การลงนามบันทึกความเข้าใจโครงการทุนศึกษาปริญญาเอกภายใต้ความร่วมมือไตรภาคีไทย–สวีเดน

ข่าวต่างประเทศ Wednesday February 4, 2015 17:10 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันอังคารที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ เวลา ๑๓.๐๐ น. ณ ห้องบัวแก้ว กระทรวงการต่างประเทศนางสาวสุชาดา ไทยบรรเทา ผู้อำนวยการสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ พร้อมด้วยศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย Ms. Anne–Charlotte Malm, Head of the Development Cooperation Section สถานเอกอัครราชทูตสวีเดนประจำประเทศไทย และ Associate Professor Dr. Peter Sundin, Head of International Science Programme, Uppsala University, Sweden ได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจโครงการปริญญาเอก ภายใต้ความร่วมมือไตรภาคีระหว่างไทยกับสวีเดน (Memorandum of Understanding between Thailand International Development Cooperation Agency; The Thailand Research Fund, Thailand and Uppsala University: The Internaitonal Science Programme, Sweden in Agreement with the Swedish International Development Cooperation Agency, Sweden on Joint Fellowship Programme for Doctoral Studies) โดยมีแขกผู้มีเกียรติทั้งฝ่ายไทย และสวีเดนร่วมเป็นสักขีพยานในพิธี

โครงการนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (สพร.)และรัฐบาลสวีเดน โดยสถานเอกอัครราชทูตสวีเดนประจำประเทศไทย ซึ่งมีสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เป็นหน่วยปฎิบัติของฝ่ายไทย และ Uppsala University เป็นหน่วยปฏิบัติของฝ่ายสวีเดน เพื่อสนับสนุนทุนศึกษาในสาขา Basic Science ให้แก่กลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นระยะเวลา ๓ ปี ซึ่งผู้ได้รับทุนจะศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาของไทยเป็นระยะเวลา ๒ ปี และไปศึกษาวิจัยที่สวีเดน ๑ ปี โดย สพร. สกว. และ Uppsala University จะร่วมกันสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงาน ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวเป็นการดำเนินการภายใต้บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือไตรภาคีเพื่อการพัฒนา ลงนามเมื่อวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๔๘ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการพัฒนาแห่งสหัสวรรษตามแนวทางของ Busan Declaration ว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่มีประสิทธิภาพ โดยมุ่งเน้นในสาขาที่ทั้งสองฝ่ายมีความสนใจร่วมกัน/ตรงกับความต้องการของประเทศที่สาม (ประเทศผู้รับ) ซึ่งได้แก่ สาธารณสุข สิ่งแวดล้อม และ capacity building เป็นต้น

--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ