รองนายกรัฐมนตรีนำคณะทูตร่วมสังเกตการณ์การรื้อทำลายซากเรือประมงนอกระบบทะเบียนเรือไทย และเข้าชมกระบวนการตรวจสอบย้อนกลับของโรงงานแปรรูปสัตว์น้ำ

ข่าวต่างประเทศ Monday September 17, 2018 13:02 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๖๑ พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ได้นำคณะทูตานุทูต จากสหภาพยุโรป ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกาและประเทศสมาชิกอาเซียน รวม 10 ประเทศ เข้าร่วมสังเกตการณ์การรื้อทำลายซากเรือประมงนอกระบบทะเบียนเรือไทย จำนวน ๙ ลำ บริเวณริมแม่น้ำท่าจีน พร้อมนำชมการยกระดับประสิทธิภาพระบบการตรวจสอบย้อนกลับของไทยที่ได้มาตรฐานสากลของโรงงานแปรรูปสัตว์น้ำ จังหวัดสมุทรสาคร

รัฐบาลไทยได้ดำเนินมาตรการสำรวจซากเรือชำรุดผุพังที่จอดอยู่บริเวณแม่น้ำ ลำคลอง ชายหาด และเกาะต่าง ๆ ในพื้นที่ ๒๒ จังหวัดชายทะเล เพื่อนำไปสู่การทำลายซากเรือประมงนอกระบบทะเบียนเรือไทย เพื่อป้องกันการนำซากเรือเหล่านี้ไปแสวงหาประโยชน์ในทางมิชอบ สร้างความชัดเจนของขนาดกองเรือประมงไทย รวมทั้งขจัดสิ่งกีดขวางที่อาจเป็นอันตรายต่อการเดินเรือ ตลอดจนปรับปรุงทัศนียภาพของแม่น้ำและชายหาดต่าง ๆ โดยนับแต่เดือนสิงหาคมเป็นต้นมา ทางการไทยได้เริ่มรื้อทำลายซากเรือไปแล้วทั้งหมด ๙ ลำ ในจังหวัดตราด สมุทรสงคราม ประจวบคีรีขันธ์ และจันทบุรี โดยมีแผนจะดำเนินการอย่างต่อเนื่องในจังหวัดชายฝั่งทะเลอื่น ๆ ด้วย

ทั้งนี้ ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ. รมน.) และกรมเจ้าท่า ได้ร่วมกันสำรวจและค้นพบซากเรือทั้งหมด ๘๖๑ ลำ และโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา ๑๒๑ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. ๒๔๕๖ กรมเจ้าท่าได้ปิดประกาศให้เจ้าของเรือแสดงตัวภายใน ๓๐ วัน เพื่อรื้อทำลายซากเรือดังกล่าว โดยเรือที่เจ้าของมาแสดงตัวภายในเวลาที่กำหนด ต้องแจ้งวันเวลาที่จะรื้อทำลายเรือต่อเจ้าหน้าที่กรมเจ้าท่า และจะมีการบันทึกภาพการรื้อทำลายเรือเป็นหลักฐาน โดยทรัพย์สินที่เหลือจากการรื้อทำลายเรือ (เช่น ไม้หรือเหล็ก) ถือเป็นของเจ้าของเรือ ในกรณีที่เจ้าของไม่มาแสดงตัวในเวลาที่กำหนด กรมเจ้าท่าจะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันรื้อทำลายเรือ โดยมีการบันทึกภาพและบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจเป็นหลักฐาน จากนั้นทรัพย์สินได้จากการรื้อทำลาย กรมเจ้าท่าจะนำขายทอดตลาดเพื่อนำรายได้คืนราชการต่อไป

ในกรณีที่เจ้าของเรือประสงค์จะรื้อทำลายเรือเองสามารถกระทำได้ โดยยื่นขอรับหนังสือรับรองจากกรมประมง และจัดทำแผนการรื้อทำลายเรือเสนอต่อกรมเจ้าท่า เมื่อได้รับการอนุมัติแล้ว กรมเจ้าท่าและกรมประมงจะส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบและบันทึกภาพการรื้อทำลายเป็นหลักฐานยืนยัน โดยทรัพย์สินที่ได้จากการรื้อทำลายถือเป็นของเจ้าของเรือ ทั้งนี้ อาศัยอำนาจตามมาตรา ๕๔/๙ แห่งพระราชกำหนดเรือไทย พ.ศ. ๒๕๖๑

รองนายกรัฐมนตรีได้แถลงต่อสื่อมวลชนว่า ไทยมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการประมงที่ยั่งยืน โดยมีหลักการสำคัญ ๓ ประการ ได้แก่ การควบคุมจำนวนเรือที่เหมาะสม การจัดการแรงงานในภาคประมงที่ถูกต้อง และการจัดการวิธีการทำประมงที่ถูกต้อง โดยมีการแก้ไขกรอบกฎหมายและปรับปรุงวิธีการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ในส่วนของการจัดการกองเรือที่ผ่านมา ไทยไม่สามารถระบุจำนวนกองเรือได้ชัดเจน ซึ่งส่งผลกระทบต่อการทำประมงที่ไม่สมดุลกับจำนวนทรัพยากรสัตว์น้ำ รัฐบาลไทยจึงได้เร่งรัดสร้างความชัดเจนเรื่องสถานะกองเรือ จนเมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๖๑ รัฐบาลสามารถประกาศรายชื่อเรือที่เกี่ยวข้องกับการทำประมงที่ถูกต้องตามกฎหมายได้จำนวน ๑๐,๗๔๓ ลำ และเมื่อวันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๖๑ ได้ประกาศรายชื่อเรือประมงที่สำรวจไม่พบเรือหรือเจ้าของเรือ และเรือที่ได้รับแจ้งว่าจม ชำรุด หรือขายไปต่างประเทศ แต่ไม่มีเอกสารหรือหลักฐานยืนยันชัดเจน ให้เป็นเรือสูญหายถาวรจำนวน ๖,๓๑๕ ลำ เพื่อป้องกันมิให้เรือกลุ่มนี้สามารถกลับเข้าสู่ระบบทะเบียนเรือไทยและเทียบท่าเรือประมงในไทยได้อีกต่อไป ซึ่งถือว่ารัฐบาลไทยสามารถบริหารจัดการเรือประมงได้ทั้งระบบเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

นอกจากนี้ รองนายกรัฐมนตรียังได้นำคณะทูตไปเยี่ยมชมบริษัท ยูนิคอร์ด จำกัด (มหาชน) เพื่อชมระบบการตรวจสอบย้อนกลับของไทยที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ทุกขั้นตอน ทำให้ทราบแหล่งที่มาของสินค้าประมงได้ตลอดสายการผลิต และเพื่อให้มั่นใจสินค้าประมงของไทยไม่มีสัตว์น้ำที่มาจากการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม อย่างเด็ดขาด โดยแบ่งระบบได้เป็น ๒ ส่วน คือ ระบบตรวจสอบย้อนกลับสำหรับสัตว์น้ำที่จับโดยเรือประมงไทย และสัตว์น้ำที่นำเข้าจากต่างประเทศ

สำหรับสัตว์น้ำที่จับโดยเรือประมงไทย ไทยได้กำหนดให้เรือประมงต้องจดบันทึกการทำการประมง (logbook) ตามความเป็นจริงทุกครั้ง โดยมีรายละเอียดของสัตว์น้ำ ปริมาณสัตว์น้ำ บริเวณที่จับ และเครื่องมือทำการประมง เมื่อเรือเข้าเทียบท่า ท่าเทียบเรือจะรายงานชนิดและปริมาณสัตว์น้ำที่นำขึ้นท่า และเมื่อมีการซื้อขาย ผู้ซื้อผู้ขายต้องกรอกข้อมูลในเอกสารกำกับการซื้อขายสัตว์น้ำ (Marine Catch Purchasing Document - MCPD) ซึ่งจะแสดงข้อมูลที่มาของสัตว์น้ำตลอดสายการผลิต

สำหรับสัตว์น้ำที่นำเข้าจากต่างประเทศ ไทยได้กำหนดมาตรการตรวจสอบการนำเข้าทุกช่องทางทั้งทางเรือ ทางบก และทางอากาศ โดยกรมประมงจะตรวจสอบสัตว์น้ำและเอกสารต่าง ๆ เช่น logbook ใบรับรองการจับสัตว์น้ำ ใบอนุญาตทำการประมง รวมทั้งข้อมูลเกี่ยวกับเส้นทางการเดินเรือและพฤติกรรมของเรือ หากข้อมูลถูกต้อง กรมประมงก็จะออกหนังสือกำกับการจำหน่ายสัตว์น้ำนำเข้า (Import Movement Document – IMD) ให้กับผู้นำเข้าสัตว์น้ำ ซึ่งเอกสารดังกล่าวจะแสดงแหล่งที่มาของสัตว์น้ำ ชนิดและปริมาณสัตว์น้ำ รวมถึงชื่อผู้ซื้อ นอกจากนี้ กรมประมงยังได้เพิ่มมาตรการป้องกันการสวมน้ำหนักสัตว์น้ำ โดยการสุ่มตรวจการชั่งน้ำหนักปลาทูน่าที่โรงงานในช่วงเวลากลางคืนด้วย โดยได้สุ่มตรวจไปแล้ว ๕๐ ครั้งในโรงงาน ๒๐ แห่ง

นอกจากนี้ กรมประมงยังได้พัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์สำหรับการตรวจสอบย้อนกลับสัตว์น้ำที่จับจากเรือประมงไทย (Thai-flagged Catch Certification System - TF) และสัตว์น้ำนำเข้า (PSM-linked and Processing Statement System - PPS) เพื่อให้สามารถตรวจสอบเส้นทางของสัตว์น้ำได้ตั้งแต่การนำเข้า การขึ้นท่า การกระจายวัตถุดิบ การแปรรูป การออกใบรับรองการจับสัตว์น้ำ (catch certificate) หรือใบรับรองการแปรรูปสัตว์น้ำ (Processing Statement) จนถึงการส่งออกผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ รวมทั้งได้เพิ่มฟังก์ชั่นการตรวจสอบอัตโนมัติในขั้นตอนต่าง ๆ เพื่อให้การควบคุมเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

คณะทูตได้แสดงความชื่นชมมาตรการที่ก้าวหน้าของไทยทั้งในด้านการจัดการกองเรือและการตรวจสอบย้อนกลับ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าการดำเนินการแก้ไขปัญหาการทำประมง IUU ของไทยมีความก้าวหน้า ได้มาตรฐานสากล มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และรับผิดชอบต่อสมุทราภิบาลโลก อันเป็นผลมาจากความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยในการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังตลอดช่วงสามปีที่ผ่านมา

ที่มา: กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ