องครีเอทเรื่องใหม่ๆ หาแง่มุมใหม่ๆ ตลอดเวลา ต้องทำการบ้านดีกันให้ดีๆ แต่ก็มีนะที่บางทีเรารู้สึกว่าเรื่องนี้จะต้องเปรี้ยงมากแน่ๆ พอเอาเข้าจริงกลับไม่อยู่ในกระแส หรือสมมุติเราไปนำเสนอเรื่องที่ไม่อยู่ในความสนใจของคน ซึ่งตรงนี้ท้าทายมากที่จะไม่ได้รับความสนใจ และนี่ก็คือเหตุผลว่าทำไมเราถึงต้องเล่นกับกระแส เล่นกับอะไรที่เป็นทอล์คออฟเดอะทาวน์

นอกจากคอนเทนต์แล้ว คลิปก็เป็นอีกเทรนด์ที่กำลังมาแรง การทำคลิปก็มีโจทย์เหมือนกับการทำคอนเทนต์ ว่าจะทำยังไงให้คนสนใจ คือนอกจากจะอ่านคอนเทนต์แล้วเนี่ย คลิปจะมีคนดูรึป่าว ไม่ใช่ว่าทำไปแล้วประเด็นไม่เดิน คนไม่ดู แบบนั้นก็ไม่ได้นะ เพียงแต่คลิปจะมีศาสตร์อีกแบบหนึ่งในการนำเสนอ อย่างที่เราเห็นๆกันก็เพจอีจัน ที่เกิดขึ้นมาและโด่งดังในเรื่องการทำคลิป คือเขามีความเชี่ยวชาญเรื่องอาชญากรรมและมีแหล่งข่าวของตัวเอง แล้วเขาก็เข้าไปเจาะลึกในมุมนั้นๆ เราจะเห็นอะไรที่แบบเป็นเรื่องเฉพาะทางมากขึ้น หรือมีความเชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ เพื่อให้คนดูเข้ามาแล้วได้อะไรที่เขาอยากได้กลับไป

*คลิปวีดีโอจะยังมาแรงอยู่ในปีนี้?

ยังมานะ เพราะคลิปวีดีโอก็ถือเป็นส่วนผสมหนึ่งของคอนเทนต์ ซึ่งพี่มองว่าจำเป็น และก็เป็นทิศทางที่จำเป็นต้องทำเลยแหละ แต่คลิปก็ต้องเป็นคลิปที่โดนใจคนดู นำเสนอ ตัดต่อแล้วโอเค อะไรแบบนี้ เหมือนเวลาทำคอนเทนต์ที่เป็นตัวหนังสือก็อาจจะต้องมีอินโฟกราฟิคมาประกอบ เพื่อให้คนอ่านง่าย เข้าใจง่ายๆโดยเร็ว ถึงจะตอบโจทย์ ขณะเดียวกันคลิปก็เข้ามาตอบอีกโจทย์หนึ่ง เพราะว่าคนอ่านบางคนอาจจะชอบดูคลิปมากกว่า เราก็ต้องหาคอนเทนต์มาตอบสนองความต้องการของเขา บางทีคลิปถึงต้องสั้นๆ ให้คนดูเข้าใจได้ภายในเวลาที่รวดเร็ว อย่างของ Positioning เนี่ยเราก็มีทำกันออกมาบ้างแล้ว

*พอกระแสมาแบบนี้ นักข่าวจะยังให้ความสนใจกับข่าวประชาสัมพันธ์ยังกันอยู่หรือไม่?

สำหรับพี่ ข่าวพีอาร์ยังจำเป็นและเป็นเหมือนดาต้าเบสที่นักข่าวยังต้องใช้อยู่ อย่างเรื่องส่วนแบ่งตลาด มูลค่าตลาด บางทีเราจะไปวิเคราะห์โดยไม่มีข้อมูลพื้นฐานไม่ได้ และข่าวพีอาร์ก็คือข้อมูลที่ผ่านการกรองจากเอเจนซี่ จากบริษัทมาแล้ว คือเป็นเรื่องที่บริษัทต้องการบอกว่า เขาทำอะไร อย่างไร ที่ไหน ซึ่งนี่เป็นข้อมูลพื้นฐานที่เราต้องเอามาใช้ พี่มองว่าข่าวพีอาร์เนี่ยจำเป็นและขาดไม่ได้เลย สมมุติเราวางจุดยืนว่าเราจะเป็นข่าววิเคราะห์ใช่ไหม เราก็จำเป็นต้องนำข้อมูลเหล่านั้นมาเป็นองค์ประกอบในมุมของการวิเคราะห์ คือบางทีเราก็ต้องรู้ว่า บริษัทนี้ทำอะไรมาก่อน แล้วทำไมถึงมาทำแบบนี้ ซึ่งตรงนี้ข่าวพีอาร์จะช่วยได้อยู่เสมอ หรืออย่างเวลาไปงานแถลงข่าว เราก็จะเอาข่าวพวกนี้มาเป็นข้อมูลหลักในมือ ก่อนไปถามเพิ่มจากแหล่งข่าว หรือบางทีเวลาฟังการแถลงก็อาจมีการคลาดเคลื่อนกันบ้าง เราก็จะนำข้อมูลเหล่านั้นมาเช็คกันอีกที คือข่าวพีอาร์นี่ไม่ใช่ว่าจะไม่ดีเลยนะ พี่คิดว่าเป็นดาต้าเบสที่จำเป็นเลย

เทคโนโลยีได้เข้ามามีอิทธิพลในหลากหลายวงการ ไม่เว้นแม้แต่วงการสื่อมวลชน ที่กำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอย่างหนัก หลังจากได้ฟังมุมมองของพี่นก แห่ง Positioning แล้ว คงจะได้เห็นภาพการเปลี่ยนแปลงและการแข่งขันในแวดวงการโฆษณาและสื่อสารมวลชนที่ดุเดือดขึ้นเรื่อยๆ สำหรับผู้อ่านที่สนใจมองภาพให้ชัดเจนมากขึ้น อินโฟเควสท์ได้รวบรวมข้อมูลภาพรวมของสื่อในประเทศไทยตลอดทั้งปี 2560 และแนวโน้มปี 2561 เพื่อนำเสนอใน "Thailand Media Landscape 2018" ทั้งเวอร์ชั่นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ และเปิดให้ดาวน์โหลดกันแล้วที่เว็บไซต์ ThaiPR.net และบล็อก iQMediaLink


แท็ก positioning  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ