คำชี้แจงของไทยต่อรายงานของโครงการ “สิทธิจากเรือสู่ฝั่ง” ของ ILO

ข่าวต่างประเทศ Monday March 19, 2018 14:05 —กระทรวงการต่างประเทศ

ตามที่เมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ได้เปิดตัวงานวิจัยข้อมูลพื้นฐาน (Baseline Research) ของโครงการ “สิทธิจากเรือสู่ฝั่ง” (Ship to Shore Rights) และได้มีสื่อมวลชนให้ความสนใจและนำเสนอเนื้อหารายงานดังกล่าวในแง่มุมต่าง ๆ นั้น

กระทรวงการต่างประเทศขอชี้แจงข้อมูลและข้อเท็จจริง ดังนี้

๑. โครงการ “สิทธิจากเรือสู่ฝั่ง” เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงแรงงาน องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) และสหภาพยุโรป โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันและลดรูปแบบการทำงานที่ไม่เป็นที่ยอมรับในอุตสาหกรรมประมงและแปรรูปอาหารทะเล กิจกรรมภายใต้โครงการประกอบด้วยการพัฒนาและปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องของไทย การเสริมสร้างศักยภาพในการตรวจแรงงานของเจ้าหน้าที่ตรวจแรงงาน การปรับปรุงการปฏิบัติงานให้สอดคล้องกับมาตรฐานของ ILO และการเพิ่มการเข้าถึงบริการความช่วยเหลือต่าง ๆ สำหรับแรงงาน

๒. โครงการดังกล่าวมีระยะเวลาดำเนินการ ๓ ปี (พ.ศ. ๒๕๖๐ - ๒๕๖๒) เริ่มต้นด้วยการทำวิจัยข้อมูลพื้นฐานกับแรงงานในภาคประมงและแปรรูปอาหารทะเล โดยทำการสำรวจข้อมูลจากแรงงานจำนวน ๔๓๔ คน ในพื้นที่ ๑๑ จังหวัด ในช่วงเดือนมีนาคม - เมษายน ๒๕๖๐ เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับวัดพัฒนาการการดำเนินงานของไทย โดยจะมีการทำวิจัยขั้นสุดท้าย (Endline Research) อีกครั้งก่อนจบโครงการในปี พ.ศ. ๒๕๖๒ ดังนั้น ผลการวิจัยดังกล่าวไม่สามารถใช้เป็นภาพสะท้อนสถานะปัจจุบันของภาคการประมง

และแปรรูปอาหารทะเลโดยรวมได้

๓. งานวิจัยข้อมูลพื้นฐานของโครงการดังกล่าวระบุว่า สถานการณ์แรงงานในไทยโดยรวมดีขึ้นมาก เช่น มีสถิติการทำร้ายร่างกายที่ลดลง และมีการใช้แรงงานเด็กเหลือเพียงร้อยละ ๑ จากการสำรวจแรงงานกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด ซึ่งเป็นผลจากการปฏิรูปมาตรการทางกฎหมายและการกำกับดูแลของไทย อย่างไรก็ดี งานวิจัยยังพบการละเมิดสิทธิแรงงานอยู่ โดยส่วนราชการไทยตระหนักดีในข้อนี้ และได้รับข้อมูลและประสานงานกับ ILO เกี่ยวกับการดำเนินโครงการและการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งปลัดกระทรวงแรงงานยังเป็นประธานกรรมการในคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการ (Project Steering Committee) ดังกล่าวด้วย

๔. อย่างไรก็ดี จากการที่งานวิจัยได้ระบุข้อสงวนเพิ่มเติมว่า แรงงานที่ให้สัมภาษณ์เป็นผู้ที่ทำงานบนเรือประมงที่ออกทะเลระยะสั้น ไม่ครอบคลุมแรงงานบนเรือประมงที่ออกทะเลเป็นเวลานานและที่ทำงานนอกน่านน้ำไทยซึ่งอาจทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนนั้น กระทรวงการต่างประเทศขอชี้แจงเพิ่มเติมว่า กรมประมงได้ออกประกาศเมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๕๘ กำหนดให้เจ้าของเรือประมงที่มีขนาดตั้งแต่ ๓๐ ตันกรอสขึ้นไป ซึ่งออกไปทำการประมงพาณิชย์ในทะเลนอกน่านน้ำไทย ต้องนำเรือประมงกลับเข้าเทียบท่าเรือประมงภายใน ๓๐ วัน นับตั้งแต่ออกประกาศ อีกทั้งตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๙ จนถึงปัจจุบัน หน่วยงานของไทยยังมิได้อนุญาตให้เรือประมงลำใดออกไปทำประมงนอกน่านน้ำ จึงไม่มีเรือประมงของไทยออกทำการประมงนอกน่านน้ำนับตั้งแต่ช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งรวมถึงช่วงเวลาที่ทำการสำรวจข้อมูลสำหรับงานวิจัยดังกล่าวในเดือนมีนาคม - เมษายน ๒๕๖๐ ด้วย

๕. ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้แสดงความมุ่งมั่นที่จะยกระดับการจัดการแรงงานทั้งไทยและต่างด้าว โดยเฉพาะในภาคประมง ทั้งการออก พ.ร.ก. การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. ๒๕๖๐ เพื่อควบคุมการบริหารการทำงานของคนต่างด้าวทั้งระบบให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และป้องกันการค้ามนุษย์ในด้านแรงงาน นอกจากนี้ ภายใต้ความร่วมมือกับ ILO ไทยกำลังอยู่ในระหว่างการร่าง พ.ร.บ. ป้องกันและขจัดแรงงานบังคับ เพื่อรองรับการให้สัตยาบันพิธีสารภายใต้อนุสัญญา ILO ฉบับที่ ๒๙ ว่าด้วยแรงงานบังคับ และร่าง พ.ร.บ. แรงงานประมงทะเล เพื่อรองรับการให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ ๑๘๘ ว่าด้วยการทำงานในภาคประมงทะเล อีกทั้งไทยกำลังปรับปรุงกฎหมายภายในเพื่อรองรับการให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ ๙๘ ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรอง และได้จัดตั้งคณะทำงานส่งเสริมแรงงานสัมพันธ์ในกิจการประมงทะเล ซึ่งมีผู้แทนส่วนราชการไทย ILO และภาคประชาสังคมเข้าร่วมคณะทำงานด้วย

๖. ไทยมีความคืบหน้าเรื่องการแก้ไขปัญหาแรงงานในภาพรวม ซึ่งครอบคลุมแรงงานในภาคประมงโดยมีการจัดตั้งกลไกความร่วมมือกับสหภาพยุโรปในเรื่องแรงงานเป็นการเฉพาะ และมีกลไกความร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศอื่น เช่น ILO และ NGO ต่าง ๆ อย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง ข้อมูลในงานวิจัยที่ดำเนินการในช่วงต้นปี พ.ศ. ๒๕๖๐ และอ้างอิงข้อมูลในปีก่อนหน้านั้น จึงไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงทั้งหมดและไม่สะท้อนถึงพัฒนาการการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่องของไทยในปัจจุบัน อย่างไรก็ดี งานวิจัยข้อมูลพื้นฐานของโครงการฯ ได้แสดงถึงความมุ่งมั่นของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งแสดงความตั้งใจที่จะขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงาน โดยเฉพาะในภาคประมงให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ซึ่งรัฐบาลไทยให้ความสำคัญและจะสนับสนุนความร่วมมือดังกล่าวอย่างต่อเนื่องต่อไป

ที่มา: กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ