รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ติดตามนายกรัฐมนตรี ร่วมการประชุมผู้นำยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง ครั้งที่ ๔

ข่าวต่างประเทศ Tuesday November 23, 2010 07:12 —กระทรวงการต่างประเทศ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ติดตามนายกรัฐมนตรี ร่วมการประชุมผู้นำยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง ครั้งที่ ๔

การประชุมผู้นำยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง ครั้งที่ ๔ (the 4th ACMECS Summit) จัดขึ้นเมื่อวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ ณ กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา โดยรัฐบาลกัมพูชาเป็นเจ้าภาพ และเชิญให้นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เข้าร่วมการประชุมผู้นำดังกล่าว ร่วมกับนายกรัฐมนตรีเวียดนาม ลาว และพม่า นอกจากนี้เป็นครั้งแรกที่เลขาธิการอาเซียนได้รับเชิญเข้าร่วมการประชุมด้วย

ในช่วงค่ำวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้แทนนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมงานเลี้ยงรับรอง ซึ่งสมเด็จฯ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา เป็นเจ้าภาพ เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้นำและคณะผู้แทนประเทศต่าง ๆ ที่มาร่วมการประชุม ณ Peace Palace สำนักนายกรัฐมนตรีกัมพูชา กรุงพนมเปญ

ต่อมา เมื่อวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ติดตามนายกรัฐมนตรีเข้าร่วมพิธีเปิดการประชุม การประชุมผู้นำ ACMECS (ACMECS Summit) และการหารือระหว่างผู้นำประเทศสมาชิก ACMECS กับผู้แทนภาคธุรกิจของประเทศ ACMECS (ACMECS Business Forum)

ที่ประชุมได้หารือกันในเรื่องการเกษตร โดยเฉพาะความร่วมมือเรื่องข้าวซึ่งประเทศเพื่อนบ้านของไทยให้ความสนใจ การพัฒนาพื้นที่ชนบทบริเวณชายแดน ความร่วมมือด้านคมนาคม ซึ่งเน้นการเชื่อมโยงเส้นทางสายรองและในพื้นที่ห่างไกล เพื่อเสริมกับการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมสายหลักภายใต้กรอบ GMS และอาเซียน การพัฒนาเส้นทางเหล่านี้จะช่วยเปิดให้สามารถเข้าถึงพื้นที่ชายแดนได้สะดวกขึ้น ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้ขอบคุณประเทศต่าง ๆ ที่แสดงความเห็นใจกรณีอุทกภัยในประเทศไทย และได้กล่าวแสดงความพอใจต่อความร่วมมือของ ACMECS

ในเวทีการหารือระหว่างผู้นำกับภาคเอกชน ไทยได้ย้ำการสนับสนุนการรวมตัวของภาคธุรกิจในประเทศ ACMECS และยินดีที่ทราบว่าจะมีการประชุมสภาธุรกิจ ACMECS ต่อไป รวมทั้งสนับสนุนให้มีการใช้เงินสกุลท้องถิ่นในการค้าบริเวณชายแดน ซึ่งเป็นประเด็นหนึ่งที่มีการหยิบยกขึ้น นอกจากนั้น นายกรัฐมนตรีได้แจ้งความพร้อมของไทย ในการดำเนินโครงการตรวจลงตราร่วมระหว่างไทยกับกัมพูชา เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวจากประเทศที่สาม ซึ่งประเทศ ACMECS อื่น ๆ อาจพิจารณาเข้าร่วมได้ต่อไปด้วย

หลังจากนั้น นายกรัฐมนตรีได้เป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวันแก่คณะผู้แทนภาคเอกชนไทยและเจ้าหน้าที่คณะผู้แทนทางการไทยที่มาร่วมการประชุมดังกล่าว ณ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงพนมเปญ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และนายประศาสน์ ประศาสน์วินิจฉัย เอกอัครราชทูต ณ กรุงพนมเปญ ร่วมด้วย

ในช่วงเย็นวันเดียวกัน นายกรัฐมนตรีได้พบหารือทวิภาคีกับนายกรัฐมนตรีกัมพูชาเป็นการเฉพาะ โดยมีเพียงรัฐมนตรีต่างประเทศของทั้งสองฝ่ายและล่ามเข้าร่วม นายกรัฐมนตรีเปิดเผยภายหลังการหารือว่า พอใจผลการหารือครั้งนี้ ซึ่งเป็นการหารือต่อเนื่องจากครั้งก่อน ๆ และเป็นไปด้วยดี ได้พูดคุยกันอย่างตรงไปตรงมาในหลายเรื่อง รวมทั้งได้หยิบยกประเด็นที่เป็นปัญหาหรือเรื่องคั่งค้างต่าง ๆ ขึ้นมาพิจารณาร่วมกัน นายกรัฐมนตรีทั้งสองฝ่ายยินดีต่อการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อแลกเปลี่ยนด้านวัฒนธรรม ดนตรี กีฬา และสื่อมวลชน ทั้งที่ได้จัดสำเร็จไปแล้วและที่กำลังจะจัดต่อไป ซึ่งช่วยให้ประชาชนทั้งสองฝ่ายมีความใกล้ชิดและเข้าใจกันมากขึ้น มีการพูดถึงการเปิดจุดผ่านแดนแห่งใหม่บริเวณอรัญประเทศ - สตึงบท ซึ่งคืบหน้าไปจนใกล้จะเรียบร้อยแล้ว นายกรัฐมนตรีทั้งสองเห็นพ้องกันว่า ความ สัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชามีส่วนที่เป็นความร่วมมือด้วยดีอยู่มาก ส่วนที่เป็นปัญหาหรือเห็นไม่ตรงกันก็มีอยู่บ้าง แต่เป็นส่วนน้อย และจะได้พยายามแก้ไขปัญหาโดยการหารือกันต่อไป โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวกับเขตแดนรวมทั้งในพื้นที่ใกล้ปราสาทพระวิหาร มีกลไกต่าง ๆ ที่ทำงานอยู่แล้ว อาทิ บันทึกความเข้าใจระหว่างไทยกับกัมพูชาว่าด้วยเขตแดนทางบก พ.ศ. ๒๕๔๓ ทั้งนี้ แม้ทั้งสองฝ่ายจะยังคงมีบางส่วนที่มองไม่ตรงกันอยู่ แต่ข้อสำคัญอยู่ที่ต้องหลีกเลี่ยงมิให้เกิดความตึงเครียดขึ้นได้ เพราะความตึงเครียดจะทำให้ความสัมพันธ์โดยรวมถดถอย อนึ่ง ทั้งสองฝ่ายเห็นว่ายังสามารถแก้ไขปัญหาระหว่างกันเองได้ โดยไม่ต้องยกระดับไปสู่กลไกระดับอื่น

ต่อจากนั้น นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และนายฮอร์ นัมฮง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศของกัมพูชา ได้ร่วมลงนามในความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ที่ถือหนังสือเดินทางธรรมดา โดยนายกรัฐมนตรีของทั้งสองประเทศร่วมเป็นสักขีพยาน ณ Peace Palace ความตกลงฉบับนี้จะมีผลใช้บังคับ ๓๐ วัน นับจากวันที่ลงนาม กล่าวคือ วันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๕๓ ทั้งนี้ การลงนามความตกลงดังกล่าวจะมีผลให้ประชาชนผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดาของประเทศทั้งสอง สามารถเดินทางเข้าออกผ่านไปมาในดินแดนของแต่ละประเทศได้โดยไม่ต้องขอรับการตรวจลงตรา (วีซ่า) และสามารถให้พักในประเทศของอีกฝ่ายหนึ่งได้ไม่เกิน ๑๔ วัน

หลังจากพิธีลงนามความตกลงดังกล่าว สมเด็จฯ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีของกัมพูชา เป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารค่ำเพื่อเป็นเกียรติแก่นายกรัฐมนตรี ณ Peace Palace โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและคณะผู้แทนทางการของไทยเข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำดังกล่าวด้วย

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ