Media Talk: จับกระแส VTuber และเคล็ดลับการต่อยอดคาแรคเตอร์โลกดิจิทัลสู่สินค้าที่สัมผัสได้จริง

ข่าวทั่วไป Friday August 16, 2019 17:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทำไม VTuber จึงเป็นแพลตฟอร์มดิจิทัลใหม่ที่สร้างปรากฎการณ์และกำลังแพร่หลายในกลุ่มวัยรุ่น คริสโตเฟอร์ เฉิน ประธานสมาคม Vtuber แห่งไต้หวัน จะพาไปไขข้อข้องใจถึงปรากฎการณ์ ความเป็นมา ตลอดจนแนวโน้มทางการตลาดที่สำคัญ ภายใต้หัวข้อ "Vtuber, a new digital form of performance orginated from Asia" ในงาน Bangkok International Digital Content Festival (BIDC 2019)

*Vtuber : จากญี่ปุ่นสู่ตลาดโลก

คริสโตเฟอร์ เฉิน ได้อธิบายความเป็นมาของ VTuber หรือ Virtual YouTuber ว่า เป็นปรากฏการณ์ใหม่ในแวดวง Youtuber ซึ่งมีต้นกำเนิดมาจากประเทศญี่ปุ่น และกำลังแพร่หลายไปทั่วโลก VTuber สามารถสร้างสรรค์ขึ้นมาได้ด้วยการใช้อุปกรณ์ Motion Cap เพื่อถ่ายวิดีโอบุคคลที่จะปรากฎในจอ และภาพที่แสดงออกมาบนจอคอมพ์จะปรากฎเป็นคาแรคเตอร์ตัวละครที่มีการเคลื่อนไหวอย่างเป็นธรรมชาติ สามารถตอบสนองและสื่อสารได้เหมือนกับมนุษย์

แม้ว่าปรากฎการณ์ VTuber จะเกิดขึ้นมาได้ไม่นาน ทว่าได้รับความนิยมอย่างก้าวกระโดดภายในระยะเวลาอันสั้น โดยเฉพาะไต้หวัน เฉินกล่าวถึงสถานการณ์ VTuber ของไต้หวันว่า ปัจจุบัน วงการ VTuber ไม่เพียงแต่ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นจากกลุ่มประชาชนทั่วไป แต่ยังได้การสนับสนุนที่ดีจากรัฐบาลท้องถิ่น ที่เล็งเห็นถึงศักยภาพ และความสำคัญของตลาดเทคโนโลยีดิจิทัลในอนาคต หน่วยงานของรัฐบาลจึงพยายามจัดกิจกรรมอยู่ตลอดทั้งปี เช่น การมอบรางวัลแก่เหล่าผู้ผลิต VTuber ที่โดดเด่น การจัดการแข่งขัน VTuber Hackathon ด้วยการเปิดโอกาสให้นักศึกษาจากหลายสถาบันมาแข่งขันกัน มิหนำซ้ำ วิทยาลัยเทคโนโลยีหลายแห่งของไต้หวันก็เตรียมเปิดสอนวิชา VTuber ด้วยเช่นกัน

นอกจากภูมิภาคเอเชียแล้ว คุณเฉินยังเล่าถึงการขยายตัวของปรากฎการณ์นี้ในกลุ่มประเทศตะวันตก เช่นสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีช่อง Barbie Vlog ซึ่งเป็นคอนเทนต์ที่นำตุ๊กตาบาร์บี้ที่เรารู้จักกันเป็นอย่างดีมาทำคลิปโต้ตอบกับผู้ชม บอกเล่าเรื่องราวชีวิตประจำวัน ตลอดจนทำกิจกรรมต่างๆเหมือนกับมนุษย์ เธอมียอดผู้ชมสูงกว่า 1,000,000 ครั้งต่อคลิป นับเป็นการเพิ่มมูลค่าจากตุ๊กตาพลาสติกมาสู่ VTuber ที่สามารถเข้าถึงได้ ขณะเดียวกัน ในประเทศอังกฤษ ช่อง Ami Yamato ซึ่งเป็นคาแรคเตอร์ที่ออกเดินทางไปตามสถานที่ต่างๆทั่วกรุงลอนดอน ก็ได้รับความนิยมอย่างมาก โดยเธอมีผู้ติดตามสูงถึง 145,186 คน

*ทางเลือกใหม่ที่น่าจับตามอง

‘VTuber can do everything YouTuber can do’ เป็นคำกล่าวของ คริสโตเฟอร์ เฉิน ที่จุดประกายให้เราเห็นถึงโอกาสทองของบุคลากรในแวดวงแอนิเมชั่น ตลอดจนเหล่าสตาร์ทอัพ ซึ่งสามารถใช้ประโยชน์จากเทรนด์ดังกล่าว เฉินได้เปิดเผย 3 ประโยชน์ทางการตลาดที่สำคัญ เพื่อหวังกระตุ้นให้แวดวงแอนิเมชั่นไทยให้หันมาจับตลาดนี้มากขึ้น

ประการแรก การหันมาทำ VTuber จะช่วยลดต้นทุนการผลิตทั้งด้านเวลา และเงินทุน จากเดิมการทำแอนิเมชั่นเพียง 1 ตอน ต้องอาศัยขั้นตอนการผลิตที่ค่อนข้างยุ่งยาก จนกินเวลานานถึง 1 เดือน แต่คอนเทนต์อย่าง VTuber สามารถทำเสร็จได้ภายใน 1 วัน อีกทั้ง ราคาของเครื่องมืออุปกรณ์ที่ใช้ทำ VTuber มีราคาไม่แพง แต่เปี่ยมด้วยประสิทธิภาพ ซึ่งเหมาะสำหรับเหล่าสตาร์ทอัพหรือกลุ่มคนที่สนใจแต่มีทุนไม่มาก

นอกจากการลดต้นทุนด้านการผลิต เฉินยังกล่าวเสริมว่า VTuber เป็นอีกช่องทางที่น่าสนใจสำหรับกลยุทธ์ทางการตลาดของแบรนด์ เพราะ VTuber มีความแปลกใหม่ และช่วยเพิ่มการจดจำที่ดีต่อแบรนด์มากขึ้น คุณเฉิน wfhยกตัวอย่าง โฆษณาบะหมึ่กึ่งสำเร็จรูปนิสชิน ที่ใช้ VTuber ชื่อดังของญี่ปุ่น อย่าง Kizuna AI ที่มีผู้ติดตามกว่า 2 ล้านคน

ส่วนประการสุดท้าย เฉินกล่าวว่า VTuber สามารถพัฒนาจนกลายเป็นอินฟลูเอนเซอร์เหมือนกับ YouTuber ที่เป็นบุคคลทั่วไป ผ่านการรีวิวสินค้า ผลิตภัณฑ์ ที่มีตลาดเป็นกลุ่มเด็กวัยรุ่น โดยผลการสำรวจของบริษัทญี่ปุ่นระบุว่า กลุ่มผู้ชม VTuber ส่วนใหญ่อายุจะอยู่ในช่วง 15-24 ปี ดังนั้นจึงเป็นการตัดสินใจที่ดีหากบริษัทไทยหันมาจับตลาดผ่านทาง VTuber มากยิ่งขึ้น

*เจ้าของคาแรคเตอร์ "คุณหมีกับเจ้าเหมียว" ร่วมแชร์ประสบการณ์ต่อยอดคาแรคเตอร์โลกดิจิทัลสู่สินค้าจริง

แม้ว่า ปกติแล้วคอนเทนต์ดิจิทัลจะโลดแล่นอยู่บนโลกออนไลน์ แต่คอนเทนต์ดิจิทัลเหล่านี้สามารถนำมาต่อยอดให้เป็นสิ่งที่จับต้องได้ในโลกแห่งความเป็นจริงด้วยเช่นกัน โดยภายในงานเดียวกันนี้ สมาย ลลิดา ธนานุประดิษฐ์ เจ้าของคาแรคเตอร์ "คุณหมีกับเจ้าเหมียว" หรือ "MR.BEAR & CUTIE CAT" ได้เข้ามาร่วมแชร์ประสบการณ์ที่ได้ลงมือทำด้วยตนเอง ในการต่อยอดคาแรคเตอร์โลกดิจิทัลไปสู่สินค้าที่สัมผัสได้จริง และยังได้ร่วมงานกับแบรนด์ใหญ่ ๆ

คุณสมาย ได้เล่าให้ฟังว่าเธอเป็นคนชอบวาดรูปและเคยประกวดจนได้รางวัลมาแล้ว โดย "คุณหมีกับเจ้าเหมียว" ไม่ได้เป็นคาแรคเตอร์แรกที่เธอสร้างขึ้น เธอเคยมีผลงานสร้างคาแรคเตอร์มาก่อนแล้ว ไม่ว่าจะเป็น Mr. Treeman และ Little Three Friends ตลอดจนผลงานเกมการ์ดชื่อ PETOPIA: THE BACKYARD WAR และเป็นผู้วาดภาพประกอบหนังสือเด็กชื่อ ลูกปูจอมซนกับแม่ปูขี้บ่น

ในช่วงแรก ๆ นั้น คุณสมายวาดรูปทุกวัน จนรู้ว่าตัวเองชอบวาดรูปสัตว์ และได้เปิดเพจ Smaisiam บนเฟซบุ๊กขึ้นเมื่อปี 2554 ซึ่งเธอได้โพสต์รูปผลงานของตัวเองทุกวัน พร้อมติดแฮชแท็ก #วาดวันละรูป เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้คนที่ชอบการวาดรูปเหมือนกันได้วาดตาม ผลงานวาดรูปที่เธอโพสต์นั้นก็คือ "คุณหมีกับเจ้าเหมียว" นั่นเอง คุณสมายได้สร้างสตอรี่ให้ "คุณหมี" เปรียบเสมือนแฟนหนุ่มผู้ใจดี และให้ "เจ้าเหมียว" เป็นเหมือนแฟนสาวแสนซนและดื้อ ซึ่งสตอรี่ที่ว่านี้ก็เป็นชีวิตประจำวันของคู่รักหลาย ๆ คู่ จนทำให้แฟนเพจจำภาพและรู้สึกอินไปกับเรื่องราวเหล่านี้

จากนั้นแอปแชทชื่อดังอย่าง LINE ได้เปิดโอกาสให้บรรดาคาแรคเตอร์ครีเอเตอร์เข้ามาขายสติกเกอร์บนแพลตฟอร์มนี้เมื่อราว 5 ปีก่อน ซึ่งคุณสมายก็ได้นำ "คุณหมีกับเจ้าเหมียว" ร่วมขายด้วย สติกเกอร์แต่ละตัวนั้นเธอจะดึงคำพูดที่ใช้กันในชีวิตประจำวันมาใส่ จนได้รับกระแสตอบรับเป็นอย่างดี โดยเฉพาะกับบรรดาคู่รักที่ส่งสติกเกอร์นี้ถึงกันและกัน และวันนี้สติกเกอร์ "คุณหมีกับเจ้าเหมียว" มีขายใน LINE แล้วถึง 6 ชุด

*ต่อยอดคาแรคเตอร์โลกดิจิทัลเป็นสินค้า โปรโมททั้งช่องทางออนไลน์-ออฟไลน์

เมื่อคาแรคเตอร์ที่คุณสมายสร้างขึ้นได้รับความนิยมจนมีฐานแฟนคลับอย่างเหนียวแน่นแล้ว เธอได้เลือกต่อยอดคาแรคเตอร์นี้ให้กลายเป็นสินค้าที่จับต้องได้จริง โดยมีทั้งกระดาษโน๊ต พวงกุญแจ กระจก สติกเกอร์ ไปจนถึงตุ๊กตา ซึ่งคุณสมายเลือกที่จะทยอยขายสินค้าดังกล่าวเพื่อให้คนติดตาม และการที่คาแรคเตอร์ "คุณหมีกับเจ้าเหมียว" มาเป็นคู่นั้นก็ทำให้คนซื้อสินค้าเป็นคู่ด้วย

การที่คุณสมายได้นำคาแรคเตอร์นี้มาทำเป็นสินค้าที่จับต้องได้จริง ยังทำให้เธอได้พบกับโอกาสใหม่ ๆ ด้วย โดยเธอเคยร่วมงานกับแบรนด์ชุดชั้นใน Sabina เพื่อนำคาแรคเตอร์ "คุณหมีกับเจ้าเหมียว" ไปใส่เป็นลวดลายบนผลิตภัณฑ์ชุดชั้นใน นอกจากนี้ ยังเคยร่วมงานกับแบรนด์ข้าวตราฉัตร เพื่อนำคาแรคเตอร์นี้ไปผลิตเป็นพรีเมียมกิฟต์ และเมื่อไม่นานมานี้ เธอยังได้ร่วมงานกับแบรนด์โชกุบุสซึ เพื่อนำคาแรคเตอร์นี้ไปทำเป็นพรีเมียมกิฟต์ด้วยเช่นกัน

สำหรับช่องทางโปรโมทสินค้านั้น คุณสมายได้เลือกโปรโมททั้งผ่านช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ โดยช่องทางออนไลน์ก็มีทั้ง เฟซบุ๊ก, ทวิตเตอร์, อินสตาแกรม และ LINE@ และอีกช่องทางที่คุณสมายแนะนำคือ Pinkoi ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซสำหรับการขายสินค้าอาร์ต ๆ ส่วนช่องทางออฟไลน์ก็คือการขายในงานอีเวนท์ต่าง ๆ ซึ่งคุณสมายมองว่าปัจจุบันมีงานอาร์ตลักษณะนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ ในไทย

สุดท้ายนี้ คุณสมายมองว่าประเทศไทยมีคนวาดรูปเก่งเยอะ ซึ่งเมื่อจับทางถูกแล้วก็จะสร้างมูลค่าและมอบโอกาสใหม่ ๆ ได้อย่างไม่คาดคิด และเธอยังมีความฝันในการดันคาแรคเตอร์ "คุณหมีกับเจ้าเหมียว" ให้เป็นที่รู้จักในต่างประเทศด้วย โดยอยากให้คาแรคเตอร์นี้มีลิขสิทธิ์คล้าย ๆ กับคาแรคเตอร์ต่างประเทศอย่าง Snoopy, Hello Kitty และ Doraemon เพื่อให้คนต่างชาติรู้ว่าคนไทยมีดี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ