ผลการประชุมคณะทำงานระดับภูมิภาคข้อริเริ่มลุ่มน้ำโขงตอนล่าง (Lower Mekong Initiative : LMI) ครั้งที่ ๗

ข่าวต่างประเทศ Tuesday February 3, 2015 13:51 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ ๒๙ - ๓๐ มกราคม ๒๕๕๘ กระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้เป็นเจ้าภาพร่วมจัดการประชุมคณะทำงานระดับภูมิภาค (Regional Working Group: RWG) ภายใต้ข้อริเริ่มลุ่มน้ำโขงตอนล่าง (Lower Mekong Initiative : LMI) ครั้งที่ ๗ ณ โรงแรม รอยัล ออร์คิด เชอราตัน

กรุงเทพฯ โดยมีผู้แทนจาก ๖ ประเทศสมาชิก ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ ไทย เวียดนาม และสหรัฐอเมริกา และกลุ่มมิตรประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่าง (Friends of the Lower Mekong: FLM) อาทิ ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย สาธารณรัฐเกาหลี ออสเตรเลีย สหภาพยุโรป และสำนักเลขาธิการอาเซียน เข้าร่วมประมาณ ๑๖๐ คน

นายชุตินทร คงศักดิ์ อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ได้กล่าวเปิดการประชุม โดยย้ำถึงความสำคัญของการส่งเสริมความร่วมมือที่ใกล้ชิดระหว่างประเทศสมาชิก LMI และ FLM กับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และได้แจ้งความคืบหน้าการดำเนินการของไทยในสาขาความร่วมมือต่าง ๆ ได้แก่ สาธารณสุข การเชื่อมโยงระหว่างกัน การศึกษา สิ่งแวดล้อมและน้ำ การเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร และความมั่นคงทางพลังงาน รวมทั้งหยิบยกประเด็นวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (STI) ซึ่งสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๑ (๒๕๕๕-๒๕๕๙) ของไทย ที่จะใช้ STI ในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เพื่อนำไปสู่ความยั่งยืน การเจริญเติบโตที่มีคุณภาพ และการหลุดพ้นจากกับดักของประเทศรายได้ปานกลาง

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้หารือประเด็นคาบเกี่ยวความท้าทายเรื่องความมั่นคงด้านน้ำ พลังงานและอาหาร รวมถึงประเด็นการเพิ่มบทบาทสตรีและการส่งเสริมความเท่าเทียมกันทางเพศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ซึ่งถือเป็นประเด็นที่สำคัญมาก โดยผลการประชุมดังกล่าวจะนำไปปรับร่างแผนปฏิบัติการ LMI ค.ศ.๒๐๑๕ – ๒๐๒๐ ต่อไป

การประชุมครั้งนี้ยังเป็นเวทีที่กลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญ (Eminent and Expert Persons Group: EEPG) ของ LMI พบกันเป็นครั้งแรก เพื่อจัดทำแนวทางการพัฒนาแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน โดยในส่วนของไทย มีนายสุทัศน์ เศรษฐบุญสร้าง สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ อดีตรองเลขาธิการสำนักเลขาธิการอาเซียนและอดีตผู้แทนการค้าไทย และ รศ. ดร. รุธิร์ พนมยงค์ อาจารย์หัวหน้าสาขาวิชาบริหารธุรกิจระหว่างประเทศโลจิสติกส์และการขนส่ง คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้าร่วม

กรอบข้อริเริ่มลุ่มน้ำโขงตอนล่างก่อตั้งเมื่อปี ๒๕๕๒ มีสมาชิก ๖ ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ ไทย เวียดนาม และสหรัฐฯ จัดตั้งขึ้นเพื่อลดช่องว่างระดับการพัฒนาระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนเก่ากับอาเซียนใหม่ และสนับสนุนการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียน ทั้งนี้ ไทยมีบทบาทสำคัญในฐานะหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาร่วมกับสหรัฐฯ ซึ่งได้มีการดำเนินโครงการด้านการศึกษา สาธารณสุข พลังงาน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างต่อเนื่อง

--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ