ไทยได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกคณะกรรมาธิการสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา (CCPCJ) วาระปี ค.ศ. ๒๐๑๙ – ๒๐๒๑ และสมาชิกคณะกรรมาธิการสหประชาชาติว่าด้วยวิทยาศาสตร์และและเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนา (CSTD) วาระปี ค.ศ. ๒๐๑๙ – ๒๐๒๒

ข่าวต่างประเทศ Thursday April 19, 2018 11:01 —กระทรวงการต่างประเทศ

ไทยได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกคณะกรรมาธิการสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา (CCPCJ) วาระปี ค.ศ. ๒๐๑๙ – ๒๐๒๑ และสมาชิกคณะกรรมาธิการสหประชาชาติว่าด้วยวิทยาศาสตร์และและเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนา (CSTD) วาระปี ค.ศ. ๒๐๑๙ – ๒๐๒๒

เมื่อวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๖๑ ประเทศไทยได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกคณะกรรมาธิการสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา (Commission on Crime Prevention and Criminal Justice – CCPCJ) วาระปี ค.ศ. ๒๐๑๙ – ๒๐๒๑ และสมาชิกคณะกรรมาธิการสหประชาชาติว่าด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนา (Commission on Science and Technology for Development – CSTD) วาระปี ค.ศ. ๒๐๑๙ – ๒๐๒๒ จากที่ประชุมสมาชิกคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (Economic and Social Council – ECOSOC) ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก

การเลือกตั้งสมาชิกคณะกรรมาธิการสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา (CCPCJ) วาระปี ค.ศ. ๒๐๑๙ – ๒๐๒๑ กลุ่มเอเชีย – แปซิฟิก มีตำแหน่งว่าง ๕ ตำแหน่ง มีผู้ลงสมัคร ได้แก่ อิหร่าน อิรัก คูเวต อินเดีย และไทย โดยผู้สมัครทั้ง ๕ ประเทศได้รับเลือกตั้งจากที่ประชุมโดยการปรบมือ (acclamation) ที่ผ่านมา ไทยได้รับเลือกให้เป็นสมาชิก CCPCJ หลายวาระ อาทิ วาระปี ค.ศ. ๑๙๙๕ – ๑๙๙๗ และวาระปี ค.ศ. ๒๐๐๔ – ๒๐๑๗ โดยมีบทบาทที่แข็งขันมาโดยตลอด อีกทั้งยังเป็นผู้ผลักดันการรับรองข้อกำหนดกรุงเทพ (Bangkok Rules) ที่เป็นมาตรฐานในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ซึ่งประเทศต่าง ๆ ได้นำไปปรับใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติเพื่อยกระดับมาตรฐานของงานราชทัณฑ์ด้วย

สำหรับการเลือกตั้งสมาชิกคณะกรรมาธิการสหประชาชาติว่าด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนา (CSTD) วาระปี ค.ศ. ๒๐๑๙ – ๒๐๒๒ กลุ่มเอเชีย – แปซิฟิก มีตำแหน่งว่าง ๕ ตำแหน่ง มีผู้สมัคร ๔ ประเทศ ได้แก่ เนปาล จีน อิหร่าน และไทย ทั้งหมดได้รับเลือกตั้งด้วยการลงคะแนนลับ (secret balloting) โดยไทยได้คะแนนเสียงสูงสุด ๕๓ คะแนน (จากสมาชิก ECOSOC จำนวนทั้งหมด ๕๓ ประเทศ) ตามด้วยเนปาล (๕๒ คะแนน) จีน (๕๑ คะแนน) และอิหร่าน (๔๙ คะแนน) ตามลำดับ ทั้งนี้ ไทยเคยเป็นสมาชิก CSTD วาระปี ค.ศ. ๒๐๑๕ – ๒๐๑๘ และการเป็นสมาชิกอีกวาระในครั้งนี้ จะมุ่งเน้นบทบาทเรื่องการใช้วิทยาศาสตร์และนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนการอนุวัติเป้าหมายแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals – SDGs) อย่างแข็งขันต่อไป

อนึ่ง การเป็นสมาชิก CCPCJ และ CSTD ซึ่งเป็นกลไกย่อย (Functional Commission) ภายใต้คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (ECOSOC) เป็นการสานต่อบทบาทที่แข็งขันและสร้างสรรค์ของไทยในประเด็นเศรษฐกิจและสังคมในกรอบสหประชาชาติ ทั้งนี้ ไทยสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (Economic and Social Council – ECOSOC) วาระปี ค.ศ. ๒๐๒๐ – ๒๐๒๒ ซึ่งจะเลือกตั้งในปี ๒๕๖๒

ที่มา: กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ