พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๑

ข่าวการเมือง Tuesday March 4, 2008 11:32 —พรบ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

พระราชบัญญัติ

หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ ๔)

พ.ศ. ๒๕๕๑

___________________

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๑

เป็นปีที่ ๖๓ ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๔๑ มาตรา ๔๓ และมาตรา ๔๔ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๑"
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป เว้นแต่มาตรา ๒๐ มาตรา ๒๑ มาตรา ๔๐ มาตรา ๔๑ มาตรา ๔๒ มาตรา ๔๓ และมาตรา ๔๔ ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ให้ยกเลิกความในบทนิยามคำว่า "บริษัท" ในมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
""บริษัท" หมายความว่า บริษัทจำกัด บริษัทมหาชนจำกัด และให้หมายความรวมถึง
(๑) องค์การมหาชน
(๒) องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยาและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ
(๓) หน่วยงานหรือองค์การของรัฐบาลต่างประเทศ องค์การระหว่างประเทศและนิติบุคคลตามกฎหมายต่างประเทศ
(๔) นิติบุคคลที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น และ
(๕) ผู้ออกหลักทรัพย์ที่จัดตั้งขึ้นในรูปแบบอื่นใดตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด"
มาตรา ๔ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
"มาตรา ๕ เว้นแต่จะมีบทบัญญัติในพระราชบัญญัตินี้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นในการออกใบอนุญาตและการให้ความเห็นชอบตามพระราชบัญญัตินี้ ให้คณะกรรมการ ก.ล.ต. คณะกรรมการกำกับตลาดทุน สำนักงาน คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ประกาศกำหนด
ระยะเวลาในการพิจารณาและการสั่งการให้เป็นที่ทราบโดยทั่วไป และในกรณีที่ไม่อนุญาตหรือไม่ให้ความเห็นชอบให้แจ้งเหตุผลให้ผู้ยื่นคำขอทราบด้วย"
มาตรา ๕ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๘ มาตรา ๙ มาตรา ๑๐ และมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
"มาตรา ๘ ให้มีคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์คณะหนึ่งเรียกโดยย่อว่า "คณะกรรมการ ก.ล.ต." ประกอบด้วย ประธานกรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง โดยคำแนะนำของรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งโดยผ่านการคัดเลือกตามที่กำหนดในมาตรา ๓๑/๗ จำนวนไม่น้อยกว่าสี่คนแต่ไม่เกินหกคน เป็นกรรมการ โดยในจำนวนนี้อย่างน้อยต้องเป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย ด้านบัญชี และด้านการเงินด้านละหนึ่งคน และให้เลขาธิการ เป็นกรรมการและเลขานุการ
มาตรา ๙ ประธานกรรมการ ก.ล.ต. และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับการแต่งตั้ง ตามมาตรา ๘ ต้องมีสัญชาติไทยและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้
(๑) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
(๒) เป็นหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลาย
(๓) เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก ไม่ว่าจะมีการรอการลงโทษหรือไม่ก็ตาม เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
(๔) เป็นหรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือผู้ดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมือง เว้นแต่จะได้พ้นจากตำแหน่งดังกล่าวไม่น้อยกว่าหนึ่งปี
(๕) เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของสำนักงาน
(๖) ดำรงตำแหน่งผู้จัดการ หรือบุคคลผู้มีอำนาจในการจัดการในธุรกิจหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์ ศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ องค์กรที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า สำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้า สมาคมกำกับผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือบริษัทอื่นใดซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการ ก.ล.ต. คณะกรรมการกำกับตลาดทุน หรือสำนักงาน
ในกรณีที่มีการแต่งตั้งบุคคลตาม (๕) หรือ (๖) ผู้ได้รับการแต่งตั้งจะเริ่มปฏิบัติหน้าที่ได้ต่อเมื่อได้ลาออกจากตำแหน่งตาม (๕) หรือ (๖) แล้ว โดยต้องกระทำภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับการแต่งตั้ง แต่ถ้าผู้นั้นมิได้ลาออกภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานกรรมการ ก.ล.ต. หรือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และให้ดำเนินการแต่งตั้งประธานกรรมการ ก.ล.ต. หรือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใหม่แทน แล้วแต่กรณี
มาตรา ๑๐ ประธานกรรมการ ก.ล.ต. และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับการแต่งตั้ง ตามมาตรา ๘ มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสี่ปี และอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้ แต่จะแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินสองวาระมิได้
เมื่อประธานกรรมการ ก.ล.ต. และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งตามวาระ ให้ดำเนินการแต่งตั้งใหม่ภายในหกสิบวัน ในระหว่างที่ยังมิได้มีการแต่งตั้งขึ้นใหม่ ให้ประธานกรรมการ ก.ล.ต. และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ แล้วแต่กรณี อยู่ในตำแหน่งเพื่อดำเนินงานต่อไปจนกว่าประธานกรรมการ ก.ล.ต. และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับการแต่งตั้งใหม่เข้ารับหน้าที่
มาตรา ๑๑ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ ประธานกรรมการ ก.ล.ต. และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามมาตรา ๘ พ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) มีอายุครบเจ็ดสิบปีบริบูรณ์
(๔) เป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๙
(๕) คณะรัฐมนตรีมีมติให้ออกโดยคำแนะนำของรัฐมนตรีสำหรับประธานกรรมการ ก.ล.ต. หรือรัฐมนตรีมีคำสั่งให้ออกโดยคำแนะนำของคณะกรรมการ ก.ล.ต. ที่มีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนกรรมการทั้งหมดสำหรับกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ทั้งนี้ มติและคำสั่งให้ออกดังกล่าวต้องแสดงเหตุผลอย่างชัดแจ้ง
ในกรณีที่ประธานกรรมการ ก.ล.ต. หรือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ คณะรัฐมนตรีอาจแต่งตั้งผู้อื่นเป็นประธานกรรมการ ก.ล.ต. แทน หรือรัฐมนตรีอาจแต่งตั้งผู้อื่นเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิแทน แล้วแต่กรณี และให้ผู้ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งแทนอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของประธานกรรมการ ก.ล.ต. หรือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่ตนแทน"
มาตรา ๖ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๓ แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
"มาตรา ๑๓ กรรมการ ก.ล.ต. ผู้ใดมีส่วนได้เสียในเรื่องที่พิจารณาให้แจ้งการมีส่วนได้เสียนั้นและห้ามมิให้เข้าร่วมพิจารณาในเรื่องนั้น
แนวทางการพิจารณาส่วนได้เสียตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. กำหนด"
มาตรา ๗ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (๔/๑) ของมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๕
"(๔/๑) กำหนดหลักเกณฑ์เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพิจารณาปัญหาที่อาจเกิดขึ้น อันเนื่องมาจากการใช้บังคับพระราชบัญญัตินี้"
มาตรา ๘ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๑๔/๑ และมาตรา ๑๔/๒ แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๕
"มาตรา ๑๔/๑ ให้มีคณะกรรมการตรวจสอบที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. แต่งตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าสามคนแต่ไม่เกินห้าคน ในจำนวนนี้ต้องเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ ก.ล.ต. อย่างน้อยสองคน
ให้คณะกรรมการตรวจสอบแต่งตั้งพนักงานของสำนักงานคนหนึ่งเป็นเลขานุการคณะกรรมการตรวจสอบ
มาตรา ๑๔/๒ ให้คณะกรรมการตรวจสอบมีอำนาจและหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑) ทบทวนและให้ความเห็นต่อคณะกรรมการ ก.ล.ต. เกี่ยวกับระบบการควบคุมภายใน
(๒) สอบทานรายงานการเงินและข้อมูลทางการเงินของสำนักงาน
(๓) ประสานงานกับสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินในเรื่องการตรวจสอบงบการเงิน
(๔) ทบทวนและสอบทานการปฏิบัติตามกฎระเบียบ
(๕) กำกับดูแลหน่วยงานตรวจสอบภายใน
(๖) ปฏิบัติหน้าที่อื่นใดตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการ ก.ล.ต.
ในการปฏิบัติหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการตรวจสอบรายงานต่อคณะกรรมการ ก.ล.ต."
มาตรา ๙ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๕ แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
"มาตรา ๑๕ ให้คณะกรรมการ ก.ล.ต. มีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อปฏิบัติการ อย่างหนึ่งอย่างใดตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. มอบหมายได้
ให้นำความในมาตรา ๑๒ มาใช้บังคับกับการประชุมของคณะอนุกรรมการโดยอนุโลม"
มาตรา ๑๐ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นส่วนที่ ๑/๑ คณะกรรมการกำกับตลาดทุน มาตรา ๑๖/๑ มาตรา ๑๖/๒ มาตรา ๑๖/๓ มาตรา ๑๖/๔ มาตรา ๑๖/๕ มาตรา ๑๖/๖ มาตรา ๑๖/๗ และมาตรา ๑๖/๘ ของหมวด ๑ การกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และ ตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๕

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ