รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศให้สัมภาษณ์ผลการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ ณ เมืองเสียมราฐ ประเทศกัมพูชา

ข่าวต่างประเทศ Thursday January 12, 2012 13:33 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๕๕ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (ASEAN Foreign Ministers’ Meeting (AMM) Retreat) ณ เมืองเสียมราฐ ประเทศกัมพูชา ซึ่งนับเป็นการประชุมครั้งแรกภายใต้การเป็นประธานอาเซียนของกัมพูชาในปี ๒๕๕๕ ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการฯ ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเกี่ยวกับผลของการประชุมฯ สาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

การประชุมในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อติดตามผลการดำเนินการต่างๆ ในปี ๒๕๕๕ เกี่ยวกับการสร้างประชาคมอาเซียน ตลอดจนเพื่อร่วมกันกำหนดทิศทางของอาเซียนในปี ๒๕๕๕ ภายใต้การเป็นประธานของกัมพูชา รวมทั้งเป็นโอกาสที่รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนจะได้แลกเปลี่ยนความเห็นในประเด็นภูมิภาคและระหว่างประเทศที่สำคัญด้วย โดยผลการประชุมที่สำคัญ สรุปได้ ดังนี้

๑. การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องภูมิภาคและระหว่างประเทศ

๑.๑ สถานการณ์ในเมียนมาร์ — ที่ประชุมได้หารือกันอย่างกว้างขวางในเรื่องนี้ โดยไทยได้กล่าวสนับสนุนพัฒนาการในเชิงบวกในระยะที่ผ่านมา ทั้งนี้ อาเซียนจะมีบทบาทที่สำคัญในการส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงในเมียนมาร์ ตลอดจนการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างเมียนมาร์กับโลกภายนอก ทั้งนี้ เพื่อให้รัฐมนตรีอาเซียนรับทราบพัฒนาการในพื้นที่จริง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเมียนมาร์มีแผนที่จะเชิญรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนเยือนเมียนมาร์ หลังการเลือกตั้งในเดือนเมษายนศกนี้

๑.๒ การเสริมความแข็งแกร่งภายในของอาเซียน — อาเซียนจำเป็นต้องเสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างประเทศอาเซียนด้วยกันเอง ในการนี้ ไทยได้ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน ดังจะเห็นได้จากความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชาที่มีพัฒนาการในเชิงบวกมากขึ้น

๑.๓ ความมั่นคงทางทะเล — เป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับเสถียรภาพและความมั่นคงในภูมิภาค โดยไทยเห็นว่า การรักษาสิทธิเสรีภาพและความปลอดภัยในการเดินเรือในน่านน้ำสากลเป็นเรื่องที่สำคัญ โดยเฉพาะกับการค้าขาย ในการนี้ จำเป็นที่จะต้องส่งเสริมความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ อาทิ ปัญหาทะเลจีนใต้โดยสันติวิธี โดยเน้นการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมเกี่ยวกับปฏิญญาว่าด้วยแนวทางปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้ (Declaration on the Conduct of Parties in the South China Sea - DoC) รวมทั้งเรื่องการยกร่างแนวทางปฏิบัติ (Code of Conduct - CoC) ในทะเลจีนใต้ ซึ่งได้มีความคืบหน้าบ้างแล้ว นอกจากนี้ ได้เน้นความจำเป็นที่จะต้องมีการปฏิสัมพันธ์กับจีนในเรื่องนี้ในระดับที่เหมาะสมด้วย สำหรับความร่วมมือในด้านอื่น ๆ นั้น อาเซียนควรบูรณาการความร่วมมือในด้านต่าง ๆ รวมทั้งการแก้ไขปัญหาโจรสลัด การค้ามนุษย์ และสิ่งแวดล้อม

๑.๔ สถานการณ์ในเกาหลีเหนือ — สันติภาพและเสถียรภาพของคาบสมุทรเกาหลีมีความสำคัญสำหรับอาเซียนและภูมิภาค ไทยจึงหวังว่า การเปลี่ยนผ่านผู้นำในเกาหลีเหนือจะเป็นไปอย่างราบรื่น ในการนี้ อาเซียนควรคงนโยบายการมีปฏิสัมพันธ์กับเกาหลีเหนือต่อไป โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์จากการที่เกาหลีเหนือเข้าร่วมการประชุม ARF

๑.๕ สถานการณ์ในตะวันออกกลาง —ไทยได้แจ้งต่อที่ประชุมว่าไทยได้รับรองรัฐปาเลนสไตน์แล้ว และยังคงยึดถือนโยบาย Two State Solution และการสนับสนุนกระบวนการสันติภาพในตะวันออกกลาง

๒. การสร้างประชาคมอาเซียน รัฐมนตรีว่าการฯ ได้เน้นย้ำถึง

๒.๑ การปฏิบัติตามพันธกรณีที่มีอยู่ในด้านต่าง ๆ อาทิ ความเชื่อมโยง โดยให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงระหว่างแผนแม่บทของอาเซียนกับการดำเนินการในกรอบอนุภูมิภาคต่าง ๆ ซึ่งควรจะเอื้อซึ่งกันและกัน นอกจากนั้น อาเซียนควรมียุทธศาสตร์และแนวทางการดำเนินการที่สอดคล้องกันในการดำเนินความสัมพันธ์กับประเทศหุ้นส่วนต่าง ๆ เพื่อให้มีความชัดเจนเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินความสัมพันธ์กับประเทศเหล่านั้น

๒.๒ ความสามารถในการตอบสนองต่อความท้าทายต่าง ๆ เพื่อสร้างประชาคมที่เข้มแข็งและเสริมความเป็นศูนย์กลางของอาเซียนในสถาปัตยกรรมทางภูมิภาค โดยรัฐมนตรีว่าการฯ ได้กล่าวถึง การบริหารจัดการภัยพิบัติ ซึ่งผู้นำอาเซียนได้สนับสนุนข้อเสนอของไทย เรื่อง ASEAN Leaders’ Statement on Cooperation in Flood Prevention, Mitigation, Relief, Recovery and Rehabilitation ที่เป็นเสมือนกรอบสำหรับความร่วมมือในอนาคต ไทยในฐานะประธานคณะกรรมการอาเซียนว่าด้วยการบริหารจัดการภัยพิบัติในปีนี้จะส่งเสริมแนวทางความร่วมมือที่คาบเกี่ยวระหว่างสาขาความร่วมมือต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยเสริมความพร้อมของอาเซียนในการบริหารจัดการภัยพิบัติ โดยเฉพาะความร่วมมือระหว่างฝ่ายพลเรือนกับฝ่ายทหาร

ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการฯ เห็นว่า ความสามารถในการจัดการกับภัยพิบัติในระดับชาติจะเป็นพื้นฐานที่สำคัญสำหรับความสามารถในการจัดการกับภัยพิบัติในระดับภูมิภาค สำหรับประเทศไทย รัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ในลำดับต้น และจะจัดสรรงบประมาณ จำนวน ๓๕๐,๐๐๐ ล้านบาท สำหรับแผนฟื้นฟูและบูรณะอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อให้มีระบบการเตรียมการและบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนในอนาคต พร้อมนี้ รัฐมนตรีว่าการฯ ได้แจ้งแก่ที่ประชุมว่าไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำเรื่องน้ำในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ ๒ ระหว่างวันที่ ๑๓-๑๔ พฤษภาคม ๒๕๕๕ และได้เชิญให้ผู้นำจากอาเซียนและภูมิภาคอื่น ๆ เข้าร่วมด้วย

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ