รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 28 พฤศจิกายน 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 28, 2011 14:50 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 28 พฤศจิกายน 2554

Summary:

1. เวิลด์แบงค์ประเมินน้ำท่วม เสียหาย 1.4 ล้านล้านบาท สะเทือนจีดีพีวูบ 1.2%

2. ภาคเกษตรเสียหาย7.2 หมื่นล้านผนึกญี่ปุ่นฟื้นผลผลิต

3. S&P ประกาศลดเครดิตเบลเยี่ยมจาก AA+ เป็น AA

Highlight:
1. เวิลด์แบงค์ประเมินน้ำท่วม เสียหาย 1.4 ล้านล้านบาท สะเทือนจีดีพีวูบ 1.2%
  • ธนาคารโลก ประเมินความเสียหายน้ำท่วม โดยในเบื้องต้นแบ่งความเสียหายเป็น ที่มีต่อบ้านเรือน โรงงานอุตสาหกรรม และสินทรัพย์คงที่ต่างๆ อยู่ที่ 6.6 แสนล้านบาท และด้านความสูญเสีย คือการผลิตที่หยุดชะงัก จะอยู่ที่ 7 แสนล้านบาท ส่งผลให้ความเสียหายรวมทั้งหมดจะอยู่ที่ 1.4 ล้านล้านบาท ซึ่งจะส่งผลกระทบต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ไทย ปี 54 จะลดลง 1.2% ทำให้ทั้งปี 54 ธนาคารโลกคาดว่าไทยจะสามารถเติบโตได้ 2.4% จากเดิมที่เคยคาดการณ์เอาไว้3.6% อย่างไรก็ตาม การเติบโตทางเศรษฐกิจไทยปี 55 จะสามารถขยายตัวเป็นบวกได้ประมาณ 0.1% เนื่องจาก ภายหลังน้ำลดลงแล้ว ไทยจะมีการฟื้นฟู และจะมีการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจไทยในปี 56 จะกลับมาเติบโตได้อย่างปกติ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากเหตุการณ์มหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยทั้งในด้านอุปทานที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคการท่องเที่ยว และในด้านอุปสงค์ที่ส่งผลต่อภาคการส่งออกของไทย ภาคการบริโภคภาคเอกชน และภาคการลงทุนภาคเอกชน โดยในเบื้องต้น สศค .ได้ประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจจากเหตุการณ์อุทกภัยครั้งนี้ว่าจะมีผลทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ลดลง คิดเป็นประมาณ 190,000 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 1.8 ซึ่งเมื่อรวมผลกระทบของเศรษฐกิจโลกที่มีสัญญาณชะลอตัวลงแล้ว จะทำให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 54 จะลดลงจากร้อยละ 4.5 (คาดการณ์ ณ เดือน มิ.ย. 54 ซึ่งเป็นช่วงก่อนภาวะน้ำท่วม) มาอยู่ที่ร้อยละ 2.6 อย่างไรก็ดี สศค. จะปรับประมาณการเศรษฐกิจอีกครั้งในเดือน ธ.ค. 54
2. ภาคเกษตรเสียหาย7.2 หมื่นล้านผนึกญี่ปุ่นฟื้นผลผลิต
  • รมว.กระทรวงเกษตรฯ กล่าวว่า เอกอัครราชทูตแห่งญี่ปุ่น ระบุว่าประเทศญี่ปุ่นได้ยืนยันให้ความช่วยเหลือประเทศไทยจากปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นโดยในส่วนของภาคการเกษตรนั้นทูตญี่ปุ่นได้แจ้งให้ทราบว่าไจก้าจะส่งคณะศึกษาสำรวจที่เป็นผู้เชี่ยวชาญ มาประเทศไทยเพื่อเก็บข้อมูลและจัดทำแผนความช่วยเหลือที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยในครั้งนี้ เบื้องต้นกระทรวงเกษตรฯได้หารือกับทางไจก้าในการให้ความร่วมมือในเรื่องการจัดสถานที่ศึกษาสำรวจพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบในประเทศไทยแล้ว เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำและการฟื้นฟูพื้นที่การเกษตรฟื้นกลับมาโดยเร็วที่สุด สำหรับการประเมินความเสียหายภาคการเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในครั้งนี้ คาดว่ามีความเสียหายรวม 7.2 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นด้านพืชประมาณ 6.4 หมื่นล้านบาท ด้านประมง 3.2 พันล้านบาทและด้านปศุสัตว์ 4.4 พันล้านบาทรวมทั้งได้คาดการณ์ว่าตัวเลขจีดีพีภาคเกษตรในปีนี้จะลดลงจากที่ได้ประเมินไว้จากเดิมจะเพิ่มขึ้น 4.8 % เหลือเพียง 1 %
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ภาวะอุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง และภาคกลางที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในหลายภาคส่วน หนึ่งในภาคสำคัญที่ได้รับผลกระทบคือ ภาคเกษตรกรรม ซึ่งเศรษฐกิจภาคเกษตรกรรมคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 8.3 ของ GDP โดยความเสียหายส่วนใหญ่ เกิดกับนาข้าว และมันสำปะหลัง รวมถึงด้านปศุสัตว์ จำพวก ไก่ โค กระบือ และสุกร ทั้งนี้ จากข้อมูลล่าสุด GDP ภาคการเกษตรในไตรมาสที่ 2 ขยายตัวร้อยละ 6.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอลงจากไตรมาสที่ผ่านมาที่ขยายตัวร้อยละ 7.6 และคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ7.2 เมื่อคิดจากต้นปีจนถึงไตรมาสที่ 2 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YTD) ทั้งนี้ สศค.กำลังเตรียมปรับประมาณการทางเศรษฐกิจในปี 54 อีกครั้ง เนื่องจากมีเครื่องชี้หลายตัวแสดงทิศทางที่ชะลอตัวลงจากภาวะอุทกภัย
3. S&P ประกาศลดเครดิตเบลเยี่ยมจาก AA+ เป็น AA
  • สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ (S&P) ประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือระยะยาวของพันธบัตรรัฐบาลเบลเยียม ลง 1 ขั้นสู่ระดับ AA จากระดับ AA+ โดยให้แนวโน้มเป็น "เชิงลบ" เนื่องจากหนี้สินที่อยู่ในระดับสูงของรัฐบาลกำลังบั่นทอนศักยภาพในการระดมทุนของทั้งภาครัฐและภาคธนาคาร นอกจากนี้ S&P ยังคาดว่า ณ สิ้นปี 2554 หนี้สินสุทธิของรัฐบาลเบลเยียมจะอยู่ที่ร้อยละ 93 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ พร้อมกับแสดงความกังวลว่า การชะลอตัวของเศรษฐกิจอาจจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ด้านงบประมาณของเบลเยียมด้วย โดยคาดว่า ยอดขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลเบลเยียมในปี 2554 จะอยู่ที่ร้อยละ 3.6 ของจีดีพี
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การที่ S&P ลดเครดิตประเทศเบลเยี่ยมจากปัญหาหนี้สาธารณะนั้นอาจส่งผลลบต่อเศรษฐกิจเบลเยี่ยมให้ชะลอลงและส่งผลต่อภาคการส่งออกของไทยในที่สุด โดยเบลเยี่ยมถือเป็นตลาดส่งออกของไทยที่มีสัดส่วนร้อยละ 0.8 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด ซึ่งสินค้าส่งออกสำคัญได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องนุ่งห่ม เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์ ผลิตภัณฑ์ยาง และรถยนต์ นอกจากนี้ การที่เศรษฐกิจเบลเยี่ยมเริ่มส่งสัญญาณถึงความเสี่ยงของหนี้สาธารณะนั้นยังเป็นอีกหนึ่งแรงกดดันต่อสภาวะวิกฤตหนี้ในยุโรปให้รุนแรงและยืดเยื้อยิ่งขึ้น อีกทั้งผู้นำในยุโรปยังมีความขัดแย้งทางการเมืองในการแก้ไขปัญหาหนี้สาธารณะทำให้เศรษฐกิจสหภาพยุโรปมีแนวโน้มชะลอลง และอาจประสบภาวะเศรษฐกิจถดถอยในกรณีร้ายแรง โดย สศค. คาดว่า เศรษฐกิจยุโรปในปี 2554 และปี 2555 จะขยายตัวที่ร้อยละ 1.7 และ 1.5 ตามลำดับ (คาดการณ์ ณ กันยายน 54) ซึ่งจะมีการปรับประมาณการลงอีกครั้งในเดือนธันวาคม 54

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:

Fiscal Policy Office Tel. 02-273-9020 Ext.3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ