พิธีพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี ๒๕๕๘

ข่าวต่างประเทศ Tuesday January 26, 2016 13:11 —กระทรวงการต่างประเทศ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ในพิธีพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี ๒๕๕๘ ในวันพฤหัสบดีที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๕๙ เวลา ๑๗.๓๐ น. ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พร้อมทั้งพระราชทานเลี้ยงอาหารค่ำ เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล พร้อมคู่สมรสในวันเดียวกัน ณ พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร เวลา ๑๙.๓๐ น.

สำหรับผู้ที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้ารับพระราชทานรางวัลฯ นั้น มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้พิจารณากลั่นกรองจากผู้ได้รับการเสนอในปี ๒๕๕๘ จำนวน ๕๑ คน จาก ๑๙ ประเทศ ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ ซึ่งมีสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นองค์ประธานการประชุมฯเมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๕๘ ได้พิจารณาและมีมติตัดสินมอบรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี ๒๕๕๘ ให้แก่บุคคล ดังนี้

สาขาการแพทย์ ได้แก่ ศาสตราจารย์นายแพทย์มอร์ตัน เอ็ม มาวเวอร์ (Professor Morton M. Mower) ศาสตราจารย์อายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ เมืองบัลติมอร์ และศาสตราจารย์สรีรวิทยาและชีวฟิสิกส์ วิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยโฮเวอร์ด กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา

ศาสตราจารย์นายแพทย์มอร์ตัน เป็นผู้ร่วมคิดค้นเครื่องกระตุกหัวใจอัตโนมัติชนิดฝังในร่างกายหรือเอไอซีดี (AICD: Automatic Implantable Cardioverter Defibrillator) และเป็นผู้คิดค้นหลักของเครื่องรักษาหัวใจด้วยวิธีให้จังหวะ หรือซีอาร์ที (CRT: Cardiac Resynchronization Therapy) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีและอุปกรณ์สำคัญในการช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจห้องล่างเต้นผิดปรกติชนิดวีเอฟ (VF: Ventricular Fibrillation) และวีที (VT: Ventricular Tachycardia) ซึ่งอาจนำไปสู่การเสียชีวิตอย่างเฉียบพลันในผู้ป่วยโรคหัวใจได้ อุปกรณ์ดังกล่าวสามารถลดอัตราการเสียชีวิตจากภาวะหัวใจห้องล่างเต้นผิดปรกติในผู้ป่วยโรคหัวใจได้ดีกว่าการรักษาด้วยยาเพียงอย่างเดียว ปัจจุบันมีการฝังอุปกรณ์ดังกล่าวในผู้ป่วยประมาณปีละ ๒๐๐,๐๐๐ ราย อุปกรณ์ดังกล่าวมีประสิทธิภาพในการแก้ไขความผิดปรกติของการเต้นหัวใจสูง ช่วยชีวิตผู้ป่วยได้มาก รวมถึงช่วยให้ผู้ป่วยที่รอดชีวิตมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นด้วย

สาขาการสาธารณสุข ได้แก่ เซอร์ไมเคิล กิเดียน มาร์มอต (Sir Michael Gideon Marmot) ผู้อำนวยการสถาบันความเป็นธรรมด้านสุขภาพและศาสตราจารย์ระบาดวิทยา ภาควิชาระบาดวิทยาและสาธารณสุข University College London มหาวิทยาลัยลอนดอน สหราชอาณาจักร และนายกแพทยสมาคมโลก

เซอร์ไมเคิล กิเดียน มาร์มอต มีผลงานสำคัญด้านการศึกษาวิจัยทางระบาดวิทยาอย่างเป็นระบบมานานกว่า ๓๕ ปี โดยเน้นเกี่ยวกับบทบาทของเชื้อชาติ วิถีการดำเนินชีวิต เศรษฐานะ ความไม่เท่าเทียมกัน รวมถึงปัจจัยทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่มีต่อสุขภาวะ อายุไข และโอกาสในการเกิดโรคของประชากรในหลายประเทศทั่วโลก นอกจากนี้ยังเสนอแนวทางการแก้ไขด้วยหลักปัจจัยทางสังคมที่มีผลต่อสุขภาพ (Social Determinants of Health ) ซึ่งเป็นการประเมินปัจจัยต่าง ๆ ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ การป้องกันโรค และการสร้างเสริมพัฒนาศักยภาพของคนอย่างยั่งยืน ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวัยชรา โดยองค์การอนามัยโลกได้นำแนวคิดดังกล่าวไปวางแผนกลยุทธ์เป็นนโยบายสาธารณะซึ่งมีผลต่อแนวทางปฏิบัติด้านสุขภาพทั่วโลก ส่งเสริมให้ประชากรมีสุขภาวะที่ดี ลดช่องว่างความไม่เท่าเทียมกันทางสุขภาพ สร้างความเป็นธรรมด้านสุขภาพ เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพอนามัยของมวลมนุษย์หลายร้อยล้านคนทั่วโลก

อนึ่ง รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล เป็นรางวัลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งขึ้น เพื่อถวายเป็นพระราชานุสรณ์แด่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ในโอกาสจัดงานเฉลิมฉลอง ๑๐๐ ปี แห่งการพระราชสมภพ ๑ มกราคม ๒๕๓๕ ดำเนินงานโดยมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธาน มอบรางวัลให้แก่บุคคลหรือองค์กรทั่วโลกที่มีผลงานดีเด่นเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ ทางด้านการแพทย์ ๑ รางวัล และด้านการสาธารณสุข ๑ รางวัล เป็นประจำทุกปี แต่ละรางวัลประกอบด้วยเหรียญรางวัล ประกาศนียบัตร และเงินรางวัลจำนวน ๑๐๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ

ในระยะเวลา ๒๔ ปีที่ผ่านมา มีบุคคลหรือองค์กรได้รับรางวัลนี้แล้วทั้งสิ้น ๗๐ ราย ในจำนวนนี้มี ๔ รายที่ได้รับรางวัลโนเบลในเวลาต่อมา ดังนี้

(๑) ศาสตราจารย์นายแพทย์ แบรี่ เจมส์ มาร์แชล รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ปี ๒๕๔๔ ต่อมารับรางวัลโนเบล ปี ๒๕๔๘

(๒) ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ ฮารัลด์ ซัวร์ เฮาเซน รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ปี ๒๕๔๘ และรับรางวัลโนเบล ปี ๒๕๕๑

(๓) ศาสตราจารย์ซาโตชิ โอมูระ รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ปี ๒๕๔๐ และรับรางวัลโนเบล ปี ๒๕๕๘

(๔) ศาสตราจารย์ถู โยวโยว รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ปี ๒๕๔๖ และรับรางวัลโนเบล ปี ๒๕๕๘

นอกจากนี้ มีผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ๑ รายที่ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกในเวลาต่อมา คือ แพทย์หญิงมากาเร็ต เอฟซี ชาน รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ปี ๒๕๔๙ และมีคนไทยเคยได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ๔ ราย ได้แก่ ศาสตราจารย์นายแพทย์ประสงค์ ตู้จินดา และศาสตราจารย์แพทย์หญิงสุจิตรา นิมมานนิตย์ รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ปี ๒๕๓๙ และนายแพทย์ วิวัฒน์ โรจนพิทยากร และนายมีชัย วีระไวทยะ รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ปี ๒๕๕๒

--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ