นายกรัฐมนตรีหารือกับนายกรัฐมนตรีเยอรมนีเพื่อนำไปสู่หุ้นส่วนสำหรับอนาคต

ข่าวต่างประเทศ Monday December 3, 2018 14:46 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ ๒๗-๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และคณะ เดินทางเยือนกรุงเบอร์ลิน สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีอย่างเป็นทางการเพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างไทย-เยอรมนี ไปสู่ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์

นายกรัฐมนตรีได้พบหารือกับนางอังเกลา แมร์เคล นายกรัฐมนตรีสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ณ ทำเนียบนายกรัฐมนตรี กรุงเบอร์ลิน ในวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ ผู้นำทั้งสองได้ยืนยันการยึดมั่นในระบบพหุภาคีนิยม การค้าเสรี และระบบระหว่างประเทศที่อิงกฎระเบียบ และจะหารือกันอย่างใกล้ชิดเพื่อรับมือความท้าทายระหว่างประเทศร่วมกันในช่วงที่ไทยดำรงตำแหน่งประธานอาเซียน และเยอรมนีเป็นสมาชิกไม่ถาวรของสหประชาชาติในปีหน้า ทั้งสองจะยกระดับความเป็นหุ้นส่วนด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนทุกระดับ ทั้งในกรอบไตรภาคีและอาเซียนเพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงในทุกมิติระหว่างยุโรปกับอาเซียนและเอเชีย โดยนายกรัฐมนตรีได้เชิญให้นายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคล เดินทางเยือนประเทศไทยในช่วงที่ไทยเป็นประธานอาเซียน นอกจากนี้ ยังได้เชิญให้เยอรมนีเป็นหุ้นส่วนด้านการพัฒนาของ ACMECS ด้วย

นายกรัฐมนตรีทั้งสองยังเห็นพ้องที่จะกระชับความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีที่มีมายาวนานถึง ๑๕๖ ปีให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยจะกระชับความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจระหว่างกันอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งการตั้งเป้าเพิ่มพูนระดับการค้าระหว่างกันเป็น ๑.๕ หมื่นล้านยูโรภายในปี ๒๕๖๓ (ค.ศ. ๒๐๒๐) ส่งเสริมการลงทุนทั้งสองทาง และเรียนรู้การพัฒนาอุตสาหกรรม ๔.๐ จากเยอรมนีในการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย ๑๑ สาขาของไทยในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ในฐานะที่เยอรมนีเป็นต้นแบบในการพัฒนาอุตสาหกรรม ๔.๐

นายกรัฐมนตรีผลักดันให้เยอรมนีสนับสนุนการรื้อฟื้นการจัดทำ FTA ไทย-อียู และอาเซียน-อียู และขอให้เยอรมนีสนับสนุนการปลดใบเหลืองของอียูต่อไทยในกรณี IUU ทั้งสองยังเห็นพ้องที่จะกระชับความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี การอาชีวศึกษา และการพัฒนาศักยภาพ SMEs และสตาร์ทอัพส์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยให้ก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลาง และในโอกาสเดียวกันนี้ นายกรัฐมนตรียังได้นำข้อเสนอของภาคเอกชนไทยไปเสนอต่อนายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคลด้วย

นายกรัฐมนตรียังได้กล่าวสุนทรพจน์เกี่ยวกับโอกาสทางธุรกิจและการลงทุนในประเทศไทยของภาคเอกชนเยอรมัน ในงานสัมมนา “Thai-German Business Forum: Asia-Europe Partnership for the Future” นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำการใช้ความเชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรม ๔.๐ ของเยอรมนีในการพัฒนา EEC ตามนโยบายประเทศไทย ๔.๐ และการใช้ประเทศไทยเป็นสะพานเชื่อมโยงด้านการค้าการลงทุนไปสู่ภูมิภาคอาเซียน ซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่ถึง ๖๕๐ ล้านคน และเชื่อมต่อไปยังทวีปเอเชียทั้งหมด พร้อมทั้งยืนยันสนับสนุนการค้าและการลงทุนเสรีในช่วงที่ไทยเป็นประธานอาเซียน ทั้งนี้ ในงานดังกล่าว มีนาย Oliver Witke รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและพลังงานสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ร่วมกล่าวด้วย โดยมีสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน สำนักงาน BOI ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต และคณะกรรมาธิการเอเชีย-แปซิฟิกของภาคธุรกิจเยอรมัน ร่วมจัดงาน และมีผู้เข้าร่วมจากภาครัฐและเอกชนของเยอรมนีเข้าร่วมกว่า ๑๘๐ คน

นอกจากนั้น นายกรัฐมนตรียังได้พบผู้บริหารระดับสูงของสมาคมอุตสาหกรรมรางในเยอรมนี และยานยนต์แห่งอนาคตของเยอรมนี ได้แก่ บีเอ็มดับเบิลยู เดมเลอร์ และแดร็คเซลไมเออร์ กรุ๊ป พิจารณาขยายการลงทุนใน EEC ด้วย โดยได้ย้ำความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน ความเชื่อมโยง และการขนส่งใน EEC ที่เป็นศูนย์กลางความเชื่อมโยงของอาเซียน และเชื่อมต่อไปถึง Belt and Road Initiative (BRI) ของจีนด้วย

นายกรัฐมนตรียังได้ศึกษาดูงานที่สถาบันวิจัยประยุกต์ Fraunhofer IPK ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในด้านการวิจัยและพัฒนาและกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรม ๔.๐ เพื่อเรียนรู้ทั้งเทคโนโลยีของเยอรมนี และแนวทางการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ เอกชน และภาควิชาการ ที่เป็นปัจจัยให้การส่งเสริมเทคโนโลยีและนวัตกรรมของเยอรมนีประสบผลสำเร็จ ทั้งนี้ ระหว่างการเยือนของนายกรัฐมนตรี มีการลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมกับสถาบัน Fraunhofer IFF เพื่อส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาร่วมกันในสาขาต่างๆ อาทิ ความมั่นคงทางไซเบอร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์และปัญญาประดิษฐ์

ในระหว่างการเยือนครั้งนี้ นากยกรัฐมนตรีและภริยา รวมถึงคณะรัฐมนตรีที่ร่วมคณะไปด้วย ยังได้พบปะชุมชนไทยในเยอรมนี ซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ ๒ ของยุโรป โดยได้รับการต้อนรับที่อบอุ่น นอกจากนี้ ยังได้พบหารือกับผู้แทนนักธุรกิจไทยที่ดำเนินธุรกิจในเยอรมนี ซึ่งปัจจุบัน มีนักลงทุนรายใหญ่กว่า ๑๐ ราย และ SMEs อีกจำนวนมาก และประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจในเยอรมนี

การเยือนครั้งนี้เป็นการเปิดศักราชใหม่ของความสัมพันธ์ระหว่างไทย-เยอรมนี ภายหลังจากที่สหภาพยุโรปปรับข้อมติต่อไทยเมื่อวันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๖๐ และยังเป็นการกระชับความสัมพันธ์กับประเทศในยุโรปหลังจากที่นายกรัฐมนตรีได้เดินทางเยือนสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศสเมื่อเดือนมิถุนายน ๒๕๖๑

ที่มา: กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ