รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 29 พฤศจิกายน 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 29, 2011 10:53 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 29 พฤศจิกายน 2554

Summary:

1. HSBC คาดน้ำท่วมกดเศรษฐกิจไทยปีนี้โตได้แค่ร้อยละ 1.7

2. สศอ.เผยน้ำท่วมกระทบดัชนีผลผลิตภาคอุตาสาหกรรม (MPI)

3. OECD เผยหนี้สาธารณะต่อ GDP ของญี่ปุ่นอาจแตะระดับร้อยละ 230 ภายใน 2 ปี

Highlight:
1. HSBC คาดน้ำท่วมกดเศรษฐกิจไทยปีนี้โตได้แค่ร้อยละ 1.7
  • ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ (HSBC) เผยว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้จะเติบโตได้เพียงร้อยละ 1.7 เนื่องจากผลกระทบน้าท่วมทำให้ช่วงไตรมาส 4/54 เศรษฐกิจไทยอาจจะหดตัวถึงร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับไตรมาส 3/54 และคงเริ่มฟื้นตัวได้ตั้งแต่ไตรมาส 1/55 ซึ่งจะทำให้ปี 55 เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้สูงถึงร้อยละ 4.5 พร้อมกับคาดการณ์ว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)ที่จะมีการประชุมในวันที่ 30 พ.ย.2554 จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 เนื่องจากสถานการณ์อุทกภัยครั้งรุนแรงที่มีผลอย่างมากต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ แต่ HSBC เชื่อว่าจะมีผลในระยะสั้น ๆ เท่านั้น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ผลกระทบจากเหตุการณ์อุทกภัยเริ่มมีความชัดเจนขึ้นหลังข้อมูลเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจหลายตัวในเดือน ต.ค.54 มีการหดตัวรุนแรง เช่น 1) มูลค่าการส่งออกสินค้าในเดือน ต.ค.54 ขยายตัวลดลงเหลือเพียงร้อยละ 0.3 จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 19.1 โดยสินค้าที่ได้รับผลกระทบมาก ได้แก่ หมวดเครื่องปรับอากาศ ยานยนต์ คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้า และผลไม้กระป๋อง และ 2) ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือน ต.ค.54 หดตัวที่ร้อยละ -35.8 ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -0.4 โดยเป็นการหดตัวในเกือบทุกสาขาอุตสาหกรรม โดยเฉพาะหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์ คอมพิวเตอร์และชิ้นส่วนอิเลคทรอนิคส์ ทำให้สศค.ปรับลดประมาณการทางเศรษฐกิจไทยในปี 54 ลง โดยคาดว่าจะขยายตัวได้ในช่วงร้อยละ 1.7 - 2.0
2. สศอ.เผยน้ำท่วมกระทบดัชนีผลผลิตภาคอุตาสาหกรรม (MPI)
  • รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่าดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม(MPI) เดือน ต.ค. 54 หดตัวร้อยละ -35.8 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากได้รับผลกระทบอย่างชัดเจนจากมหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของประเทศ ซึ่งส่งผลทำให้การผลิตในภาคอุตสาหกรรมต้องหยุดชะงัก ในขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ร้อยละ 46.4
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (MPI) ในเดือน ต.ค.54 หดตัวสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ร้อยละ -35.8 เนื่องมาจากวิกฤติอุทกภัยที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของประเทศส่งผลโดยตรงต่อการผลผลิตสินค้าอุตสาหกรรมให้ต้องหยุดชะงักลง โดยอุทกภัยที่เกิดขึ้นได้สร้างความเสียหายต่อนิคมอุตสหกรรม 7 แห่ง ทั้งนิคมฯไฮเทค นิคมฯบางปะอิน นิคมฯโรจนะ นิคมฯนวนคร นิคมฯบางกระดี นิคมฯสหรัตนนคร และแฟคตอรี่แลนด์ ทั้งนี้อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีอุตสาหกรรมในเดือน ต.ค.54 หดตัวสูงสุดนั้นมาจากอุตสาหกรรมยานยนต์ Hard disk drive วิทยุโทรทัศน์ และอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตภาคอุตภาคอุตสาหกรรม 10 เดือนแรกของปี 54 (ม.ค.- ต.ค.54) หดตัวร้อยละ -4.4 ซึ่งสอดคล้องกับอัตราการใช้กำลังการผลิตที่ลดลงเช่นเดียวกัน
3. OECD เผยหนี้สาธารณะต่อ GDP ของญี่ปุ่นอาจแตะระดับร้อยละ 230 ภายใน 2 ปี
  • OECD คาดการณ์ว่า ตัวเลขหนี้สินของรัฐบาลญี่ปุ่นจะพุ่งขึ้นแตะระดับร้อยละ 230 ต่อ GDP ภายในปี 2556 สะท้อนปัญหาหนี้สาธารณะของญี่ปุ่นที่จะย่ำแย่ลงอีก แม้รัฐบาลประกาศใช้มาตรการต่างๆเพื่อลดยอดขาดดุลงบประมาณ ซึ่งรวมถึงการขึ้นภาษีและลดการใช้จ่ายแล้วก็ตาม พร้อมระบุว่าการจัดทำแผนการปรับสมดุลการคลังเป็นภารกิจสำคัญอันดับแรก เพื่อให้รัฐบาลสามารถบรรลุเป้าหมายการมียอดเกินดุลงบประมาณและรักษาสัดส่วนหนี้สาธารณะให้มีเสถียรภาพภายในปี 2563
  • สศค.วิเคราะห์ว่ามาตรการด้านการเงินการคลังของญี่ปุ่นได้แก่ การอัดฉีดสภาพคล่องของ BOJ ในวงเงิน 25 ล้านล้านเยน และการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่าย 16 ล้านล้านเยน (ร้อยละ 4.6 และ 3 ของ GDP ตามลำดับ) ตลอดจนการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรม(สะท้อนจากคำสั่งซื้อผู้จัดการฝ่ายซื้อภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มมาสู่ระดับเฉลี่ยที่ 51.1 ในช่วง ก.ค.-ส.ค.54) เป็นปัจจัยสนับสนุนให้เศรษฐกิจญี่ปุ่น (Real GDP Growth) กระเตื้องขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 0.0 ในไตรมาส 3 จากร้อยละ -1.1 ในช่วงไตรมาสก่อนหน้า อย่างไรก็ดี ญี่ปุ่นยังคงมีปัจจัยเสี่ยงจากแนวโน้มการแข็งค่าของเงินเยนที่สร้างแรงกดดันให้กับอุตสาหกรรมการส่งออก และวิกฤตหนี้ยูโรโซนที่จะทำให้ญี่ปุ่นเผชิญแรงกดดันด้านเงินฝืดต่อเนื่องไปถึงปี 56 ซึ่งการทบทวนนโยบายด้านการคลังดังกล่าว จะมีส่วนช่วยลดผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่น โดย สศค.คาดการณ์ (ณ ก.ย.54) ว่าในปี 55 เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะขยายตัวในช่วงคาดการณ์ร้อยละ 2.0-3.0

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:

Fiscal Policy Office Tel. 02-273-9020 Ext.3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ