พระราชบัญญัติ ล้มละลาย (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2543

ข่าวกฏหมายและประกาศ Thursday July 15, 2004 17:13 —พรบ.ล้มละลาย

                                                พระราชบัญญัติ
ล้มละลาย (ฉบับที่ 7)
พ.ศ.2547
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ.2547
เป็นปีที่ 59 ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยล้มละลาย
พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบด้วยมาตรา 36 มาตรา 48 และมาตรา 50 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภาดังต่อไปนี้
มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2547"
มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา 3 ให้ยกเลิกมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2542
มาตรา 4 ให้ยกเลิกความใน (3) ของบทนิยามคำว่า "บุคคลภายในของลูกหนี้" ในมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2542 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
"(3)" คู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะของลูกหนี้หรือของบุคคลตาม(1) หรือ (2)"
มาตรา 5 ให้ยกเลิกความในบทนิยามคำว่า "บุคคลล้มละลายทุจริต" ในมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
""บุคคลล้มละลายทุจริต" หมายความว่า บุคคลล้มละลายที่ถูกศาลพิพากษาว่ามีความผิดตามมาตรา 163 ถึงมาตรา 170 แห่งพระราชบัญญัตินี้ หรือเป็นบุคคลล้มละลายอันเนื่องมาจากหรือเกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดฐานยักยอกหรือฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา หรือการกระทำความผิดอันมีลักษณะเป็นการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน"
มาตรา 6 ให้ยกเลิกความในมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
"มาตรา 21 ถ้าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำขอ ศาลมีอำนาจสั่งให้หน่วยงานหรือผู้ประกอบการเกี่ยวกับไปรษณีย์โทรเลขหรือการสื่อสารอื่นใด ส่งโทรเลข ไปรษณีย์ภัณฑ์ จดหมาย หนังสือ ข้อมูล อิเล็กทรอนิกส์ หรือข้อมูลทางการสื่อสารอื่นใด ที่มีถึงลูกหนี้ภายในกำหนดเวลาไม่เกินหกเดือนนับแต่วันที่ลูกหนี้ถูกสั่งพิทักษ์ทรัพย์ ไปยังเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์"
มาตรา 7 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา 67/1 ของส่วนที่ 10 การปลดจากล้มละลายในหมวด 1 กระบวนพิจารณาตั้งแต่ขอให้ล้มละลายจนถึงปลดจากล้มละลายแห่งพระราชบัญญัติล้มละลายพุทธศักราช 2483
"มาตรา 67/1 เมื่อศาลได้พิพากษาให้ล้มละลายแล้ว บุคคลล้มละลายอาจได้รับการปลดจากล้มละลายเมื่อศาลได้มีคำสั่งปลดจากล้มละลายตามมาตรา 71 หรือเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาตามมาตรา 81/1"
"มาตรา 8 ให้ยกเลิกความในมาตรา 71 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
"มาตรา 71 ให้ศาลมีคำสั่งปลดจากล้มละลาย เมื่อศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า
(1) ได้แบ่งทรัพย์สินชำระให้แก่เจ้าหนี้ที่ได้ขอรับชำระหนี้ไว้แล้วไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบและ
(2) ไม่เป็นบุคคลล้มละลายทุจริต
คำสั่งปลดจากล้มละลายตามวรรคหนึ่ง ศาลอาจกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับทรัพย์สินที่จะพึงได้มาในเวลาต่อไปก็ได้ แต่ต้องไม่เกินระยะเวลาที่บุคคลนั้นได้รับการปลดจากล้มละลายตามมาตรา 81/1"
มาตรา 9 ให้ยกเลิกมาตรา 72 มาตรา 73 มาตรา 74 และมาตรา 75 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483
มาตรา 10 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา 81/1 มาตรา 81/2 มาตรา 81/3 และมาตรา 81/4 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483
"มาตรา 81/1 ภายใต้บังคับมาตรา 81/2 บุคคลธรรมดาซึ่งศาลพิพากษาให้ล้มละลายแล้วให้ปลดบุคคลนั้นจากล้มละลายทันทีที่พ้นกำหนดระยะเวลาสามปีนับแต่วันที่ศาลได้พิพากษาให้ล้มละลายเว้นแต่
(1) บุคคลนั้นได้เคยถูกพิพากษาให้ล้มละลายมาก่อนแล้ว และยังไม่พ้นระยะเวลาห้าปีนับแต่วันที่ศาลได้พิพากษาให้ล้มละลายครั้งก่อนจนถึงวันที่ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ครั้งหลังให้ขยายระยะเวลาเป็นห้าปี
(2) บุคคลนั้นเป็นบุคคลล้มละลายทุจริตที่ไม่มีลักษณะตาม (3) ให้ขยายระยะเวลาเป็นสิบปี เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุผลพิเศษและบุคคลนั้นถูกศาลพิพากษาให้ล้มละลายมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปีศาลขะสั่งปลดจากล้มละลายก่อนครบกำหนดสิบปีตามคำขอของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือของบุคคลล้มละลายนั้นก็ได้
(3) บุคคลนั้นเป็นบุคคลล้มละลายอันเนื่องมาจากหรือเกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดอันมีลักษณะเป็นการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ให้ขยายระยะเวลาเป็นสิบปี
ในกรณีที่มีเหตุตาม (1) (2) หรือ (3) มากกว่าหนึ่งเหตุให้ขยายระยะเวลาโดยอาศัยเหตุใดเหตุหนึ่งที่มีระยะเวลาสูงสุดเพียงเหตุเดียว
ให้นำบทบัญญัติมาตรา 76 มาตรา 77 และมาตรา 78 มาใช้บังคับกับการปลดจากล้มละลายตามมาตรานี้โดยอนุโลม
มาตรา 81/2 ก่อนระยะเวลาสามปีตามมาตรา 81/1 วรรคหนึ่ง จะสิ้นสุดลง เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อาจยื่นคำขอต่อศาลเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้หยุดนับระยะเวลาดังกล่าวไว้ก่อนก็ได้
เมื่อศาลได้รับคำขอเช่นว่านี้แล้ว ให้ศาลกำหนดนัดไต่สวนเป็นการด่วน และส่งสำเนาคำขอให้แก่บุคคลล้มละลายทราบก่อนวันนัดไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน
มาตรา 81/3 เมื่อศาลไต่สวนคำขอตามมาตรา 81/2 แล้ว ถ้าศาลเห็นว่าบุคคลล้มละลายมิได้ให้ความร่วมมือกับเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในการรวบรวมทรัพย์สินโดยไม่มีเหตุอันสมควร ให้ศาลมีคำสั่งหยุดนับระยะเวลาตามมาตรา 81/1 ตั้งแต่วันที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำขอหรือวันที่ศาลมีคำสั่งจนถึงวันที่ศาลกำหนด โดยจะกำหนดเงื่อนไขหรือไม่ก็ได้
การหยุดนับระยะเวลาตามวรรคหนึ่ง ไม่ว่าศาลจะได้มีคำสั่งให้หยุดนับระยะเวลาตามคำขอกี่ครั้งก็ตาม เมื่อรวมระยะเวลาทั้งหมดแล้วจะต้องไม่เกินสองปี และไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด ศาลจะมีคำสั่งให้หยุดนับระยะเวลาตามมาตรา 81/1 (1) (2) หรือ (3) หรือมีคำสั่งเมื่อพ้นระยะเวลาสามปีตามมาตรา 81/1 วรรคหนึ่งแล้วไม่ได้
คำสั่งศาลตามมาตรานี้ให้เป็นที่สุด
มาตรา 81/4 เมื่อศาลมีคำสั่งตามมาตรา 81/3 แล้ว หากพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไป บุคคลล้มละลายอาจยื่นคำขอต่อศาลเพื่อขอให้ยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขคำสั่งดังกล่าวได้
เมื่อได้รับคำขอดังกล่าว ให้ศาลกำหนดวันนัดไต่สวน และส่งสำเนาคำขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพื่อแจ้งให้เจ้าหนี้ทั้งหลายทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน
ศาลอาจมีคำสั่งยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขคำสั่งตามมาตรา 81/3 ก็ได้
คำสั่งศาลตามมาตรานี้ให้เป็นที่สุด"
มาตรา 11ให้ยกเลิกส่วนที่ 12 การอุทรธรณ์ ในหมวด 3/1 กระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ และมาตรา 90/79 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2542
มาตรา 12 ให้ยกเลิกความในมาตรา 179 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2511 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
"มาตรา 179 ค่าธรรมเนียมในคดีล้มละลายให้คิดตามอัตรา ดังต่อไปนี้
(1) ค่าขึ้นศาลสำหรับคำฟ้องหรือคำร้องขอให้ล้มละลาย ห้าร้อยบาท
(2) ค่ายื่นคอขรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย สองร้อยบาท เว้นแต่เป็นคำขอของเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือเจ้าหน้าที่ขอรับชำระหนี้ไม่เกินห้าหมื่นบาท
(3) ค่าขึ้นศาลในกรณีที่มีการอุทธรณ์เรื่องขอรับชำระหนี้ สองร้อยบาท
(4) ค่าธรรมเนียมในการรวบรวมทรัพย์สินให้คิดในอัตราร้อยละสามของเงินสุทธิที่รวบรวมได้สำหรับทรัพย์สินนั้น แต่ถ้ามีการประนอมหนี้ให้คิดค่าธรรมเนียมในอัตราร้อยละสามของจำนวนเงินที่ประนอมหนี้ ทั้งนี้แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า
ค่าธรรมเนียมนอกจากนี้ ให้คิดอัตราเดียวกับค่าธรรมเนียมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง"
มาตรา 13 บุคคลธรรมดาซึ่งศาลได้พิพากษาให้ล้มละลายก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับและครบระยะเวลาตามที่กำหนดในมาตรา 81/1 แหงพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 ซึงแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ปลดจากล้มละลาย
บุคคลซึ่งศาลพิพากษาให้ล้มละลายก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับและยังไม่ถูกปลดจากล้มละลายตามวรรคหนึ่ง ให้ปลดจากล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ โดยการนับระยะเวลาให้นับตั้งแต่ศาลได้พิพากษาให้ล้มละลาย
มาตรา 14 บทบัญญัติมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัตินี้ไม่ใช้บังคับแก่บรรดาคดีล้มละลายที่ได้ยื่นฟ้องไว้ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และให้ใช้บทบัญญัติมาตรา 179 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในวันที่มีการฟ้องคดี บังคับแก่คดีดังกล่าว
มาตรา 15 ให้ประธานศาลฎีกาและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตรนายกรัฐมนตรี
หมายเหตุ: -เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่บทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยล้มละลายในส่วนที่เกี่ยวกับการกำหนดให้ลูกหนี้พ้นจากการล้มละลายโดยผลของกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันยังขาดความชัดเจน ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวกับผลของการพ้นจากการล้มละลาย โดยเฉพาะการจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้อย่างไรก็ตามหลักการของบทบัญญัติในเรื่องนี้เป็นช่องทางหนึ่งที่ช่วยให้บุคคลล้มละลายที่สุจริตได้มีโอกาสพ้นจากการเป็นบุคคลล้มละลาย สมควรคลหลักการดังกล่าวไว้ โดยยกเลิกบทบัญญัติเดิมและนำมากำหนดเพิ่มเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการปลดจากล้มโดยผลของกฎหมาย นอกจากนี้ บทบัญญัติที่กำหนดให้บุคคลล้มละลายอาจร้องขอให้ศาลมีคำสั่งปลดจากล้มละลายได้ซึ่งใช้บังคับในปัจจุบันนั้น ยังขาดความชัดเจนแน่นอนขึ้นอยุ่กับดุลพินิจของศาลแต่ละกรณีจึงสมควรแก้ไขหลักเกณฑ์ที่ศาลจะสั่งปลดจากล้มละลายให้ชัดเจน เพื่อเป็นหลักประกันแก่บุคคลล้มละลายว่าหากดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนดแล้วจะสามารถได้รับการปลดจากล้มละลาย และเพื่อให้บทบัญญัติในส่วนที่เกี่ยวกันค่าธรรมเนียมให้คดีล้มละลายที่ใช้บังคับอยู่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน สมควรปรับปรุงให้เหมาะสมยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ