การประชุม Bali Process Government and Business Forum

ข่าวต่างประเทศ Thursday August 17, 2017 16:16 —กระทรวงการต่างประเทศ

นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มีกำหนดเข้าร่วมการประชุม Bali Process Government and Business Forum ระหว่างวันที่ ๒๔ – ๒๕ สิงหาคม ๒๕๖๐ ณ นครเพิร์ท ประเทศออสเตรเลีย

การประชุม Bali Process Government and Business Forum เป็นผลสืบเนื่องจากการประชุมระดับรัฐมนตรีของกระบวนการบาหลี ครั้งที่ ๖ เมื่อวันที่ ๒๒ – ๒๓ มีนาคม ๒๕๕๙ ที่เกาะบาหลี โดยที่ประชุมตระหนักถึงความจำเป็นในการส่งเสริมความร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อต่อต้านและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และแรงงานทาสยุคใหม่ (modern slavery) ออสเตรเลียในฐานะประธานร่วมกระบวนการบาหลี จึงได้เสนอให้จัดตั้ง Bali Process Government and Business Forum ขึ้น เพื่อเป็นกลไกหารือระหว่างผู้นำจากภาครัฐและภาคเอกชนเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในภาคธุรกิจ ซึ่งการประชุมครั้งนี้จะเป็นการประชุมครั้งแรกของ Bali Process Government and Business Forum

การประชุมฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ของภาคธุรกิจในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ผ่านการส่งเสริมแนวปฏิบัติที่ดีของภาคธุรกิจและการพัฒนากฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องของรัฐ ซึ่งสอดคล้องกับหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UN Guiding Principles on Business and Human Rights – UNGP) ทั้งนี้ จะมีผู้แทนเข้าร่วมการประชุมจาก ๒๔ ประเทศ แบ่งเป็นระดับรองประธานาธิบดีหรือรองนายกรัฐมนตรี ๒ ประเทศ (ปาเลา และมาเลเซีย) ระดับรัฐมนตรี ๑๐ ประเทศ (บังกลาเทศ กัมพูชา ฟิจิ ไทย เมียนมา วานูอาตู ลาว ศรีลังกา อินโดนีเซีย และ ออสเตรเลีย) และระดับรัฐมนตรีช่วย ๕ ประเทศ (ญี่ปุ่น มองโกเลีย นาอูรู ตุรกี และอัฟกานิสถาน) ผู้นำภาคธุรกิจ ๒๗ คน จาก ๒๖ ประเทศ (โดยในส่วนของไทยมีผู้แทนจากบริษัทไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป) และองค์การระหว่างประเทศ 3 องค์การ (International Organization for Migration – IOM, The Office of the United Nations High Commissioner for Refugees – UNHCR, United Nations Office on Drugs and Crime – UNODC) เข้าร่วม

การเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นการย้ำความสำคัญที่รัฐบาลไทยให้กับการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และการบังคับใช้แรงงาน โดยเฉพาะในห่วงโซ่อุตสาหกรรมประมงและอุตสาหกรรมการผลิต ตามนโยบายไม่ยอมรับการค้ามนุษย์ทุกรูปแบบ (Zero Tolerance) ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๗ ตลอดจนเป็นการแสดงความพร้อมส่งเสริมความร่วมมืออย่างสร้างสรรค์ระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์แบบบูรณาการ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์แบบองค์รวม

--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ