พระราชบัญญัติ แรงงานสัมพันธ์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2544

ข่าวกฏหมายและประกาศ Friday November 16, 2001 08:19 —พรบ.แรงงานสัมพันธ์

                                                พระราชบัญญัติ
แรงงานสัมพันธ์ (ฉบับที่ 3)
พ.ศ.2544
____________________
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ.2544
เป็นปีที่ 56 ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์
พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 45 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้
มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2544"
มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป
มาตรา 3 ให้ยกเลิกความในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2534 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
"มาตรา 4 พระราชบัญญัตินี้มิให้ใช้บังคับแก่
(1) ราชการส่วนกลาง
(2) ราชการส่วนภูมิภาค
(3) ราชการส่วนท้องถิ่น รวมทั้งราชการของกรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา
(4) กิจการรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เว้นแต่การที่สหพันธ์แรงงานเข้าเป็นสมาชิกสภาองค์การลูกจ้างตามมาตรา 120 ตรี
(5) กิจการอื่นตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา"
มาตรา 4 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา 120 ตรี แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518
"มาตรา 120 ตรี สหพันธ์แรงงานตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์อาจเข้าเป็นสมาชิกสภาองค์การลูกจ้างได้"
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร
นายกรัฐมนตรี
หมายเหตุ: เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2534 มาตรา 4(4) บัญญัติมิให้ใช้พระราชบัญญัตินี้บังคับแก่กิจการรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ แต่พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 มาตรา 72 บัญญัติให้สหพันธ์แรงงานตามกฎหมายดังกล่าวอาจเข้าเป็นสมาชิกสภาองค์การลูกจ้างตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ได้ สมควรแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 เพื่อให้สอดคล้องกัน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ