Media Talk: 5 กูรูจากโซเชียลแพลตฟอร์มดังยกขบวนถกเทรนด์ยุคดิจิทัลในงาน "Thailand Zocial Awards 2019"

ข่าวทั่วไป Friday March 1, 2019 13:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเวทีใหญ่ให้เหล่าโซเชียลแพลตฟอร์มชั้นนำระดับโลกได้มาบอกเล่าเรื่องราวความเป็นไปบนโลกโซเชียลตลอดปี 2018 และแนวโน้มของเทรนด์ใหม่ ๆ ที่น่าจับตาในปีนี้ ณ งาน Thailand Zocial Awards 2019 สำหรับเวที Social platform PLAY on-stage ไวซ์ไซท์ได้เชิญเหล่ากูรูจาก 5 แพลตฟอร์มระดับโลกและระดับประเทศ มาร่วมเปิดเผยทุกแง่มุมบนโลกโซเชียลให้ทุกคนได้ทราบกันอย่างหมดเปลือก ประกอบด้วย คุณไมเคิล จิตติวาณิชย์ จาก กูเกิล ประเทศไทย, คุณสิรินิธิ์ วิรยศิริ จากเฟซบุ๊กและอินสตาแกรม ประเทศไทย, คุณกฤษณะ งามสม จาก ไลน์ ประเทศไทย, คุณอภิศิลป์ ตรุงกานนท์ จากเว็บไซต์พันทิปดอทคอม และคุณเอมี่ สิทธิเสนี จาก ทวิตเตอร์ ประเทศไทย

  • เกิดอะไรขึ้นบ้างในปี 2018

กูเกิล ประเทศไทย: คุณไมเคิล จิตติวาณิชย์ กล่าวว่า สำหรับกูเกิลแล้ว กลยุทธ์ "reach audience at the right place and the right time" คือหัวใจสำคัญของการทำธุรกิจในปีที่ผ่านมา โดยมีผลิตภัณฑ์หลัก 7 ตัวที่ทำให้กูเกิลเข้าถึงกลุ่มผู้รับสารได้อย่างครอบคลุม อันได้แก่ กูเกิล เสิร์ช, ยูทูป, โครม, จีเมล, กูเกิล เพลย์ สโตร์, แอนดรอยด์ และ กูเกิล แมพ เนื่องจากผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนี้สามารถเข้าถึงผู้คนได้กว่า 1 พันล้านคนทั่วโลก

คุณไมเคิลกล่าว ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เป็นตัวส่งสัญญาณให้กูเกิลเข้าใจถึงพฤติกรรมของลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยกตัวอย่างเช่น เครื่องมือกูเกิล เสิร์ช เป็นสิ่งที่สามารถบอกได้เลยว่า ผู้ที่มาเสิร์ชข้อมูลสนใจอะไร ณ เวลานั้น หรือจะเป็นกูเกิล แมพ ที่จะเห็นได้เลยว่า ผู้คนชอบเดินทางไปที่ไหน โดยผลิตภัณฑ์ทั้ง 7 จะส่งสัญญาณออกมาในรูปแบบที่แตกต่างกัน แต่ด้วยความที่ข้อมูลมีจำนวนมหาศาล กูเกิลจึงใช้ Machine Learning และ AI มาเป็นตัวประมวลผล เพื่อให้สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้อย่างถูกที่ ถูกคน และถูกเวลานั่นเอง

ยกตัวอย่างเช่น หากคุณเป็นผู้ขายรถยนต์ AI จะคำนวณให้ว่า ใครเป็น Potential Costumer ตัวจริง เช่น ผู้ที่ซื้อรถอาจไม่ใช่คนที่รักรถ แต่อาจเป็นกลุ่มเด็กจบใหม่ที่ต้องการใช้รถไปทำงาน เป็นต้น ทั้งนี้ ระบบหลังบ้านของกูเกิลสามารถรวบรวมข้อมูลได้ว่า คนไหนอยู่ในช่วงที่สนใจจะซื้อรถยนต์มากที่สุด โดยไม่จำเป็นต้องคิดหรือจ้างนักวิเคราะห์มาทำงานในส่วนนี้ ซึ่งคุณไมเคิลกล่าวว่า สิ่งที่กูเกิลทำไม่ใช่การ reach audience แต่เป็นการ reach shopper ตัวจริง

นอกจากนี้ ตัว Machine Learning ยังสามารถวิเคราะห์เรื่อง Life Event หรือบทบาทในชีวิตที่เปลี่ยนไปในแต่ละช่วงวัยของผู้ใช้งานได้อีกด้วย ซึ่งด้วยบทบาทที่เปลี่ยนไปนั้น ความต้องการของแต่ละบุคคลก็จะเปลี่ยนไปตาม เช่น เด็กจบใหม่ที่ผันตัวมาเป็นเถ้าแก่สร้างกิจการของตัวเอง ก็อาจมีความต้องการกู้เงิน ซึ่งกูเกิลสามารถ Reach คนกลุ่มนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เฟซบุ๊กและอินสตาแกรม: คุณสิรินิธิ์ วิรยศิริ จากเฟซบุ๊ก ประเทศไทย กล่าวว่า เฟซบุ๊กยังคงเป็นแพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยมสูงสุดของคนไทย โดยภาพรวมของจำนวนผู้ใช้งานเฟซบุ๊กรายเดือน (Monthly Active Users) อยู่ที่ 53 ล้านคน ซึ่ง 98% เป็นการเข้าใช้งานจากโทรศัพท์ทั้งหมด ส่วนการใช้งาน Stories ซึ่งเป็นฟีเจอร์ใหม่ในอินสตาแกรมนั้น มียอดผู้ใช้งานเติบโตอย่างก้าวกระโดดที่ 400 ล้านคนในแต่ละวัน ซึ่งเป็นยอดที่สูงมาก เพราะฟีเจอร์ดังกล่าวเพิ่งเปิดตัวไปเพียงไม่นาน

ส่วนฟีเจอร์หลักในปี 2018 ของเฟซบุ๊กและแอปพลิเคชันในเครือนั้น อันดับแรกคือ Facebook Watch ซึ่งเป็นฟีเจอร์ที่เปิดให้ผู้คนสามารถค้นหาคอนเทนต์ต่าง ๆ และสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ผลิตคอนเทนต์ได้ ถือเป็นประสบการณ์ใหม่ในการรับชมวิดีโอ นอกจากนี้ ด้วยผลการศึกษาที่ระบุว่า 50% ของการซื้อขายออนไลน์อยู่บนโลกโซเชียล เฟซบุ๊กจึงสร้างสรรค์ฟีเจอร์ที่สนับสนุน Social Commerce ซึ่งก็คือ Facebook Marketplace โดยในขณะนี้ เฟซบุ๊กได้ร่วมมือกับ 3 บริษัทอสังหาริมทรัพย์เพื่อให้สามารถทำการเช่า ซื้อ หรือขายอสังหาฯบนแพลตฟอร์มของเฟซบุ๊กได้ ขณะเดียวกัน เฟซบุ๊กยังได้ร่วมมือกับธนาคารเจ้าใหญ่ของประเทศอย่างกสิกรและกรุงไทย ในการเปิดให้ผู้ใช้งานสามารถชำระเงินผ่านเฟซบุ๊กได้ โดยไม่ต้องเปลี่ยนไปใช้แอปพลิเคชันอื่นให้เสียเวลา

สำหรับคำถามที่ว่า การลงโฆษณาในเฟซบุ๊กตอบโจทย์ด้านการตลาดหรือไม่นั้น คุณสิรินิธิ์กล่าวว่า การลงโฆษณาในเฟซบุ๊กสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้ถึง 85% อีกทั้งยังสร้าง Positive Impact ต่อลูกค้าได้มากขึ้นถึง 3-10% และเพิ่มยอดขายได้ถึง 21%

ไลน์ ประเทศไทย: เทรนด์ที่เกิดขึ้นชัดเจนในปีที่ผ่านมาคือ ไลน์ได้วางจุดยืนของตัวเองให้เป็น "มากกว่าแอปพลิเคชันแชท" โดยไลน์มองว่าตัวเองเป็นโซลูชันที่เปิดโอกาสให้แบรนด์และนักการตลาดสามารถเข้าถึงลูกค้าทุกกลุ่มได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในปีที่ผ่านมา ไลน์ได้ทำธุรกิจที่เรียกว่า Business Connect โดยผูกแบรนด์ต่าง ๆ เข้ากับ Line Official Account โดยไลน์ได้เปิด API เชื่อมต่อหลังบ้านของแบรนด์เข้าหา End User โดยตรง และเสนอบริการต่าง ๆ ให้ลูกค้า เช่น บริการในกลุ่มธนาคารอาจมีการแจ้งเตือนการทำธุรกรรมต่าง ๆ ทางไลน์โดยไม่ต้องเปิดหลายแอปพลิเคชันให้ยุ่งยาก

นอกจากนี้ ไลน์ยังได้สร้างแพลตฟอร์มแฝงไว้ใน Line Official Account เพื่อเก็บข้อมูลของลูกค้าของแบรนด์ โดยข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลแบบ First Party Data ซึ่งเป็นข้อมูลของลูกค้าจริง ส่งผลให้แบรนด์และไลน์สามารถนำข้อมูลส่วนนี้ไปต่อยอดธุรกิจได้

พันทิป: คุณอภิศิลป์ ตรุงกานนท์ จากเว็บไซต์พันทิปดอทคอม เปิดเผยว่า ฟีเจอร์ที่พันทิปเปิดตัวใหม่ในปีที่ผ่านมาคือ Pantip Now ซึ่งผลิตขึ้นเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มผู้อ่านที่ไม่สังกัดห้อง โดยพันทิปจะใช้อัลกอริธึมในการดึงกระทู้ยอดนิยมขึ้นมาบนฟีด เพื่อให้ผู้อ่านสามารถเสพคอนเทนต์ได้หลากหลาย ซึ่งคุณอภิศิลป์กล่าวว่า ฟีเจอร์ดังกล่าวทำให้ยอด Traffic ของพันทิปเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว เพราะกระทู้ที่ถูกดึงขึ้นมามักเป็นเรื่องที่สังคมกำลังสนใจ ณ เช่น ข่าวการเลิกรากันของดารา เป็นต้น นอกจากนี้ พันทิปยังเปิดฟีเจอร์ที่ให้ผู้อ่านสามารถติดตามแท็กต่าง ๆ ได้อีกด้วย

ขณะเดียวกัน พันทิปยังมีการจัดตั้ง Expert Account หรือ Expert Brand ซึ่งเป็นแอคเคาท์ของผู้เชี่ยวชาญหรือแบรนด์ที่พร้อมเข้ามาให้ความรู้และสาระประโยชน์แก่ผู้อ่าน อาทิ แอคเคาท์หมอมินเพจเข็นเด็กขึ้นภูเขา ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในกลุ่มจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น เพื่อสร้างคอมเมนต์ที่มีความน่าเชื่อถือและให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ผู้อ่าน

ในส่วนของการมีปฏิสัมพันธ์กับแบรนด์ต่าง ๆ นั้น พันทิปก็มีบริการ Pantip Influencer ซึ่งเป็นบริการที่จะช่วยหาสมาชิกหรือบล็อกเกอร์เพื่อรับงานรีวิวให้กับแบรนด์ โดยนำเสนอคอนเทนต์ต่าง ๆ ในรูปแบบของกระทู้ตามสังกัดห้อง ซึ่งจะระบุชัดเจนว่ากระทู้นี้เป็นกระทู้ที่ได้รับการสนับสนุนและมีตำแหน่งบูสต์พิเศษ นอกจากนี้ พันทิปยังมีการทำ Quiz Game ร่วมกับแบรนด์ต่าง ๆ โดยจะเปิดให้ผู้อ่านเข้าไปหาคำตอบในเว็บไซต์หรือของแบรนด์ และมาตอบคำถามในพันทิปเพื่อชิงรางวัลสนุก ๆ กัน

ทวิตเตอร์ ประเทศไทย: คุณเอมี่ สิทธิเสนี จาก ทวิตเตอร์ ประเทศไทย เปิดเผยว่า เทรนด์ที่น่าสนใจในปีที่ผ่านมาของทวิตเตอร์คือ อายุของผู้ใช้งานที่เปลี่ยนแปลงไป โดยกลุ่มคนวัย 25-34 ปีที่เคยมีอยู่เป็นส่วนน้อยนั้น กลับพลิกมามีจำนวนมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากกลุ่มคนวัยทำงานเริ่มหันมาใช้ทวิตเตอร์เพื่อติดตามข่าวสารต่าง ๆ แบบเรียลไทม์ อาทิ เหตุรถไฟฟ้าเสีย การจราจรช่วงก่อนและหลังเลิกงาน สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 เป็นต้น

อย่างที่ทุกคนทราบกันดีว่า บนทวิตเตอร์จะแสดงอันดับเทรนด์ความนิยมของแฮชแท็กต่าง ๆ ซึ่งแสดงถึงความสนใจของผู้อ่าน ทวิตเตอร์จึงมีเปิดการขายอันดับเทรนด์ ซึ่งกลุ่มที่สนใจจะเป็นกลุ่มผู้ผลิตละครทีวีและซีรีส์ต่าง ๆ โดยหวังจะเพิ่มเรทติ้งให้กับรายการในขณะที่ฉาย

  • สิ่งที่พีคที่สุดในปีที่ผ่านมา

กูเกิล ประเทศไทย: สำหรับสิ่งที่น่าจับตาที่สุดในปีที่ผ่านมาของกูเกิล คือ การนำ Machine Learning และ AI มาประมวลผลเพื่อสื่อสารข้อความโฆษณาที่ตรงใจกลุ่มลูกค้าเป้าหมายมากที่สุด หรือ "Personalisation at Scale" ยกตัวอย่างเช่น บริษัทอสังหาริมทรัพย์ชื่อดังของประเทศไทยอย่าง AP ที่สร้างรูปภาพและข้อความขึ้นมาอย่าง 50 แบบ และปล่อยให้ AI จับคู่ภาพและข้อความเหล่านั้นโดยอัตโนมัติเพื่อโปรโมทคอนโดมิเนียมของทางบริษัท โดยลูกค้าที่เป็นกลุ่มพนักงานออฟฟิศอาจได้เมสเสจที่บอกว่า "คอนโดพร้อมอยู่ติด BTS" ส่วนผู้ที่ใส่ใจรักสุขภาพอาจได้เมสเสจที่บอกว่า "คอนโดพร้อมฟิตเนส" ถือเป็นการส่งสารได้อย่างถูกที่ ถูกคน ถูกเวลา และถูกใจคนอ่าน ตามกลยุทธ์หลักของกูเกิล

เฟซบุ๊ก ประเทศไทย: ฟีเจอร์ที่พีคที่สุดในปีที่ผ่านมา คือ Facebook Watch ซึ่งถึงแม้จะเพิ่งเปิดตัวเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา แต่ภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือน ประเทศไทยก็ขึ้นแท่นเป็น Top 10 ของประเทศที่มียอดผู้ชมวิดีโอเยอะที่สุดติดอันดับโลก ทั้งนี้ สิ่งที่เฟซบุ๊กให้ความสนใจคือ Active Watching Behavior หรือการชมวิดีโอที่เปิดโอกาสให้ผู้ชมได้มีปฏิสัมพันธ์กับแบรนด์หรือเจ้าของคอนเทนต์ โดยในตอนนี้ เฟซบุ๊กได้เริ่มทำ Watch Party ซึ่งผู้ที่ดูวิดีโอสามารถชวนเพื่อนมาดูด้วยกันได้ และสามารถแชร์ความคิดเห็นกันได้แบบเรียลไทม์อีกด้วย

ส่วนไฮไลท์ของ Facebook Watch คือตัว "Confetti" ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างเกมโชว์แบบดั้งเดิม และการชมวิดีโอที่คนดูสามารถมีปฏิสัมพันธ์กันได้ตามแบบฉบับของเฟซบุ๊ก ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ผู้ใช้งานได้เข้ามาร่วมเล่นเกม ตอบคำถาม และชิงรางวัลอันน่าตื่นเต้น

ไลน์ ประเทศไทย: ไลน์ ทีวี ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามในปีที่ผ่านมา โดยมียอดผู้ชมเยอะขึ้นอย่างก้าวกระโดด อีกทั้งช่องทีวีต่าง ๆ ก็เริ่มเข้ามาร่วมกับไลน์มากขึ้น ส่งผลให้ไลน์ ทีวี ขึ้นแท่นเป็นแพลตฟอร์มการชมรายการโทรทัศน์ย้อนหลังอันดับหนึ่งของไทย

นอกจากนี้ ในส่วนของการโฆษณาก็มีการเติบโตมากขึ้น เนื่องจากลูกค้าเห็นว่ายอด engagement ของไลน์ขยายตัวได้ดีและมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้มีการเข้ามาโฆษณาในแพลตฟอร์มของไลน์มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในปีที่ผ่านมา

ขณะเดียวกัน ในปี 2018 ไลน์ได้เปิดตัว Line Ad Platform ซึ่งแพลตฟอร์มแบบ self- bidding อันเป็นทางเลือกใหม่ในการซื้อโฆษณาสำหรับนักการตลาด รวมถึงเปิดช่องทางให้ SMEs ได้เข้ามาโฆษณาในไลน์กันมากขึ้นอีกด้วย

พันทิป: คุณอภิศิลป์กล่าวว่า เรื่องเดียวที่พีคที่สุดของพันทิปในปีที่ผ่านมา คือการตั้งกระทู้ "ถ้ำหลวง" ของสมาชิกท่านหนึ่ง โดยกระทู้ดังกล่าวมีการแสดงความคิดเห็นมากกว่า 17,000 ครั้ง ถือเป็นประวัติศาสตร์ของพันทิปที่คุณอภิศิลป์เรียกว่า กระทู้นั้นคือจดหมายเหตุประเทศไทยเลยก็ว่าได้

ทวิตเตอร์ ประเทศไทย: สำหรับความเคลื่อนไหวที่พีคที่สุดจนทำให้ทวิตเตอร์มีผู้เล่นเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมหาศาล คงหนีไม่พ้นกรณี #ถ้ำหลวง โดยหลังจากที่ข่าวน้อง ๆ ทีมหมูป่าแพร่กระจายออกไปเพียง 3 วัน แฮชแท็ก #ถ้ำหลวง และ #ThaiCaveRescure ก็พุ่งขึ้นถึง 3 ล้านทวิต ส่งผลให้มีทีมกู้ภัยจากต่างชาติส่งพลังมาช่วยน้อง ๆ จนประสบความสำเร็จและเป็นข่าวดีไปทั่วโลก

  • Push Forward: เทรนด์ที่น่าติดตามในปี 2020

กูเกิล ประเทศไทย: สำหรับเทรนด์ในปี 2020 ของกูเกิลนั้นคือ โซลูชัน BURST ซึ่งเป็นการดึงโซลูชันของกูเกิลทั้งหมดมาใช้ในการโฆษณา ไม่ว่าจะเป็นการโฆษณาในเสิร์ท ยูทูป หรือแพลตฟอร์มอื่น ๆ ของกูเกิล โดย BURST ถือเป็นโซลูชันที่เหมาะสำหรับนักการตลาดที่ต้องการดันให้แคมเปญดังระเบิดในเวลาอันรวดเร็ว ยกตัวอย่างเช่น Coke Worldcup ที่ต้องการทำแคมเปญโฆษณาด้านดนตรี โค้กก็เลือกใช้บริการแค่เฉพาะในกลุ่ม Music content โดยในวันนั้น โฆษณาที่ดิสเพลย์บนแพลตฟอร์มต่าง ๆ ของกูเกิลก็จะเป็นโฆษณาของโค้กทั้งหมด หรือเรียกว่าเป็น Internet Takeover อย่างแท้จริง

เฟซบุ๊ก ประเทศไทย: สำหรับสิ่งที่น่าจับตามองของเฟซบุ๊กอันดับแรกคือ ฟีเจอร์ Stories บนแพลตฟอร์มอินสตาแกรม, เฟซบุ๊ก และแมสเซนเจอร์ ซึ่งมีอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยใน 1 วัน คุณสิรินิธิ์เปิดเผยว่า ยอดผู้ใช้งาน Stories บนแพลตฟอร์มทั้งสามมีมากถึง 1 พันล้านครั้งต่อวัน ทั้งนี้ ทางบริษัทจะมีการเพิ่มฟีเจอร์สำหรับนักโฆษณาและนักการตลาดมากขึ้นในปีหน้า เช่น โพลล์ หรือ Shopping on Stories

ส่วนลำดับที่สองคือ Facebook Watch ซึ่งทางเฟซบุ๊กจะเปิดตัวรายการ Reality Show อันเป็น Original Content ของเฟซบุ๊กเองในช่วงกลางเดือนมีนาคมนี้

และลำดับสุดท้ายคือ Messenger ซึ่งจะมีการเพิ่มฟีเจอร์เพื่อรองรับเครือข่ายสังคมค้าขายออนไลน์มากขึ้น รวมถึงการใช้ Messenger Bot เพื่อให้แบรนด์ได้มีปฏิสัมพันธ์กับผู้บริโภคมากขึ้น

ไลน์ ประเทศไทย: คุณกฤษณะ กล่าวว่า ไลน์จะโฟกัสไปที่เรื่องของ Business Transformation โดยในปีนี้ ไลน์จะเข้าไปแคปเจอร์ทุก segment ผ่านการออกโซลูชันเพื่อการตลาด การขาย หรือโซลูชันในองค์กรที่มีความครอบคลุมในทุกกลุ่มธุรกิจ

พันทิป: พันทิปจะเปิดโปรดักใหม่ที่ชื่อ Comment Ad ซึ่งจะเป็นการโฆษณาที่แฝงในในกระทู้ต่าง ๆ ในรูปแบบคอมเมนต์ ซึ่งจะดูกลมกลืนไปกับเนื้อหาของกระทู้ โดยจากการทดลองที่ผ่านมา Comment Ad มียอดการคลิกมากกว่าแบนเนอร์ธรรมดาถึง 3-5 เท่า โดยจะเริ่มเปิดให้บริการในช่วงกลางเดือนมีนาคมนี้

ทวิตเตอร์ ประเทศไทย: ทวิตเตอร์จะผลักดันบริการที่ชื่อว่า Pre-Roll Video Ad ซึ่งเป็นวิดีโอโฆษณาที่จะเล่นก่อนเข้าสู่วิดีโอจริงที่ได้รับการเผยแพร่บนทวิตเตอร์ นอกจากนี้ ทวิตเตอร์ยังเปิดให้มีการ Live ได้อีกด้วย ผ่านการจับมือเป็นพาร์ทเนอร์กับแบรนด์ต่าง ๆ อาทิ การจับมือเป็นพันธมิตรกับ goal.com เพื่อ Live ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกบนทวิตเตอร์

อนึ่ง งานประกาศรางวัลโซเชียลที่ยิ่งใหญ่ที่สุด Thailand Zocial Awards 2019 ครั้งที่ 7 จัดขึ้นที่โรงละครเคแบงก์สยามพิฆเนศ ชั้น 7 ศูนย์การค้าสยามสแควร์วัน เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2562 โดย บริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้นำเทคโนโลยีวิเคราะห์ข้อมูลด้านโซเชียลมีเดีย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ