กฎกระทรวง ฉบับที่ 8 (พ.ศ.2540) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522

ข่าวกฏหมายและประกาศ Tuesday September 9, 1997 07:05 —พรบ.คุ้มครองผู้บริโภค

                                                        กฎกระทรวง
ฉบับที่ 8 (พ.ศ.2540)
ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค
พ.ศ.2522
___________________
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 8 และมาตรา 40 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522
นายกรัฐมนตรีออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ในกฎกระทรวงนี้
"สมาคม" หมายความว่า สมาคมที่มีวัตถุประสงค์ในการคุ้มครองผู้บริโภคหรือต่อต้านการแข่งขันอันไม่เป็นธรรมทางการค้า
"คณะกรรมการ" หมายความว่า คณะกรรมการของสมาคม
"กรรมการ" หมายความว่า กรรมการของสมาคม
ข้อ 2 สมาคมที่จะขอรับการรับรองเพื่อให้มีสิทธิและอำนาจฟ้องคดีเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคต้องมีข้อบังคับของ
สมาคมเกี่ยวกับสมาชิกและกรรมการไว้อย่างน้อย ดังต่อไปนี้
(1) สมาชิกต้องมีสัญชาติไทยไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมด
(2) กรรมการของสมาคมต้องมีสัญชาติไทยไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนกรรมการทั้งหมด
(3) กรรมการของสมาคมต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่าเจ็ดคน ซึ่งที่ประชุมใหญ่ของสมาชิกออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งจาก
สมาชิกผู้มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้
(ก) มีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์
(ข) มีความประพฤติเรียบร้อยไม่บกพร่องในศีลธรรมอันดี
(ค) ไม่เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
(ง) ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย
(จ) ไม่เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท
หรือความผิดลหุโทษ
(4) กรรมการมีวาระดำรงตำแหน่งไม่เกินคราวละสองปี
(5) นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตาม (4) กรรมการพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(ก) ตาย
(ข) ลาออก
(ค) ขาดจากการเป็นสมาชิกภาพ
(ง) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
(จ) เป็นบุคคลล้มละลาย
(ฉ) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท
หรือความผิดลหุโทษ
(ช) สมาชิกจำนวนเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดมีมติให้พ้นจากตำแหน่ง
เมื่อตำแหน่งของกรรมการว่างลงเพราะเหตุอื่นใดนอกจากถึงคราวออกตามวาระ ให้มีการเลือกตั้งกรรมการแทน
ตำแหน่งที่ว่างภายในสามสิบวัน และให้อยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรรมการซึ่งตนแทน
(6) ในกรณีที่กรรมการผู้ใดกระทำการโดยไม่สุจริต หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดที่ไม่สมควรอันจะทำให้ผู้บริโภค
เสียประโยชน์ หรือไม่ปฏิบัติตามระเบียบของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สมาชิกจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิก
ทั้งหมดหรือไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยคนเข้าชื่อร่วมกันจัดให้มีการประชุมใหญ่ได้
(7) การประชุมคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด
จึงจะเป็นองค์ประชุม
การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน
ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
ในการประชุมคณะกรรมการ ถ้ามีการพิจารณาเรื่องใดซึ่งกรรมการผู้ใดมีส่วนได้เสียโดยเฉพาะผู้นั้นไม่มีสิทธิเข้าประชุม
(8) การประชุมใหญ่ต้องยินยอมให้ผู้ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคมอบหมายเข้าฟังการประชุมได้
ข้อ 3 การดำเนินการเกี่ยวกับการฟ้องคดี สมาคมต้องกำหนดวิธีการดำเนินการของสมาคมไว้ ในข้อบังคับดังต่อไปนี้
(1) คณะกรรมการของสมาคมต้องแต่งตั้งบุคคลซึ่งมีคุณวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีทางนิติศาสตร์ เป็นผู้ตรวจสอบคดีทำหน้าที่
ให้ความเห็นเกี่ยวกับผลทางกฎหมาย ในการดำเนินคดีก่อนที่สมาคมจะฟ้องคดีใดๆ เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค
(2) ในกรณีสมาชิกของสมาคมขอให้สมาคมเรียกค่าเสียหายแทนตน สมาคมต้องช่วยสมาชิกของสมาคมในการจัดทำหนังสือ
มอบหมายให้เรียกค่าเสียหาย การเตรียมพยานหลักฐาน และการเตรียมคดีให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย หนังสือมอบหมายดังกล่าว
ให้จัดให้มีพยานลงลายมือชื่อรับรองอย่างน้อยสองคน
(3) เมื่อสมาคมได้ยื่นฟ้องคดีใดแล้ว ให้ส่งสำเนาคำฟ้องให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคทราบภายในเจ็ดวัน
นับแต่วันยื่นคำฟ้อง
(4) ถ้าได้มีคำพิพากษาใดคดีที่สมาคมได้ยื่นฟ้องแล้ว ให้ส่งสำเนาคำพิพากษานั้นให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค
ทราบภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ศาลได้มีคำพิพากษา
(5) ถ้าสมาคมจะถอนฟ้องคดีใดต้องแจ้งให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน
(6) ในการฟ้องคดีสมาคมจะเรียกเงินหรือทรัพย์สินใดจากผู้บริโภคไม่ได้ เว้นแต่ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนที่เกี่ยวกับการ
มอบหมายให้เรียกค่าเสียหายแทนสมาชิกของสมาคมซึ่งต้องชำระต่อศาล
(7) สมาคมจะต้องปฏิบัติตามระเบียบเกี่ยวกับการดำเนินการของสมาคมเกี่ยวกับการฟ้องคดี ในรายละเอียดของกรณีที่
เพิ่มเติมจากกฎกระทรวงนี้หรือในกรณีอื่นด้วยตามที่คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคกำหนด
ให้ไว้ ณ วันที่ 9 กันยายน พ.ศ.2540
พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ
นายกรัฐมนตรี
หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา 40 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค
พ.ศ.2522 บัญญัติให้การกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับคณะกรรมการ สมาชิก และวิธีการดำเนินการของสมาคมที่มี
วัตถุประสงค์ในการคุ้มครองผู้บริโภคหรือต่อต้านการแข่งขันอันไม่เป็นธรรมทางการค้าที่ประสงค์ให้คณะกรรมการ
คุ้มครองผู้บริโภครับรองเพื่อให้มีสิทธิและอำนาจฟ้องคดีเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคต้องกรทำโดยกฎกระทรวง
จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ