สรุปผลการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ วันพฤหัสบดีที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๖๔

ข่าวต่างประเทศ Friday December 3, 2021 15:10 —กระทรวงการต่างประเทศ

สรุปการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ วันพฤหัสบดีที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๑.๐๐ น.

ทาง Facebook Live กระทรวงการต่างประเทศ

ภายหลังจากที่ ดร.วิลาวรรณ มังคละธนะกุล อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมายได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกคณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศ (International Law Commission ? ILC) วาระปี ๒๕๖๖ -๒๕๗๐ เมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ต่อมา เมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ดร.กมลินทร์ พินิจภูวดล ก็ได้รับเลือกเป็นเลขาธิการองค์การที่ปรึกษากฎหมายแห่งเอเชียและแอฟริกา (Asian-African Legal Consultative Organization ? AALCO) ซึ่งถือเป็นนักกฎหมายไทยคนแรกที่ได้รับตำแหน่งดังกล่าว โดย AALCO เป็นองค์การระหว่างประเทศ ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๙ ปัจจุบันมีรัฐสมาชิก ๔๘ ประเทศจากทวีปเอเชียและแอฟริกา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพิจารณาประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายระหว่างประเทศและเป็นเวทีสำหรับการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นกฎหมายที่รัฐสมาชิกมีความสนใจร่วมกัน กระทรวงการต่างประเทศขอแสดงความยินดีกับ ดร.กมลินทร์ฯ มา ณ ที่นี้

๑. การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคอย่างไม่เป็นทางการ ที่ จ.ภูเก็ต

ระหว่างวันที่ ๑ - ๓ ธันวาคม ๒๕๖๔ ไทยกำลังเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค อย่างไม่เป็นทางการ (ISOM) ที่ จ.ภูเก็ต ซึ่งเป็นการประชุมที่เจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคจะได้พบหน้ากันเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ ๒ ปีหลังจากต้องประชุมผ่านระบบทางไกลมาตลอดหลังการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ ถือเป็นนำบรรยากาศการประชุมที่มีชีวิตชีวา และสะท้อนความสามารถในการปรับตัวและอยู่ร่วมกับโควิด-๑๙ อีกครั้ง

การประชุม ISOM ประกอบด้วย ๒ กิจกรรมหลัก ได้แก่

การสัมมนาเชิงอภิปราย APEC Symposium on 2022 Priorities Programme เมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๖๔ เป็นกิจกรรมวันแรก มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอหัวข้อหลักและประเด็นสำคัญของ APEC2022 ตามแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) เพื่อเสริมสร้างให้เอเปคสามารถตอบสนองต่อความท้าทายต่าง ๆ ในภูมิภาค การสัมมนาแบ่งเป็น ๔ ช่วง คือ

(๑) ช่วงพิธีเปิด นายธานี ทองภักดี ปลัดกระทรวงการต่างประเทศในฐานะประธานการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโส (SOM Chair) กล่าวเปิดงาน ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ BCG และ ด.ช. ภูมิ ตันศิริมาศ นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมรุ่นใหม่นำเสนอแนวคิด

(๒) ช่วงที่ ๒ หัวข้อ ?จากโควิด-๑๙ สู่การเติบโตอย่างสมดุล ยั่งยืน และ ครอบคลุม?

(๓) ช่วงที่ ๓ หัวข้อ ?เปิดการค้าการลงทุนในยุคหลังโควิด-๑๙? โดยเน้นส่งเสริมการรวมตัวทางเศรษฐกิจของเอเปค อาทิ การแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดทำความตกลงการค้าเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) โดยคำนึงถึงบริบทยุคหลังโควิด-๑๙

(๔) ช่วงที่ ๔ หัวข้อ ?เชื่อมโยงทุกมิติเพื่อก้าวพ้นวิกฤตโควิด-๑๙? โดยเฉพาะการเดินทาง และการท่องเที่ยว เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งนับว่าทั้งหมดเป็นหัวข้อที่มีความสำคัญ

๒. การประชุม ISOM ในวันที่ ๒ - ๓ ธันวาคม ๒๕๖๔

โดยวันแรกเป็นการประชุมระหว่างเจ้าหน้าที่อาวุโสกับประธานสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (ABAC) เพื่อรับฟังความเห็นของจากภาคเอกชน และการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโส แบบปิด (SOM Retreat) และวันที่สองเป็นการประชุมแบบเต็มคณะ (Plenary Meeting) โดยไทย จะนำแนวคิดหลัก (theme) ของเอเปคในปี ๒๕๖๕ ?เปิดกว่างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล? หรือ ?OPEN, CONNECT, BALANCE? และประเด็นความร่วมมือสำคัญไปหารือร่วมกับเขตเศรษฐกิจสมาชิก รวมทั้งร่วมกันกำหนดแผนการทำงานตลอดทั้งปี เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมให้ที่ประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปครับรองในช่วงปลายปี ๒๕๖๕ ต่อไป

ทั้งนี้ มีผู้แทนจากทั้ง ๒๑ เขตเศรษฐกิจเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้รวมทั้งสิ้น ๑๒๐ คน โดยเดินทางมาจากเขตเศรษฐกิจต่าง ๆ ๑๕ แห่ง และเป็น ผู้แทนจากสถานเอกอัครราชทูตในไทย ๖ แห่ง ตลอดจนเลขาธิการเอเปคและคณะ เดินทางมายังไทยเพื่อเข้าร่วมประชุมครั้งนี้แบบพบหน้า (physical meeting)

นอกจากนี้ ก่อนการประชุม ปลัดกระทรวงการต่างประเทศได้เข้าพบนายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการ จ.ภูเก็ต โดยได้ขอบคุณผู้ว่าฯ สำหรับการจัดประชุม และได้หารือสถานการณ์การท่องเที่ยวและมาตรการป้องกันโรคหลังการเปิดประเทศ โดยผู้ว่าฯ ย้ำการใช้มาตรการควบคุมโรคเพื่อความปลอดภัยสูงสุดของนักท่องเที่ยว

กระทรวงการต่างประเทศจะรายงานผลการประชุมเป็นข่าวสารนิเทศให้ทุกท่านทราบต่อไป

๒. รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศหารือทางโทรศัพท์กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศออสเตรเลียและผลการประชุม Senior Officials? Talks ไทย-ออสเตรเลีย

เมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ หารือทางโทรศัพท์กับนางมาริส เพย์น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศออสเตรเลีย โดยหารือในประเด็นต่าง ๆ ได้แก่

(๑) การเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างไทย - ออสเตรเลียในฐานะที่เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ให้แน่นแฟ้นมากขึ้น นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายแสดงความยินดีและสนับสนุนการยกระดับความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์แบบรอบด้านของกรอบอาเซียน-ออสเตรเลีย (๒) การกระชับความร่วมมือด้านการพัฒนาในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดยเฉพาะผ่านกรอบยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี ?เจ้าพระยา ?แม่โขง (ACMECS) (๓) การเพิ่มพูนความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ภายใต้การเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างไทย-ออสเตรเลีย ซึ่งจะเฉลิมฉลองโอกาสครบรอบ ๗๐ ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตในปี ๒๕๖๕ (๔) แลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับพัฒนาการเชิงยุทธศาสตร์ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก รวมถึงสถานการณ์ในเมียนมาและการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ชาวเมียนมา

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานร่วมในการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสไทย-ออสเตรเลีย ครั้งที่ ๑๗ ร่วมกับปลัดกระทรวงการต่างประเทศและการค้าออสเตรเลีย โดยหารือการกระชับความร่วมมือรอบด้านทั้งกรอบทวิภาคี อนุภูมิภาค และภูมิภาคเพื่อสนับสนุนการเปิดประเทศและการฟื้นฟูจากผลกระทบของโควิด-๑๙ ส่งเสริมความร่วมมือด้านวัคซีนและสาธารณสุข การพัฒนาอย่างยั่งยืนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศผ่านการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ-หมุนเวียน-สีเขียว (BCG) การส่งเสริมการค้าการลงทุน เศรษฐกิจดิจิทัล ความมั่นคงของมนุษย์

นอกจากนี้ ออสเตรเลียยังให้ความสำคัญต่อการเป็นแกนกลางของอาเซียนในสถาปัตยกรรมภูมิภาค และพร้อมร่วมมือกับอาเซียนและไทยอย่างสร้างสรรค์เพื่อสร้างบรรยากาศสภาพแวดล้อมที่เกื้อกูลต่อสันติภาพและความมั่นคงของภูมิภาค

๓. คณะนักธุรกิจจากสภาธุรกิจสหรัฐฯ - อาเซียน (U.S.- ASEAN Business Council: USABC) เข้าพบผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ ๓๐ พ.ย.๒๕๖๔ คณะนักธุรกิจจากสภาธุรกิจสหรัฐอเมริกา-อาเซียน (US-ASEAN Business Council: USABC) ได้เข้าพบหารือกับ นายวิชาวัฒน์ อิศรภักดี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศเพื่อหารือเกี่ยวกับประเด็นที่ทั้งสองฝ่ายให้ความสำคัญร่วมกัน โดยเฉพาะโอกาสความร่วมมือและแนวทางสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจของไทยให้เติบโต อย่างสมดุล ครอบคลุม และยั่งยืน ในยุคหลังการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ โดยเป็นการหารือในรูปแบบกึ่งออนไลน์ มีผู้แทนภาคเอกชนสหรัฐฯ จาก ๑๘ บริษัทเข้าร่วมการหารือ ณ กระทรวงการต่างประเทศ และ ๑๖ บริษัทเข้าร่วมผ่านระบบการประชุมทางไกล

ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศกล่าวถึงบทบาทสำคัญของภาคเอกชนที่มีส่วนขับเคลื่อนความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ ซึ่งมีมายาวนานให้แน่นแฟ้น ตลอดจนบทบาทของภาคเอกชนสหรัฐฯ ในการสนับสนุนการรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ และการฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยได้เชิญชวนเพิ่มการลงทุนในประเทศไทย และส่งเสริมความร่วมมือเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนของไทยและภูมิภาค โดยเฉพาะความร่วมมือที่สอดคล้องกับแนวทางเศรษฐกิจชีวภาพ-หมุนเวียน-สีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG Economy) ของไทย

ภาคเอกชนสหรัฐฯ แสดงความชื่นชมการดำเนินการของไทยในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ อย่างได้สมดุลทั้งมาตรการด้านสาธารณสุขและมาตรการฟื้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว รวมถึงการอำนวยความสะดวกให้ภาคเอกชนสามารถดำเนินธุรกิจในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ ตลอดจนได้ย้ำความสนใจและความพร้อมที่จะร่วมมือกับรัฐบาลและภาคเอกชนไทยเพื่อฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในด้านBCG Economy การพัฒนาพลังงานสะอาด เศรษฐกิจดิจิทัล การฟื้นฟูการท่องเที่ยว และการประกอบธุรกิจอย่างปลอดภัยและยั่งยืน ตลอดจนการเสริมสร้างให้ไทยเป็นส่วนสำคัญในห่วงโซ่อุปทานสหรัฐฯ ที่เข้มแข็ง หลากหลาย และมั่นคงในภูมิภาค นอกจากนี้ ยังได้แสดงความพร้อมที่จะร่วมมือสนับสนุนวาระการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยในปี ๒๕๖๕ อีกด้วย

๔. การประชุม ASEAN High-level Forum on Sub-regional Cooperation for Sustainable Development and Inclusive Growth

เมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ นายธานี ทองภักดี ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ได้ร่วมกล่าวถ้อยแถลงในการประชุม ?ASEAN High-level Forum on Sub-regional Cooperation for Sustainable Development and Inclusive Growth? ซึ่งจัดขึ้นโดยเวียดนาม ในรูปแบบผสมผสาน (hybrid) โดยไทยในฐานะสมาชิกกรอบยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS) ได้รับเชิญให้กล่าวถ้อยแถลงในช่วงที่ ๑ ของการประชุม ภายใต้หัวข้อ ?Recovering together: Advancing sub-regional cooperation in ASEAN?

ปลัดกระทรวงการต่างประเทศย้ำถึงความจำเป็นที่อาเซียนจะต้องร่วมผลักดันความร่วมมือในการพัฒนาในอนุภูมิภาคให้สอดคล้องกับบริบทของการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในโลก (Mega-Trends) อาทิ การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-๑๙ โดยเสนอหลัก ?3C? ซึ่งประกอบด้วย (๑) ?Complementarities? หรือ ?ความเกื้อกูล? ระหว่างยุทธศาสตร์การพัฒนาในกรอบอนุภูมิภาคต่าง ๆ กับข้อริเริ่มด้านการพัฒนาในอาเซียน (๒) ?Connectivity? หรือ ?ความเชื่อมโยง? ระหว่างการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจในอนุภูมิภาค และแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน ค.ศ. ๒๐๒๕ (Master Plan on ASEAN Connectivity (MPAC) 2025) โดยเน้นการพัฒนาทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐาน กฎระเบียบ และดิจิทัล และ (๓) ?Coordination? หรือ ?การประสานงาน? ส่งเสริมความร่วมมือและการทำงานร่วมกันระหว่างกรอบอนุภูมิภาคและอาเซียน รวมทั้งกับภาคีภายนอก และภาคเอกชน รวมทั้งเน้นย้ำถึงบทบาทของกรอบ ACMECS เพื่อสนับสนุนการดำเนินการตามหลัก ?3C? และขับเคลื่อนประเด็นสำคัญเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

การประชุมครั้งนี้ เป็นข้อริเริ่มของเวียดนามในฐานะประธาน Initiative for ASEAN Integration (IAI) Taskforce ปี ๒๕๖๔ เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนกรอบความร่วมมืออนุภูมิภาค ภาคีภายนอก องค์การระหว่างประเทศ ภาควิชาการ และภาคธุรกิจ เกี่ยวกับโอกาสและความท้าทายในอนุภูมิภาคย่อยภายในอาเซียน

๕. ความคืบหน้าของระบบ Thailand Pass และมาตรการเดินทางเข้าประเทศไทย

ตั้งแต่วันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ มีผู้ลงทะเบียนขอเดินทางเข้าประเทศไทยผ่านระบบ Thailand Pass แล้ว รวม ๓๕๕,๕๖๔ คน ได้รับอนุมัติแล้ว ๒๗๘,๓๓๕ คน โดยในจำนวนดังกล่าว ได้รับการอนุมัติแบบอัตโนมัติ ๑๔๓,๓๑๓ คน (สถานะ ณ วันที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๖๔ เวลา ๐๙.๐๐ น.)

ตามที่องค์การอนามัยโลกได์พบการระบาดของไวรัสโควิด-๑๙ สายพันธุ์ใหม่ 1.1.529 (หรือสายพันธุ์ Omicron) ในประเทศทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกา เพื่อเป็นการเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดของสายพันธุ์ดังกล่าว ศบค. จึงได้มีการกำหนดมาตรการในการเดินทางเข้าราชอาณาจักร สำหรับผู้ที่เดินทางมาจากประเทศในภูมิภาคดังกล่าว ดังนี้

๑. ระบบ Thailand Pass จะระงับการลงทะเบียนชั่วคราวสำหรับผู้ที่เดินทางมาจาก ๘ ประเทศ ได้แก่ บอตสวานา เอสวาตินี เลโซโท มาลาวี โมซัมบิก นามิเบีย แอฟริกาใต้ และซิมบับเว

๒. สำหรับบุคคล (จาก ๘ ประเทศข้างต้น) ที่ได้รับ Thailand Pass QR code แล้ว หากกำหนดเดินทางถึงประเทศไทยตั้งแต่วันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๖๔ เป็นต้นไป จะไม่อนุญาตให้เดินทางเข้าประเทศไทยเป็นการชั่วคราว

๓. สำหรับคนไทยที่พำนักอยู่ใน ๘ ประเทศข้างต้น สามารถเดินทางกลับประเทศไทยได้จากประเทศต้นทางที่ตนเองพำนักโดยสายการบิน Ethiopian Airlines ได้ โดยสายการบินจะให้บริการเที่ยวบิน ET608 เข้าประเทศไทยทุกวันพุธ (วันที่ ๑ ๘ ๑๕ ๒๒ และ ๒๙ ธันวาคม) โดยออกจากกรุงแอดดิสอาบาบา เวลา ๐๐.๑๐ น. (ตามเวลาเอธิโอเปีย) และจะเดินทางถึงกรุงเทพฯ เวลา ๑๓.๑๐ น. (ตามเวลาประเทศไทย) ในวันเดียวกัน โดยผู้เดินทางทุกคนในกรณีนี้ต้องเข้ารับการกักตัว ๑๔ วัน

ทั้งนี้ ผู้เดินทางสามารถลงทะเบียนเพื่อขอรับ COE ผ่านทางเว็บไซต์ https://coethailand.mfa.go.th/regis/newvirus

ในกรณีเร่งด่วนสามารถติดต่อสายด่วน (hotline) ของสถานเอกอัครราชทูตในเขตดังกล่าวได้ ดังนี้

(๑) สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงพริทอเรีย (ดูแลบอตสวานา เอสวาตินี เลโซโท มาลาวี นามิเบีย แอฟริกาใต้ ซิมบับเว) โทร. +๒๗ (๐) ๘๒๙๒๓๖๑๗๙

(๒) สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมาปูโต (ดูแลโมซัมบิก) โทร. +๒๕๘ ๘๗ ๗๘๘ ๙๙๐๒

๔. สำหรับคนไทยและชาวต่างชาติที่มีประวัติพำนักหรือเดินทางจากประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคแอฟริกา ในช่วง ๒๑ วันก่อนเข้าไทย (นอกเหนือจากในรายชื่อ ๘ ประเทศข้างต้น) ระบบ Thailand Pass จะรับการลงทะเบียนและอนุมัติการเดินทางเข้าราชอาณาจักร เฉพาะในรูปแบบ Alternative Quarantine (AQ) เท่านั้น (ไม่อนุญาตให้ลงทะเบียนแบบ Sandbox)

  • โดยผู้ที่เดินทางเข้าไทยตั้งแต่วันที่ ๖ ธันวาคม ๒๕๖๔ เป็นต้นไป จะต้องกักตัว ๑๔ วัน และตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR ๓ ครั้ง
  • ผู้ที่เดินทางเข้าไทยในระหว่างวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน - ๕ ธันวาคม ๒๕๖๔ นอกจากจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ลงทะเบียนเดินทางเข้ามาแล้ว จะต้องให้เจ้าหน้าที่ติดตามคุมไว้สังเกตจนครบ ๑๔ วัน หรือตามจำนวนวันที่พำนักกรณีน้อยกว่า ๑๔ วัน โดยหากมีอาการให้ตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR
  • บุคคลสัญชาติไทยที่เดินทางจากประเทศในกรณีข้างต้น กรุณาติดต่อขอรับคำแนะนำจากสถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลใหญ่ไทย ในประเทศที่ท่านพำนัก

๕. มาตรการดังกล่าวได้มีการประกาศในเว็บไซต์ Thailand Pass (tp.consular.go.th) ด้วยแล้ว หากท่านมีข้อสงสัยเกี่ยวกับ Thailand Pass สามารถติดต่อหมายเลขสายด่วนได้ตลอด ๒๔ ชั่วโมงที่ Hotline ของกรมการกงสุล ตามหมายเลขที่ปรากฏบนหน้าจอ

ตั้งแต่วันที่ ๑ - ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ มีผู้เดินทางจากประเทศทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกาเข้าไทยจำนวน ๑,๐๐๗ คน โดยทั้งหมดตรวจไม่พบเชื้อโควิด-๑๙ อย่างไรก็ตาม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยจะเฝ้าระวังสถานการณ์นี้อย่างใกล้ชิด

ในกรณีสื่อบางสำนักระบุว่า รัฐบาลกำลังดำเนินการค้นหาชาวแอฟริกาที่อยู่ในประเทศไทยมาตรวจหาเชื้อซ้ำอีกครั้ง เป็นการไล่ล่า (hunting) ขอเรียนว่าถ้อยคำดังกล่าวไม่ได้สะท้อนนโยบายของรัฐบาลและกระบวนการที่เกิดขึ้นจริง โดยการดำเนินการดังกล่าวเป็นเพียงการติดตามและขอความร่วมมือให้ผู้ที่เดินทางมาจาก ๘ ประเทศที่มีการระบาดของโควิด-๑๙ สายพันธุ์โอไมครอน มารับการตรวจหาเชื้อซ้ำอีกครั้ง โดยติดตามทาง SMS หรือช่องทางต่าง ๆ เพื่อเป็นการเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาด นอกจากนั้น ทางการยังไม่ได้ติดตามเฉพาะผู้เดินทางสัญชาติจากทวีปแอฟริกา แต่เป็นผู้เดินทางทุกคนที่เดินทางมาจาก ๘ ประเทศที่มีการแพร่ระบาดดังกล่าว ที่ได้เดินทางเข้ามาในประเทศไทยแล้วในช่วงก่อนหน้านี้

Update on Thailand Pass system and disease control measures for travelers entering Thailand

As of 2 December 2021, 09.00 hrs., the accumulated number of travelers registered through the ?Thailand Pass? system is 355,564 persons ? 278,335 of which have been approved. 143,313 of those were approved by the auto-approved system.

WHO has declared the new variant of Covid-19 B.1.1.529 or called ?Omicron? which is first detected in the southern part of Africa. This Omicron variant is one of the Covid-19 variants of concern, along with the globally-dominant Delta variant.

In this regard, Thailand, by the CCSA, has to implement temporary additional measures and restrictions for travelers from the countries namely: Botswana, Eswatini, Lesotho, Malawi, Mozambique, Namibia, South Africa and Zimbabwe, as follows;

(1) The issuance of new Thailand Pass QR Code to all travelers from the aforementioned countries will be temporarily suspended until further notice.

(2) Travelers who have already received Thailand Pass QR Code and are scheduled to arrive in Thailand starting from 1 December 2021 are not permitted to enter the Kingdom.

(3) Thai nationals and others who have urgent matters to travel should contact the Royal Thai Embassies as follows:

Royal Thai Embassy, Pretoria (responsible for South Africa, Botswana, Eswatini, Lesotho, Malawi, Namibia, and Zimbabwe) Tel. +27 (0) 829236179

Royal Thai Embassy, Maputo, Mozambique, Tel. + 258 87 788 9902

(4) Travelers who wish to travel to Thailand from other countries in Africa could still register on Thailand Pass but they will be subject to a mandatory 14-day quarantine (not permitted to register for the sandbox scheme).

Travelers in this category who are scheduled to arrive in Thailand from 6 December 2021 will be subject to mandatory 14-day quarantine including 3 RT-PCR tests

Travelers in this category who arrive in Thailand during 15 November- 5 December will be monitored by disease control staffs for 14 days or the whole length of stay (in case of less than 14-day stay) besides practicing regulations from their schemes of entry

Thai nationals who are residing in the continent of Africa can seek further advice from Royal Thai Embassies/Consulates-General in your area of residency

(5) All aforementioned measures have been announced in the Thailand Pass system. If you have any inquiry regarding this matter, you can contact 24-hour hotline of the Department of Consular Affairs as shown on the screen.

From 1-27 November 2021, there were 1,007 passengers who entered Thailand from the countries in southern Africa. So far, none of them were detected positive for COVID-19. However, the related agencies have been monitoring the situation closely.

Regarding some press reports mentioned that the Government is ?hunting? for African visitors in Thailand, the Ministry wishes to explain that the mentioned word does NOT reflect on-site procedures and the Government?s policy and approach on this matter. The related authorities have been trying to reach out, through SMS or other channels, for all travelers who entered Thailand from 8 countries in southern Africa to receive another COVID-19 test. This is our preventive measures in order to reassure and reduce the risk of the COVID-19 variants of concern spreading in Thailand. Furthermore, the Thai authorities are NOT aiming at African nationals but monitoring all travelers who travelled from 8 countries in southern Africa.

๖. เตือนภัยกรณีหลอกลวงแรงงานไทยไปทำงานในต่างประเทศ

กระทรวงการต่างประเทศได้รับแจ้งกรณีแรงงานไทยลักลอบเดินทางไปทำงานในประเทศลิเบียถูกนายจ้างทำร้ายร่างกาย กระทรวงการต่างประเทศจึงขอประชาสัมพันธ์ให้แรงงานไทยที่ประสงค์ไปทำงานในต่างประเทศ ศึกษาและปฏิบัติตามขั้นตอนการเดินทางไปทำงานต่างประเทศอย่างถูกต้อง เพื่อให้ได้รับสิทธิ์ประโยชน์และการคุ้มครองตามหลักสากล รวมทั้งมีคุณภาพชีวิตที่ดี

โดยการเดินทางไปทำงานต่างประเทศอย่างถูกกฎหมาย สามารถกระทำผ่าน ๕ ช่องทาง ดังนี้

ใช้บริการกรมการจัดหางาน ซึ่งไม่เสียค่าบริการ นอกจากค่าใช้จ่ายที่จำเป็น อาทิ ค่าตั๋วเครื่องบิน ค่าวีซ่า ค่าที่พักเตรียมตัวก่อนเดินทาง

ใช้บริการบริษัทจัดหางานจัดส่ง โดยเมื่อท่านลงทะเบียนที่ศูนย์ทะเบียนคนหางานไปทำงานต่างประเทศแล้ว ขอให้ตรวจสอบรายชื่อบริษัทจัดหางานที่จดทะเบียนถูกต้อง และตำแหน่งงานที่อนุญาตให้จัดส่งไป จากสำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด หรือเว็บไซต์ doe.go.th/overseas

ติดต่อนายจ้างโดยตรงด้วยตัวเอง หรือทำงานครบสัญญาจ้างแล้วได้ต่อสัญญา โดยเมื่อกลับมาพักผ่อนในประเทศไทยและจะเดินทางกลับไปทำงานอีก จะต้องแจ้งกรมการจัดหางานก่อนวันเดินทางไม่น้อยกว่า ๑๕ วัน

กรณีนายจ้างในประเทศไทยที่มีบริษัทอยู่ต่างประเทศ หรือประมูลงานในต่างประเทศได้ จะต้องขออนุญาตต่อกรมการจัดหางานก่อนส่งลูกจ้างที่อยู่ในประเทศไทยไปทำงาน

กรณีนายจ้างประสงค์ส่งลูกจ้างไปฝึกงานในต่างประเทศ เมื่อการฝึกงานเสร็จสิ้น ลูกจ้างต้องกลับมาทำงานกับนายจ้างตามเดิม โดยนายจ้างต้องรายงานการกลับเข้ามาทำงานของลูกจ้างให้กรมการจัดหางานทราบ

ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจเดินทางไปทำงานในต่างประเทศควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับประเทศที่จะเดินทางไปทำงาน และพิจารณาอย่างถี่ถ้วนการโฆษณาชวนเชื่อในช่องทางต่าง ๆ โดยเฉพาะจากสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อป้องกันการถูกหลอกลวง และสามารถศึกษาข้อมูลจากเว็บไซต์กรมการจัดหางาน doe.go.th หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน ๑๕๐๖ กด ๒

๗. รายการบันทึกสถานการณ์ และ MFA Update

ในวันพฤหัสบดีที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๖๔ เวลา ๐๘.๓๐ - ๐๘.๔๕ น. รายการ ?บันทึกสถานการณ์? ทาง FM 92.5 (ภาษาไทย) จะสัมภาษณ์นายกิจวัตร ทาเจริญ นักการทูตชำนาญการ (ที่ปรึกษา) กองสหภาพยุโรป กรมยุโรป หัวข้อ ?มาตรการการเดินทางเข้าประเทศสมาชิก EU ในช่วงการระบาด ของโควิด-๑๙? สามารถรับชมย้อนหลังได้ทาง youtube ?MFA Thailand Channel?

ในวันศุกร์ที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๖๔ เวลา ๐๘.๐๕ รายการ ?MFA Update? FM 88.0 (ภาษาอังกฤษ) จะสัมภาษณ์ ดร.ไกรจักร ธีรตยาคีนันท์ นักการทูตชำนาญการ (ที่ปรึกษา) กองนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ หัวข้อ ?Regional Comprehensive Economic Partnership (RCEP) Agreement? สามารถรับชมย้อนหลังได้ทาง youtube ?MFA Thailand Channel?

๘. รายการ Spokesman Live!!!

ในวันศุกร์ที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๖๔ เวลา ๒๐.๐๐ - ๒๐.๓๐ น. ขอเชิญติดตามรายการ คุยรอบโลกกับโฆษก กต. - Spokesman Live!!! สัปดาห์นี้ ผมจะเป็นผู้ดำเนินรายการแทนท่านอธิบดีซึ่งติดภารกิจ โดยจะสัมภาษณ์ ผศ.ดร.อันธิกา สวัสดิ์ศรี คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หัวข้อ ?Redesign Design Education : the time is now or never? สามารถติดตามชมได้ที่ Facebook ?กระทรวงการต่างประเทศ? และ ?Saranrom Radio

๙. รายการ คุยกับทูต ซีซั่น ๒

วันเสาร์ที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๓.๐๐ น. รายการคุยกับทูต ซีซั่น ๒ จะสัมภาษณ์เอกอัครราชทูตศศิวัฒน์ ว่องสินสวัสดิ์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงมอสโก ในหัวข้อ ?การทูตนอกกรอบผ่านฟุตบอลและดนตรีแจ๊สในโอกาสฉลองความสัมพันธ์ ๑๒๕ ปี ไทย-รัสเซีย? สามารถติดตามได้ทางเว็บไซต์ the Cloud เฟสบุ๊คกระทรวงการต่างประเทศ และช่องทางต่าง ๆ ของกระทรวงฯ

ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ