พระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน (ฉบับที่ 385) พ.ศ.2544

ข่าวกฏหมายและประกาศ Wednesday September 5, 2001 08:29 —ประมวลรัษฎากร

                                                พระราชกฤษฎีกา
ออกตามความในประมวลรัษฎากร
ว่าด้วยการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน (ฉบับที่ 385)
พ.ศ. 2544
____________________________
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ.2544
เป็นปีที่ 56 ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ แก้ไข เงื่อนไข และอัตราการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคา
ของทรัพย์สินบางกรณี
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 221 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา 65 ทวิ (2)
แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 25) พ.ศ.2525 จึง
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ดังต่อไปนี้
มาตรา 1 พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า "พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการหักค่าสึกหรอ
และค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน (ฉบับที่ 385) พ.ศ.2544"
มาตรา 2 พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป
มาตรา 3 การหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินประเภทอาคารถาวรที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้มา
ซึ่งกรรมสิทธิ์โดยการซื้อหรือโดยวิธีอื่นใด ภายในกำหนดเวลาหนึ่งปีนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้มีผลใช้บังคับ ให้หักค่าสึกหรอ
และค่าเสื่อมราคาเบื้องต้นในวันที่ได้ทรัพย์สินนั้นมาในอัตราร้อยละยี่สิบของมูลค่าต้นทุน สำหรับมูลค่าต้นทุนที่เหลือให้หักตาม
หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และอัตราที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการหักค่า
สึกหรอ และค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน (ฉบับที่ 145) พ.ศ.2527
ทรัพย์สินตามวรรคหนึ่ง ต้องเป็นอาคารถาวรที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมีไว้เพื่อใช้ในการประกอบกิจการของ
ตนเองโดยมิใช่เพื่อขาย
มาตรา 4 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร
นายกรัฐมนตรี
หมายเหตุ: เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่ในสภาวการณ์ปัจจุบัน ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในประเทศ
ยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร รัฐบาลจึงมีนโยบายที่จะใช้มาตรการทางภาษีเป็นมาตรการหนึ่งในการกระตุ้นให้มีการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์
มากขึ้น จึงสมควรกำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินประเภทอาคารถาวรเพื่อใช้ในการประกอบ
กิจการของตน สามารถหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาเบื้องต้นสำหรับทรัพย์สินประเภทดังกล่าวได้เป็นพิเศษ นอกเหนือจากการหัก
ค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินตามหลักเกณฑ์ทั่วไปเพื่อประโยชน์ในการคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิเพื่อเสียภาษี จึง
จำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ