Media Interview: บล็อกเกอร์ดังรวมกลุ่มตั้งบริษัทสื่อออนไลน์ ประเดิมสวยกับเว็บแรก Mango Zero เตรียมเปิดตัวอีก 2 เว็บปีนี้

ข่าวทั่วไป Wednesday May 31, 2017 10:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

Mango Zero เว็บไซต์ใหม่ที่เปิดตัวได้ไม่ถึงครึ่งปี แต่มียอดคนติดตามทะลุแสนอย่างรวดเร็ว หลายคนคงจะผ่านตากับเว็บไซต์นี้มาบ้างแล้ว หรืออย่างน้อยก็น่าจะได้รู้ว่า Mango zero คือเจ้าของผลงานที่แรกและที่เดียวที่สามารถเจาะลึกทีมงานThe Mask singer พร้อมเปิดเผยเทคนิคการทำงาน และไขข้อข้องใจว่ารายการนี้ร้องเพลงสด หรือ ลิปซิงค์ กันแน่ มานำเสนอในรูปแบบใหม่ไม่เหมือนใคร

แม้จะเป็นเว็บเปิดใหม่ แต่ทีมงาน Mango Zero อยู่ในวงการออนไลน์ไทยมายาวนาน นำโดย "ขจร เจียรนัยพานิชย์" (@Khajochi) บล็อกเกอร์ชื่อดัง ผู้ก่อตั้งเว็บ MacThai และได้รับการจัดอันดับให้เป็นหนึ่งใน 100 Top Online Influencer ในไทยโดยนิตยสาร LIPS

"ขจร เจียรนัยพานิชย์" จากโปรแกรมเมอร์ผู้ผันตัวเป็นบล็อกเกอร์ จนวันนี้ตัดสินใจรวบรวมบล็อกเกอร์เปิดบริษัท เดอะ ซีโร่ พับบลิชชิ่ง จำกัด ผลิตสื่อออนไลน์โดยเฉพาะ เว็บไซต์ Mango Zero จึงเป็นเพียงผลงานแรกที่ปล่อยออกมา แน่นอนว่านี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้น เบื้องหลังการตัดสินใจทิ้งงานประจำมาเป็นบล็อกเกอร์อิสระจนมาสู่เจ้าของกิจการซีโร่ พับบลิชชิ่ง มุมมองและเทคนิคในฐานะคนทำคอนเทนต์อินเทอร์เน็ตยุคแรก ๆ ของเมืองไทยเป็นอย่างไร เรียบเรียงมาไว้ในบทสัมภาษณ์นี้แล้วครับ

เป็นยังไงมายังไงถึงมาเป็นบล็อกเกอร์

ผมจบวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และก็ต่อโท ที่ Business Development ที่จุฬาฯ ทำงานเป็นโปรแกรมเมอร์มา10 ปี แต่ระหว่างที่ทำโปรแกรมเมอร์เราก็มีเซนส์อยู่ว่าเราชอบในศิลปะ

เคยอยากสอบเข้านิเทศฯ แต่สุดท้ายเข้าวิศวะ เพราะที่บ้านอยากให้เรียนวิศวะ แต่ความฝันเราก็อยากเป็นนักเขียน ระหว่างที่เป็นโปรแกรมเมอร์ก็ไม่อยากทิ้งความฝันก็เลยยังคงงานเขียนอยู่ แต่ว่างานเขียนในสมัยนั้นก็ยังทำได้ยาก แต่ว่ามันมีเทคโนโลยีใหม่เกิดขึ้นมานั่นก็คือ บล็อก (Blog) คือเขียนเหมือนไดอารี่ออนไลน์ในเว็บ ก็เลยทำบล็อกชื่อ Khajochi.com มาตั้งแต่ปี 2549 ปีนี้ก็ 11 ปีแล้ว ช่วงที่เขียนก็เขียนทั่วไปวันนี้ไปกินอะไรมา ไปดูหนังเรื่องอะไร จุดเปลี่ยนคือ ช่วงหนึ่งเขียนไปเขียนมาก็เริ่มมีคนมาอ่าน พอเริ่มมีคนอ่านก็เริ่มมีคอมเมนท์ เห็นคนชอบไม่ชอบงานเขียนของเรา ก็เริ่มพัฒนางานเขียนขึ้นเรื่อย ๆ เราก็เลยรู้สึกว่า เฮ้ย นี่มันคืองานเขียนอ่ะ เราไม่ต้องเป็นนักเขียนแบบที่เขียนหนังสือเล่มขาย เขียนออนไลน์ก็เป็นนักเขียนได้ ก็เลยทำงานประจำแล้วก็แอบทำในสิ่งที่ตัวเองชอบไปเรื่อย ๆ

จุดเปลี่ยนคือการไปแข่งรายการแฟนพันธุ์แท้ “สตีฟ จ็อบส์" ปี 2555 พอแข่งเสร็จก็เลยรู้ว่าเราก็ชอบสตีฟ จ็อบส์ ไม่แพ้ใครในประเทศนะ ทำไมเราไม่ลองรวมกลุ่มกับเพื่อนๆที่ชอบเหมือนกัน ก็เลยได้ทำเว็บไซต์ MacThai.com ช่วงนั้นเว็บไอทีเยอะ แต่เราเป็นเว็บที่ประกาศตัวเองเลยว่าเราไม่เป็นกลาง (หัวเราะ) เราเป็นเว็บสาวกนะ เราชอบแอปเปิ้ล ฉะนั้นคุณจะหาความเป็นกลางจากเว็บนี้ไม่ได้ ทำมาทีแรกก็ไม่คิดว่ามันจะเวิร์กแต่ทำไปทำมาแค่ปีเดียวก็คืนทุนแล้ว เราลงทุนไปเยอะอยู่ คนเข้าเยอะขึ้นเรื่อยๆ จนตอนนี้คนเข้าเว็บนี้ 3 ล้านคนต่อเดือน น่าจะเป็นเว็บไอทีไทยเว็บหนึ่งที่คนจำได้ จนรายได้ของงานบล็อกส่วนตัวและของ MacThai และของหลายๆที่เริ่มมากกว่างานประจำ ถ้าอย่างนั้นก็เลยออกจากงานประจำมาทำบล็อกเกอร์เต็มตัว

ทำบล็อกเกอร์เต็มตัวได้ประมาณ 3-4 ปีก็เริ่มรู้จักกับคนในวงการ เริ่มทำอีเวนท์ เริ่มสร้างชื่อขึ้นเรื่อย ๆ จนได้รางวัลโซเชียลอวอร์ด ปี 2557 เป็นคนที่มียอดรีทวีตสูงสุดในประเทศตอนนั้น และติด 1 ใน 100 Online influencers ของไทย ก็เป็นรางวัลแห่งความภาคภูมิใจว่าเราไม่มีพื้นฐานเหมือนคนอื่น เราไม่ได้เป็นดาราหน้าตาดีหรือมีเสียงดี เราเริ่มจากศูนย์จนมีคนรู้จักได้ จนสุดท้ายก็ตัดสินใจเปิดบริษัทขึ้นมา กลุ่ม Rabbit เขาก็มาชวน ว่าจะทำบล็อกเป็นฟรีแลนซ์ ลองมาทำเป็นบริษัทดูไหม ประกอบกับ 2 ปีที่ผ่านมาเป็นยุคที่เกิดจุดเปลี่ยนของสื่อไทยพอดี คือ แมกกาซีนปิดไปเยอะจาก 500 หัวเหลือประมาณ 200 กว่าหัว ก็มองเห็นว่า คนอ่านยังอยากอ่านอยู่ คนยังอยากอ่านอิมเมจ (IMAGE) อยากอ่าน kc weekly แต่ว่ารูปแบบการใช้ชีวิตมันเปลี่ยนไป มันไม่เหมาะกับการไปซื้อแมกกาซีนมาอ่านแล้ว มันเหมาะกับการอ่านบนโทรศัพท์ อ่านบนเฟซบุ๊ก อ่านบนทวิตเตอร์ ด้วยความที่เรามีประสบการณ์ด้านนี้ก็ว่า น่าจะเปิดบริษัทขึ้นมา เกิด "บริษัท เดอะ ซีโร่ พับบลิชชิ่ง จำกัด" ขึ้นมา

ที่บอกว่าตอนทำบล็อก ลงทุนไปเยอะ มีต้นทุนอะไรบ้าง เพราะคนทั่วไปมองว่าทำบล็อกทำเว็บไซต์ต้นทุนน่าจะไม่มาก

จริง ๆ มันก็ใช้ทุนเหมือนกันถ้าเราจะทำให้มันดี คือพรุ่งนี้เด็กป.3 คนหนึ่งเข้าเว็บไซต์สร้างบล็อกตัวเองก็ทำได้แล้ว เพียงแต่ว่าพอทุกคนสามารถทำคอนเทนต์ได้แล้วคอนเทนต์ไหนที่คนชอบ มันก็จะมีตัวที่คอยวัดว่าคอนเทนต์นี้คืออันที่มันดี อันนี้คืออันที่คนชอบ ซึ่งการจะทำคอนเทนต์ที่ดีไม่ใช่แค่ว่าเราเขียนก็จบ มันต้องมีการลงทุนเพื่อสร้างคอนเทนต์ขึ้นมา แค่ภาพอย่างเดียวก็รวมไปถึงการซื้อกล้อง การฝึกฝน การไปเรียน การซื้อซอฟต์แวร์มาทำให้มันดีเพื่อให้ได้ภาพ 1 ใบ ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ ยิ่งช่วงหลังคอนเทนต์วิดีโอมาแรง การลงทุนในการทำวิดีโอก็มีต้นทุนที่สูงขึ้นไปอีก เปรียบเทียบก็เหมือนกับว่าเราเขียนบนกระดาษ 1 แผ่นให้เพื่อนอ่าน ต่อมาเราทำวิทยุ ต่อมาเราทำหนังสือพิมพ์ และต่อมาเราทำทีวี ต้นทุนมันก็สูงขึ้นเรื่อย ๆ คอนเทนต์ออนไลน์ก็เหมือนกัน ถ้าเราทำให้มันเหมือนกระดาษแผ่นเดียวใคร ๆ ก็ทำได้ แต่ถ้าจะทำให้ดีมันก็ต้องใส่ใจ ใส่การลงทุน ใส่ทีมงาน เข้าไปเพิ่ม

กลับมาที่การตั้ง บริษัท เดอะ ซีโร่ พับบลิชชิ่ง จำกัด

คือเรารู้จักกับเพื่อน ๆ ในวงการสื่อเยอะ ทั้งสื่อทีวี ออนไลน์ และสื่อดั้งเดิม เราก็พอเห็นว่าโมเดลของการทำคอนเทนต์ในรูปแบบดั้งเดิมมันก็มีอยู่ แต่เราอยากลองทำอะไรที่มันไม่เหมือนเดิมดู ทำไมการทำข่าวต้องมีนักข่าว มีครีเอทีฟ มีตากล้อง มีคนตรวจคำผิด ซึ่งในกระบวนการทำข่าวมันทำให้เกิดความช้า เกิดต้นทุนที่สูง แต่พอเราเป็นบล็อกเกอร์มาเป็น10 ปี เราทำทุกอย่างเอง คือเราหาข่าวเอง ถ่ายภาพเอง เขียนเนื้อหาเอง โปรโมทเอง โพสต์เอง ตัดวิดีโอเอง เราทำเองได้หมดเลย เทคโนโลยีเดี๋ยวนี้มันเอื้อให้เราทำทุกอย่างได้เอง แล้วต้นทุนมันไม่ได้สูงมาก ก็เลยคิดว่ามันจะเป็นยังไงถ้าเราเอาคนที่ทำทุกอย่างเองได้จบมาอยู่รวมกัน

อย่างเว็บไซต์แรก Mango Zero ก็คิดว่าถ้าเราเอาบล็อกเกอร์ทั้ง 6 คน มาให้โจทย์ทุกวันที่ไม่เหมือนเดิม วันนี้เราอาจจะทำเรื่องนกม่วงหัวโยกที่คนสนใจ พรุ่งนี้เราอาจจะทำเรื่อง The Mask singer ซึ่งโจทย์เปลี่ยนไปทุกวันโดยคนที่ทำได้ตั้งแต่ต้นจนจบได้ด้วยตัวเองมันจะเป็นอย่างไร เลยกลายเป็นสำนักข่าวที่เป็นการรวมตัวกันของกลุ่มบล็อกเกอร์ขึ้นมา เว็บแรกก็ Mango Zero และภายในปีนี้เราจะมีเว็บออกมาอีก 2 เว็บ รวมเป็น 3 เว็บ แต่ว่าทุกคนในทีมจะไม่มีฝ่าย ไม่มีการแบ่งแยก ทุกคนหน้าที่เหมือนกันหมดคือเป็นบล็อกเกอร์ ทำตั้งแต่ต้นยันจบ ไปจนถึงเก็บสถิติ คุยกับลูกค้าเองก็ยังได้ด้วยซ้ำ

อีก 2 เว็บใหม่ที่กำลังจะเปิดตัวพอจะเปิดเผยได้ไหมครับว่าเป็นเว็บอะไร

ยังเปิดเผยอย่างเป็นทางการไม่ได้ แต่อีกไม่เกิน 2 เดือนก็จะได้เห็นกัน ตอนนี้มี Mango Zero ที่เราเปิดมาได้ 4-5 เดือน ก็มีคนเข้าเว็บรวมประมาณ 1 ล้านคนต่อเดือน รวมถึงมีคนตามในโซเชียลเกือบ 2 แสนคน ซึ่งก็ค่อนข้างไว และก็ชี้ได้ว่าไอเดียที่คิดมาตอนแรกได้ผลตอบรับค่อนข้างดี

ตอนที่คิด Mango Zero หน้าตามันเป็นอย่างไร จะบอกคนที่จะเปิดเข้าไปว่ามันคืออะไรว่าอย่างไร

Mango Zero คอนเซ็ปต์ คือ Creative Social News ก็คือเว็บ Social News ในไทยมันเยอะมาก เพียงแต่ของเรามันเพิ่มความครีเอทีฟขึ้นมาอีกเลเวลหนึ่ง สมมุติมีข่าวกระแสนกม่วงโยกหัว ทุกสำนักก็ทำข่าวเหมือนกัน แต่แทนที่เราจะทำข่าวตรงๆว่ามีกระแสนกม่วงโยกหัวนะ คนใช้เยอะนะ เราทำให้มันครีเอทีฟเพิ่มขึ้นมามากกว่านั้น เช่น เราไปสัมภาษณ์คนที่วาดจริง ๆ เลยว่าเขาคิดยังอย่างไรกับกระแสที่เกิดขึ้น เขาคิดอย่างไรกับคนไทย แล้วก็เปลี่ยนรูปแบบการนำเสนอจากบทสัมภาษณ์ เป็นไวรัลวิดีโอ และภาพชุด โดยเลือกวิธีการนำเสนอให้เหมาะสมกับแต่ละแพลตฟอร์มของโซเชียล ถามว่า Mango Zero คืออะไร ก็คือเว็บข่าวนี่แหล่ะ แต่เป็นเว็บข่าวที่นำเสนอในแง่การสร้างครีเอทีฟ และก็นำเสนอแต่เรื่องดี ๆ จะไม่มีข่าวคลิกเบท จะไม่มีข่าวฆาตกรรม แต่จะเป็นข่าวที่อ่านแล้วได้พัฒนาตัวเองขึ้นมาด้วย

ทีมงาน Mango Zero ทำงานกันอย่างไร

ตอนแรกของบริษัทเลย เราก็ประชุมกันทั้งทีมเลยว่าใครชอบอะไรไม่ชอบอะไร จนได้ก้อนกลม ๆ มาว่านี่คือความเป็น Mango Zero ดังนั้นทุกคนก็จะมีไอเดียแล้วว่าเรามีคอนเซ็ปต์อย่างไร แล้วทุกวันตอน 10 โมง จะมีประชุมกอง ทุกคนจะมาคุยแล้วเอาประเด็นมากองรวมกัน อาจจะมีสัก 30-40 เรื่องในแต่ละวัน แต่เราจะเลือกมาแค่ไม่เกิน 5-6 เรื่องที่จะมานำเสนอ เรื่องนี้ดี เรื่องนี้ไม่เหมาะ เรื่องนี้อาจต้องหาข้อมูลเพิ่ม หรือเรื่องนี้อาจจะต้องไปหาแหล่งข่าวเพิ่มเพื่อมาต่อยอด พอได้ประเด็นปุ๊บ วันนี้ทุกคนก็จะมีประเด็นว่าใครจะทำประเด็นเอ บี ซี ดี แต่ละคนก็จะแยกย้ายกันไป ด้วยความที่แต่ละคนเนเจอร์เป็นบล็อกเกอร์ ทุกคนก็ทำได้เองตั้งแต่ต้นจนจบ สมมุติว่า วันนี้เรามีข่าวเปิดตัวร้านอาหารสักร้านที่น่าสนใจมาก ๆ เราก็ส่งน้องไปคนเดียว ซึ่งน้องคนนี้ทำเองได้หมด ตั้งแต่หาข่าว ถ่ายภาพ สัมภาษณ์ ทำคลิป กลับมาทำโปรเซสรูป และโพสต์ลงโซเชียล พอจบวันปุ๊บก็กลับมาเริ่มใหม่ ที่นี้โปรเซสจะต่างกันนิดนึง คือ บก.ก็จะมาช่วยเลือกประเด็นและรูปแบบการนำเสนอ แต่ว่านักข่าวทำเองตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ

แสดงว่าใน 1 วันก็ผลิตข่าวออกมาได้ไม่มากใช่ไหมครับ

ก็ใช่ครับ ถ้าเทียบกับเว็บอื่น ๆ เว็บแปลข่าว เว็บที่เอาข่าวมารีไรท์ใหม่ คนหนึ่งอาจจะทำได้สัก 3-4 ข่าว แต่ว่าด้วยความที่ถ้าเราทำเหมือนคนอื่นมันก็ไม่ต่างจากชาวบ้าน เราก็ใส่ความครีเอทีฟเข้ามา พอมีความครีเอทีฟเข้ามา มันก็เลยใช้เวลาในการทำ ใช้เวลาในการคิด วันหนึ่งเราก็จะผลิตได้ประมาณ 6-10 ข่าว ปริมาณไม่ได้เยอะมากถ้าเทียบกับเว็บอื่น แต่เราก็ได้รับการพิสูจน์ในโลกออนไลน์แล้วว่าค่อนข้างเวิร์ก ในเพจเฟซบุ๊กของเราทุกเดือนจะมียอดรีช (Reach) ประมาณ 10 ล้านคน ทุกสัปดาห์จะมีคอนเทนต์ที่มียอดแชร์เกินพันหรือหลักหมื่นอย่างน้อย 1 โพสต์ ซึ่งมันก็พิสูจน์แล้วว่าถ้าเราคิดให้ดีแล้วค่อยนำเสนอให้มันดี เรานำเสนอจำนวนไม่ต้องเยอะก็ได้ รวมถึงสปอนเซอร์เองก็เห็นว่าเราทำได้ดีก็เริ่มมีสปอนเซอร์เข้ามา

เดอะ ซีโร่ พับบลิชชิ่ง คือบริษัทหัวนิตยสาร แต่ไม่ได้ทำแมกกาซีน มาทำคอนเทนต์ออนไลน์แทนใช่ไหม

ใช้คำว่า พับบลิชเชอร์แล้วกัน พับบลิชเชอร์ในต่างประเทศสามารถเหมารวมไปถึงการทำทีวี การทำนิตยสาร หนังสือพิมพ์ หรือสื่อออนไลน์ คำว่า พับบลิชเชอร์ ก็คือการที่เราเป็นสื่อที่นำเสนออะไรก็ได้ให้กับผู้คน เพราะฉะนั้นเราทำไลฟ์ก็ได้ เราทำรายการวิทยุก็ได้ เราอยากทำอะไรก็ได้ที่เป็นรูปแบบของสื่อ จุดเด่นของเราก็คือสื่อออนไลน์ เราทำออนไลน์ 100% ซึ่งเราทำสื่อที่เหมาะกับแพลตฟอร์มโซเชียลนั้น ๆ ด้วย

เป้าหมายระยะยาวของ เดอะ ซีโร่ พับบลิชชิ่ง คืออะไร

เราอยากเป็นสื่อที่ (คิด) ภาษาอังกฤษเขาเรียก Influencer คนอ่าน คือเป็นสื่อที่พอพูดอะไรออกมาแล้วคนฟัง ก็คือถ้ามีนักข่าวคนหนึ่งอยู่ดี ๆ พูดอะไรขึ้นมา กับถ้า สรยุทธ สุทัศนะจินดา พูดขึ้นมา น้ำหนักไม่เท่ากัน ความเชื่อของคนก็ไม่เท่ากัน ประเด็นที่ช่วยชักจูงสังคมก็ไม่เท่ากัน เดอะ ซีโร่ พับบลิชชิ่ง อยากเป็นสื่อที่พูดแล้วมีน้ำหนัก คนให้ความสนใจ และรู้ว่านี่คือสื่อคุณภาพที่เชื่อถือได้

“ในข่าวเดียวกันอย่าทำคอนเทนต์แค่ชุดเดียวแล้วกระจายไปทุกโซเชียล จงทำคอนเทนต์ให้เหมาะกับแต่ละโซเชียล"

ในฐานะที่เป็นบล็อกเกอร์มานาน มีเทคนิคจับกระแสคนอ่านในโลกออนไลน์บ้างไหม

อย่างแรกคือ เราต้องทำลายกรอบความคิดก่อน เพราะโลกออนไลน์มันไม่ได้มีแค่มิติเดียว มีมิติที่เยอะมาก วิธีการนำเสนอของสื่อต้องเปลี่ยนไปตลอดเวลา เทียบง่ายๆเลยถ้าย้อนกลับไปเมื่อ 3 ปีก่อน เว็บหนังสือพิมพ์ทุกเจ้าให้นักข่าวไปทำข่าวเสร็จแล้วก็เอาคอนเทนต์ที่จะลงหนังสือพิมพ์มาลงในเว็บตัวเอง พอลงเว็บเสร็จก็เอาลิงค์ไปแปะในทวิตเตอร์ ไปแปะในเฟซบุ๊กให้คนกดเข้าไปอ่านในเว็บไซต์ ซึ่งกาลเวลามันพิสูจน์แล้วว่าวิธีนี้มันไม่ได้เวิร์ก เฟซบุ๊กจะทำอย่างไรให้เวิร์ก คอนเทนต์มันก็มีรูปแบบของมันอยู่ ทำแบบนี้มันเวิร์กในเฟซบุ๊ก แต่ทำแบบนี้มันไม่เวิร์กในทวิตเตอร์ด้วย ทวิตเตอร์มันก็ต้องมีอีกแบบหนึ่ง ในอินสตาแกรมก็ทำอีกแบบ ในยูทูปก็ต้องทำอีกแบบ คลิปที่เวิร์กในยูทูปก็ไม่เวิร์กในเฟซบุ๊ก เพราะฉะนั้นถ้าคุณจะทำบนโลกออนไลน์คุณต้องเข้าใจแพลตฟอร์มทุกอัน และต้องนำเสนอในรูปแบบที่เหมาะกับแพลตฟอร์มนั้น ๆ ในข่าวเดียวกันอย่าทำคอนเทนต์แค่ชุดเดียวแล้วกระจายไปทุกโซเชียล จงทำคอนเทนต์ให้เหมาะกับแต่ละโซเชียล

ไม่ต้องเดาพฤติกรรมคนอ่านเลยใช่ไหมครับ แค่ทำคอนเทนต์ให้เข้ากับแพลตฟอร์มก็พอ

ถ้าเราอิงกับแพลตฟอร์มนั้น ๆ เราจะอิงกับคนอ่านเอง คนอ่านที่สิงอยู่แต่กับทวิตเตอร์ทั้งวัน เขาก็จะรู้ว่ารูปแบบแบบนี้คือรูปแบบคอนเทนต์ที่เขาชอบ คนที่สิงอยู่กับเฟซบุ๊กทั้งวันก็จะรู้ว่าคอนเทนต์แบบนี้คือสิ่งที่เราชอบ เพราะฉะนั้นถ้าเราสิงไปอยู่ตรงนั้นมากพอเราก็พอจะรู้ว่า เออ..คนอ่านชอบแบบนี่ สังเกตง่าย ๆ คอนเทนต์ที่มียอดแชร์เป็นหมื่น ๆ ในเฟซบุ๊ก จะไม่มีรูปแบบเดียวกันนี้ในทวิตเตอร์ หรือ คอนเทนต์ที่มีคนรีทวีตเป็นหมื่น ๆ แสน ๆ อย่างทวิตเตอร์ ก็จะไม่มีในเฟซบุ๊ก ถ้าเราเข้าใจแพลตฟอร์มก็จะเข้าใจเนเจอร์คนในกลุ่มนั้น ๆ ด้วย

“เอาจริงๆตั้งแต่ทำออนไลน์มาเป็นสิบปียอดโฆษณามันเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ยังไม่เคยมีปีไหนที่ตกลงเลย เพราะฉะนั้นยังไปได้อีกเยอะ"

สื่อดั้งเดิมก็กระโดดมาเล่นสนามออนไลน์กันหมดแล้ว ขณะที่เราตัวเล็กกว่าเขา คิดว่าเราได้เปรียบหรือเสียเปรียบ

(นิ่งคิด) คือทุกคนก็ทำสื่อออนไลน์หมด ทุกคนก็มีแนวทางของตัวเอง ถามว่าทุกวันนี้มันเต็มหรือยัง คือธุรกิจสื่อมันแทบจะไม่มีวันเต็มนะ นิตยสารแฟชั่นก็ยังเกิดขึ้นเรื่อย ๆ สมัยอดีตมีนิตยสารแฟชั่นเกิดขึ้นเป็นสิบ ๆ หัว แต่ก็เพิ่มมาเป็นสามสิบ สี่สิบ ห้าสิบหัวได้ คนย้ายจากนิตยสารมาอ่านออนไลน์เยอะขึ้นแต่มันก็ยังไม่เยอะมากพอ เทียบง่าย ๆ จากยอดการใช้จ่ายออนไลน์ มันจะมีกราฟอยู่ตัวหนึ่งที่อเมริกา หนังสือพิมพ์มันลงเรื่อย ๆ ออนไลน์มันโตขึ้นเรื่อย ๆ จุดที่ออนไลน์แซงหนังสือพิมพ์มันอยู่ที่ประมาณปี 2554 - 2555 ผมว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในอเมริกาจะเกิดขึ้นในเมืองไทยภายใน 5 ปี อเมริกาฮิตไอ้นี่สักพักเมืองไทยฮิต อเมริกาเกิดวิกฤติสักพักเมืองไทยเกิดวิกฤติตาม ถามว่าไทยตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง ของไทยยอดโฆษณาในสื่อดั้งเดิมยังคงมากกว่าออนไลน์อยู่แปลว่า เมืองไทยยังมีโอกาสที่สื่อออนไลน์จะโตได้อีกเยอะมาก ตอนนี้มันอาจจะเป็นแค่จุดเริ่มด้วยซ้ำ

ถ้าเรากด fast forward ไปอีก 5 ปีข้างหน้าแล้วมองย้อนกลับมาตอนนี้เราจะมองว่า สื่อออนไลน์ไทยโตนิดเดียวเอง เพราะฉะนั้นจริงๆแล้วยิ่งมีคนมาเล่นออนไลน์เยอะๆก็ยิ่งดี ยิ่งช่วยเสริมภาพ เอาจริงๆตั้งแต่ทำออนไลน์มาเป็นสิบปียอดโฆษณามันเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ยังไม่เคยมีปีไหนที่มันตกลงเลย เพราะฉะนั้นยังไปได้อีกเยอะ

พูดถึงเรื่องโฆษณา อยากรู้โมเดลหารายได้ของเว็บไซต์

โอเค ที่ไหนมีคนอ่านที่นั่นก็มีโฆษณา เหมือนวิทยุถ้ามีคนฟังเยอะก็มีโฆษณาเยอะ ทีวีถ้ามีคนดูเยอะก็มีโฆษณาเยอะ เว็บก็เหมือนกันถ้ามีคนอ่านเยอะก็มีโฆษณาเข้ามา ซึ่งเข้ามาในรูปแบบต่าง ๆ คนทำเว็บก็คงรู้กันอยู่แล้วว่ามีไม่กี่อย่าง แบนเนอร์ (Banner), ไทอิน (Tie-in), แอดเวอทอเรียล (Advertorial), ข่าวพีอาร์ (PR news), อีเวนท์ (Event) ทำได้ทุกอย่างเลยขึ้นอยู่กับว่าจะทำรูปแบบนี้ แต่โมเดลหลักของ เดอะ ซีโร่ พับบลิชชิ่ง คือ แอดเวอทอเรียล เพราะเราเป็นครีเอทีฟคอนเทนต์ ลูกค้าก็จะชอบในการเอาสินค้าหรือโปรโมชั่นเขามาทำในรูปแบบใหม่ ๆ ที่มันไม่เหมือนกับการทำข่าวพีอาร์ทั่วไป

เทรนด์ตอนนี้มันมาทางแอดเวอร์ทอเรียล (Advertorial)ใช่ไหม

แล้วแต่เว็บ บางเว็บมียอดดูเยอะ แต่ยอดอ่านไม่เยอะก็จะเป็นแบนเนอร์ไป บางเว็บวาดการ์ตูนก็จะแนวไทอินสินค้า บางเว็บทำคลิปก็จะเอาสินค้ามาวางไทอินแบบนี้ก็มี อย่างของซีโร่มันเป็นครีเอทีฟคอนเทนต์มันก็เลยเป็นครีเอทีฟแอดเวอร์ทอเรียล

เอาทุนส่วนตัวมาตั้งบริษัท เดอะ ซีโร่ พับบลิชชิ่ง หรือมีทุนจากที่อื่นด้วย

เอ่อ มีทั้งทุนส่วนตัว แล้วก็มีทุนจากทางแรบบิท ดิจิทัล กรุ๊ป ด้วย มาร่วมหุ้นกัน แล้วก็มีเงิน invest มาบ้าง

“ศาสตร์ของการทำออนไลน์ต่างจากศาสตร์การทำสื่อดั้งเดิมที่การเรียนการสอนในแบบนิเทศศาสตร์เคยทำมา"

มองว่าอนาคตโลกออนไลน์จะเป็นแพลตฟอร์มหลักแทนสื่อดั้งเดิมทั้งหมดหรือไม่

(นิ่งคิด) ผมไม่เชื่อว่าทีวี หนังสือพิมพ์ แมกกาซีน จะตาย มันยังมีคนอ่านอยู่เพียงแต่ว่ามันอยู่ในช่วงขาลงเท่านั้นเอง แต่มันจะลงไปถึงจุดหนึ่งที่มันโอเคแล้ว อย่างที่อเมริกาตอนนี้ไม่ค่อยมีข่าวสื่อปิดตัวแล้ว เริ่มอยู่ในสถานะคงที่ แต่เมืองไทยอยู่ในช่วงขาลงมันก็จะปิด ๆๆๆ กันไป แต่พอถึงจุดหนึ่งที่อยู่กันได้

ส่วนออนไลน์แน่นอนมันคืออนาคตที่สื่อทุกสื่อจะมาทางนี้ แต่ว่ามันก็ไม่หมดเสียทีเดียว ก็จะมีบางสื่อที่เหมาะกับการเสพแบบเก่าอยู่ สังเกตง่าย ๆ นิตยสารบางฉบับไม่ปิด เช่น นิตยสารเย่อกับปลา หรือ เช่าพระเครื่อง ธุรกิจแบบนี้ก็ยังคงอยู่กับสื่อดั้งเดิมต่อไปได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องมาออนไลน์

เด็กวิศวะหันมาทำสื่อ เด็กนิเทศฯจะตกงานไหมครับ (หัวเราะ) หรือว่าการเรียนด้านสื่อต่อไปต้องปรับตัวให้เข้ากับสื่อสมัยใหม่

กู๊ด เควสชั่น เอิ่ม (คิด) ศาสตร์ของการทำออนไลน์ต่างจากศาสตร์การทำสื่อดั้งเดิมที่การเรียนการสอนในแบบนิเทศศาสตร์เคยทำมา การเรียนนิเทศฯอาจเป็นเรื่องของศิลปะสัก 70% เป็นเรื่องของพื้นฐานความรู้ความเข้าใจสัก 30% แต่พอมาทำสื่อออนไลน์มันต้องบวกความเข้าใจในเทคโนโลยีเข้าไปด้วยอีกสัก 30%เลย ซึ่งเด็กวิศวะจะเข้าใจเทคโนโลยีเป็นหลัก แต่ขาดความเข้าใจในศิลปะ ผมโชคดีที่มาทางสายไอทีและเข้าใจศิลปะบ้าง ก็เลยอะแดปตัวเองได้ สตีฟ จอบส์ พูดคำหนึ่งว่า เราอยู่ในยุคที่เป็นจุดตัดระหว่างโลกของเทคโนโลยีกับโลกของศิลปะ แล้วมันจะเข้าใกล้กันมากขึ้นเรื่อย ๆ จนวันหนึ่งมันจะหลอมรวมเป็นเนื้อเดียวกัน

สื่อ ถ้าไม่รู้จักศิลปะก็นำเสนอในโลกออนไลน์ไม่ได้ แต่ถ้าไม่เข้าใจโลกไอทีเลยก็ไม่เข้าใจโลกออนไลน์เหมือนกัน เราก็จะเริ่มเห็นสายการตลาดเริ่มเรียนสตาร์ทอัพ นิเทศฯก็เริ่มเรียนวิชาสื่อออนไลน์เข้ามา แม้แต่เด็กที่เรียนสายวิศวะเองก็เรียนเรื่องการเป็นสื่อในโลกออนไลน์ด้วยเหมือนกัน

มองเฟซบุ๊กยังไงในฐานะแพลตฟอร์มหลักที่สื่อออนไลน์ต้องพึ่งพา

ตอนนี้เฟซบุ๊กเป็นสื่อที่ครองโลกไปครึ่งโลกแล้ว เฟซบุ๊กอยากจะทำอะไรก็ได้ วันหนึ่งอยากจะลดรีช (Reach) ชาวบ้านก็ลด อยากจะดันวิดีโอให้ดังก็ดันได้ แต่เราก็ไปอาศัยเขาในการนำเสนอ เพราะฉะนั้นเราก็ต้องเคารพสิทธิของเขา ก็เหมือนวันหนึ่งเราไปใช้ทีวี ทีวีก็มีการประมูลคลื่นมีมาตรฐานอะไรของมัน ผมมองว่าเฟซบุ๊กก็เหมือนเราไปเช่าสถานีโทรทัศน์ช่องหนึ่ง แค่ตอนนี้มันเป็นสื่อที่ dominate โลกค่อนข้างเยอะ แต่ถามว่ามันทั้งหมดไหม ก็ไม่ใช่ คนก็ยังคงเข้ากูเกิ้ล เข้าเว็บไซต์ เข้าสแนปแชท เข้าไลน์ มันก็ยังมีแพลตฟอร์มอื่น ๆ ให้อยู่ แต่ยอมรับว่าเฟซบุ๊กคือเบอร์ 1 ในเมืองไทยตอนนี้ ถ้าคุณอยากจะทำสื่อคุณก็ต้องทำบนเฟซบุ๊กให้ได้ ถ้าทำคอนเทนต์บนเฟซบุ๊กไม่ได้คุณก็ไม่มีทางทำบนสื่ออื่นได้เช่นกัน

“เราลองผิดลองถูกได้ เราทำอะไรแปลกๆใหม่ๆได้โดยที่ไม่ต้องมีภาพเดิม ๆ เรารีเฟรชใหม่เมื่อไหร่ก็ได้ แล้วเราก็เป็นคนรุ่นใหม่ที่ไม่ต้องสู้กับการเปลี่ยนแปลงเรื่องผังองค์กรภายใน เรื่องโน่นเรื่องนี่ เราโฟกัสอยู่ที่คอนเทนต์เท่านั้น"

อะไรที่ทำให้เรามั่นใจว่าเว็บไซต์ตั้งใหม่ยอดคนติดตามหลักแสนจะอยู่ได้ และสามารถสู้กับสื่อใหญ่ๆที่ทำมานานและมีคนติดตามเยอะ ๆหลักล้าน

ข้อดีของการทำโลกออนไลน์คือเราไม่ได้สู้กับใครเราสู้กับตัวเอง มันไม่ใช่ว่าดาราคนหนึ่งพูดปุ๊บ ถ้าเป็นสมัยก่อนนักข่าวต้องแย่งกันลงข่าวนี้ให้ได้คนแรก แต่สื่อออนไลน์มันแข่งกันที่รูปแบบการนำเสนอ ไม่ได้มีความรู้สึกว่าเราต้องไปชนะคนอื่น รู้สึกแค่ว่าทำของตัวเองให้ดีที่สุดแล้วคนอ่านจะเป็นผู้พิสูจน์เอง อันนี้คือจริง ๆ นะ เหมือนกับการเขียนหนังสือเล่มหนึ่ง เราเขียนหนังสือขึ้นมาเราไม่ได้ต้องการแข่งกับหนังสือเล่มอื่นนี่หว่า เราเขียนขึ้นมาเพื่อให้คนอ่าน เพราะถ้าคนอ่านชอบเขาก็ซื้อ ๆๆๆ เราก็พิมพ์ ๆๆ ออกมา สื่อออนไลน์เหมือนกัน เราไม่ได้แบบ เฮ้ย ถ้า sanook ทำข่าวเดียวกับเราแล้วเรายอดจะแย่ มันไม่ขนาดนั้น มันไม่เชิงแข่งแต่มันเป็นการสู้กับตัวเองมากกว่าว่าจะทำอย่างไรให้อยู่รอดกับธุรกิจนี้ได้ ส่วนสื่ออื่นก็คงต้องปรับตัว เพราะเฮ้ยโลกออนไลน์มีสื่อใหม่ ๆ เข้ามาเยอะแยะเลย แล้วสื่อดั้งเดิมอย่างเราจะสู้กับเขาอย่างไร

บางคนอาจแย้งว่าคำตอบอุดมคติจัง จริง ๆ มันอยู่ด้วยรายได้ไม่ใช่เหรอ

เอ้า โอเค ๆ เอ่อ สุดท้ายที่ทุกคนแย่งกันคือแย่งโฆษณา ถ้าลูกค้ามีงบ1ล้านบาท จะลงที่เรากี่บาท เพราะฉะนั้นเราก็ต้องทำให้มันเตะตาจนลูกค้ายอมที่จะเอางบโฆษณาอันนี้ที่เคยให้สื่ออื่นมาอยู่ที่เรา ถ้ามองในแง่นี้ก็คือการแข่งขันถูกต้อง แล้วบริษัทเล็ก ๆ จะสู้ได้ไง สู้ได้ที่เราไม่มีต้นทุนที่ต้องไปสู้กับใคร (หัวเราะ) เราลองผิดลองถูกได้ เราทำอะไรแปลกๆใหม่ๆได้โดยที่ไม่ต้องมีภาพเดิม ๆ เรารีเฟรชใหม่เมื่อไหร่ก็ได้ แล้วเราก็เป็นคนรุ่นใหม่ที่ไม่ต้องสู้กับการเปลี่ยนแปลงเรื่องผังองค์กรภายใน เรื่องโน่นเรื่องนี่ เราโฟกัสอยู่ที่คอนเทนต์เท่านั้น ไอ้นี่ล่ะมั้งที่เป็นส่วนที่สู้ได้

แสดงว่าเอเจนซี่โฆษณาเขาก็ไม่ได้ดูแค่ยอดคนติดตามอย่างเดียว แต่เขาดูคอนเทนต์ด้วยใช่ไหม

แน่นอน เรื่องนี้อยากลงกับสรยุทธ (สุทัศนะจินดา) แต่เรื่องนี้ไม่อยากลง เรื่องนี้อยากลงกับเพจคนอะไรมีแฟนเป็นหมี แต่เรื่องนี้อาจจะไม่เหมาะ เฮ้ย มันมีพับบลิชเชอร์เกิดใหม่อันนี้น่าสนใจว่ะ เออลองดูแล้วเวิร์กมากเลยก็ลงอีก มันก็เป็นเนเจอร์แบบนี้

ระหว่างการมีหน่วยงานรัฐเข้ามากำกับควบคุมสื่อออนไลน์ กับ ปล่อยอิสระ มองว่าแบบไหนเวิร์กกว่ากัน

หืม (คิดนาน) โอเค โดยทฤษฎีอะไรที่ไม่มีการควบคุมมันก็คงเละเทะลามปามเลยเถิด โดยเฉพาะเรื่องของการทำน้ำหยดหนึ่งแล้วมันกระจายไปทั่วถ้ามันไม่มีอะไรกั้นบ้าง น้ำที่กระจายไปมันอาจจะเป็นน้ำที่หยดผิดก็ได้ แต่พอมันมาอยู่ในโลกอินเทอร์เน็ตที่ทุกคนมีอำนาจเท่ากันใครอยากโพสต์เฟซบุ๊กก็ได้ ทุกคนก็เป็นสื่อมันเลยยากแก่การควบคุม ทีนี้รูปแบบมันเลยเปลี่ยนไป คือสมัยก่อนรัฐสามารถควบคุมได้ว่าสื่อที่มันออกมาทั้งทีวี วิทยุ หนังสือพิมพ์ อยู่ในการควบคุมของรัฐได้เพราะว่ามันมีช่องทางการปล่อยจำกัด แต่เดี๋ยวนี้คนเล่นอินเทอร์เน็ตอยากเล่นที่ไหนก็ได้มันเลยไม่สามารถปิดกั้นได้100% เพราะฉะนั้นสิ่งที่มันเวิร์กที่สุดไม่ใช่การปิดกั้น แต่เป็นการออกกฎขึ้นมาในเลเวลที่ถ้าคุณทำผิดมันก็มีโทษระดับหนึ่ง เช่น ถ้าคุณไปลอกคอนเทนต์ชาวบ้านมาก็ผิดกฎหมายลิขสิทธิ์มีการฟ้องร้อง แต่ไม่ใช่คุณไปบอกห้ามก็อปกันแบบนี้มันทำไม่ได้ คุณทำรายการยูทูปห้ามพูดคำหยาบแต่คุณห้ามทุกคนไม่ได้ คุณก็อาจจะต้องไปคุยกับยูทูปไหมว่าให้มีเซ็นเซอร์ หรือ มีระบบจัดเรทติ้งวัดอายุคนขึ้นมา ดังนั้นกฎหมายไม่ได้สร้างขึ้นมาเพื่อควบคุมการเกิดสื่อออนไลน์ แต่มีไว้ให้โทษสื่อที่ออกไปแล้วผิดกฎหมาย


แท็ก ข้องใจ   บล็อก   mask  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ