การประชุมรัฐมนตรีเอเปค ครั้งที่ ๓๐

ข่าวต่างประเทศ Monday December 3, 2018 14:48 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และนางสาวอรุณี พูลแก้ว รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ ได้เป็นผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีเอเปค ครั้งที่ ๓๐ (30th APEC Ministerial Meeting) ณ กรุงพอร์ตมอร์สบี รัฐเอกราชปาปัวนิวกินี

สำหรับการประชุมเอเปคในปีนี้ ปาปัวนิวกินีในฐานะเจ้าภาพ ได้กำหนดให้มีการหารือในหัวข้อ “การสร้างโอกาสอย่างครอบคลุมเพื่อเปิดรับอนาคตทางดิจิทัล” ซึ่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้กล่าวถ้อยแถลง ซึ่งมีสาระสำคัญ ดังนี้

  • เน้นย้ำว่า ประเทศไทยสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคีที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของกฎระเบียบ WTO โดยมุ่งมั่นจะผลักดันให้บรรลุผลการเจรจาความตกลง RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership) ในช่วงที่ไทยเป็นประธานอาเซียนในปี ๒๕๖๒ รวมทั้งคาดหวังว่าจะสามารถเริ่มเจรจาความตกลง FTAAP ได้ในช่วงที่ไทยเป็นประธานเอเปคในปี ๒๕๖๕
  • แสดงวิสัยทัศน์ของไทยในการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งมีองค์ประกอบสำคัญสามประการ คือ

ประการแรก การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ โครงการ EEC ของไทย และส่งเสริมความเชื่อมโยง ซึ่งไทยได้มีบทบาทสำคัญในการสร้างความเชื่อมโยงในกรอบ ACMECS และกรอบอื่น ๆ และสนับสนุนให้มีการปฏิบัติตามแผนแม่บทเอเปคด้านการเชื่อมโยงในปี ค.ศ. ๒๐๒๕

ประการที่สอง การทำให้เทคโนโลยีดิจิทัลเกิดประโยชน์แก่สังคมทุกภาคส่วน ขณะเดียวกันต้องหามาตรการรับมือกับความท้าทายที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะผลกระทบต่อการจ้างงานและความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล ซึ่งไทยได้ดำเนินการโดยปฏิรูปทางการศึกษา เช่น การปรับระบบอาชีวศึกษาทวิภาคีเพื่อให้แรงงานไทยมีทักษะสอดรับกับความต้องการของตลาดแรงงาน การจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา การวิจัย และนวัตกรรม เพื่อนำให้เศรษฐกิจไทยก้าวไปสู่ “เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม” นอกจากนี้ ไทยได้ให้ความสำคัญกับประเด็นความมั่นคงทางไซเบอร์ โดยไทยได้ร่วมมือกับเขตเศรษฐกิจอื่น ๆ ยกร่างกรอบเอเปคว่าด้วยความมั่นคงทางเศรษฐกิจดิจิทัลตั้งแต่ปี ๒๕๕๘ และคาดหวังว่าจะสามารถได้ข้อสรุปในอนาคตอันใกล้

ประการที่สาม ส่งเสริมให้มีความสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจกับการรักษาสภาพสิ่งแวดล้อมและสังคมที่อยู่ดีมีสุข โดยนำเสนอโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio – Circular – Green) และยกตัวอย่าง “อีสาน ๔.๐ โมเดล” ที่ไทยได้เริ่มดำเนินการแล้ว นอกจากนี้ ไทยร่วมกับเวียดนามและเปรูผลักดันให้เอเปครับรองยุทธศาสตร์เอเปคว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ยั่งยืน และมีนวัตกรรม เมื่อปี ๒๕๖๐ ณ นครดานังด้วย

รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ได้กล่าวถ้อยแถลงในเรื่องวิสัยทัศน์ทางการค้าของไทย โดยกล่าวถึง

  • การสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคี และสนับสนุนการปรับปรุง WTO ให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยต้องการเห็นเอเปคดำเนินการเกี่ยวกับการเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุน (หรือที่เรียกว่า “เป้าหมายโบกอร์”)
  • การสนับสนุนการเปิดเสรีการค้าทั้งในระดับพหุภาคี ภูมิภาค และทวิภาคี ตลอดจนสนับสนุนความร่วมมือระหว่างเขตสมาชิกเอเปคในการยกร่างข้อเสนอเกี่ยวกับประเด็นการค้ายุคใหม่ (Next Generation Trade and Investment Issues) ในประเด็นต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่การจัดตั้ง FTAAP ที่มีความครอบคลุมและมาตรฐานสูง
  • การสนับสนุนกิจกรรมต่าง ๆ ของเอเปค โดยเฉพาะการรับรองหลักการทั่วไปว่าด้วยมาตรการที่มิใช่ภาษีและแผนการทำงานด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดเล็กและขนาดกลาง (MSMEs) และการบูรณาการให้ MSMEs เข้าสู่ห่วงโซ่มูลค่าโลก (Global Value Chains) ซึ่งเอเปคเป็นเวทีสำคัญที่เป็นส่วนช่วยในการสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคีและมีบทบาทนำเพื่อให้บรรลุกระแสการค้าที่เสรีทั่วทั้งภูมิภาค และจัดตั้งกฎระเบียบและนโยบายสำหรับการสนับสนุนบรรยากาศที่เอื้อต่อการค้าดิจิทัลและการเจริญเติบโตสีเขียวที่มีความยั่งยืนต่อไป

อนึ่ง ในช่วงการประชุมดังกล่าว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้พบหารือทวิภาคีกับนางมาริส เพย์น (Hon. Marise Payne) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเครือรัฐออสเตรเลีย ในประเด็นภาพรวมความสัมพันธ์ระหว่างไทย – ออสเตรเลีย การเป็นประธานอาเซียนของไทยในปี ๒๕๖๒ และกรอบความร่วมมือในภูมิภาคต่าง ๆ เช่น ACMECS BIMSTEC และ IORA

ที่มา: กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ