รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 14 มีนาคม 2555

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday March 14, 2012 12:22 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 14 มีนาคม 2555

Summary:

1. กระทรวงคมนาคมประเมินค่ารถเมล์-แท็กซี่มีโอกาสขึ้น

2. บริษัทโนมูระแนะเลี่ยงลงทุนตลาดหุ้นไทย

3. นักวิเคราะห์เห็นตรงกันว่ากรีซยังไม่พ้นวังวนวิกฤติ แม้บรรลุข้อตกลงสว็อปบอนด์ครั้งประวัติศาสตร์

Highlight:
1. กระทรวงคมนาคมประเมินค่ารถเมล์-แท็กซี่มีโอกาสขึ้น
  • นายศิลปชัย จารุเกษมรัตนะ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ได้สัมภาษณ์กรณีการขอปรับราคาค่าโดยสารรถเมล์และรถแท็กซี่ว่าเนื่องจากมีการปรับตัวของราคาต้นทุนเกิดขึ้นจึงต้องมีการพิจารณาให้ปรับขึ้นตามความเหมาะสมแต่จะขึ้นราคาเท่าไรนั้น คงจะต้องอยู่ที่ระยะเวลา ความพร้อมดังนั้นปัจจัยสำคัญในการพิจารณาการปรับขึ้นราคาค่าโดยสาร คือเสถียรภาพของราคาน้ำมันภายในประเทศ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การปรับตัวของราคาต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นนั้น มีสาเหตุหลักมาจากปรับตัวของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่สูงขึ้น จากปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมืองระหว่างประเทศในกรณีของอิหร่าน โดยอาจส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อของประเทศไทยในระยะสั้น อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลยังคงมีมาตรการควบคุมระดับราคาสินค้าในประเทศอย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของการควบคุมระดับราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น และมาตรการลดค่าครองชีพ (ค่าโดยสารรถประจำทาง และค่ารถไฟ) ทั้งนี้ สศค. ได้ตั้งสมมติฐานราคาน้ำมันและประเมินแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในปี 55 โดยคาดว่าในปี 55 ราคาน้ำมันดิบดูไบจะอยู่ที่ 116.0 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล (ช่วงคาดการณ์ที่ 111.0-121.0 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล) และอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 3.5 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.0-4.0 ต่อปี )
2. บริษัทโนมูระแนะเลี่ยงลงทุนตลาดหุ้นไทย
  • บริษัทหลักทรัพย์ โนมูระ พัฒนสิน ได้รายงานผลกระทบราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยกรณีแย่ที่สุดราคาน้ำมันดิบปรับขึ้นเป็น 150 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในช่วงไตรมาส 2 ปี 55 ก่อนที่จะอ่อนตัวลง และมีราคาเฉลี่ยทั้งปี 55 อยู่ที่ 135 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ผลกระทบราคาน้ำมันที่เพิ่มขึน้ ต่อเนื่องทำให้ GDP ของไทย ลดลงจากร้อยละ 5.0 เหลือร้อยละ 4.0 และอัตราดอกเบีย้ นโยบายจะปรับขึน้ จากร้อยละ 2.75 เป็นร้อยละ 3.5 ตามภาวะเงินเฟ้อที่สูงเกินคาด ซึ่งจะส่งผลให้ตลาดหุ้นไทยอาจมีการปรับฐานแรงจากปัจจัยราคาน ำมันที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยค่อนข้างมาก
  • สศค. วิเคราะห์ว่า สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง (โดยล่าสุดราคาน้ำมันดิบดูไบ ณ 12 มี.ค. 55 อยู่ที่ 123.7 เหรียญดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ปรับตัวสูงขึ้นนับจากต้นปี 55 ร้อยละ 18.9) ซึ่งราคาน้ำมันที่สูงนี้มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยที่ยังคงพึ่งพาพลังงานค่อนข้างมาก (High Oil Intensity) อย่างไรก็ตาม ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของไทยในช่วงที่ผ่านมาสามารถปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยล่าสุดดัชนีตลาดหุ้นไทย ณ 13 มี.ค.55 ปิดตลาดที่ 1,153 จุดปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.3 เมื่อเทียบกับต้นปี 55 โดยเป็นผลจากเงินทุนเคลื่อนย้ายจากต่างประเทศที่ไหลเข้าสู่ตลาดทุนในภูมิภาคเอเชียรวมทั้งตลาดทุนไทยที่มีแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวได้ดี นอกจากนี้ ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของไทยสามารถเติบโตได้ดีต่อเนื่อง แม้ว่าในปีที่ผ่านมาผู้ประกอบการต้องเผชิญกับปัญหาต้นทุนที่เพิ่มขึ้นและผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม โดยข้อมูล ณ 8 มี.ค.55 มีบริษัทจดทะเบียนประกาศจ่ายเงินปันผลจากผลประกอบการปี 54 รวมทั้งสิ้น 311 บริษัท โดยมีมูลค่ารวม 326.1 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และยังเป็นมูลค่าการจ่ายเงินปันผลที่สูงที่สุดต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 นับตั้งแต่ปี 52 ซี่งสะท้อนถึงกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่แข็งแกร่งของบริษัทจดทะเบียนของไทย
3. นักวิเคราะห์เห็นตรงกันว่า กรีซยังไม่พ้นวังวนวิกฤติแม้บรรลุข้อตกลงสว็อปบอนด์ครั้งประวัติศาสตร์
  • นักวิเคราะห์ มีความเห็นว่า ภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างรุนแรง และผลการเลือกตั้งที่ไม่อาจคาดเดาได้ของกรีซ มีแนวโน้มว่าจะส่งผลให้กรีซได้รับผลบวกเพียงเวลาสั้น ๆ เท่านั้น จากการปรับโครงสร้างหนี้ครั้งใหญ่ที่สุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่ EU และ IMF เคยเตือนในรายงานว่า มาตรการให้ความช่วยเหลือ ทางการเงินอาจจะประสบเหตุขัดข้องได้อย่างง่ายดาย และปริมาณหนี้อาจจะพุ่งกลับขึ้นไปอยู่ในระดับเดียวกับช่วงก่อนการสว็อปพันธบัตรอีกครั้ง ถ้าหากรัฐบาลกรีซไม่ได้ดำเนินการปฏิรูปตามแผนการที่วางไว้ หรือถ้าหากเศรษฐกิจกรีซถดถอยลงอย่างรุนแรงเกินคาด
  • สศค. วิเคราะห์ว่า กรีซได้รับความช่วยเหลือในหลายครั้ง ทั้งจาก มาตรการช่วยคลายความกังวลวิกฤติหนี้กรีซได้ในระยะสั้น จากประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังยูโรโซนในครั้งที่ผ่านมาที่มีการตกลงแก้ไขวิกฤติหนี้กรีซ โดย (1)อนุมัติเงินกู้รอบ 2 แก่กรีซในวงเงิน 130 พันล้านยูโร (2)เห็นชอบให้เจ้าหนี้ภาคเอกชนลดหนี้(Hair Cut) ให้กรีซ 53.5% (3) ปรับลดดอกเบี้ยให้กรีซเหลือ Euribor+1.5% รวมถึงข้อตกลงสว็อปบอนด์ในครั้งนี้ แต่สศค.ประเมินว่า อาจไม่สามารถแก้ไขทำให้ฐานะการคลังกรีซยั่งยืน(Sustainable)ในระยะยาวได้ ส่วนหนึ่งเนื่องจาก ในปัจจุบันกรีซมีหนี้สินประมาณร้อยละ 160 ต่อGDP ซึ่งสัดส่วนดังกล่าวอยู่ในระดับที่สูงเกินกว่าที่จะทำให้กรีซชำระหนี้ได้อย่างยั่งยืน

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:

Fiscal Policy Office Tel. 02-273-9020 Ext.3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ