รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 4 กรกฎาคม 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 4, 2012 12:15 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 4 กรกฎาคม 2555

Summary:

1. ธปท. ยันดอกเบี้ยร้อยละ 3 ยังเอื้อต่อเศรษฐกิจไทย ขณะที่ระดับหนี้ต่างประเทศ ยังอยู่ในเกณฑ์ดี

2. ธ.ทหารไทยคาดส่งออกไทยปี 55 หลุดเป้าโตแค่ร้อยละ 7

3. ทุนสำรองฯ ของเกาหลีใต้ในเดือน มิ.ย. 55 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 3.12 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

Highlight:
1. ธปท. ยันดอกเบี้ยร้อยละ 3 ยังเอื้อต่อเศรษฐกิจไทยขณะที่ระดับหนี้ต่างประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี
  • ผู้ว่าการแบงก์ชาติ เผยว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับร้อยละ 3 ยังเอื้อต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจไทย ขณะที่แรงกดดันด้านอัตราเงินเฟ้ อเริ่มชะลอลง ตามการลดลงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งคาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 2555 จะอยู่ที่ระดับร้อยละ 3.3 ลดลงจากคาดการณ์เดิมที่ร้อยละ 3.5 ขณะที่ ระดับหนี้ต่างประเทศ ยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากตัวเลขหนี้ต่างประเทศ โดยเฉพาะหนี้ระยะสั้น กับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ จะเห็นว่าปัจจุบันประเทศไทยมีเงินสำรองฯ ค่อนข้างสูง โดยสูงกว่าหนี้ระยะสั้นถึง 3 เท่า เทียบกับวิกฤติปี 2540 ที่มีระดับเงินสำรองฯ ต่อหนี้ระยะสั้นแค่ 0.7 เท่า ดังนั้นสถานะหนี้ต่างประเทศของไทยเวลานี้ แม้จะเพิ่มขึ้นมากแต่อยู่ในระดับที่ปลอดภัย
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 3.0 ถือว่าเหมาะสมต่อการสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจภายในประเทศได้อย่างต่อเนื่องภายใต้ความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลก ขณะที่หนี้ต่างประเทศยังอยู่ในระดับที่ไม่น่ากังวล ลักษณะหนี้ต่างประเทศในปัจจุบัน ส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อภาคการค้า และเป็นหนี้ของภาคเอกชน ไม่ใช่หนี้ภาครัฐ ถึงแม้ว่าในเดือน เม.ย.55 ระดับหนี้ต่างประเทศจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.21 แสนล้านดอลล่าร์ สูงกว่าเมื่อครั้งวิกฤตปี 40 ซึ่งมีระดับหนี้ต่างประเทศ 1.12 แสนล้านดอลล่าร์ อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาสัดส่วนหนี้ต่างประเทศของไทยเทียบกับ GDP จะพบว่าสัดส่วนหนี้ต่างประเทศของไทยในปัจจุบันอยู่ระดับต่ำเพียงร้อยละ 37.4 ของจีดีพี เทียบกับวิกฤตเมื่อ 15 ปีที่แล้ว ซึ่งมีสัดส่วนหนี้ต่างประเทศต่อจีดีพีสูงถึง ร้อยละ 64.8 ทั้งนี้ สศค. คาดว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายในปี 55 จะอยู่ที่ร้อยละ 3.00 โดยมีช่วงคาดการณ์ร้อยละ 2.5-3.5 (คาดการณ์ ณ เดือน มิ.ย. 55)
2. ธ.ทหารไทยคาดส่งออกไทยปี 55 หลุดเป้า โตแค่ร้อยละ 7
  • วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย (TMB Analytics) คาดการณ์ว่า การส่งออกของไทยจะเติบโตแค่ร้อยละ 7 หลุดเป้าร้อยละ 15 จากต้นตอวิกฤติหนี้ในยุโรปและการชะลอตัวของเศรษฐกิจของจีนและสหรัฐฯ ทั้งนี้ แม้ว่าในช่วงไตรมาสสุดท้ายมีโอกาสเห็นการส่งออกไปตลาดขุโรปขยายตัวเป็นบวกในอัตราสูงประมาณร้อยละ 11 แต่เนื่องมาจากฐานต่ำในช่วงอุทกภัย ทำให้คาดว่ายอดส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังจะเติบโตในอัตราที่ร้อยละ 12.7 เมื่อเทียบกับปี 54 และทำให้ทั้งปี 55 เติบโตที่ร้อยละ 7 เท่านั้น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าในเดือน พ.ค. 55 อยู่ที่ 20.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 7.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -3.7 และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลแล้ว (m-o-m SA) ขยายตัวร้อยละ 7.4 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 0.8 สะท้อนให้เห็นถึงการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของอุตสาหกรรมภายหลังจากที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติอุทกภัยในช่วงปลายปีที่ผ่านมา และเมื่อพิจารณาตลาดส่งออกสำคัญของไทย พบว่า การส่งออกสินค้าของไทยไปยังประเทศคู่ค้าปรับตัวดีขึ้น โดยการส่งออกไปยังจีนและสหรัฐฯ ในเดือน พ.ค. 55 สามารถขยายตัวร้อยละ 22.3 และ 10.9 ตามลำดับ และที่สำคัญคือ การส่งออกไปสหภาพยุโรปสามารถกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้เป็นครั้งแรกในรอบ 7 เดือน โดยขยายตัวร้อยละ 6.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -11.4 อย่างไรก็ดี สศค. ประเมินว่าการส่งออกสินค้าของไทยในช่วงที่เหลือของปี 55 จะสามารถขยายตัวได้ดีจากการที่ไทยมีการกระจายตลาดส่งออก แม้ว่าไทยจะต้องเผชิญกับความเสี่ยงด้านภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง โดยคาดว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าและบริการในปี 55 จะขยายตัวร้อยละ 12.8 โดยมีช่วงคาดการณ์ร้อยละ 11.8-13.8 (คาดการณ์ ณ เดือน มิ.ย. 55)
3. ทุนสำรองฯ ของเกาหลีใต้ในเดือน มิ.ย. 55 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 3.12 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • ธนาคารกลางเกาหลีใต้ เปิดเผยว่า ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของเกาหลีใต้ในเดือน มิ.ย. 55 อยู่ที่ 3.12 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 1.51 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากผลของการเพิ่มขึ้นของมูลค่าสินทรัพย์ที่ไม่ใช่สกุลเงินดอลลาร์ เช่น ค่าเงินยูโรและปอนด์ที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ และการขยายตัวของผลตอบแทนจากการลงทุน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า แม้ว่ามูลค่าการส่งออกและนำเข้าสินค้าในช่วง 6 เดือนแรกของปี 55 ของเกาหลีใต้จะขยายตัวได้เพียงร้อยละ 0.7 และ 2.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ จากผลของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง และมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือน พ.ค. 55 อยู่ที่ 3.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ฐานะทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของเกาหลีใต้ที่มีมากกว่า 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ มาตั้งแต่เดือน เม.ย. 54 ก็แสดงถึงฐานะทางการเงินของเกาหลีใต้ที่แข็งแกร่ง นอกจากนี้ ธนาคารกลางของเกาหลีใต้ยังมีการบริหารทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศที่มีประสิทธิภาพ โดยในช่วงที่ผ่านมา ธนาคารกลางได้สร้างความหลากหลายในการถือสินทรัพย์ต่างประเทศในทุนสำรองฯ เพื่อให้ประเทศสามารถรับมือกับความผันผวนของตลาดการเงินโลก และเพิ่มความเชื่อมั่นของนักลงทุนในเกาหลีเมื่อถึงคราวที่เกิดวิกฤติ เช่นการซื้อทองคำเป็นครั้งแรกในรอบ 13 ปี เมื่อเดือน ส.ค. 54 การลดสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์สกุลดอลลาร์ โดย ณ สิ้นปี 54 มีการลงทุนสินทรัพย์สกุลดอลลาร์ในสัดส่วนร้อยละ 60.5 ลดลงจากร้อยละ 63.7 ในปี 53 และร้อยละ 63.1 ในปี 52 รวมถึงธนาคารกลางยังมีแผนการที่จะซื้อหุ้นจีนคิดเป็นมูลค่า 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐอีกด้วย ทั้งนี้ ฐานะการเงินที่แข็งแกร่งของเกาหลีใต้ได้ส่งผลให้ค่าเงินของเกาหลีใต้แข็งค่า โดยล่าสุด ค่าเงินวอน ณ วันที่ 3 ก.ค. 55 อยู่ที่ 1.14 วอนต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นจากต้นปี 55 ร้อยละ 1.1

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:

Fiscal Policy Office Tel. 02-273-9020 Ext.3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ