รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าวถ้อยแถลงในช่วงการอภิปรายทั่วไปต่อที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยที่ ๗๗

ข่าวต่างประเทศ Tuesday September 27, 2022 15:39 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๖๕ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าวถ้อยแถลงในช่วงการอภิปรายทั่วไปต่อที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ ๗๗ (United Nations General Assembly ? UNGA) ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก

วิกฤตที่ทั่วโลกกำลังเผชิญล้วนเกิดจากการกระทำของมนุษย์ และธรรมชาติ ซึ่งนำไปสู่วิกฤตต่าง ๆ อาทิ วิกฤตด้านอาหาร พลังงาน โรคระบาด ความขัดแย้ง และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในการนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศย้ำความสำคัญของการที่ประชาคมระหว่างประเทศต้องยึดมั่นในระบบพหุภาคี และร่วมมือกันขับเคลื่อนความร่วมมือในช่วงเวลาสำคัญ ซึ่งสามารถส่งเสริมข้อริเริ่มของเลขาธิการสหประชาชาติที่ระบุไว้ในรายงาน Our Common Agenda

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศย้ำความสำคัญของห่วงโซ่อุปทานโลกที่เปิดกว้าง โดยไทยยินดีต่อข้อริเริ่มว่าด้วยการขนส่งธัญพืชในพื้นที่ทะเลดำ (Black Sea Grain Initiative) ของสหประชาชาติที่ช่วยบรรเทาวิกฤตอาหารโลก ขณะเดียวกัน ทั่วโลกต้องเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ระบบสาธารณสุขผ่านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (Universal Health Coverage: UHC) และการปฏิรูปโครงการโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมด้านสาธารสุขของประชาคมระหว่างประเทศ (global health architecture) เพื่อแก้ไขข้อบกพร่องของระบบสุขภาพในปัจจุบัน

ในประเด็นเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แสดงความพร้อมของไทยที่จะจัดการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contributions: NDCs) และยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของไทย (Long-term Low Emissions Development Strategy: LT-LEDS) ก่อนการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ ๒๗ (COP27) และย้ำว่า ประชาคมระหว่างประเทศต้องรื้อฟื้นความเชื่อมั่นต่อระบบพหุภาคี และร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในประเด็นที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน รวมถึงการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมให้แก่ประเทศต่าง ๆ และให้ความสำคัญกับการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ในการนี้ ไทยจึงประกาศลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Human Rights Council: HRC) วาระปี ค.ศ. ๒๐๒๕-๒๐๒๗

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเห็นว่า ความร่วมมือระหว่างประเทศในการรับมือกับวิฤตต่าง ๆ ของโลก ช่วยเร่งความคืบหน้าในการดำเนินงานตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) โดยไทยนำโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ?เศรษฐกิจหมุนเวียน?เศรษฐกิจสีเขียว (BCG) มาเป็นแนวทางในการพัฒนาอย่างสมดุล พร้อมชี้ว่าความร่วมมือในระดับภูมิภาค อาทิ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค) จะช่วยสนับสนุน การทำงานของระบบพหุภาคี โดยในปีนี้ ไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคภายใต้แนวคิด ?เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกันสู่สมดุล? (Open. Connect. Balance.)

ในโอกาสนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเสนอให้ใช้โอกาสที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องในวิกฤตยูเครนจะมาเข้าร่วมการประชุมระหว่างประเทศสำคัญในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในเดือนพฤศจิกายน ได้แก่ การประชุมสุดยอดอาเซียน ที่กรุงพนมเปญ การประชุม G20 ที่บาหลี และการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ที่กรุงเทพฯ ได้พบหารือเพื่อทางออกสำหรับวิกฤตยูเครน โดยสหประชาชาติสามารถเข้ามามีส่วนร่วม และเห็นว่า การรับมือกับความท้าทายในปัจจุบัน จะต้องดำเนินไปด้วยความมีสติและมีมุมมองเชิงบวก เพื่อให้ทุกประเทศสามารถรอดพ้นจากภัยคุกคาม และนำมาซึ่งความสงบสุขและสันติสุขแก่มวลมนุษยชาติ

ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ