Media Talk: หัวใจของความยั่งยืนคือ "ความไม่เห็นแก่ตัว" Sustainability ที่ดีต้องวัดผลได้

ข่าวทั่วไป Friday February 23, 2024 14:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

Media Talk: หัวใจของความยั่งยืนคือ

ดร.ภัทร จึงกานต์กุล Executive Director จาก Neoone Sustainment และ BYD Metromobile ร่วมกับ "คุณต่อ" ณัฐกรณ์ รัตนชัยสิทธิ์ ซีอีโอจากบริษัท Predictive ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและนำเสนอมุมมองเรื่องความยั่งยืนที่มีต่อเทคโนโลยีแห่งอนาคต โดยมีคุณฉวีวรรณ คงโชคสมัย กรรมการผู้จัดการจาก CREATIVE TALK และ RGB72 เป็นผู้ดำเนินรายการ ในหัวข้อ "Sustainability and Future Technology" บนเวที Strategy Stage ที่งาน Marketing Technology & Innovation Expo 2024 by SC Asset หรือ Martech Expo 2024

Media Talk: หัวใจของความยั่งยืนคือ
ดร.ภัทร - หัวใจของความยั่งยืนคือ "ความไม่เห็นแก่ตัว"

ดร.ภัทรกล่าวว่า Sustainability เป็นแนวคิดจากฝั่งตะวันตกที่เกิดขึ้นมาเนื่องจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ แต่ก็อาจมองได้ในอีกแง่หนึ่งว่าเป็นเรื่องการกีดกันทางการค้า เพราะอย่างกิจการไทยที่ส่งออกสินค้าไปยังฝั่งตะวันตกต้องปฏิบัติตามมาตรฐาน CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) ซึ่งสินค้าเหล่านั้นจะถูกบวกค่าธรรมเนียมคาร์บอนฟุตพรินท์เพิ่มไปด้วย ส่งผลให้ต้นทุนสูงขึ้น นับเป็นการกีดกันโลกฝั่งตะวันออก เช่น จีน ที่มักมีต้นทุนการค้าต่ำกว่า

ดร.ภัทรชี้ว่า ประเทศไทยอยู่ได้และจะผ่านมิติต่าง ๆ อย่างสังคมผู้สูงอายุ, Wellness, Digital Nomad, Ecotourism ไปได้ เพราะไทยมีความพร้อมด้านทรัพยากรธรรมชาติและมีจุดเด่นเรื่องการท่องเที่ยว การเกษตรที่ไม่ใช้สารเคมี มีซอฟต์พาวเวอร์ และดร.ภัทรยืนยันว่า โลกของ Sustainability นับจากนี้คือโลกของเอเชีย ไม่ใช่โลกของฝั่งสหรัฐและยุโรปอีกต่อไป

"เอเชีย โดยเฉพาะประเทศไทย คนทั้งโลกพร้อมจะมาประเทศเราอยู่แล้ว เราแค่ยกระดับทุกอย่างของเศรษฐกิจ-สังคมประเทศเราขึ้นเนี่ย เราเป็นสวิตเซอร์แลนด์ของโลกในรอบศตวรรษนี้ได้ง่าย ๆ เลยนะครับ" ดร.ภัทรกล่าว

ดร.ภัทรมองว่า Sustainability, ESG หรือจะใช้คำว่าอะไรก็ตาม โดยเนื้อแท้แล้วมันคือความไม่เห็นแก่ตัว เพราะความยั่งยืนคือการไม่เบียดเบียนผู้อื่น (สังคม สิ่งแวดล้อม) และไม่เบียดเบียนตัวเอง

นอกจากหัวข้อเรื่องความยั่งยืนแล้ว เมื่อพูดถึงเรื่องธุรกิจดีลเลอร์รถ BYD ดร.ภัทรคาดการณ์ว่า หลังจากที่รถ EV หมดช่วงประกันไปแล้ว จะมีเทรนด์เกิดขึ้น 2 อย่างคือ หนึ่ง ตลาดรถ EV มือสองราคาจะหล่นฮวบ และสอง ช่างไทยเก่ง ๆ จะนำรถเหล่านี้ไปโมดิฟายกันมากขึ้น เช่น ปรับแต่งแบตเตอรี่รถ

ด้วยเหตุนี้ ทาง BYD Metromobile จึงได้จับมือกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) และวิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (สยามเทค) เพื่อร่วมกันพัฒนาหลักสูตรช่างวิชาชีพยานยนต์ไฟฟ้า เป็นการสร้างอีโคซิสเต็มโดยรับผู้ที่เรียนจบหลักสูตรดังกล่าวมาทำงานกับทาง BYD และรองรับกับอนาคตที่จะมีรถ EV ประเภทอื่น ๆ เข้ามานอกเหนือไปจากรถยนต์นั่งด้วย

"ต่อ Predictive" - Sustainability ที่ดีต้องวัดผลได้

ด้านคุณต่อ จาก Predictive กล่าวว่า โครงการ Sustainability ที่ดีควรจะมีผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม วัดเป็นตัวเลขได้ และควรทำเงินได้ด้วยเพื่อให้มีคนมาสนใจลงทุน พร้อมกับเตือนว่า องค์กรไม่ควรมอง Sustainability ว่าเป็นค่าใช้จ่ายแบบหนึ่ง แต่ควรคิดว่า Sustainability คือการลงทุน เพราะการมองเรื่องนี้ว่าเป็นค่าใช้จ่ายจะไม่จูงใจให้องค์กรอยากทำเรื่องความยั่งยืน

คุณต่อชี้ว่า บริษัทต่าง ๆ จำเป็นต้องมีการติดตามข้อมูลแบบ End-to-End เพื่อดูว่าเรามีการใช้พลังงานอย่างสิ้นเปลืองในจุดไหนบ้าง ซึ่งนอกจากจะเป็นเรื่องความยั่งยืนแล้ว ยังช่วยลดต้นทุนอีกด้วย

Sustainability ยังช่วยให้เกิดโมเดลธุรกิจใหม่ ๆ ได้ด้วย เช่น 3D Printing ที่ช่วยลดต้นทุนและลดการใช้พลังงานที่เกิดจากการขนส่ง หรือเทคโนโลยีเวอร์ชวล เช่น AR/VR ที่ก็ช่วยให้ไม่ต้องเดินทางไปที่ต่าง ๆ ด้วยตัวเอง พร้อมเน้นย้ำว่า เทคโนโลยีความยั่งยืนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านความหลากหลายทางชีวภาพ, การหมุนเวียน, สภาพอากาศ, พลังงาน, อาหาร และน้ำ ล้วนมีบิ๊กดาต้าเข้ามาเกี่ยวข้อง และเรื่องเหล่านี้ควรมีการแชร์ข้อมูลกัน (Data Sharing) เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการจัดการทรัพยากร

คุณต่อระบุว่า Sustainability ไม่ใช่แค่ทำเป็น PR หรือทำแคมเปญปลูกป่าเป็นครั้ง ๆ ไป แต่ความยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้ต้องมีการวางกลยุทธ์องค์กรในระยะยาว นำ Service Blueprint มากางเพื่อดูว่ามีจุดไหนที่เราจะลดการใช้พลังงานได้บ้าง จุดไหนที่อาจจะเป็นโอกาสทำโครงการด้านความยั่งยืนใหม่ ๆ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ