Media Talk: AI ในมุมมองสำนักพิมพ์ "อนาคตหรือจุดจบของวงการหนังสือ"

ข่าวทั่วไป Monday December 18, 2023 13:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

Media Talk: AI ในมุมมองสำนักพิมพ์

เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ AI) โดยเฉพาะปัญญาประดิษฐ์แบบรู้สร้าง (Generative AI) หรือเจนเอไอ (Gen AI) ไม่ว่าจะเป็นแชทจีพีที (ChatGPT) หรือ กูเกิล บาร์ด (Google Bard) ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนอย่างทั่วถึงในหลายวงการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับวงการหนังสือและสื่อสิ่งพิมพ์ที่อยู่ในภาวะซบเซา การเข้ามามีบทบาทของเจนเอไอที่สามารถช่วยผลิตคอนเทนต์ได้ ก่อให้เกิดความวิตกกังวลในหมู่นักเขียนนักข่าวที่กลัวจะสูญเสียอาชีพ ขณะที่นักอ่านบางส่วนมีความเห็นว่า การใช้เจนเอไอผลิตผลงานนั้นผิดกฎหมายลิขสิทธิ์ ไปจนถึงขั้นขัดต่อหลักจริยธรรม

Media Talk: AI ในมุมมองสำนักพิมพ์

ความกังวลและข้อสงสัยเหล่านี้ ได้ถูกหยิบยกมาพูดคุยแลกเปลี่ยนกันบนเวทีเสวนา ?เปิดโลกหนังสือกับ AI เพิ่มศักยภาพธุรกิจด้วยอนาคต? นำโดยคุณอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารแห่งแพลตฟอร์มดอกหญ้าอีบุ๊ค ร่วมด้วยผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายวงการ ทั้งคุณธนพงศ์พรรณ ธัญญรัตตกุล ซีอีโอของ Sfia A.I. คุณธีรภัทร เจริญสุข กรรมการสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย และ ดร.ธรรม์ธีร์ สุกโชติรัตน์ ผู้อำนวยการของศูนย์โพลศรีปทุม-ดีโหวต

บุ๊คบอท (BookBot): คำตอบของสายผลิต
Media Talk: AI ในมุมมองสำนักพิมพ์

ในฐานะที่เป็นทั้งนักเขียนและผู้พัฒนาเอไอ คุณธนพงศ์พรรณให้ความเห็นว่า การเข้ามาของเอไอนั้นไม่ต่างอะไรจากการมาของอินเทอร์เน็ต อีบุ๊ค หรือสมาร์ทโฟนเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านแพลตฟอร์มสำหรับการอ่านคอนเทนต์ แต่เอไอไม่สามารถเข้ามาทดแทนความรู้ความเข้าใจของนักเขียน ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ะจำเป็นสำหรับการผลิตหนังสือขึ้นมาสักเล่ม นอกเหนือไปจากนี้ เอไอยังมีศักยภาพสูงกว่านวัตกรรมอื่น ๆ ในอดีต ตรงที่เอไอสามารถถูกออกแบบและฝึกฝนจนเกิดเป็นแพลตฟอร์มเพื่อเผยแพร่และสนับสนุนผลงานของนักเขียนหรือสำนักพิมพ์โดยเฉพาะได้ ในรูปแบบของโปรแกรมที่คุณธนพงศ์พรรณเรียกว่า บุ๊คบอท (BookBot)

Media Talk: AI ในมุมมองสำนักพิมพ์

บุ๊คบอท คือ เจนเอไอในรูปแบบแชทบอท คล้ายคลึงกับโปรแกรมยอดนิยมอื่น ๆ เว้นแต่เพียงว่าฐานข้อมูลที่บุ๊คบอทนำมาใช้ประมวลเป็นคำตอบนั้นจะมาจากหนังสือโดยเฉพาะ ทำให้เจนเอไอชนิดนี้มีความเฉพาะเจาะจงในด้านของหมวดหมู่มากกว่า เมื่อนักเขียน สำนักพิมพ์ และร้านหนังสือนำผลงานที่ตีพิมพ์หรือจัดจำหน่ายมาเป็นฐานข้อมูล บุ๊คบอทจะสามารถช่วยให้ผู้อ่านสามารถเข้าถึงหนังสือเหล่านั้นได้อย่างง่ายดายและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น อ้างอิงจากข้อมูลที่รวบรวมโดย Sfia A.I. ชี้ให้เห็นว่า ผู้ใช้งานรายหนึ่งได้ใช้บุ๊คบอทเพื่อขอข้อมูลจากหนังสือเล่มเดียวกันโดยเฉลี่ยมากถึงกว่าห้าสิบครั้ง ซึ่งปริมาณการเข้าถึงข้อมูลจำนวนมากนี้ จะมีส่วนช่วยสนับสนุนการตัดสินใจซื้อหนังสือ ไม่ว่าจะเป็นรูปเล่มหรืออีบุ๊คของผู้อ่านได้ในระยะยาว นอกจากนี้ ผู้พัฒนายังสามารถฝึกเอไอบุ๊คบอทในด้านของการแปลได้ นับเป็นการช่วยทลายกำแพงภาษา ทำให้เนื้อหาสาระของหนังสือภาษาไทยถูกเผยแพร่ออกไปได้ในวงกว้างกว่าแค่ผู้อ่านในประเทศ

ในส่วนของแพลตฟอร์มอย่างแอพพลิเคชัน ดอกหญ้า อีบุ๊ค ที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางครบวงจร ทั้งเพื่อการเผยแพร่และจัดจำหน่ายของผู้เขียน และการเสาะหาหนังสือเล่มใหม่ ๆ ของผู้อ่านนั้น ก็มีการวางแผนจะนำเอไอมาใช้จัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อให้ผู้ใช้งานแต่ละคนได้รับผลลัพธ์เฉพาะบุคคล (Personalized) ตรงตามความต้องการมากที่สุด นอกจากนั้น ในอนาคต ทางแอพพลิเคชั่นยังมีการวางแผนที่จะนำเอไอเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกแก่นักเขียนที่เป็นสมาชิก ในระหว่างขั้นตอนการผลิตผลงานอีกด้วย

ทุกอย่างขึ้นอยู่กับผู้ใช้

ถึงแม้เอไอจะมีประโยชน์มากมาย แต่นักเขียนและนักอ่านจำนวนไม่น้อยก็ยังคงลังเล ไปจนถึงขั้น ?กลัว? การใช้เอไอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อการใช้เจนเอไอกับการผลิตผลงานนั้นเคยทำให้เกิดปัญหาตามมา ถึงขั้นฟ้องร้องเป็นคดีความในต่างประเทศมาแล้ว เช่น คดีทรัพย์สินทางปัญญา หรือการที่แพลตฟอร์มจำหน่ายอีบุ๊คชื่อดังอย่าง Amazon KDP ถูกรบกวนด้วยหนังสือที่เขียนขึ้นโดยแชทจีพีทีอย่างไม่ถูกต้อง ประเด็นปัญหาเหล่านี้ คุณธีรภัทร เจริญสุข กรรมการสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทยมองว่า เรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหาที่ตัวของเอไอเอง แต่มีสาเหตุมาจากการที่มนุษย์นำเทคโนโลยีไปใช้โดยขาดการควบคุม เนื่องจากเอไอในชีวิตประจำวันนั้นยังคงเป็นเรื่องใหม่ ผู้ใช้ส่วนมากจึงยังขาดความรู้เท่าทัน ไม่สามารถกะเกณฑ์ประสิทธิภาพ หรือวางแผนฝึกฝนเอไอได้อย่างถูกต้อง

การแก้ปัญหาข้างต้น รวมไปถึงการป้องกันไม่ให้เอไอพัฒนาไปในทางที่ผิด ต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งภาครัฐ ธุรกิจ และเอกชน โดยทางภาครัฐและธุรกิจ จะต้องมีการออกกฏหมายหรือมาตรการ เพื่อเป็นบรรทัดฐานของการใช้เจนเอไอในการผลิตผลงานสร้างสรรค์ให้ชัดเจน ยกตัวอย่างเช่น ในสหภาพยุโรป ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างขั้นตอนร่างกฎหมาย เพื่อกำหนดให้ผู้ผลิตคอนเทนต์ต้องระบุว่ามีการใช้เจนเอไอช่วยเขียนผลงานทั้งหมดกี่เปอร์เซนต์ นอกจากนั้น ทุกภาคส่วนยังควรมีการระบุรายละเอียด หรือจำกัดขอบเขตงานส่วนที่เอไอสามารถเข้ามาช่วยได้

ในส่วนของเอกชนหรือรายบุคคล ซึ่งนับว่ามีบทบาทสำคัญที่สุดในฐานะเป็นผู้ฝึกฝนเอไอนั้น ก็สามารถมีส่วนร่วมได้ง่าย ๆ เพียงแค่ ?อย่ากลัว? เอไอ โดยควรจะหมั่นทดลองพรอมพ์ (Prompt) หรือคำสั่งต่าง ๆ ของเอไออยู่เสมอ นอกจากจะเป็นการสร้างความคุ้นเคยให้กับผู้ใช้งานแล้ว ยังเป็นการป้อนข้อมูลที่มีประโยชน์ต่อผู้ใช้จริงในชีวิตประจำวันให้กับระบบของเอไออีกด้วย นอกจากนี้ ผู้ใช้เอไอยังมีหน้าที่ที่จะต้องพัฒนาตัวเอง ไม่ใช่เพียงแค่รับข้อมูล หรือทำทุกอย่างตามที่เอไอประมวลผลออกมาโดยไม่พิจารณา เพราะนอกจากจะมีโอกาสผิดพลาดแล้ว ยังทำให้เอไอพัฒนาไปในทางที่เป็นโทษต่อมนุษย์อีกด้วย ตัวอย่างที่คุณธีรภัทรยกมาประกอบ คือ ปัญญาประดิษฐ์เล่นหมากล้อม แอลฟาโกะ (AlphaGo) ที่ถูกพัฒนาไปเรื่อย ๆ โดยไม่มีการควบคุม ส่งผลให้ในปัจจุบัน ผู้เล่นหมากล้อมจำเป็นต้องเรียนและฝึกฝนผ่านการเลียนแบบวิธีเดินหมากของเอไอแทน

ยุคเอไอ ใครว่าจินตนาการไม่สำคัญ

สำหรับดร. ธรรมธีร์ นอกเหนือไปจากความรู้ความเข้าใจในระบบการทำงานของเอไอแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันในการการันตีว่าอาชีพนักเขียนจะยังคงอยู่ต่อไปได้ คือ การทำความเข้าใจในจุดแข็งและจุดอ่อนของตัวเอง ซึ่งจะทำให้มนุษย์สามารถวางแผนการนำเอไอมาร่วมงานด้วยในฐานะของ ?ผู้ช่วยส่วนตัว? ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

ดร. ธรรมธีร์ มองว่า เอไอมีความสามารถมากกว่ามนุษย์ในการประมวลผลข้อมูลที่มีความละเอียดสูง หรือข้อมูลที่ต้องการการวิเคราะห์และจำแนกอย่างเป็นระบบแบบแผน เช่น สถิติ ข้อมูลการเงิน ฯลฯ รวมไปถึงงานที่มีลักษณะเป็นกิจวัตรซ้ำซ้อนต่าง ๆ เช่น งานเลขานุการ มนุษย์จึงควรนำเอไอเข้ามาทำหน้าที่จัดการกับภาระในส่วนนี้แทน เพื่อประหยัดทั้งเวลา กำลัง และค่าใช้จ่าย

การนำเอไอเข้ามาช่วยทุ่นแรง ยังเป็นการเปิดโอกาสให้นักเขียนได้ทุ่มเท ให้ความสำคัญกับทักษะและคุณสมบัติที่เป็นแก่นแท้ของการผลิตผลงานสร้างสรรค์ คือ จินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ การคิดเชิงวิพากษ์ (Critical thinking) การคิดพลิกแพลงออกนอกกรอบ ไปจนถึงประสบการณ์ชีวิต วุฒิภาวะ และความสามารถในการเข้าอกเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น (Empathy) ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่เอไอไม่สามารถสังเคราะห์ขึ้นหรือเข้ามาแทนที่ได้ โดยทักษะดังกล่าวนี้ ผู้พูดทั้งสามลงความเห็นว่าคือสิ่งจำเป็นอย่างมาก ไม่ใช่แค่สำหรับนักเขียน แต่ยังรวมไปถึงมนุษย์ทุกคนในการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวันเมื่อเอไอก้าวเข้ามามีบทบาทอย่างเต็มตัว ตรงกันข้ามกับความเข้าใจของคนส่วนใหญ่ที่ยังมองว่าความรู้ด้านวิทยาศาสตร์หรือเทคโนโลยีมีความสำคัญมากกว่าอยู่

ท้ายที่สุดแล้ว ผู้เชี่ยวชาญทุกท่านบนเวทีเสวนาต่างเห็นตรงกันว่า หากนำเอไอมาใช้อย่างถูกต้องและเหมาะสม เอไอจะเป็นผู้ช่วยชั้นดี ที่ทำให้จินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ของนักเขียนออกมาเป็นรูปธรรมได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และมีคุณภาพ อีกทั้งเอไอยังจะมีส่วนช่วยในการเผยแพร่ผลงาน ทำให้วงการหนังสือไทยยิ่งเติบโต ขยับขยายไปในวงกว้างมากขึ้นกว่าปัจจุบันได้อีกด้วย เพราะฉะนั้น บรรดานักเขียนและสำนักพิมพ์จึงสามารถวางใจได้อย่างแน่นอนว่า การมาถึงของเอไอนั้นไม่ใช่ภัยร้าย แต่เป็นประตูบานใหม่ที่จะเปิดโอกาสไปสู่การยกระดับมาตรฐานของวงการในอนาคต


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ