พระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฏากร ว่าด้วยการลดอัตรารัษฎากร (ฉบับที่ 387) พ.ศ.2544

ข่าวกฏหมายและประกาศ Wednesday September 5, 2001 08:16 —ประมวลรัษฎากร

                                        พระราชกฤษฎีกา
ออกตามความในประมวลรัษฎากร
ว่าด้วยการลดอัตรารัษฎากร (ฉบับที่ 387)
พ.ศ.2544
___________________________
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ.2544
เป็นปีที่ 56 ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 221 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา 3(1)
แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 10)
พ.ศ.2496 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้
มาตรา 1 พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า "พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการ
ลดอัตรารัษฎากร (ฉบับที่ 387) พ.ศ.2544"
มาตรา 2 พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป
มาตรา 3 ให้ลดอัตราภาษีเงินได้ ตาม (ก) ของ (2) สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล แห่งบัญชี
อัตราภาษีเงินได้ท้ายหมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร และคงจัดเก็บในอัตราร้อยละ 25 ของกำไร
สุทธิเฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 300 ล้านบาท เป็นเวลาห้ารอบระยะเวลาบัญชีต่อเนื่องกันนับแต่รอบระยะเวลาบัญชีแรก
ที่เริ่มในหรือหลังวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ ทั้งนี้ เฉพาะบริษัทที่มีหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่ง
ประเทศไทยตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ
มาตรา 4 ให้ลดอัตราภาษีเงินได้ตาม (ก) ของ (2) สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลแห่งบัญชี
อัตราภาษีเงินได้ท้ายหมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร และคงจัดเก็บในอัตรา ดังต่อไปนี้ เป็นเวลา
ห้ารอบระยะเวลาบัญชีต่อเนื่องกันนับแต่รอบระยะเวลาบัญชีแรกที่เริ่มในหรือหลังวันที่บริษัทที่มีหลักทรัพย์มาจดทะเบียน
ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ ตั้งแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้
ใช้บังคับ
(1) ร้อยละ 20 ของกำไรสุทธิ สำหรับบริษัทที่นำหลักทรัพย์มาจดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์ตามข้อบังคับ
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่าด้วยการรับหลักทรัพย์จดทะเบียนใน "ตลาดหลักทรัพย์ใหม่"
(2) ร้อยละ 25 ของกำไรสุทธิ สำหรับบริษัทที่นำหลักทรัพย์มาจดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ตามนอกเหนือจากกรณีตาม (1)
มาตรา 5 บริษัทที่จะได้รับสิทธิในการลดอัตราภาษีเงินได้ตามมาตรา 4 จะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์
วิธีการ และเงื่อนไข ดังต่อไปนี้
(1) นำหลักทรัพย์ของตนมาจดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ภายในเวลาสามปีนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ
(2) ไม่เคยมีหลักทรัพย์จดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และ
ตลาดหลักทรัพย์ ในระหว่างระยะเวลาสามปีก่อนการจดทะเบียนหลักทรัพย์กับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
(3) ไม่เป็นบริษัทที่ควบเข้ากันกับบริษัทที่ได้รับสิทธิลดอัตราภาษีเงินได้ตามมาตรา 3 หรือ รับโอนกิจการทั้งหมด
หรือบางส่วนจากบริษัทดังกล่าว ในระหว่างระยะเวลาสามปีก่อนการจดทะเบียนหลักทรัพย์กับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
(4) ไม่รับโอนกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนจากบริษัทที่ได้รับสิทธิลดอัตราภาษีเงินได้ตามมาตรา 3 อยู่ก่อนวันที่
พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ ตลอดระยะเวลาที่บริษัทได้รับสิทธิลดอัตราภาษีเงินได้ หากมีการรับโอนกิจการดังกล่าว ให้ถือว่า
บริษัทนั้นหมดสิทธิที่จะได้รับการลดอัตราภาษีเงินได้ตั้งแต่ระยะเวลาบัญชีที่มีการรับโอนกิจการ
มาตรา 6 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร
นายรัฐมนตรี
หมายเหตุ: -เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล
สำหรับกำไรสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งเป็นบริษัทที่มีหลักทรัพย์จดทะเบียนอยู่แล้วก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกา
นี้ใช้บังคับหรือเป็นบริษัทที่นำหลักทรัพย์มาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยหรือตลาดหลักทรัพย์ใหม่ของ
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เพื่อเป็นการจูงใจให้บริษัทนำ
หลักทรัพย์ที่ได้ออกไว้ไปซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ และเพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนโดยเฉพาะในตลาดหลักทรัพย์
แห่งประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นมาตรการหนึ่งที่จะทำให้ระบบเศรษฐกิจขยายตัวอย่างต่อเนื่องและเป็นการ
พัฒนาตลาดทุนโดยรวม จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ