นักวิจัยออสเตรเลียเผยแนวโน้มวัคซีนโควิด-19 ป้องกันเชื้อได้ในระยะยาว

ข่าวต่างประเทศ Monday November 23, 2020 15:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักวิจัยออสเตรเลียเผยแนวโน้มวัคซีนโควิด-19 ป้องกันเชื้อได้ในระยะยาว

นักวิจัยชาวออสเตรเลียพบหลักฐานพิสูจน์ว่า ระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์สามารถรักษากลไกป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ซ้ำได้นานถึง 8 เดือน ซึ่งช่วยลดความกังวลที่คาดว่าผู้ป่วยอาจสูญเสียภูมิคุ้มกันในเวลาเพียงไม่กี่เดือน

การศึกษานี้เป็นผลมาจากความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยโมนาช, โรงพยาบาลอัลเฟรด และสถาบันเบอร์เนตในออสเตรเลีย นำโดยรองศาสตราจารย์เมนโน ฟาน เซล์ม (Menno van Zelm) จากภาควิชาภูมิคุ้มกันวิทยาและพยาธิวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยโมนาช

นักวิจัยได้วิเคราะห์ตัวอย่างเลือดที่นำมาจากผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 25 ราย ตั้งแต่หลังติดเชื้อ 4 วันไปจนถึงหลังติดเชื้อ 242 วัน และพบว่าตัวอย่างทั้งหมดล้วนมีบีเซลล์เก็บความจำจำเพาะ (memory B cell) ซึ่งสร้างขึ้นในระบบภูมิคุ้มกันหลังจากติดเชื้อครั้งแรก

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า เซลล์จำเพาะนี้สามารถคงอยู่ในร่างกายมนุษย์ได้นานถึง 8 เดือน ซึ่งจะจดจำองค์ประกอบหนึ่งในสองของไวรัสโควิด-19 ได้จากการติดเชื้อครั้งแรก ซึ่งได้แก่ สไปก์โปรตีน (spike proteins) และโปรตีนนิวคลีโอแคปซิด (nucleocapsid proteins) จึงสามารถระบุเชื้อไวรัสและกระตุ้นการเกิดใหม่ของแอนติบอดีที่จะสกัดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ เมื่อพบการติดเชื้อครั้งที่สอง

รองศาสตราจารย์เซล์มกล่าวว่า ผลการวิจัยนี้ช่วยเพิ่มความหวังที่ว่า วัคซีนโควิด-19 จะมีประสิทธิภาพในการป้องกันที่ยาวนานขึ้น และยังอธิบายว่าเหตุใดจึงมีตัวอย่างการติดเชื้อซ้ำแท้ (genuine reinfection) เพียงไม่กี่รายจากผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 หลายล้านคนทั่วโลก

"ผลลัพธ์เหล่านี้มีความสำคัญ เพราะเป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าผู้ป่วยโควิด-19 มีภูมิคุ้มกันที่สามารถต่อต้านไวรัสและโรคนี้ได้" รองศาสตราจารย์เซล์มกล่าว

เขาสรุปตอนท้ายว่า "เรื่องนี้เคยเป็นสิ่งที่เรากังวลมาโดยตลอดเกี่ยวกับความสามารถด้านการป้องกันของวัคซีนโควิด-19 ในอนาคต ข้อมูลเหล่านี้ทำให้เรามีความหวังได้อย่างแท้จริงว่า เมื่อวัคซีนพัฒนาออกมาสำเร็จ จะสามารถป้องกันโรคได้ในระยะยาว"


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ