พระราชบัญญัติ ประกันชีวิต (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๑ หมวด ๕ กองทุนประกันชีวิต

ข่าวการเมือง Friday February 1, 2008 15:40 —พรบ.ประกันชีวิต

"หมวด ๕

กองทุนประกันชีวิต

_________

มาตรา ๘๔ ให้จัดตั้งกองทุนขึ้นเรียกว่า "กองทุนประกันชีวิต" มีฐานะเป็นนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองเจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัย ในกรณี บริษัทล้มละลายหรือถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิต และเพื่อพัฒนาธุรกิจประกันชีวิต ให้มีความมั่นคงและเสถียรภาพ กองทุนไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ มาตรา ๘๕ กองทุนประกอบด้วย (๑) เงินและทรัพย์สินที่ได้รับโอนจากกองทุนเพื่อการพัฒนาธุรกิจประกันชีวิตของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (๒) เงินที่ได้รับตามมาตรา ๕๒ (๓) เงินที่ได้รับตามมาตรา ๘๕/๓ (๔) เงินเพิ่มที่ได้รับตามมาตรา ๘๕/๔ (๕) เงินค่าปรับตามมาตรา ๑๑๗ หลังจากหักเงินสินบนรางวัลและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานแล้ว (๖) เงินหรือทรัพย์สินอื่นที่มีผู้มอบให้ (๗) ดอกผลหรือรายได้จากเงินหรือทรัพย์สินของกองทุน (๘) เงินสนับสนุนจากรัฐบาล มาตรา ๘๕/๑ กองทุนมีอำนาจกระทำกิจการต่าง ๆ ภายในขอบแห่งวัตถุประสงค์ ตามมาตรา ๘๔ อำนาจเช่นว่านี้ให้รวมถึง (๑) ถือกรรมสิทธิ์ มีสิทธิครอบครอง และมีทรัพยสิทธิต่าง ๆ (๒) ก่อตั้งสิทธิ หรือกระทำนิติกรรมใด ๆ ทั้งในและนอกราชอาณาจักร (๓) ให้บริษัทกู้ยืมเงินเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของกองทุน (๔) ลงทุนหาผลประโยชน์จากทรัพย์สินของกองทุน (๕) กระทำการอื่นใดที่เกี่ยวกับหรือเกี่ยวเนื่องในการจัดการให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ ของกองทุน มาตรา ๘๕/๒ เงินกองทุนให้ใช้จ่ายเพื่อกิจการ ดังต่อไปนี้ (๑) ให้ความช่วยเหลือเจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัย ในกรณีบริษัทล้มละลายหรือถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิต (๒) เป็นค่าใช้จ่ายในการพัฒนาธุรกิจประกันชีวิตให้มีความมั่นคงและเสถียรภาพ ทั้งนี้ ไม่เกินวงเงินที่ได้รับตามมาตรา ๘๕ (๑) และ (๒) (๓) เป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารกองทุน และค่าใช้จ่ายอื่นที่เกี่ยวกับหรือเกี่ยวเนื่องกับการจัดกิจการของกองทุน ทั้งนี้ ไม่เกินอัตราที่คณะกรรมการบริหารกองทุนกำหนด มาตรา ๘๕/๓ ให้บริษัทนำส่งเงินเข้ากองทุนตามอัตราที่คณะกรรมการประกาศกำหนด ด้วยความเห็นชอบของรัฐมนตรี อัตราดังกล่าวต้องไม่เกินร้อยละศูนย์จุดห้าของเบี้ยประกันภัยที่บริษัทได้รับในรอบระยะเวลาหกเดือนก่อนหน้างวดที่ต้องนำส่งเงินเข้ากองทุน หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และระยะเวลาในการนำส่งเงินเข้ากองทุนให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด ในกรณีที่กองทุนมีเงินและทรัพย์สินเพียงพอที่จะดำเนินการตามวัตถุประสงค์แล้ว คณะกรรมการด้วยความเห็นชอบของรัฐมนตรีจะประกาศลดอัตราหรืองดการนำส่งเงินเข้ากองทุนก็ได้ มาตรา ๘๕/๔ บริษัทใดไม่นำเงินส่งเข้ากองทุนให้ถูกต้องและครบถ้วนตามมาตรา ๕๒ หรือ มาตรา ๘๕/๓ ต้องเสียเงินเพิ่มในอัตราร้อยละหนึ่งจุดห้าต่อเดือนของจำนวนเงินที่บริษัทนั้นนำส่ง ไม่ถูกต้องหรือไม่ครบถ้วน เศษของเดือนให้นับเป็นหนึ่งเดือน ในกรณีที่นายทะเบียนเห็นว่ามีเหตุสุดวิสัยทำให้บริษัทไม่สามารถนำเงินส่งเข้ากองทุนได้ตามที่กำหนดในมาตรา ๕๒ หรือมาตรา ๘๕/๓ และบริษัทได้นำเงินส่งเข้ากองทุนภายในเจ็ดวันนับแต่ วันที่ครบกำหนด เงินเพิ่มตามวรรคหนึ่งให้ลดลงเหลือร้อยละหนึ่ง ในระหว่างที่บริษัทไม่นำส่งเงินเข้ากองทุนหรือไม่ชำระเงินเพิ่มตามวรรคหนึ่ง ให้นายทะเบียนมีคำสั่งห้ามบริษัทนั้นดำเนินการขยายธุรกิจ ทั้งนี้ จนกว่าบริษัทจะนำเงินส่งเข้ากองทุนและชำระเงินเพิ่มให้ถูกต้องและครบถ้วน และนายทะเบียนได้ยกเลิกคำสั่งห้ามบริษัทดำเนินการขยายธุรกิจ เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ กรณีใดเป็นการขยายธุรกิจตามวรรคสาม ให้นำบทบัญญัติ ในมาตรา ๒๗/๖ วรรคสอง และบทกำหนดโทษในการฝ่าฝืนมาตรา ๒๗/๖ วรรคหนึ่ง ตามที่บัญญัติไว้ ในมาตรา ๙๔/๑ มาใช้บังคับโดยอนุโลม มาตรา ๘๕/๕ ในกรณีบริษัทล้มละลายหรือถูกเพิกถอนใบอนุญาตและจำนวนเงินที่ได้รับชำระหนี้ตามมาตรา ๒๖ มีไม่เพียงพอ ให้เจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัย มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากกองทุน จำนวนเงินที่เจ้าหนี้แต่ละรายมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากกองทุน เมื่อรวมกับจำนวนเงินที่ได้รับชำระหนี้ตามมาตรา ๒๖ แล้ว ต้องไม่เกินมูลหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัย หากมูลหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัยทุกสัญญารวมกันมีจำนวนเกินหนึ่งล้านบาท ก็ให้มีสิทธิได้รับชำระหนี้เพียงหนึ่งล้านบาท

หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจ่ายเงิน และมูลหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัย ตามวรรคสองให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

มาตรา ๘๕/๖ เพื่อความเป็นธรรม คณะกรรมการด้วยความเห็นชอบของรัฐมนตรี จะประกาศกำหนดจำนวนเงินที่จะจ่ายให้แก่เจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัยให้สูงกว่าที่กำหนดไว้ในมาตรา ๘๕/๕ วรรคสอง เป็นการทั่วไป หรือเป็นการเฉพาะแก่สัญญา ประกันชีวิตประเภทใดประเภทหนึ่งก็ได้

มาตรา ๘๕/๗ ให้กองทุนเข้ารับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ที่เกิดจากการ เอาประกันภัยเท่ากับจำนวนเงินที่กองทุนได้จ่ายไป และมีสิทธิได้รับชำระหนี้ในเงินจำนวนนั้นจาก เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือผู้ชำระบัญชี แล้วแต่กรณี โดยมีบุริมสิทธิเหนือเจ้าหนี้สามัญของบริษัทนั้นทั้งหมด

มาตรา ๘๖ ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง เรียกว่า "คณะกรรมการบริหารกองทุน" ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธานกรรมการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยเป็นรองประธานกรรมการ ผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้แทนสมาคมประกันชีวิตไทยจำนวนสองคน และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งจำนวนไม่เกินสี่คนเป็นกรรมการ

ให้ผู้จัดการเป็นเลขานุการ

มาตรา ๘๖/๑ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสามปี

ในกรณีที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ หรือในกรณีที่รัฐมนตรีแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพิ่มขึ้นในระหว่างที่กรรมการซึ่งแต่งตั้งไว้แล้วยังมีวาระอยู่ ในตำแหน่ง ให้ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งดำรงตำแหน่งแทนหรือเป็นกรรมการเพิ่มขึ้นอยู่ในตำแหน่งเท่ากับ วาระที่เหลืออยู่ของกรรมการซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้ว

เมื่อครบกำหนดวาระตามวรรคหนึ่ง หากยังมิได้มีการแต่งตั้งกรรมการขึ้นใหม่ให้กรรมการ ซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระนั้นอยู่ในตำแหน่งเพื่อดำเนินงานต่อไปจนกว่ากรรมการซึ่งได้รับแต่งตั้ง เข้ารับหน้าที่

กรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้ แต่จะดำรงตำแหน่งเกินสองวาระติดต่อกันไม่ได้

มาตรา ๘๖/๒ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา ๘๖/๑ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ (๑) ตาย (๒) ลาออก (๓) เป็นบุคคลล้มละลาย (๔) รัฐมนตรีให้ออกเพราะบกพร่องต่อหน้าที่ มีความประพฤติเสื่อมเสียหรือหย่อนความสามารถ (๕) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ (๖) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก (๗) เป็นข้าราชการการเมืองหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มาตรา ๘๖/๓ คณะกรรมการบริหารกองทุนมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้ (๑) กำหนดนโยบายและออกระเบียบ ข้อบังคับ และประกาศในการบริหารกิจการของกองทุน (๒) กำหนดระเบียบเกี่ยวกับการรับเงิน การจ่ายเงิน การเก็บรักษาเงิน และการจัดหาผลประโยชน์ของกองทุน (๓) กำหนดระเบียบเกี่ยวกับการขอรับชำระหนี้และการอนุมัติชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัย (๔) กำหนดอัตราและระเบียบเกี่ยวกับการใช้เงินของกองทุนในการพัฒนาธุรกิจประกันชีวิตให้มีความมั่นคงและเสถียรภาพ (๕) กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการให้บริษัทกู้ยืมเงินตามมาตรา ๘๕/๑ (๓) (๖) กำหนดอัตราค่าใช้จ่ายในการบริหารกองทุนตามมาตรา ๘๕/๒ (๓) (๗) กำหนดข้อบังคับเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของผู้จัดการ (๘) กระทำการอื่นใดที่จำเป็นหรือเกี่ยวเนื่องเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของกองทุน การกำหนดตาม (๒) (๓) (๔) (๕) และ (๖) ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง คณะกรรมการบริหารกองทุนอาจขอให้นายทะเบียน บริษัท หรือบุคคลใดมาชี้แจง ให้ส่งเอกสารหรือพยานหลักฐานมาเพื่อประกอบการพิจารณาได้ มาตรา ๘๖/๔ การประชุมของคณะกรรมการบริหารกองทุนต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม ในการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุน ถ้าประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รองประธานกรรมการเป็นประธานในที่ประชุม ถ้าประธานกรรมการหรือ รองประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการที่มาประชุมเลือกกรรมการ คนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม

การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด มาตรา ๘๖/๕ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ คณะกรรมการบริหารกองทุน มีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาหรือดำเนินการตามที่คณะกรรมการบริหารกองทุนมอบหมายได้ ให้นำบทบัญญัติในมาตรา ๘๖/๔ มาใช้บังคับแก่การประชุมของคณะอนุกรรมการโดยอนุโลม มาตรา ๘๖/๖ ให้ประธานกรรมการ กรรมการ และอนุกรรมการของคณะกรรมการบริหารกองทุนได้รับเบี้ยประชุมและประโยชน์ตอบแทนอื่นตามที่รัฐมนตรีกำหนด มาตรา ๘๗ ให้กองทุนมีผู้จัดการคนหนึ่งซึ่งคณะกรรมการบริหารกองทุนแต่งตั้ง การดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง และการกำหนดเงื่อนไขในการทดลองปฏิบัติงาน หรือการทำงานในหน้าที่ผู้จัดการ ให้เป็นไปตามสัญญาจ้างที่คณะกรรมการบริหารกองทุนกำหนด โดยให้มีอายุการจ้างคราวละไม่เกินสี่ปี และเมื่อครบกำหนดอายุสัญญาจ้างแล้ว คณะกรรมการบริหารกองทุนจะต่ออายุสัญญาจ้างอีกก็ได้ แต่จะดำรงตำแหน่งเกินสองวาระติดต่อกันไม่ได้ การทำสัญญาจ้างผู้จัดการ ให้ประธานกรรมการเป็นผู้มีอำนาจทำสัญญาในนามของกองทุน ให้ผู้จัดการได้รับเงินค่าจ้าง ค่าตอบแทน และเงินอื่นตามที่คณะกรรมการบริหารกองทุนกำหนด มาตรา ๘๗/๑ ผู้ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้จัดการต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้ (๑) มีสัญชาติไทย (๒) มีอายุไม่เกินหกสิบห้าปีบริบูรณ์ (๓) สามารถปฏิบัติงานให้แก่กองทุนได้เต็มเวลา มาตรา ๘๗/๒ นอกจากคุณสมบัติตามมาตรา ๘๗/๑ แล้ว ผู้ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้จัดการต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้ (๑) เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกในความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ (๒) เป็นหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลาย (๓) เป็นข้าราชการ พนักงานหรือลูกจ้างของกระทรวง ทบวง กรม ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ (๔) เป็นข้าราชการการเมืองหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (๕) ดำรงตำแหน่งอื่นใดในนิติบุคคลที่มีการประกอบกิจการในลักษณะที่เป็นการแข่งขัน กับกองทุน (๖) เป็นผู้มีส่วนได้เสียในสัญญากับกองทุน หรือในกิจการที่กระทำให้แก่กองทุนไม่ว่า โดยทางตรงหรือทางอ้อม เว้นแต่เป็นผู้ซึ่งคณะกรรมการบริหารกองทุนมอบหมายให้เป็นกรรมการ ในบริษัทที่กองทุนเป็นผู้ถือหุ้น มาตรา ๘๗/๓ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามอายุการจ้าง ผู้จัดการพ้นจากตำแหน่งเมื่อ (๑) ตาย (๒) ลาออก (๓) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๘๗/๑ หรือมาตรา ๘๗/๒ (๔) คณะกรรมการบริหารกองทุนมีมติเห็นสมควรให้เลิกจ้าง มาตรา ๘๗/๔ ในกิจการของกองทุนที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก ให้ผู้จัดการเป็นผู้แทน ของกองทุน การปฏิบัติงานของผู้จัดการและการมอบหมายให้ผู้อื่นปฏิบัติงานแทน ให้เป็นไปตามข้อบังคับที่คณะกรรมการบริหารกองทุนกำหนด นิติกรรมหรือการใดที่กระทำโดยฝ่าฝืนข้อบังคับตามวรรคหนึ่ง ย่อมไม่ผูกพันกองทุน เว้นแต่คณะกรรมการบริหารกองทุนจะให้สัตยาบัน มาตรา ๘๘ ให้กองทุนวางและถือไว้ซึ่งระบบการบัญชีตามหลักสากล มีการสอบบัญชีภายในเป็นประจำ และมีสมุดบัญชีลงรายการ (๑) การรับและจ่ายเงิน (๒) สินทรัพย์และหนี้สินซึ่งแสดงการเงินที่เป็นอยู่ตามจริงและตามที่ควรพร้อมด้วยข้อความอันเป็นเหตุที่มาของรายการนั้น มาตรา ๘๘/๑ ให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินหรือผู้สอบบัญชีที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินให้ความเห็นชอบ เป็นผู้สอบบัญชีของกองทุน มาตรา ๘๘/๒ ผู้สอบบัญชีต้องทำรายงานผลการสอบบัญชีเสนอคณะกรรมการบริหารกองทุนภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับจากวันสิ้นปีบัญชี และให้ส่งสำเนารายงานดังกล่าวต่อคณะกรรมการและรัฐมนตรีด้วย" มาตรา ๔๔ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๙๒ และมาตรา ๙๓ แห่งพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. ๒๕๓๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน "มาตรา ๙๒ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๙ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึง หนึ่งแสนบาท และปรับอีกไม่เกินวันละห้าพันบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่ ตัวแทนประกันชีวิตหรือนายหน้าประกันชีวิตผู้ใดใช้ชื่อหรือคำแสดงชื่อในธุรกิจฝ่าฝืนหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่นายทะเบียนประกาศกำหนดตามมาตรา ๑๙ วรรคสอง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา ๙๓ บริษัทใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๒๓ มาตรา ๒๘ มาตรา ๓๓ มาตรา ๓๔ มาตรา ๓๕ มาตรา ๓๖ มาตรา ๓๗ มาตรา ๕๓ มาตรา ๕๔ หรือไม่วางเงินสำรองตามมาตรา ๒๔ หรือไม่ปฏิบัติตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนดตามมาตรา ๓๘ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าแสนบาท และถ้าเป็นกรณีการกระทำความผิดต่อเนื่อง ให้ปรับอีกไม่เกินวันละสองหมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่" มาตรา ๔๕ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๙๔/๑ แห่งพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. ๒๕๓๕ "มาตรา ๙๔/๑ บริษัทใดฝ่าฝืนมาตรา ๒๗ วรรคห้า มาตรา ๒๗/๑ วรรคหนึ่ง มาตรา ๒๗/๓ มาตรา ๒๗/๔ หรือมาตรา ๒๗/๖ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าแสนบาท" มาตรา ๔๖ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๙๕ แห่งพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. ๒๕๓๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน "มาตรา ๙๕ บริษัทใดออกกรมธรรม์ประกันภัย หรือเอกสารประกอบ หรือแนบท้าย กรมธรรม์ประกันภัยโดยฝ่าฝืนมาตรา ๒๙ หรือกำหนดอัตราเบี้ยประกันภัยโดยฝ่าฝืนมาตรา ๓๐ หรือฝ่าฝืนมาตรา ๓๑ หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๓๒ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสามแสนบาท" มาตรา ๔๗ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๙๘ แห่งพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. ๒๕๓๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน "มาตรา ๙๘ บริษัทใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๒๗/๕ วรรคหนึ่ง มาตรา ๔๐ มาตรา ๔๓ มาตรา ๔๖ มาตรา ๔๗ หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการตามมาตรา ๔๕ หรือคำสั่งของนายทะเบียนตามมาตรา ๔๖/๑ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท และปรับอีกไม่เกินวันละ ห้าพันบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่" มาตรา ๔๘ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๐๒ แห่งพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. ๒๕๓๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน "มาตรา ๑๐๒ บริษัทใดฝ่าฝืนมาตรา ๕๑ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าแสนบาท" มาตรา ๔๙ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๐๖ แห่งพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. ๒๕๓๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน "มาตรา ๑๐๖ ตัวแทนประกันชีวิตผู้ใดทำสัญญาประกันชีวิตโดยไม่ได้รับมอบอำนาจ เป็นหนังสือจากบริษัทตามมาตรา ๗๑ วรรคสอง หรือนายหน้าประกันชีวิตหรือพนักงานของบริษัทผู้ใดรับเบี้ยประกันภัยโดยไม่ได้รับมอบอำนาจเป็นหนังสือจากบริษัทตามมาตรา ๗๑ วรรคสาม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ" มาตรา ๕๐ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๑๐๖/๑ และมาตรา ๑๐๖/๒ แห่งพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. ๒๕๓๕ "มาตรา ๑๐๖/๑ ตัวแทนประกันชีวิตผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๓๐/๑ วรรคสอง หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๗๑/๑ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสามหมื่นบาท ถ้าการกระทำตามวรรคหนึ่ง เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่บริษัทหรือผู้เอาประกันภัย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา ๑๐๖/๒ นายหน้าประกันชีวิตหรือพนักงานของบริษัทผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๗๑/๒ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสามหมื่นบาท ถ้าการกระทำตามวรรคหนึ่ง เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่บริษัทหรือผู้เอาประกันภัย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ" มาตรา ๕๑ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๑๔ แห่งพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. ๒๕๓๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน "มาตรา ๑๑๔ ในกรณีที่บริษัทใดจงใจกระทำความผิดเพราะฝ่าฝืนมาตรา ๒๓ มาตรา ๒๘ มาตรา ๓๖ หรือมาตรา ๕๑ วรรคหนึ่ง หรือจงใจแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดความจริง ที่ต้องบอกให้แจ้งหรือให้ทำคำชี้แจงตามมาตรา ๔๕ กรรมการหรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินการของบริษัทนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้มีส่วนในการกระทำความผิดของบริษัทนั้นด้วย" มาตรา ๕๒ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๑๑๔/๑ และมาตรา ๑๑๔/๒ แห่งพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. ๒๕๓๕ "มาตรา ๑๑๔/๑ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๘๓/๒ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา ๑๑๔/๒ นักคณิตศาสตร์ประกันภัยผู้ใดทำคำรับรองรายงานการคำนวณความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย หรือจัดทำรายงานหรือเอกสารใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับรายงานการคำนวณ ความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยอันเป็นเท็จ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกิน สองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้นำบทบัญญัติในมาตรา ๑๑๕ วรรคสองและวรรคสาม มาใช้บังคับโดยอนุโลม"

มาตรา ๕๓ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๑๑๗/๑ และมาตรา ๑๑๗/๒ แห่งพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. ๒๕๓๕ "มาตรา ๑๑๗/๑ ความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ที่มีโทษปรับสถานเดียวถ้ามิได้ฟ้องต่อศาลหรือมิได้มีการเปรียบเทียบตามมาตรา ๑๑๗ ภายในห้าปีนับแต่วันกระทำความผิดเป็นอันขาดอายุความ มาตรา ๑๑๗/๒ ในกรณีที่บริษัท ตัวแทนประกันชีวิต นายหน้าประกันชีวิต หรือ นักคณิตศาสตร์ประกันภัยผู้ใด กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ หรือกฎกระทรวงหรือประกาศที่ออกตามความในพระราชบัญญัตินี้ ให้สำนักงาน คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยมีอำนาจประกาศหรือโฆษณาการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามดังกล่าว โดยระบุรายละเอียดการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามรวมทั้งระบุชื่อบุคคล ที่เกี่ยวข้องให้ประชาชนทราบได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการประกาศกำหนด" มาตรา ๕๔ ให้ถือว่าบรรดาบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิต ตามพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. ๒๕๓๕ เป็นบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิตตามพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. ๒๕๓๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ และให้ถือว่า สาขาของบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตตามกฎหมายดังกล่าวอยู่ก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เป็นสาขาของบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิตตามพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. ๒๕๓๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ตามเงื่อนไขที่รัฐมนตรีกำหนดไว้ในการอนุญาต ในกรณีบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตตามวรรคหนึ่งเป็นบริษัทจำกัด ให้ดำเนินการแปรสภาพ เป็นบริษัทมหาชนจำกัดให้แล้วเสร็จภายในห้าปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ หากดำเนินการไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว ให้บริษัทสามารถประกอบกิจการตามปกติต่อไปได้ แต่จะดำเนินการขยายธุรกิจไม่ได้จนกว่าจะดำเนินการแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัด ซึ่งต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในสามปี หากดำเนินการไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว ให้ใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิตของบริษัทนั้นสิ้นอายุ และให้ถือว่าบริษัทนั้นถูกเพิกถอน ใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิต การดำเนินการแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัดตามวรรคสองให้ดำเนินการตามกฎหมาย ว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัด เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ กรณีใดเป็นการขยายธุรกิจตามวรรคสองให้นำบทบัญญัติ ในมาตรา ๒๗/๖ วรรคสอง และบทกำหนดโทษในการฝ่าฝืนมาตรา ๒๗/๖ วรรคหนึ่ง ตามที่บัญญัติไว้ ในมาตรา ๙๔/๑ แห่งพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. ๒๕๓๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ มาใช้บังคับโดยอนุโลม มาตรา ๕๕ ภายในห้าปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้บริษัทตามมาตรา ๕๔ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัตินี้ ดำเนินการแก้ไขสัดส่วนผู้ถือหุ้นหรือกรรมการให้เป็นไปตามที่กำหนดในมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. ๒๕๓๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัตินี้ ในกรณีที่ไม่สามารถดำเนินการได้ภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว ให้บริษัทสามารถประกอบกิจการต่อไปได้แต่จะเปิดสาขาเพิ่มมิได้ มาตรา ๕๖ ในระหว่างการดำเนินการแปรสภาพบริษัทจำกัดเป็นบริษัทมหาชนจำกัด ตามมาตรา ๕๔ แห่งพระราชบัญญัตินี้ (๑) การโอนหรือรับโอนกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนระหว่างบริษัทจำกัดกับบริษัทจำกัด หรือบริษัทจำกัดกับบริษัทมหาชนจำกัดที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิต ตามพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. ๒๕๓๕ ให้นำบทบัญญัติในมาตรา ๑๔ มาตรา ๑๔/๑ และ มาตรา ๑๔/๓ แห่งพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. ๒๕๓๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ มาใช้บังคับโดยอนุโลม (๒) การควบบริษัทจำกัดเข้ากันให้เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่บริษัทที่ตั้งขึ้นใหม่ต้องจดทะเบียนเป็นบริษัทมหาชนจำกัดตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัด และให้นำบทบัญญัติในมาตรา ๑๔/๒ วรรคสองและวรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. ๒๕๓๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ มาใช้บังคับโดยอนุโลม (๓) การควบเข้ากันระหว่างบริษัทจำกัดกับบริษัทมหาชนจำกัดให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัด และให้นำบทบัญญัติในมาตรา ๑๔/๒ วรรคสองและวรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. ๒๕๓๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้มาใช้บังคับโดยอนุโลม (๔) การชำระบัญชีหรือการแก้ไขหนังสือบริคณห์สนธิในกรณีที่บริษัทจำกัดที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิตตามพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. ๒๕๓๕ ประสงค์จะเลิกประกอบธุรกิจประกันชีวิตตามมาตรา ๕๑ แห่งพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. ๒๕๓๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ให้ดำเนินการตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (๕) การเพิ่มทุนหรือลดทุนของบริษัทจำกัดตามมาตรา ๕๓ วรรคสองหรือวรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. ๒๕๓๕ มิให้นำบทบัญญัติในมาตรา ๑๒๒๐ มาตรา ๑๒๒๔ มาตรา ๑๒๒๕ และมาตรา ๑๒๒๖ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับ มาตรา ๕๗ ในกรณีที่คณะกรรมการยังมิได้ออกประกาศเกี่ยวกับเงินกองทุนตามมาตรา ๒๗ แห่งพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. ๒๕๓๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ หรือ ออกประกาศแล้วแต่ยังไม่มีผลใช้บังคับ ให้บริษัทถือปฏิบัติโดยดำรงเงินกองทุนตามมาตรา ๒๗ แห่งพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. ๒๕๓๕ ไปพลางก่อน การดำเนินการออกประกาศตามวรรคหนึ่งให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในสามปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ มาตรา ๕๘ บรรดาอสังหาริมทรัพย์ที่ตกเป็นของบริษัทตามมาตรา ๓๓ (๙) แห่งพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. ๒๕๓๕ ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ การจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวให้เป็นไปตามมาตรา ๓๔ แห่งพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. ๒๕๓๕ มาตรา ๕๙ ให้บริษัทตามมาตรา ๕๔ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัตินี้ ดำเนินการให้มีกรรมการ ผู้จัดการ บุคคลซึ่งมีอำนาจกระทำการแทนบริษัท หรือที่ปรึกษาของบริษัทมีคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๓๕ แห่งพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. ๒๕๓๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ภายในสองปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ มาตรา ๖๐ ในกรณีที่ยังมิได้ออกประกาศเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการขออนุญาตหรือการขอต่ออายุใบอนุญาตตามมาตรา ๗๐ หรือมาตรา ๗๗ แห่งพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. ๒๕๓๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ หรือมีการออกประกาศแล้วแต่ยัง ไม่มีผลใช้บังคับ การพิจารณาอนุญาตให้เป็นไปตามมาตรา ๗๐ หรือมาตรา ๗๗ แห่งพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. ๒๕๓๕ แล้วแต่กรณี มาตรา ๖๑ ให้บุคคลซึ่งได้รับความเห็นชอบเป็นหนังสือจากนายทะเบียนให้เป็นผู้รับรองรายงานการคำนวณความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ สามารถรับรองรายงานการคำนวณความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยต่อไปได้จนกว่าหนังสือให้ ความเห็นชอบจะสิ้นอายุ มาตรา ๖๒ เมื่อพ้นกำหนดแปดปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นนักคณิตศาสตร์ประกันภัยต้องมีคุณสมบัติตามมาตรา ๘๓/๓ (๒) เท่านั้น กำหนดระยะเวลาตามวรรคหนึ่ง นายทะเบียนโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการจะขยายออกไปอีกตามความจำเป็นแก่กรณีก็ได้ แต่ต้องไม่เกินสองปี

มาตรา ๖๓ ให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยโอนเงิน ทรัพย์สิน และหนี้ของกองทุนเพื่อการพัฒนาธุรกิจประกันชีวิตที่มีอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปเป็นของกองทุนประกันชีวิต

มาตรา ๖๔ ให้ยกเลิกอัตราค่าธรรมเนียมในบัญชีท้ายพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. ๒๕๓๕ และให้ใช้อัตราค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตราในบัญชีท้ายพระราชบัญญัตินี้แทน

มาตรา ๖๕ บรรดากฎกระทรวง ประกาศ เงื่อนไข หรือคำสั่งที่ออกตามพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. ๒๕๓๕ ที่ใช้อยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้คงใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้ จนกว่าจะมีกฎกระทรวง ประกาศ เงื่อนไข หรือคำสั่งตามพระราชบัญญัตินี้ ใช้บังคับ

การดำเนินการออกกฎกระทรวง ประกาศ เงื่อนไข หรือคำสั่งตามวรรคหนึ่ง ให้ดำเนินการ ให้แล้วเสร็จภายในสองปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

มาตรา ๖๖ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์

นายกรัฐมนตรี

อัตราค่าธรรมเนียม

      (๑)  คำขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิต               ๔๐๐,๐๐๐  บาท
      (๒)  ใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิต                   ๔,๐๐๐,๐๐๐  บาท
(๓)  ใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิต
            กรณีการควบบริษัท                                ๒๐๐,๐๐๐  บาท
      (๔)  ใบอนุญาตให้เปิดสาขาของบริษัท                        ๘๐,๐๐๐  บาท
      (๕)  การอนุญาตให้ย้ายสำนักงานใหญ่หรือสาขา                 ๒๐,๐๐๐  บาท
(๖)  ค่าสมัครสอบความรู้เพื่อขอรับใบอนุญาต
            เป็นตัวแทนประกันชีวิตหรือนายหน้าประกันชีวิต                ๔๐๐  บาท
      (๗)  ใบอนุญาตเป็นตัวแทนประกันชีวิต                           ๘๐๐  บาท
      (๘)  ใบอนุญาตให้นิติบุคคลเป็นนายหน้าประกันชีวิต               ๔๐,๐๐๐  บาท
(๙)  ใบอนุญาตให้บุคคลธรรมดาเป็นนายหน้า
            ประกันชีวิต                                        ๘๐๐  บาท
     (๑๐)  คำขอรับใบอนุญาตเป็นนักคณิตศาสตร์ประกันภัย                ๕๐๐  บาท
     (๑๑)  ใบอนุญาตเป็นนักคณิตศาสตร์ประกันภัย                   ๒๐,๐๐๐  บาท
     (๑๒)  ใบแทนใบอนุญาตทุกชนิด                                ๔๐๐  บาท
(๑๓)  ค่าธรรมเนียมรายปีสำหรับการประกอบธุรกิจ
             ประกันชีวิต                                   ๒๐๐,๐๐๐  บาท
(๑๔)  การให้ต่ออายุใบอนุญาตเป็นตัวแทนประกันชีวิต
             ประเภท  ๑  ปี                                   ๔๐๐  บาท
(๑๕)  การให้ต่ออายุใบอนุญาตเป็นตัวแทนประกันชีวิต
             ประเภท  ๕  ปี                                 ๒,๐๐๐  บาท
(๑๖)  การให้ต่ออายุใบอนุญาตให้นิติบุคคลเป็นนายหน้า
             ประกันชีวิต  ประเภท  ๑  ปี                      ๑๒,๐๐๐  บาท
(๑๗)  การให้ต่ออายุใบอนุญาตให้นิติบุคคลเป็นนายหน้า
             ประกันชีวิต  ประเภท ๕ ปี                        ๖๐,๐๐๐  บาท
(๑๘)  การให้ต่ออายุใบอนุญาตให้บุคคลธรรมดาเป็นนายหน้า
           ประกันชีวิต  ประเภท  ๑  ปี                           ๔๐๐  บาท
(๑๙)  การให้ต่ออายุใบอนุญาตให้บุคคลธรรมดาเป็นนายหน้า
           ประกันชีวิต  ประเภท  ๕  ปี                         ๒,๐๐๐  บาท
     (๒๐)  การให้ต่ออายุใบอนุญาตเป็นนักคณิตศาสตร์ประกันภัย         ๑๒,๐๐๐  บาท
     (๒๑)  การขอตรวจดูเอกสาร  ครั้งละ                          ๑๐๐  บาท
     (๒๒)  การคัดหรือรับรองสำเนาเอกสาร  หน้าละ                  ๑๐๐  บาท
(๒๓)  คำขอรับความเห็นชอบในแบบและข้อความแห่ง

กรมธรรม์ประกันภัย เอกสารประกอบหรือแนบท้าย

           กรมธรรม์ประกันภัย  แบบละ                           ๔,๐๐๐  บาท
(๒๔)  คำขอรับความเห็นชอบการกำหนด
           อัตราเบี้ยประกันภัย  แบบละ                           ๔,๐๐๐  บาท





หมายเหตุ  :-  เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้  คือ  โดยที่พระราชบัญญัติประกันชีวิต   พ.ศ.  ๒๕๓๕  ได้ใช้บังคับมานาน  และปรากฏว่าหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการกำกับดูแลบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิต  ตัวแทนประกันชีวิต  และนายหน้าประกันชีวิตในพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่สอดคล้องกับสภาวการณ์ในปัจจุบันและไม่เพียงพอที่จะคุ้มครองประชาชนและผู้เอาประกันภัย  ดังนั้น  สมควรแก้ไขเพิ่มเติม
บทบัญญัติในพระราชบัญญัตินี้ให้เหมาะสมยิ่งขึ้นเพื่อคุ้มครองประชาชนและผู้เอาประกันภัย  และพัฒนาการประกอบธุรกิจประกันชีวิตให้มีความมั่นคงและเสถียรภาพ  จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ