ทุเรียนเชื่อมสัมพันธ์เศรษฐกิจจีน-ไทย ผู้เชี่ยวชาญชี้ยังครองใจผู้บริโภคแม้การแข่งขันสูง

ข่าวต่างประเทศ Thursday May 8, 2025 16:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทุเรียนเชื่อมสัมพันธ์เศรษฐกิจจีน-ไทย ผู้เชี่ยวชาญชี้ยังครองใจผู้บริโภคแม้การแข่งขันสูง

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ปัจจุบันทุเรียนสดจากกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังทยอยเข้าสู่ตลาดจีนอย่างต่อเนื่องตามการมาถึงของฤดูเก็บเกี่ยวและจำหน่ายทุเรียน โดยเมื่อไม่นานนี้ มีการขนส่งทุเรียนไทยสู่จีน 6 ตู้คอนเทนเนอร์ น้ำหนักรวม 96 ตัน ซึ่งเป็นการขนส่งผ่านเวียดนามและผ่านพิธีการศุลกากรอันรวดเร็ว ณ ด่านหลงปังในเมืองจิ้งซี เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางตอนใต้ของจีน โดยทุเรียนชุดนี้ถูกขนส่งต่อไปยังเมืองหนานหนิงและกระจายสู่ตลาดทั่วจีน

ราชาแห่งผลไม้อย่าง "ทุเรียน" ที่มีรสและกลิ่นเป็นเอกลักษณ์ได้รับความนิยมในหมู่ผู้บริโภคชาวจีนมากขึ้น และกลายเป็นหนึ่งในตัวเลือกประจำบนจานผลไม้ของชาวจีนหลายครอบครัว ซึ่งทุเรียนเนื้อสีเหลืองทองพูอวบอ้วนที่ข้ามทะเลข้ามภูเขาข้ามพรมแดนประเทศ เดินทางไกลจากปลายกิ่งก้านสู่ปลายลิ้นผู้บริโภคชาวจีนนี้ ได้บอกเล่าเรื่องราวมิตรภาพทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างจีนกับไทยที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นในปัจจุบัน

ณ ซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งหนึ่งในเขตหย่งหนิงของเมืองหนานหนิง มีบรรดาลูกค้าเลือกซื้อทุเรียนหมอนทองจากไทยกันอย่างคึกคัก ซึ่งหญิงแซ่หวังคนหนึ่งเผยว่า ซื้อทุเรียนหมอนทองจากไทยมารับประทานกับครอบครัวเป็นประจำทุกปีและบางครั้งถึงกับสั่งจองล่วงหน้าด้วย โดยทุเรียนหมอนทองของไทยมีจุดเด่นที่เธอชอบตรงเม็ดเล็ก รสชาติสดใหม่ และกลิ่นหอม แถมราคาเหมาะสมอยู่ที่ 30 หยวน (ประมาณ 150 บาท) ต่อครึ่งกิโลกรัม

คนวงในอุตสาหกรรมทุเรียนมองว่า การค้าจีน-อาเซียนที่ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น และระบบโลจิสติกส์ข้ามพรมแดนที่พัฒนาดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความสะดวกรวดเร็วของการขนส่งทุเรียนจากกลุ่มประเทศอาเซียนเข้าสู่ตลาดจีน ทำให้ผู้บริโภคชาวจีนมีตัวเลือกมากขึ้น โดยนอกจากทุเรียนไทยแล้ว ยังมีทุเรียนจากประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน เช่น เวียดนาม และมาเลเซีย ที่ได้รับความนิยมในตลาดจีนเช่นเดียวกัน

หู เชา อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยชนชาติกว่างซี กล่าวว่า ปี 2546 ไทยเป็นประเทศแรกที่ได้รับอนุมัติจากสำนักบริหารศุลกากรทั่วไปของจีนให้ส่งออกทุเรียนสดตรงสู่จีน แม้การแข่งขันในปัจจุบันจะดุเดือด แต่ทุเรียนไทยยังคงครองใจผู้บริโภคและมีความสามารถทางการแข่งขันสูงในตลาดจีนที่มีความต้องการทุเรียนอีกมาก ขอเพียงรักษาคุณภาพและความปลอดภัย รวมถึงทำราคาที่ดี

ด้านหลิว หมินคุน รองคณบดีคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยกว่างซี กล่าวว่า ห่วงโซ่อุปทานทุเรียนของไทยที่มีข้อได้เปรียบชัดเจน ความสัมพันธ์อันดีระหว่างสองประเทศ กอปรกับการพัฒนาที่รวดเร็วของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซและระบบโลจิสติกส์ เป็นแรงสนับสนุนสำคัญที่ทำให้ทุเรียนไทยขายดีในจีน ทว่าทุเรียนไทยยังคงต้องให้ความสำคัญกับการควบคุมคุณภาพและความปลอดภัย เพื่อการเติบโตที่ดียิ่งขึ้นในระยะยาว

ขณะเดียวกันอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนได้ลดทอนขั้นตอนยุ่งยากของการค้าขายแบบดั้งเดิม นำสู่การเชื่อมโยงอุปทานและอุปสงค์อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้บริโภคสามารถค้นหาและเปรียบเทียบทุเรียนหลายสายพันธุ์จากแหล่งเพาะปลูกต่าง ๆ อย่างง่ายดาย ด้านผู้จัดจำหน่ายสามารถเข้าถึงตลาดจีนอันมีขนาดใหญ่มหึมาได้โดยตรง

อวี๋ ไห่ชิว ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยไทย สังกัดสถาบันเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา (คุนหมิง) แห่งประเทศจีน กล่าวว่า การพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลและการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่องช่วยเพิ่มโอกาสแก่ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างจีนกับไทย โดยสินค้าเกษตรของไทยพึ่งพาตลาดขนาดใหญ่ ศักยภาพการบริโภค และกฎเกณฑ์การค้าที่เป็นระเบียบและเป็นธรรมของจีน เชื่อว่าทั้งสองฝ่ายจะบรรลุผลประโยชน์ร่วมกันในหลายด้าน และร่วมเปิดบทใหม่ของความร่วมมือทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ