พิธีพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๒

ข่าวต่างประเทศ Thursday January 30, 2020 13:20 —กระทรวงการต่างประเทศ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ในพิธีพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๒ ในวันพฤหัสบดีที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๖๓ เวลา ๑๗.๓๐ น. ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พร้อมทั้งพระราชทานเลี้ยงอาหารค่ำ เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลพร้อมคู่สมรส ในวันเดียวกัน ณ พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร เวลา ๑๙.๓๐ น.

สำหรับผู้ที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้ารับพระราชทานรางวัลฯ นั้น มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้พิจารณากลั่นกรองจากผู้ได้รับการเสนอในปี ๒๕๖๒ จำนวน ๖๖ ราย จาก ๓๕ ประเทศ ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ เมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ ซึ่งมีสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นองค์ประธานการประชุมฯ ได้พิจารณาและมีมติตัดสินมอบรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๒ ให้แก่บุคคล/องค์กร ดังนี้

สาขาการแพทย์ ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร. ราล์ฟ เอฟ ดับเบิ้ลยู บาร์เทนชลากเกอร์ (Dr. Ralf F.W. Bartenschlager) จากสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี

ศาสตราจารย์ ดร. ราล์ฟ เอฟ ดับเบิ้ลยู บาร์เทนชลากเกอร์ มีผลงานที่โดดเด่นคือการศึกษาเกี่ยวกับวงจรชีวิตของไวรัสตับอักเสบซี (Hepatitis C Virus - HCV) นำไปสู่องค์ความรู้ในการพัฒนายาต้านไวรัสที่เรียกว่า ดีเอเอ (Direct Acting Antiviral - DAA) ซึ่งมีประสิทธิภาพสูง มีความจำเพาะ และปลอดภัย สามารถรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีแบบเรื้อรังให้หายได้ถึงร้อยละ 95 โดยมีผลข้างเคียงน้อยลง

ผลงานการศึกษาและค้นพบที่สำคัญของศาสตราจารย์ ดร. ราล์ฟ เอฟ ดับเบิ้ลยู บาร์เทนชลากเกอร์ ทำให้สามารถรักษาโรคติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีที่เป็นอันตรายถึงชีวิตและสามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยได้หลายล้านคนทั่วโลก

สาขาการสาธารณสุข ได้แก่ ศาสตราจารย์นายแพทย์ เดวิด เมบี (Professor David Mabey) จากสหราชอาณาจักร

ศาสตราจารย์นายแพทย์เดวิด เมบี ได้ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับโรคริดสีดวงตามากว่า ๓๐ ปี ซึ่งเป็นการติดเชื้อที่ทำให้ตาบอดได้บ่อยที่สุด โดยเกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า คลามิเดีย ทราโคมาติส (Chlamydia trachomatis) ซึ่งทำให้มีผู้ป่วยตาบอดหรือเกิดความพิการทางสายตามาแล้วถึง ๑.๙ ล้านคนทั่วโลก การติดเชื้อแพร่กระจายได้โดยการสัมผัสกับสารคัดหลั่งจากตาหรือจมูกของผู้ที่ติดเชื้อ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาที่มีสุขอนามัยไม่ดี ประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น และไม่มีแหล่งน้ำสะอาดที่เข้าถึงได้เพียงพอ

ผลงานและความพยายามในการศึกษาวิจัยเพื่อควบคุมและกำจัดโรคริดสีดวงตาของศาสตราจารย์นายแพทย์เดวิด เมบี ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของคนหลายล้านคนทั่วโลกดีขึ้น

รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล เป็นรางวัลที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งขึ้น เพื่อถวายเป็นพระราชานุสรณ์แด่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ในโอกาสจัดงานเฉลิมฉลอง ๑๐๐ ปี แห่งการพระราชสมภพ ๑ มกราคม ๒๕๓๕ ดำเนินงานโดยมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีทรงเป็นองค์ประธาน มอบรางวัลให้แก่บุคคลหรือองค์กรทั่วโลกที่มีผลงานดีเด่นเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ ทางด้านการแพทย์ ๑ รางวัล และด้านการสาธารณสุข ๑ รางวัล เป็นประจำทุกปี แต่ละรางวัลประกอบด้วยเหรียญรางวัล ประกาศนียบัตรและเงินรางวัลจำนวน ๑๐๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ

บุคคลทั่วไปสามารถรับชมพิธีพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลได้ทางสถานีโทรทัศน์เอ็มคอตเอชดี (ช่อง ๙ MCOT HD) สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (ช่อง ๑๑) สถานีโทรทัศน์ทีเอ็นเอ็น ๑๖ และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยจะถ่ายทอดเสียงภาษาไทยและภาษาอังกฤษ โดยเริ่มตั้งแต่เวลา ๑๗.๑๐ น. นอกจากนี้ สามารถรับชมการถ่ายทอดสดผ่านอินเทอร์เน็ตได้ทางเว็บไซต์ของมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ ที่ www.princemahidolaward.org

ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ