เอกสารแนบ: รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนธันวาคม 2554 และไตรมาสที่ 4 ของปี 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 30, 2012 11:59 —กระทรวงการคลัง

เอกสารแนบ

"เศรษฐกิจไทยในเดือนธันวาคม 2554 เริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวจากวิกฤตอุทกภัย สะท้อนจากดัชนีชี้วัดการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่กลับมาขยายตัวได้อีกครั้งหลังจากที่หดตัวในช่วง 2 เดือนก่อนหน้าในขณะที่การส่งออกเริ่มฟื้นตัวเช่นกัน"

1. การบริโภคภาคเอกชนในเดือนธันวาคม 2554 เริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวจากวิกฤตอุทกภัย สะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ในเดือนธันวาคม 2554 ที่ขยายตัวร้อยละ 9.8 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -1.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากผลกระทบของวิกฤตอุทกภัย ส่งผลให้ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2554 ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ขยายตัวร้อยละ 6.6 ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 10.6 สอดคล้องกับปริมาณการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคที่ขยายตัวร้อยละ 16.7 ขยายตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 3.9 ทำให้ทั้งไตรมาสขยายตัวร้อยละ 8.8 ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวที่ร้อยละ 15.2 นอกจากนี้ การบริโภคสินค้าคงทน สะท้อนได้จากปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือนธันวาคม 2554 ที่หดตัวร้อยละ -28.1 ซึ่งเป็นการปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาล (m-o-m SA) โดยขยายตัวที่ร้อยละ 82.1 ต่อเดือน ทำให้ในไตรมาสที่ 4 ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งหดตัวร้อยละ -42.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนอย่างไรก็ตาม ยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในเดือนธันวาคม 2554 ยังคงหดตัวในระดับสูงร้อยละ -21.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -11.0 ส่งผลให้ในไตรมาสที่ 4 ยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์หดตัวร้อยละ -12.7 เทียบกับไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวในระดับร้อยละ 13.0 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากรายได้เกษตรกรที่แท้จริงปรับตัวลดลงในไตรมาสที่ 4 หดตัวร้อยละ -5.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามราคาสินค้าเกษตรที่หดตัว นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในเดือนธันวาคม 2554 ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ระดับ 63.1จุด จากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 61.0 ซึ่งเป็นการปรับตัวดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน จากปัจจัยบวกของสถานการณ์วิกฤตน้ำท่วมที่เริ่มคลี่คลายลง ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เช่น มาตรการปรับขึ้นเงินเดือนราชการที่จะมีผลในเดือนมกราคม 2555 รวมถึงมาตรการในการเยียวยาและฟื้นฟูผู้ประสบภัยหลังภาวะน้ำท่วม

2. การลงทุนภาคเอกชนในเดือนธันวาคม 2554 มีสัญญาณการฟื้นตัวเช่นกัน โดยเฉพาะการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนในเดือนธันวาคม 2554 ขยายตัวร้อยละ 13.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -4.1 ส่งผลให้ปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนในไตรมาสที่ 4 ขยายตัวร้อยละ 5.0 เช่นเดียวกับปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือนธันวาคม 2554 แม้ว่ายังหดตัวร้อยละ -46.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับเดือนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาล (m-o-m SA) ออกพบว่า ขยายตัวร้อยละ 87.1 ต่อเดือน ทำให้ในไตรมาสที่ 4 หดตัวร้อยละ -53.4 สำหรับเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนในหมวดการก่อสร้าง วัดจากภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในเดือนธันวาคม 2554 ขยายตัวร้อยละ 4.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -14.4 ส่งผลให้ไตรมาสที่ 4 หดตัวร้อยละ -7.9 จากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 34.5 เนื่องจากสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นทำให้ผู้บริโภคและผู้ประกอบการได้รับผลกระทบเป็นอย่างสูง ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและผู้ประกอบการ ทำให้ตลาดที่อยู่อาศัยเกิดภาวะสูญญากาศ โดยในส่วนของผู้บริโภคชะลอการซื้อที่อยู่อาศัย และชะลอการโอนกรรมสิทธิ์ ขณะที่ผู้ประกอบการชะลอการก่อสร้างและเปิดโครงการใหม่ สำหรับยอดจำหน่ายปูนซีเมนต์ขยายตัวร้อยละ 6.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -0.3 โดยเป็นผลมาจากสถานการณ์ที่เข้าสู่ปกติภายหลังปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ และธุรกิจรับเหมาก่อสร้างเริ่มกลับมาก่อสร้างได้ปกติ ทำให้ไตรมาสที่ 4 ขยายตัวร้อยละ 5.8 ขยายตัวชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 12.0

3. เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจด้านการคลังในเดือนธันวาคม 2554 พบว่า การจัดเก็บรายได้รัฐบาลสูงกว่าประมาณการ ขณะที่การเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐบาลขยายเพิ่มขึ้นจากปีก่อน โดยผลการจัดเก็บรายได้สุทธิของรัฐบาล (หลังหักจัดสรรให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น) ในเดือนธันวาคม 2554 เท่ากับ 124.6 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 0.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สูงกว่าประมาณการจำนวน 5.8 พันล้านบาท โดยภาษีที่จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการจำนวน 2.0 พันล้านบาท ภาษีมูลค่าเพิ่ม จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการจำนวน 1.9 พันล้านบาท และอากรขาเข้า จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการจำนวน 1.2 พันล้านบาท เนื่องจากในเดือนนี้มีการนำเข้าสินค้าประเภทรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ (พิกัด 87) ค่อนข้างสูง ส่งผลให้ไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2555 จัดเก็บได้จำนวน 396.2 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 0.1 สูงกว่าประมาณการจำนวน 13.7 พันล้านบาท ผลจากการจัดเก็บรายได้ของ 3 กรมจัดเก็บ (กรมสรรพากร กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร) หน่วยงานอื่น และการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจ เป็นสำคัญ นอกจากนี้ การคืนภาษีของกรมสรรพากรต่ำกว่าประมาณที่ตั้งไว้สำหรับการเบิกจ่ายงบประมาณในเดือนธันวาคม 2554 มีจำนวน 172.6 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 2.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แบ่งออกเป็น 1) รายจ่ายปีงบประมาณปัจจุบันจำนวน 151.6 พันล้านบาท หดตัวร้อยละ -0.3 โดยรายจ่ายปีปัจจุบันแบ่งออกเป็นรายจ่ายประจำจำนวน 137.4 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 2.8 และรายจ่ายลงทุนจำนวน 14.2 พันล้านบาท หดตัวร้อยละ -22.7 และ 2) รายจ่ายเหลื่อมปีจำนวน 21.0 พันล้านบาท ทั้งนี้ การเบิกจ่ายงบประมาณที่สำคัญ ประกอบด้วยรายจ่ายเงินอุดหนุนของกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน 12.1 พันล้านบาท รายจ่ายเงินอุดหนุนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานจำนวน 10.5 พันล้านบาท รายจ่ายเงินอุดหนุนของสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการจำนวน 4.3 พันล้านบาท และรายจ่ายอุดหนุนของกรุงเทพมหานครจำนวน 1.3 พันล้านบาท ทำให้การเบิกจ่ายในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2555 สามารถเบิกจ่ายได้จำนวน 489.8 พันล้านบาท หดตัวร้อยละ -18.1 ประกอบด้วยรายจ่ายประจำจำนวน 401.2 พันล้านบาท และรายจ่ายลงทุนจำนวน 38.1 พันล้านบาทนอกจากนี้ รัฐบาลยังมีการเบิกจ่ายงบลงทุนภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ในเดือนธันวาคม 2554 เท่ากับ 2.6 พันล้านบาท ส่งผลให้มีการเบิกจ่ายงบลงทุนสะสมภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 เท่ากับ 301.8 พันล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 86.2 ของกรอบวงเงินลงทุน 350 พันล้านบาท

4. การส่งออกในเดือนธันวาคม 2554 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศยุโรป โดยการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐในเดือนธันวาคม 2554 มีมูลค่า 17.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวลดลงอยู่ที่ร้อยละ -2.0 ซึ่งเป็นการปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -12.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือเมื่อหักผลทางฤดูกาล (m-o-m SA) แล้วขยายตัวสูงถึงร้อยละ 12.1 ต่อเดือน ตามการปรับตัวเพิ่มขึ้นในทุกหมวดสินค้า ยกเว้นสินค้าหมวดเกษตรกรรมที่หดตัวร้อยละ -6.7 โดยหมวดสินค้าที่ขยายตัวเร่งขึ้น ได้แก่ สินค้าเชื้อเพลิง และอุตสาหกรรมการเกษตรขยายตัวร้อยละ 40.6 และ 29.1 ตามลำดับ สำหรับการส่งออกรายตลาดพบว่า การส่งออกไปยังอาเซียน-5 นำโดยสิงคโปร์และอินโดนีเซีย รวมถึงประเทศอินเดียขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่ตลาดหลักอาทิ จีน ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และสหภาพยุโรปยังหดตัวที่ร้อยละ -2.8 -4.6 -3.5 และ -15.0 ตามลำดับ ทั้งนี้ การส่งออกในไตรมาสที่ 4 หดตัวร้อยละ -4.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 29.0 เนื่องจากผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมทำให้การผลิตและการส่งออกได้รับผลกระทบตั้งแต่เดือนตุลาคมและพฤศจิกายน สำหรับมูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐกลับมาขยายตัวอีกครั้ง โดยมูลค่าการนำเข้าสินค้าในเดือนธันวาคม 2554 อยู่ที่ 19.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 19.1 จากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -2.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามการขยายตัวในทุกหมวดสินค้า โดยสินค้าวัตถุดิบ สินค้าทุน สินค้าอุปโภคบริโภค และสินค้าเชื้อเพลิงขยายตัวที่ร้อยละ 20.6 14.5 21.7 และ 22.0 ตามลำดับ ส่งผลให้ในไตรมาสที่ 4 มูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐขยายตัวร้อยละ 12.1 ทั้งนี้ ผลจากมูลค่าการส่งออกที่น้อยกว่ามูลค่าการนำเข้าสินค้า ทำให้ดุลการค้าในเดือนธันวาคม 2554 ขาดดุล -2.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และทั้งไตรมาสที่ 4 ขาดดุล -4.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

5. เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจด้านการผลิตในเดือนธันวาคม 2554 มีสัญญาณฟื้นตัวเช่นกัน โดยดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนธันวาคม 2554 (เบื้องต้น) หดตัวร้อยละ -25.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ปรับตัวดีขึ้นมากจากเดือนก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาล (m-o-m SA) โดยขยายตัวร้อยละ 37.9 ต่อเดือน โดยดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ดัชนีผลผลิตอาหารและเครื่องดื่ม เครื่องประดับและเคมีภัณฑ์ สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนธันวาคม 2554 ที่ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ระดับ 93.7 จุด จากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 87.5 จุด โดยดัชนีที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากองค์ประกอบด้านยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการจากสถานการณ์อุทกภัยในหลายพื้นที่ได้คลี่คลายลง และเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ อย่างไรก็ตาม ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 4 ของปี 2554 มีการหดตัวร้อยละ -34.4 จากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 1.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งสะท้อนถึงผลกระทบจากวิกฤตอุทกภัยที่เกิดขึ้น สอดคล้องกับเครื่องชี้ภาคการเกษตรวัดจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรที่กลับมาขยายตัวได้ดี โดยในเดือนธันวาคม 2554 ขยายตัวร้อยละ 4.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -3.2 ตามการเพิ่มขึ้นของผลผลิตในหมวดพืชผลและปศุสัตว์เป็นสำคัญ โดยเฉพาะยางพารา มันสำปะหลัง และผลผลิตสุกร เนื่องจากสภาพภูมิอากาศเอื้ออำนวยต่อการผลิตและเก็บเกี่ยว ประกอบกับสถานการณ์โรคระบาดคลี่คลายลง ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรในเดือนธันวาคม 2554 หดตัวที่ร้อยละ -4.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -1.5 ตามการลดลงของราคาผลผลิตสำคัญ โดยเฉพาะยางพารา และมันสำปะหลัง โดยมีสาเหตุหลักมาจากอุปสงค์ในตลาดโลกที่ลดลง ตามการชะลอตัวอุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง ประกอบกับผลผลิตที่เริ่มออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น ทำให้รายได้ของเกษตรกรที่แท้จริงหดตัวอยู่ที่ร้อยละ -4.3 จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -9.4 เช่นเดียวกับ เช่นเดียวกับเครื่องชี้ภาคบริการที่สะท้อนจากการปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศในเดือน ธ.ค. 54 มีจำนวน 1.77 ล้านคน หดตัวร้อยละ -2.5 แต่ขยายตัวร้อยละ 20.4 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาล (m-o-m SA) สะท้อนให้เห็นถึงการฟื้นตัวจากวิกฤตอุทกภัยที่เกิดขึ้นในช่วงก่อนหน้า โดยประเทศที่มีการขยายตัวได้ดีเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ ออสเตรเลีย รัสเซียและจีน โดยขยายตัวร้อยละ 29.7 10.0 และ 5.7 ตามลำดับ ส่วนกลุ่มที่ยังคงมีการหดตัวลงมากเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ ยุโรป และ เอเชียตะวันออกฉียงเหนือ โดยเฉพาะ สวีเดน ฟินแลนด์ ไต้หวัน และ ญี่ปุ่น ร้อยละ -36.8 -49.1 -45.4 และ -10.3 ตามลำดับ ทำให้ไตรมาสที่ 4 หดตัวร้อยละ -4.4 หดตัวจาก ไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 31.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

6. เสถียรภาพเศรษฐกิจยังคงอยู่ในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนธันวาคม 2554 อยู่ที่ระดับร้อยละ 3.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการปรับตัวสูงขึ้นของดัชนีราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่ม หมวดข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้งสูงขึ้น เนื้อสัตว์ เป็ด ไก่ และสัตว์น้ำ ไข่และผลิตภัณฑ์นม ผักและผลไม้ และอาหารสำเร็จรูป เป็นสำคัญ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ระดับร้อยละ 2.7 และเมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายนสูงขึ้นร้อยละ 0.11 สำหรับอัตราการว่างงานล่าสุดในเดือนพฤศจิกายน 2554 อยู่ที่ร้อยละ 0.8 ของกำลังแรงงานรวม ซึ่งคิดเป็นจำนวนคนว่างงานเท่ากับ 3.22 แสนคน แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดือนตุลาคมมีผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 1.03 แสนคน โดยผู้ว่างงานมาจาก ภาคการผลิต ภาคการบริการและการค้า และภาคเกษตรกรรม จำนวน 8.9 8.6 และ 5.8 หมื่นคน ตามลำดับ สำหรับสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2554 อยู่ที่ร้อยละ 40.54 ต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60.0 สำหรับเสถียรภาพภายนอกประเทศยังอยู่ในระดับมั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก และปัญหาวิกฤตปัญหาหนี้สาธารณะในกลุ่มประเทศยุโรปได้ สะท้อนได้จากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2554 อยู่ในระดับ 175.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นประมาณ 3.3 เท่า

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ