นักธรณีวิทยาออสซี่เตือนภูเขาไฟระเบิดในตองกาอาจทำให้เกิดภูเขาไฟระเบิดต่อเนื่อง

ข่าวต่างประเทศ Wednesday January 19, 2022 14:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักธรณีวิทยาออสซี่เตือนภูเขาไฟระเบิดในตองกาอาจทำให้เกิดภูเขาไฟระเบิดต่อเนื่อง

โอลิเวอร์ เนเบล รองศาสตราจารย์ด้านธรณีเคมีจากมหาวิทยาลัยโมนาชคาดการณ์ว่า การระเบิดครั้งใหญ่ของภูเขาไฟฮังกา ตองกา-ฮังกา ฮายาไป (Hunga Tonga-Hunga Ha?apai) ภูเขาไฟใต้ทะเลนอกชายฝั่งตองกาเมื่อวันเสาร์ (15 ม.ค.) อาจนำไปสู่การระเบิดอย่างต่อเนื่องของภูเขาไฟ

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า การปะทุดังกล่าวทำให้เกิดสึนามิซัดถล่มกรุงนูกูอาโลฟา เมืองหลวงของตองกา รวมถึงคลื่นขนาดใหญ่พัดขึ้นชายฝั่งภูมิภาคแปซิฟิก ซึ่งครอบคลุมชายฝั่งตะวันออกของออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และฮาวาย

รศ.เนเบล กล่าวกับสำนักข่าวซินหัวว่าภัยพิบัติครั้งนี้เกิดจากภูเขาไฟที่ตั้งอยู่ใกล้ขอบแผ่นเปลือกโลกแผ่นหนึ่ง โดยเมื่อเวลาล่วงเลยไป แผ่นเปลือกโลกแผ่นหนึ่งสามารถ "ชน" กับอีกแผ่นหนึ่งได้ ซึ่งทำให้เกิดการปะทุของภูเขาไฟตามแนว "วงแหวนแห่งไฟ" ที่ระเบิดบ่อยครั้งอยู่แล้ว

"การปะทุครั้งล่าสุดของภูเขาไฟลูกนี้เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 1,000 ปีก่อน ดังนั้นมันจึงถึงเวลาปะทุใหญ่อีกครั้ง และนี่อาจเป็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น" รศ.เนเบลกล่าว พร้อมเสริมว่าการปะทุของภูเขาไฟนอกชายฝั่งตองกาถูกตรวจพบช่วงคริสต์มาส ซึ่งเป็นสัญญาณว่ามีแรงดันก่อตัวขึ้นตามขอบแผ่นเปลือกโลกที่เปราะบาง โดยหินหนืดร้อนสะสมตัวต่อเนื่องในภูเขาไฟ และคาดว่าจะสร้างเถ้าถ่านจำนวนมากและอาจเกิดการปะทุที่รุนแรงพอควร

ภูเขาไฟสร้างแหล่งกักเก็บหินหนืดร้อนใต้ดินเหล่านั้น และเมื่อแหล่งกักเก็บเหล่านี้ว่างเปล่า จึงเป็นสาเหตุทำให้เกิดการปะทุขึ้น โดยเมื่อหินหนืดร้อนเคลื่อนตัวออกจากใต้ภูเขาไฟแล้ว ก็มีแนวโน้มว่าจะเกิดการปะทุขึ้นอีกเรื่อย ๆ แต่เมื่อเกิดการปะทุที่รุนแรงแล้ว การปะทุครั้งถัดไปก็ไม่น่ารุนแรง เนื่องจากหินหนืดร้อนปริมาณมากได้ปะทุออกมาแล้ว แต่ยังคงเป็นกระบวนการที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้อย่างชัดเจนว่าจะระเบิดเมื่อใด โดยเฉพาะปัจจุบันที่ยังขาดแคลนข้อมูล

รศ.เนเบลกล่าวว่า "ขณะนี้เรามีข้อมูลไม่มาก สถานีส่วนใหญ่บนภูเขาไฟอาจถูกทำลาย และแม้เราจะมีข้อมูลดาวเทียม แต่ก็ต้องมีการวัดผลอื่น ๆ ในพื้นที่ด้วย ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะเดินทางไปที่ภูเขาไฟ และหากไม่มีข้อมูลก็เป็นเรื่องยากที่จะประเมินดัชนีการระเบิดของภูเขาไฟหรือระดับความรุนแรง ณ ที่เกิดได้"

รศ.เนเบลกล่าวว่า สึนามิเป็นภัยอันตรายใหญ่ที่สุดของการปะทุใต้น้ำดังกล่าว โดยสึนามิเมื่อวันเสาร์ (15 ม.ค.) เกิดจากการเคลื่อนตัวของมวลน้ำผ่านแรงดันของวัตถุส่วนลึกใต้พื้นโลกสู่มหาสมุทร และการจมของภูเขาไฟเนื่องจากการเคลื่อนที่ของลาวาด้านล่าง

นอกจากนั้น รศ.เนเบลยังเสริมด้วยว่าระหว่างการปะทุ "ลาวาได้ระเบิดเป็นอนุภาคเล็ก ๆ ที่ก่อตัวเป็นเถ้าภูเขาไฟ และปฏิกิริยาระหว่างลาวากับน้ำทะเลที่เย็นจะทำให้ปริมาณเถ้าถ่านรุนแรงขึ้น โดยเถ้าภูเขาไฟนี้ยังทำให้การจราจรทางอากาศต้องหยุดชะงัก เนื่องจากเถ้าภูเขาไฟเป็นอนุภาคเล็ก ๆ ของหิน ที่แตกต่างกับเถ้าถ่านที่เกิดจากไฟป่า"

รศ.เนเบลกล่าวว่า สำหรับตอนนี้สิ่งสำคัญคือการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ โดยหนึ่งสิ่งสำคัญคือการซ่อมแซมสายเคเบิลสื่อสารใต้ทะเลของตองกาที่ถูกตัดขาดระหว่างการปะทุ ซึ่งอาจใช้เวลาซ่อมแซมนานกว่าปกติ และทำให้ผู้อยู่อาศัยในตองกาอาจถูกตัดขาดการสื่อสารกับโลกภายนอก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ