
ส่วนที่สองที่คุณยุทธนาเน้นก็คือ "ไลฟ์สไตล์" โดยดูว่า บุคคลในข่าวที่ถูกนำเสนอในด้านธุรกิจและการเมืองไปแล้วว่า จะสามารถนำเสนอแง่มุมในด้านชีวิตครอบครัวหรือไลฟ์สไตล์ได้อย่างไรบ้าง เช่นมีญาติพี่น้องกี่คน ครอบครัวเป็นอย่างไร มีการส่งต่อให้ทายาทดูแลกิจการหรือไม่ ชีวิตไลฟ์สไตล์ทำอะไรบ้าง ต่อจากนั้น ก็ต้องนำเสนอเนื้อหาในส่วนที่เกี่ยวกับไลฟ์สไตล์นี้ต่อให้จบในข่าวเดียว
คุณยุทธนา กล่าวต่อไปว่า อย่างล่าสุดคุณสารัชถ์ รัตนาวะดี ผมมองไปไกลกว่านั้น กำลังหาทางนำเสนอทายาท เราต้องการสัมภาษณ์ลูกชายคุณสารัชถ์ อะไรแบบนี้ที่ผมอยากรู้ว่า "สาริศ รัตนาวะดี" จะมารับธุรกิจจากพ่อได้วันไหน หรือว่าค่อย ๆ รับ หรือว่ารับไปเลย นี่คือสิ่งที่ผมจะนำเสนอ แต่ไม่ใช่ไม่สนใจกระแสข่าวโซเชียลเลย
"ยกตัวอย่างข่าวคุณสารัชถ์ก่อนจะสัมภาษณ์ลูกชาย ผมก็เตรียมไว้ วันนี้ (ช่วงที่กำลังสัมภาษณ์) ก็ต้องปรับแผน ทันทีที่ข่าวคุณสารัชถ์รับพระราชทานปริญญาวิศวกรรมศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ที่จุฬาฯ แล้วปรากฏว่าคนอ่านข่าวนี้เยอะมาก ไม่เกิน 2-3 วัน ผมก็ต้องรีบลงข่าวสารัชถ์ครองอาณาจักรพลังงานหลักแสนล้าน ออกมาจากสต็อค ถามว่า เข้ากับจังหวะมั้ย? เข้า มีที่มามั้ย? มี เพราะในเว็บผมในวันนั้น ข่าวอันดับ 1 คือสารัชถ์รับปริญญา ในเมื่อเราก็เห็นแล้วว่าความต้องการสูง แทนที่จะรอคิวอีก 2-3 สัปดาห์ เราเอาออกก่อนเลย นี่ไง ก็แปลว่าเราไม่ใช่ไม่แคร์ เราก็ต้องแคร์คนอ่าน แคร์สื่ออื่น นี่ไงเรากำลังแข่งกับเขา แข่งกับสื่ออื่น" คุณยุทธนากล่าวส่วนที่องค์ประกอบที่สามสำหรับโพสต์ทูเดย์โฉมใหม่ คือ ข่าวต่างประเทศ บรรณาธิการบริหารคนใหม่ของโพสต์ทูเดย์กล่าวว่า "วันนี้โลกกับประเทศไทยแทบจะเป็นประเทศเดียวกัน ผมให้ความสำคัญกับข่าวต่างประเทศ แน่นอนผมยังคงคอนเซปต์คนของโลก ดาราของโลก แล้วค่อยไปที่เรื่องของประเทศ สงคราม การค้า ล้อไปกับคอนเซปต์ที่เราบอก"
"ต่างประเทศก็ต้องหยิบวอร์เรน บัฟเฟตต์ หรือว่าคริปโทฯ ตอนนี้ใครเป็นเจ้า ใครถือไว้เยอะ เน้นว่า "ใคร" มากกว่าจะไปเน้นเรื่องบริษัท อย่างที่ผมบอก อย่างสงครามยูเครนเราก็เน้นว่าเบื้องหลังของสงคราม จริง ๆ แล้วเป็นเรื่องของสี จิ้นผิง กับเรื่องโจ ไบเดน แล้วก็ปูตินรึเปล่า หรือเป็นเรื่องอะไรที่มีมิติมากกว่านั้น แต่ว่าสืบค้นจากคน ค้นจากผู้นำ ค้นจากมาสเตอร์มายด์ (Mastermind) ค้นจากตัวละครหลัก แล้วค่อยสืบเอา" คุณยุทธนา กล่าวนอกจากนี้ โพสต์ทูเดย์โฉมใหม่ยังเน้นเรื่องกรีนคอนเทนต์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นซีโร่คาร์บอน (Zero-Carbon) คุณยุทธนา กล่าวว่า เราปฏิเสธไม่ได้ว่ามันคือเศรษฐกิจ-ธุรกิจ มันไม่ใช่แค่เรื่องสิ่งแวดล้อม แต่เป็นเทรนด์ทางการค้าโลก
"Current News เราจะพยายามหลีกเลี่ยง ที่สำคัญเรามาทำใหม่ ไม่จำเป็นต้องแข่งความเร็ว ไม่ต้องแข่งกับกระแสอะไร ภายใต้ทีมงานกองบรรณาธิการประมาณ 20-25 คน โดยมี 1 ใน 3 นี้เป็นพนักงานตัดต่อ โปรดักชั่น กราฟิกของแพลตฟอร์มที่เราจะทำ ตอนนี้ยังมีไม่ครบ" คุณยุทธนา กล่าวสำหรับงานสเต็ปถัดไปของโพสต์ทูเดย์นั้น คุณยุทธนากล่าวว่า เราจะมีเฟส 2 เราจะทำรายการออนไลน์ แต่การเตรียมพร้อมก็อย่างที่บอก 1 ใน 3 ก็เป็นแผนกที่เกี่ยวกับกรีนคอนเทนต์ อาจจะต้องมีพิธีกรด้วย แต่ว่าก็ยังไม่ถึงขั้นนั้น ผมต้องฟื้นโพสต์ทูเดย์กลับมา แล้วก็สร้างอัตลักษณ์ก่อน
แล้วจะใช้เวลาฟื้นโพสต์ทูเดย์กลับมานานแค่ไหนนั้น คุณยุทธนา กล่าวว่า ช่วงแรกคงไม่นาน ต่อด้วยสร้างอัตลักษณ์ นั่นคือเฟสแรก แล้วค่อยไปยังแพลตฟอร์มที่จำเป็นต้องทำ จำเป็นต้องเล่นในอนาคต การเตรียมความพร้อมตอนนี้ 1 ใน 3 ของทีมงาน 20-25 คน เป็นฝ่ายโปรดักชั่น ดิจิทัลแพลตฟอร์ม เรื่องดิจิทัลแพลตฟอร์มนั้นปฏิเสธไม่ได้ และวันนี้เรายังไม่เห็นคู่แข่ง อาจมีบางส่วนของสื่อ 2 สำนักมารวมกัน แต่โดยสรุปเราไม่ได้แข่งกับสื่อไหน ยังไม่มีคู่เทียบ
คุณยุทธนา กล่าวว่า กลุ่มเป้าหมายคือคนที่อยากรู้เรื่องของบุคคลที่มีฐานะชั้นกลางไปจนถึงระดับบน ซึ่งเชื่อว่าไม่ใช่เฉพาะคนกลุ่มนี้ที่อยากรู้ แต่ชาวบ้านก็อยากรู้ อยู่กับความอยากรู้อยากเห็นเขาด้วย ไม่ใช่เอาแต่ข่าวฮาร์ดนิวส์ (Hard news) หรือข่าวที่คิดว่ามีประโยชน์แต่คนไม่สนใจ เราก็ไม่เอา เราต้องผสม ต้องเอาทั้ง 2 อย่าง มีประโยชน์ด้วย แต่คนก็ต้องสนใจด้วย ทั้งเงินทั้งกล่องเราต้องเอาหมด เราไม่เลือกเฉพาะกล่องหรือเงิน
"หัวใจของโพสต์ทูเดย์คือความเป็นสำนักข่าว ไม่ใช่ทำคอนเทนต์สายลมแสงแดด สื่อใหม่ ๆ หรือหลายคนที่อยากเข้ามาในวงการ มันไม่ยั่งยืนหรอกครับ ความยั่งยืนอยู่ที่เป็นสำนักข่าว" คุณยุทธนา กล่าว